พุทธจริยาประวัติ: สมุดภาพฉลองพุทธ ๒๕ ศตวรรษ (พุทธศักราช ๒๕๐๐)

             
 

สารบาญเรื่อง

  องค์ที่ ๑

  อุทิศกถา
  อนุโมทนากถา โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
  คำนำ โดยสมเด็จพระวันรัต
  อารัมภกถา
  สารบาญเรื่อง
 
  ๐๑. ทูลเชิญสันดุสิตเทวราชโพธิสัตว์จุติ
  ๐๒. พระนางสิริมหามายาเสด็จสู่วิวาหมณฑล
  ๐๓. วิวาหมงคลปริวัตต์
  ๐๔. สมเด็จพระนางสิริมหามายาทรงพระสุบินนิมิต
  ๐๕. ประสูตเจ้าชายสิทธัตถะ
  ๐๖. พระศาสดาประสูติ ทรงพระราชดำเนินไป ๗ ก้าว
  ๐๗. อสิตดาบสเข้าเฝ้าเยี่ยม
  ๐๘. โกณฑัญญพราหมณ์ถวายคำพยากรณ์เจ้าชายสิทธัตถะ
  ๐๙. พระฉายของเจ้าชายสิทธัตถะไม่เอนเอียงไป
  ๑๐. ทรงแข่งธนูแผลงศร
  ๑๑. เจ้าชายสิทธัตถะทรงอภิเศก
  ๑๒. เจ้าชายสิทธัตถะทรงประทับราชรถชมบริเวณพระราชวัง
  ๑๓. เจ้าชายสิทธัตถะทรงสละราชโอรสและพระชายา
  ๑๔. พระมหาบุรุษเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา
  ๑๕. เจ้าชายสิทธัตถะปลงพระเกศา
  ๑๖. พระมหาโคดมเข้าศึกษาที่สำนักอุกธกรามบุตรดาบส
  ๑๗. พระบรมโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา
  ๑๘. ศุภนิมิตแห่งพิณ ๓ สาย
  ๑๙. พระมหาโคดมทรงเลิกล้มทุกกรกิริยา
  ๒๐. นางสุชาดากวนข้าวมธุปายาส
  ๒๑. พระมหาโคดมทรงรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา
  ๒๒. พระมหาโคดมทรงเสี่ยงบารมีลอยถาดทอง
  ๒๓. โสตถิยะพราหมณ์ถวายฟ่อนหญ้าคาพระมหาโคดม
  ๒๔. พระมหาบุรุษผจญพญาวัสวดีมาราธิราช
  ๒๕. พระพุทธเจ้าทรงเพ่งศรีมหาโพธิ์
  ๒๖. พระพุทธเจ้าประทับที่รัตนฆรเจดีย์
  ๒๗. พระพุทธเจ้าเสวยวิมุติสุขอยู่ใต้ต้นมุจจลินท์
  ๒๘. ธิดาพระยามาราธิราชแสดงยั่วเย้าพระพุทธองค์
  ๒๙. ตปุสสะและภัลลิกะสองพาณิชถวายข้าวสัตตุพระองค์

 


   ๓๐. ท้าวจตุมหาราชถวายบาตรพระพุทธองค์
   ๓๑. เสด็จมาเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์
   ๓๒. ทรงแสดงปฐมเทศนา
   ๓๓. พระยสกุลบุตรบวช
   ๓๔. โปรดชฎิลสามพี่น้อง
   ๓๕. พระเจ้าสุทโธทนะส่งทูตมาเชิญเสด็จพระพุทธองค์
   ๓๖. อุคคะคฤหบดีถวายภัตตาหาร
   ๓๗. พระพุทธองค์เสด็จเยี่ยมราชสำนักพระพุทธบิดา
   ๓๘. พระพุทธเจ้าเสด็จเยี่ยมพระนางยโสธรา
   ๓๙. เจ้าชายนันทะเสด็จละเจ้าสาวไปตามเสด็จพระพุทธเจ้า

  < < กลับไปองค์ที่ ๑

   องค์ที่ ๒

   ๔๐. พระอานนท์และพระเทวทัตต์บวช
   ๔๑. อนาถบิณฑิกะสร้างเชตวันวิหาร
   ๔๒. พระพุทธเจ้าทรงห้ามพระญาติ
   ๔๓. โปรดพุทธบิดา
   ๔๔. นางจิญจมานวิกาประภาษพระพุทธเจ้า
   ๔๕. พระยมกปาฏิหาริย์
   ๔๖. พระพุทธเจ้าโปรดพระพุทธมารดา
   ๔๗. พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากดาวดึงส์
   ๔๘. พระพุทธเจ้าเปิดโลก
   ๔๙. นางมาคันทิยากับพวกมิจฉาทิฏฐิด่าปริภาษพระองค์
   ๕๐. ทรมานอาฬวกยักษ์เป็นสัมมาทิฏฐิ
   ๕๑. พระราหุลออกบวช
   ๕๒. พระราหุลนิพพาน
   ๕๓. พระพุทธองค์เสด็จพยาบาลพระติสสะ
   ๕๔. โปรดองคุลิมาลย์
   ๕๕. พระพุทธเจ้าทรมานช้างนาฬาคีรี
   ๕๖. พระโมคคัลลานะปรินิพพาน
   ๕๗. ปัจฉิมบิณฑบาตร
   ๕๘. อัคคทานของนายจุนท์
   ๕๙. พระพุทธองค์ประชวรหนักขอน้ำเสวย
   ๖๐. พระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ปัจฉิมสาวก
   ๖๑. พระมหากัสสปเถระทราบข่าวปรินิพพาน
   ๖๒. สุภัททะภิกษุกล่าวลบหลู่พระธรรมวินัย
   ๖๓. ถวายพระเพลิงพระสรีระพระพุทธเจ้า
   ๖๔. โทณพราหมณ์ห้ามทัพ
   ๖๕. โทณพราหมณ์แจกพระบรมสารีริกธาตุ

 
 

 

๔๐. พระอานนท์และพระเทวทัตต์บวช

สมัยนั้น พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ อนุปียนิคม พระนครกุสินารา พวกพระญาติกรุงกบิลพัสดุ์ได้ทราบข่าว จึงอนุญาตให้พระโอรสของตน ๆ ออกบวชตาม พระญาติฝ่ายพระมารดา ๘ พัน ฝ่ายพระบิดา ๘ พัน รวมหนึ่งหมื่นหกพัน พระองค์
พระมหานาม โอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ ได้อนุญาตให้พระอนุรุทธบวช พระอนุรุทธจึงชวนบรรดากษัตริย์ คือ ๑.พระภัททิยะ กษัตริย์ปกครองกบิลพัสดุ์สมัยนั้น ๒.พระอานนท์ โอรสของ พระสุกโกธนะ ๓.พระภคุ ๔.พระกิพิละ ๕.พระเทวทัตต์ พระอนุชาของพระนางพิมพา พระญาติฝ่ายพระมารดา และ ๖.นายอุบาลี ช่างกัลบกประจำราชสำนัก ได้รับการอุปสมบทบวชเป็นภิกษุทุกองค์
ในบรรดาภิกษุใหม่ ๗ รูปนั้น เว้นพระอานนท์และพระเทวทัตต์ นอกนั้นสำเร็จพระอรหันต์ทุกรูป ส่วนพระอานนท์ได้ฟังเทศน์ของพระปุณณมันตานีบุตรเถรจึงสำเร็จโสดาปัตติผล และได้เป็นผู้ปฏิบัติพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด และเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก ส่วนพระเทวทัตต์สำเร็จทางโลกีย์ภายหลังถูกลาภสักการะครอบงำคิดจะเป็นพระพุทธเจ้าเอง จึงทูลแด่พระพุทธเจ้าขอเป็นผู้ปกครองสงฆ์ พระองค์ไม่ทรงยอม จึงคบคิดกับพระเจ้าอชาตสัตตรูราชกุมารทำลายพระพุทธเจ้าหลายครั้งไม่สำเร็จ ผลสุดท้ายถูกแผ่นดินสูบตาย

พระวรเวทคุณาจารย์

 
 

 

๔๑. อนาถปิณฑิกะสร้างเชตวันวิหาร

ในกรุงสาวัตถี มีคหบดีผู้หนึ่งชื่อสุทัตตะ เพระท่านผู้นี้เป็นคนใจเอื้อเฟื้อผู้ยากจน ตั้งโรงทานเพื่อสวัสดิภาพประชาชน จึงได้สมญาว่า “อนาถปิณฑิกะ” แปลว่ามีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา
วันหนึ่ง อนาถปิณฑิกะไปเยือนญาติราชคหกเศรษฐีอันเป็นวันที่นิมนต์พระสงฆ์ไปฉันที่บ้านมีพระบรมศาสดาเป็นประมุข อนาถปิณฑิกะมีความยินดีเป็นล้นเหลือ อยากจะเฝ้าพระพุทธองค์รุ่งขึ้น จึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ สีตวัน ได้ฟังพระธรรมเทศนา สำเร็จพระโสดาปัตติผล และสร้างเชตวันวิหารถวายสมเด็จบรมศาสดาเป็นวิหารที่สร้างถวายไว้ในพุทธศาสนาหลังแรก

พระธรรมโกศาจารย์

 
 

 

๔๒. พระพุทธเจ้าทรงห้ามพระญาติ

เหตุเกิด ณ ที่ต่อแดนระหว่างกษัตริย์ชาวศากยะ พระญาติฝ่ายพระบิดา ในนครกบิลพัสดุ์ กับกษัตริย์ชาวโกลิยะพระญาติฝ่ายพระมารดา ในเทวทหะนครทะเลาะกันเพราะเหตุฝนแล้งแย่งน้ำทำนา ขณะนั้นพระบรมศาสดา ประทับอยู่ที่ แคว้นสักกะ ทรงทราบเหตุด้วยพระญาณอันวิเศษ แล้วจึงเสด็จไป ทรงปราศรัย ด้วยพุทธปฏิญาณวาจาอันคมคายเป็นเชิงถามโดยปริยายว่า “ท่านทั้งหลายทะเลาะกันเพราะอะไร” “เพราะน้ำพระเจ้าข้า” “น้ำกับคนไหนจะมีค่ามากกว่ากัน” “คน มีค่ามากกว่าน้ำพระเจ้าข้า” “คนพวกไหนมีค่ามากกว่าเขา” “กษัตริย์หาค่ามิได้พระเจ้าข้า” (คือมีค่าสูงสุด) ถ้าเช่นนั้นท่านจะเอาเรื่องน้ำมาเป็นเหตุฆ่ามนุษย์ผู้เป็นกษัตริย์ซึ่งมีค่าสูงสุดเช่นนี้จะสมควรแล้วหรือ ? “ไม่สมควรเลยพระเจ้าข้า” แล้วเลิกลากันไป

พระธรรมฐิติญาณ


ขึ้นบน
 
 
 

๔๓. โปรดพุทธบิดา

ในพรรษาที่ ๕ หลังจากทรงตรัสรู้แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วย พระ นันทะพุทธอนุชา พระอานนท์พุทธอุปฐาก และพระราหถุลพุทธโอรส ได้เสด็จไปเยี่ยมอาพาธของพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา ที่พระนครกบิลพัสดุ์ ได้ทรงเทศนาโปรดพุทธบิดา ให้บรรลุพระอรหันต์ แล้วพระพุทธบิดาก็ปรินิพพาน พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ได้ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระศพเรียบร้อยแล้ว จึงเสด็จจาริกเทศนาอบรมเวนัยสัตว์ต่อไป

พระปรีชาญาณมุนี

 

ขึ้นบน
 
 

 

๔๔. นางจิญจมานวิกาปริภาษพระพุทธเจ้า

ครั้นพระพุทธเจ้าประกาศพระศาสนาแผ่ไพศาลรุ่งเรืองปรากฏดุจดวงอาทิตย์ส่องโลก ลาภสักการะบังเกิดในพระศาสนาเป็นอันมาก ฝ่ายพวกเดียรถีย์ เสื่อมจากลาภสักการะ ปรากฏดุจดวงหิ่งห้อยในยามแดดกล้า จึงพากันคิดอุบาย ใส่ร้ายพระพุทธเจ้า จึงให้นางจิญจมานวิกา ผู้เลอโฉมซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับพวกตน แสดงอาการดังอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระศาสดา จำเนียรกาลล่วงมาหลายเดือน ออกอุบายให้นางเอาไม้ผูกที่ท้องทุบมือเท้าให้บวมแสดงอาการดุจหญิงมีครรภ์ แล้วให้ไปกล่าวตู่พระธรรมเทศนาท่ามกลางประชาชนว่า “พระองค์ทรงรู้แต่การอภิรมย์ ไม่ทรงทราบทำเรือนให้คลอดฯ” ยังความกังขาให้เกิดแก่ปุถุชน ยังความสังเวชให้เกิดแก่อริยชนในที่นั้นอย่างยิ่ง
พระตถาคตทรงตรัสว่า เรื่องนี้รู้แต่เจ้ากับเราเท่านั้น ขณะนั้นปัณฑุกัมพลศิลาอาศน์ของท้าวสักกะแสดงอาการร้อน ทรงทราบเหตุแล้วบัญชาใช้พระวิษณุ กรรมเทพบุตร ให้แปลงกายเป็นหนูลงมากัดเชือกที่ผู้ท่อนไม้ที่ท้อง บรรดาลให้ ลมพัดเลิกผ้านาง ท่อนไม้ตกลงทันเท้าทางในท่ามกลางบริษัท
ครั้นปุถุชนเห็นเหตุนั้นแล้วต่างจับไม้ฆ้อนก้อนดินขว้างปา นางจิญจมานวิกาพ้นจากที่นั้นแผ่นดินก็สูบไป

พระธรรมาวุธวิศิษฐ์

 

ขึ้นบน
 
 
 

๔๕. พระยมกปาฏิหาริย์

ครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงพระดำริจะกระทำพระพุทธปาฏิหาริย์ ณ ต้นไม้มะม่วงที่พระองค์ทรงประทานเมล็ดให้นายคัณฑะปลูกรักษาไว้ อันได้นามว่า “คัณฑามพพฤกษ์” และด้วยพระพุทธานุภาพไม้มะม่วงนั้นก็เจริญงอกงามบริบูรณ์ด้วยกิ่งก้านสาขาใบและผลร่วงหล่นอยู่กลาดเกลื่อน นักเลงทั้งหลายได้บริโภคเห็นมีรสหวานอร่อยก็ชวนกันเก็บกิน และพากันโกรธแค้นพวกเดียรถีย์นิครนถ์ที่พากันโค่นต้นมะม่วงที่มีอยู่ในบริเวณนั้นเสียหมด เมื่อทราบว่าพระบรมสุคตศาสดาจะทรงกระทำพระปาฏิหาริย์ที่ต้นมะม่วง ก็พากันใช้เมล็ดมะม่วงขว้างปาพวกเดียรถีย์ และวาตวลาหกเทพบุตร ก็บันดาลมหาวาตพายุให้พานพัดมณฑปกระจัดกระจายทำลายลง พระอาทิตย์เวลาเที่ยง ก็ส่องแสงแผดเผาพวกเดียรถีย์นิครนถ์ ให้หิวกระหายบอบช้ำลำบากกาย พากันหนีไปในทิศานุทิศ
ครั้นเวลาบ่ายชายลง พระพุทธองค์ก็ทรงเริ่มกระทำพระยมกปาฏิหาริย์ มีพระอาการเป็นคู่ ๆ คือ เมื่อพระองค์ทรงเหาะขึ้นไปในอากาศเสด็จพระพุทธลีลาศด้วยปฏวีกสิณบริกรรม แล้วทรงนฤมิตพระพุทธนิมิตจงกรมไปมาเหมือนพระองค์ บางทีทรงนั่งขัดสมาธิปุจฉา พระพุทธนิมิตนั่งขัดสมาธิวิสัชนา บางคราวทรงไสยาสน์ พระพุทธนิมิตก็ไสยาสน์ เป็นต้น ขณะนั้น โลกธาตุก็เกิดมหัศจรรย์ หวั่นไหว พระพุทธองค์จึงทรงยังพระโอภาศให้แผ่ไปในหมื่นจักรวาฬ ทรงพิจารณาอุปนิสัยของเวไนยสัตว์ทั้งมวล แสดงพระสัทธรรมเทศนาโปรดให้ได้บรรลุมรรค ผล และนิพพาน

พระกิติสารโศภน

 

ขึ้นบน
 
 
 

๔๖. พระพุทธเจ้าโปรดพระพุทธมารดา

เมื่อพระพุทธมารดาศิริมหามายาเทวีเสด็จสวรรคต ขณะสมเด็จพระราชกุมารทรงจำเริญวัยได้เจ็ดวันเท่านั้น พระองค์ก็ได้เสวยสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และสมเด็จพระพุทธองค์ก็ทรงปรารถนาจะเสด็จเฝ้าเยี่ยมพระพุทธมารดา ดังนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้เสด็จสู่ดาวดึงส์ประทับบนพระแท่นบัณฑุกัมพล ศิลาอาศน์ ภายใต้ต้นปาริฉัตตกรุกขชาติ แล้วทรงแสดง พระสัตตปกรณาภิธรรมโปรดพระศิริมหามายาเทวีพระพุทธมารดาและท้าวสักกะเทวราชพร้อมทั้งเทพยดา ในหมื่นจักรวาฬ ซึ่งได้มาประชุมกันในที่นั้น ตลอดไตรมาสกาลครั้งนั้น พระศิริ มหามายาเทวีพุทธมารดา พร้อมกับหมู่เทพยดาทั้งหลายได้บรรลุอริยผล

พระครูปลัดสุวัฒนธุตคุณ

 

ขึ้นบน
 
 
 

๔๗. พระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์

ครั้นถึงวันอัสสยุชปุรณมีเพ็ญเดือน ๑๑ สมเด็จพระศาสดาทรงปวารณาพระวัสสาแล้ว จึงตรัสบอกแก่สมเด็จอมรินทรว่า “ดูกระท้าวเทวาธิราช ตถาคต จะลงไปสู่มนุษยโลกในเวลาวันนี้” ท้าวโกสีย์ก็นฤมิตซึ่งบันไดทิพย์ทั้ง ๓ ลงจากเทวโลก คือบันไดทองอยู่เบื้องขวา บันไดเงินอยู่เบื้อซ้าย บันไดแก้วประดิษฐานอยู่ในท่ามกลาง และเชิงบันไดทั้ง ๓ นั้นลงจดพื้นภูมิภาคปฐพีที่ใกล้เมืองสังกัสสนคร และหัวบันไดเบื้องจนจดยอดเขาสิเนรุราช อันเป็นที่ตั้งแห่งดาวดึงส์พิภพ และบันไดทองฝ่ายขวานั้น เป็นที่ลงของหมู่เทพดาที่จะตามเด็จ บันไดเงินนั้น เป็นที่ลงของหมู่พราหมณ์ทั้งหลาย บันไดแก้วอยู่ท่ามกลางเป็นที่เสด็จขององค์สมเด็จพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระบรมครูประทับสถิตย์เหนือเขาสิเนรุราช ทอดพระเนตรเห็นเครื่องสักการบูชาของหมู่เทพดาทั้งหมื่นโลกธาตุ และหมู่มนุษย์จะนับบ่มิได้ สมเด็จพระพุทธองค์ทรงยืนประดิษฐานเหนือรัตนบันได ท่ามกลางหมู่เทพพรหมณ์บริษัทแวดล้อมเป็นบริวารก็ทรงกระทำพระยมกปาฏิหาร์ซ้ำอีก ณ กาลบัดนั้น

พระวิชัยมุนี

 

ขึ้นบน
 
 
 

๔๘. พระพุทธเจ้าเปิดโลก

ภาพนี้ได้แก่เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปเทศนา พระสัตตาธิกรณาภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาในชั้นดาวดึงส์เทวโลกเมื่อครบไตรมาส แล้วพระองค์ทรงเสด็จลงมายังมนุษยโลกในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ณ เมืองสังกัสส นคร ในคราวเสด็จครั้งนี้ ด้วยอิทธิปาฏิหารย์ของพระพุทธองค์ ทรงบรรดาลให้สรรพสัตว์มองเห็นซึ่งกันและกัน คือชาวมนุษย์มองเห็นชาวสวรรค์และสัตว์นรก ชาวสวรรค์มองเห็นชาวมนุษย์และสัตว์นรก สัตว์นรกมองเห็นชาวมนุษย์และชาวสวรรค์ ยิ่งไปกว่านั้นแม้แต่สัตว์ดิรัจฉาน หรือคนตาบอดก็สามารถมองเห็นพระพุทธองค์ และสรรพสัตว์เหล่านั้นก็ปรารถนาพุทธภูมิด้วยกันทั้งสิ้น

พระครูประสาท เกสโร

 

ขึ้นบน
 
 
 

๔๙. นางมาคันทิยากับพวกมิจฉาทิฏฐิด่าปริภาษพระพุทธเจ้า

ครั้งหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับในพระนครโกสัมพี ยังประชาชนให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาด้วยพระธรรมเทศนา มีอนุปุพพิกถาเป็นต้น ในหมู่ผู้เลื่อมใสนั้นหญิง ๕๐๐ มีพระนางสามาวดี อัครมเหสีของพระเจ้า อุเทน เป็นหัวหน้าได้เลื่อมใสและบรรลุพระโสดาปัตติผลแล้ว ก็พระนางสามาวดีนั้น มีพระนางมาคันทิยา อัครมเหสีของพระเจ้าอุเทนอีกคนหนึ่ง เป็นคู่แข่ง ไม่เลื่อมใสพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะในเมื่อพระนางยังเป็นสาวนั้น มาคันทิยาพรหมณ์ผู้บิดาของพระนาง ได้ติดต่อเพื่อมอบพระนาง ให้เป็นภรรยาของพระ พุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงรับ และตรัสติเตียนและไม่ปรารถนา ฉะนั้นเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมายังพระนครโกสัมพี และมีพระนางสามาวดีเป็นพุทธอุปัฏฐาก พระนางมาคันทิยา จึงได้ให้ค่าจ้างแก่ชาวเมืองแล้วให้พวกทาสและกรรมกรด่าและปริภาษพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยวัตถุเป็นเครื่องด่า เครื่องปริภาษ ๑๐ ประการ คือ ๑.เจ้าเป็นโจร ๒.เจ้าเป็นพาล ๓.เจ้าเป็นบ้า ๔.เจ้าเป็นอูฐ ๕.เจ้าเป็นวัว ๖.เจ้าเป็นลา ๘.เจ้าเป็นสัตว์นรก ๘.เจ้าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ๙.สุคติของเจ้าไม่มี ๑๐.เจ้าหวังได้ทุคติอย่างเดียว
เพราะถูกด่าและปริภาษเช่นนี้ พระอานนทเถระเจ้า ผู้พุทธอุปัฏฐากทนไม่ไหวจึงทูลให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปสู่นครอื่น แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่สามารถจะเสด็จไปสู่ที่อื่นได้ เมื่อเรื่องเกิดขึ้นแห่งใดก็ควรให้สงบ ณ ที่นั้นเพราะถ้าไปสู่ที่อื่น และถูกด่าถูกปริภาษ ณ ที่นั้นอีก ก็จำต้องหนีเรื่อยไป เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หาที่สุดแห่งคำด่าปริภาษไม่ได้ แล้วตรัสพระคาถาธรรมเทศนาสอนว่า “เราจักอดกลั้นถ้อยคำล่วงเกิน ดังช้างอดทนลูกศรซึ่งตกไปจากแล่งในสงคราม” เพราะคนเป็นอันมากเป็นผู้ทุศีล พระพุทธองค์ก็ประทับอยู่ต่อไปข่าวร้ายก็สงบลง

พระปัญญารังสี

 

ขึ้นบน
 
 
 

๕๐. ทรมานอาฬวกยักษ์กลับเป็นสัมมาทิษฐิ

สมัยนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เมืองอาฬวี พระเจ้าอาฬวี กษัตริย์ผู้ ปกครองประเทศได้เสด็จออกล่าสัตว์ ถูกอาฬวกยักษ์จับพระองค์ได้ และจะกิน เป็นอาหาร พระองค์จึงทำสัญญากับยักษ์ว่า ขอให้ปล่อยพระองค์ ๆ จะส่งมนุษย์ มาให้กินทุกวัน ยักษ์ก็ยอมตาม
ตั้งแต่นั้นมา พระเจ้าอาฬวีก็ทรงสั่งให้นำนักโทษส่งไปให้เป็นอาหารของอาฬวกยักษ์ตามสัญญา เมื่อนักโทษหมดคุกแล้ว ก็ทรงสั่งให้เอาทองคำไปวางล่อไว้ ใครมาหยิบทองคำก็ให้เจ้าหน้าที่จับหาว่าขะโมยของหลวง แล้วส่งไปให้ยักษ์กิน เมื่อไม่มีผู้ทำผิด จึงทรงสั่งให้จับเด็ก ๆ ไปให้ยักษ์กิน ผู้ที่เป็นบิดามารดาและหญิงที่มีครรภ์ต่างกลัวกันเป็นกำลัง ต่างอพยพหลบหนีซุกซ่อนไปในที่ต่าง ๆ ในที่สุด)โปรดให้ส่งพระอาฬวีราชโอรสของพระองค์ไปให้ยักษ์
พระพุทธเจ้าทรงเห็นอุปนิสสัยของยักษ์ว่าพอจะกลับใจดีได้ และพระกุมารจะเป็นคนดีต่อไปในภายหน้า จึงเสด็จถึงต้นไทรที่อยู่ของยักษ์ก่อนที่ราชบุรุษจะนำกุมารมาให้ยักษ์ พระองค์ประทับบนบัลลังก์ของยักษ์ ๆ โกรธมาก จึงพยายามสำแดงฤทธิต่าง ๆ เพื่อทำร้ายพระพุทธเจ้า แต่ไม่สำเร็จจึงถามปัญหาธรรมะเป็นใจความว่า “บุคคลฆ่าอะไรเสียได้จึงมีความสุข” พระพุทธเจ้าตรีสตอบว่า “บุคคลฆ่าความโกรธ เสียได้จึงมีความสุข” ยักษ์เลื่อมใสจึงยอมตนเป็นสาวก เมื่อราชบุรุษนำกุมารไปมอบให้ยักษ์ ยักษ์ไม่กินกลับยกถวายให้พระพุทธเจ้า นี้อาฬวกยักษ์กลับเป็นสัมมาทิษฐิได้

พระวิสุทธสมโพธิ

 

ขึ้นบน
 
 
 

๕๑. พระราหุลออกบวช

ครั้งนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปโคจรบิณฑบาตในกรุง กบิลพัสดุ์นับเป็นวาระที่ ๗ พระพิมพาราชเทวีประดับพระองค์พระราหุลราชกุมารแล้วรับสั่งให้ไปขอขุมทองต่อพระพุทธเจ้าผู้เป็นราชบิดา แต่เมื่อพระราหุลทอดพระเนตรเห็นพระบรมศาสดาเข้าก็นึกเลื่อมใส และรักในพระองค์ ตรัสชื่นชม อยู่ตลอดเวลาหาได้ทูลขอขุมทองไม่ เมื่อพระพุทธองค์ทรงกระทำภัตตกิจเสร็จ ก็เสด็จกลับสู่พระวิหารนิโครธาราม พระราหุลก็เสด็จตามไปด้วย ไม่มีใครกล้า ทัดทานไว้ได้
พระพุทธองค์ทรงใช้ญาณวิถีตรวจดู ก็ทรงทราบในอัทยาศัยของพระราหุลว่าอยากจะได้สมบัติ แต่พระองค์ควรที่จะประทานอริยทรัพย์มากกว่า จึง ตรัสสั่งให้พระสารีบุตรบรรพชาพระราหุล สมเด็จพระอัยกาธิบดีทรงทราบ ก็ โทรมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงขอประทานพรห้ามมิให้สาวกองค์ใดบวชบุคคลที่ยังมิได้รับอนุญาตจากบิดามารดา พระพุทธองค์ทรงอนุมัติ

พระสรญาณมุนี

 

ขึ้นบน
 
 
 

๕๒. พระราหุลนิพพาน

เมื่อพระราหุลกุมารได้เห็นพระศิริโฉมของพระพุทธองค์ผู้เป็นพระราชบิดา ก็พอพระทัยติดตามไปถึงสำนัก พระผู้มีพระภาคทรงตรัสให้พระสารีบุตรบรรพชาให้ รับไตรสรณาคมเป็นสามเณรองค์แรก พระบรมศาสดาทรงยกย่องว่าเป็นผู้เลศในทางใฝ่ต่อการศึกษา
เมื่อพระชนม์ได้ยี่สิบพรรษาก็ได้รับการอุปสมบท ครั้นได้ฟังเทศนาพิจารณารูปกัมมัฏฐานให้เห็นเป็นอนัตตา ก็คล้อยตามกระแสพระธรรมได้บรรลุพระอรหัตผล ในที่สุดก็เสด็จไปดับขันธปรินิพพานในดาวดึงส์ แห่ห้อมด้วยเทวดาอินทร์พรหมณ์มาสักการระ

พระปฏิภาณพังงารัฏฐ์

 

 

ขึ้นบน
 
 
 

๕๓. พระพุทธเจ้าเสด็จมาพยาบาลพระติสสะ

พระติสสะนี้ เดิมเป็นชาวเมืองสาวัตถี ได้สดับพระธรรมเทศนาของ พระบรมศาสดา เกิดศรัทธา ขอรับการบรรพชาอุปสมบท ปรากฏนามว่า “ติสสะ” ระยะกาลผ่านไปท่านเกิดอาพาธด้วยโรคผิวหนังอย่างแรงชนิดหนึ่งแตกเปรอะเลอะเทอะทั่วร่างกาย ทั้งสงบจีวรก็แปดเปื้อนไปด้วยเลือด และหนอง ท่านจึงได้รับนามใหม่ว่า “พระติสสะเถระตัวเน่า” แม้แต่ศิษย์ของท่านเองที่ปฏิบัติอยู่ ก็พากันหลีกหนีไปสิ้น คงเหลือแต่ตัวท่าน รอคอยความตายอยู่เดียวดาย
พระบรมศาสดาทรงตรวจดูหมู่สัตว์โลก ทรงทราบว่า “ติสสะนี้ ถูกศิษย์ทอดทิ้ง หมดที่พึ่งเสียแล้ว ยังคงเหลือแต่เราผู้เดียวเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งของเธอได้” พอได้เวลาสายัณห์ เสด็จดำเนินไปยังเรือนไฟ ทรงล้างหม้อ ก่อไฟ ใส่น้ำ ยกขึ้นตั้งไฟ ครั้นแล้วจึงเสด็จไปยังที่พำนักของท่านติสสะ ทรงจับที่ปลายเตียง พวกภิกษุเห็นเข้า จึงเข้าช่วยกันหามเตียงมายังเรือนไฟ พระองค์รับสั่งให้นำรางมา ทรงเท น้ำร้อนลงไป รับสั่งให้ภิกษุช่วยกันซักจีวรของท่าน แล้วให้ตากแดดไว้ แล้วให้ช่วยกันชัดสีร่างกายของท่านด้วยน้ำอุ่น พอจีวรแห้ง จึงรับสั่งให้ไปช่วยกันผลัด นำสบงไปซัก ท่านนุ่งสบง ห่มจีวรใหม่ ร่างกาย จิตใจก็ชื่นบาน นอนรอรับกระแสพระธรรมเทศนาอยู่
พระบรมศาสดาประทับยืนอยู่เบื้องศีรษะครั้นแล้วได้ทรงแสดงธรรมเทศนาแก่ท่าน เมื่อท่านได้สดับแลพิจารณาไปตามกระแสพระธรรม พอทรงแสดงจบ ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ปรินิพพานด้วยโรคนั้นเอง พระบรมศาสดาจึงรับสั่งให้ฌาปนกิจศพของท่านให้สร้างเจีย์บรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้

พระมหาสนิท สุตธโร

 

ขึ้นบน
 
 
 

๕๔. โปรดองคุลีมาลย์

อหิสกุมารเจริญวัยขึ้นได้ไปศึกษาศิลปศาสตร์ในนครตักกศิลา การที่มีนามว่า อหิงสะนั้น เพื่อให้เป็นมงคลนามอันหมายความว่า ไม่เป็นภัยแก่ใคร เธอเป็นที่รักใคร่ของอาจารย์ยิ่งนักจึงเป็นที่เกลียดชังของบรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายและช่วยกันยุยงอาจารย์ให้ชิงชัง
ในที่สุดพระอาจารย์เกิดความลำเอียงคิดสังหารอหิงสะ จึงสั่งให้หาพวงมาลัยร้อยด้วยข้อนิ้วมือคนพันข้อมาสังเวยวิทยาเวทอีกอย่างหนึ่ง ด้วยความหวังจะแสดงความกตัญญูเพื่อเรียนวิทยาเวทต่อไป อหิสะจึงจับอาวุธเข้าสู่ป่าชาลินีแคว้นโกศล เริ่มฆ่าผู้คนสัญจรไปมา เก็บข้อนิ้วมือขวาร้อยพวงไว้ได้ ๙๙๙ ข้อ ยังขาดอยู่เพียงข้อเดียว อหิสะตั้งใจจะฆ่ามารดาของตนเพื่อให้ครบจำนวนพันตามกำหนด แต่พระบรมศาสดาทรงขัดขวางไว้เมื่อได้สดับพระธรรมแล้วก็สำเร็จอรหัตผล นามว่าองคุลีมาลย์ภิกขุ ก็บรรลือไปทั่วโลก

พระวิศาสฺมณคุณ

 

ขึ้นบน
 
 
 

๕๕. พระพุทธเจ้าทรงทรมานช้างนาฬาคีรี

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระหฤทัยหนักแน่นเยือกเย็น เอ็นดูสัตว์ไม่เลือกหน้า แม้มีผู้คิดร้ายก็ไม่ทรงคิดตอบ กลับมีเมตตาอารีต่อผู้ประทุษร้ายดุจน้ำเป็นธรรมชาติเย็น ย่อมให้ความเย็นแก่คนทั้งดีและชั่ว และด้วยอำนาจเมตตาคุณของพระองค์ย่อมจะบรรดาลให้ผู้ที่มีจิตมาร้ายกลายเป็นดี
ดังภาพนี้ แสดงถึงช้างนาฬาคีรีซึ่งเป็นช้างดุร้ายทารุณ ทั้งมีกำลังสามารถที่จะเบียดเบียนฆ่ามนุษย์ ให้ลำบากล้มตายได้ นายควาญช้างปล่อยช้างนี้ไปตาม คำสั่งของพระเทวทัตต์ เพื่อปลงพระชนม์ของพระตถาคตเจ้าผู้เสด็จดำเนินไปสู่ราชคฤห์มหานคร ช้างแปร๋นแปร๋นแล่นเร็วดุจขวานฟ้าหรือไฟป่ามุ่งพระชนม์ของพระองค์ ๆ ทรงชนะโดยวิธีรดน้ำคือแผ่เมตตาอันมีเต็มเปี่ยมในพระองค์ ด้วยอานุภาพแห่งเมตตานั้น ช้างไม่ทำร้าย เพราะฉะนั้น เมตตาจึงมีคุณล้ำเลิศ สามารถทำเรื่องร้ายกลายเป็นดีได้และ ณ ที่นั้นพระอานนทเถระผู้อุปถาก ยอมสละชีวิตคิดฉลองพระคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ไปยืนเบื้องหน้า เพื่อกันมิให้ช้างมาทำร้ายพระองค์ นับว่าท่านมีความสละอันสูงส่ง และจงรักภักดีอันเยี่ยม ควรบูชาน้ำใจของท่านผู้มีอุดมคติอันดีเลิศ

พระศรีวิสุทธิคุณ

 

ขึ้นบน
 
 
 

๕๖. พระมหาโมคคัลานะปรินิพพาน

พระมหาโมคคัลลานะเถระ เป็นพระสาวกได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุอื่นฝ่ายข้างมีฤทธิ์ และทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอัครสาวกเบื้องซ้าย เป็นกำลังใหญ่ในการประกาศพระศาสนา ท่านสอนคนที่มีใจดุร้ายให้อ่อนโยน ผู้กระด้างให้เป็นคนเรียบร้อย ผู้ตระหนี่ ให้เป็นนักเสียสละ เป็นต้น ทั้งนำข่าวนรกสวรรค์แจ้งแก่พวกประชาชน ๆ จึงหันหลังให้แก่ศาสนาคนกลับนับถือพระพุทธศาสนา ลาภสักการะลดน้อยลงทุกที เมื่อทราบว่าพระโมคคัลานะเป็นผู้ชักจูงประชาชนไป จึงเรี่ยไรเงินจากอุปัฏฐากของตน แล้วจ้างโจร ๕๐๐ คนให้ฆ่าพระเถระเสีย พวกโจรก็รับคำ
สมัยนั้น พระมหาโมคคัลลานะเถระ อาศัยอยู่ที่กาฬศิลาประเทศ พวกโจรพากันไปล้อม ท่านหนีโจรทางช่องเพดาลทำลายช่อฟ้าหนีไป พวกโจรล้อมอยู่ถึง ๒ เดือน จับท่านไม่ได้ ครั้นเดือนที่ ๓ ท่านพิจารณาเห็นกรรมของตนเองในชาติก่อนเคยทุบตีบิดามารดา และถึงเวลาที่จะปรินิพพานจึงไม่หนียอมให้โจรมันทุบตีตามชอบใจ
พวกโจรทุบตีจนกระดูกละเอียดดุจปลายข้าวสารแล้วพากันหลบหนีไป พระเถระจึงสำรวมจิตเข้าฌานรวมอัตตภาพมาเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลลาปรินิพพาน พระองค์ทรงอนุญาต จึงกลับไปปรินิพพานที่กาฬศิลาประเทศ พระพุทธเจ้าพร้อมพระภิเกษุสงฆ์ เทพยดาต่างมากระทำสักการบูชา ๗ วัน แล้วถวายพระเพลิง เก็บ อัษฐิมาบรรจุไว้ ณ ซุ้มพระวิหารเชตวัน กรุงสาวัตถี

พระสุธรรมมุนี

 

ขึ้นบน
 
 
 

๕๗. ปัจฉิมบิณฑบาต

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว แสดงพระธรรมโปรดเวไนยสัตว์ให้บรรลุมรรคผล ทรงประดิษฐานบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในพรรษาที่ ๔๕ พระชนมายุ ๘๐ เสด็จจำพรรษา ณ ที่บ้านเวฬุวคามเขตเมืองไพสาลี ครั้นออกพรรษาแล้ว ก็เสด็จต่อไปจนลุถึงปาวาลเจดีย์ ณ ที่นั้นได้ทรงปลงชนมายุสังขาร ในวันมาฆปุรณมีเพ็ญเดือน ๓ แล้วทรงเสด็จไปสู่บ้านภัณฑคาม หัตถีคาม อัมภคาม ชมพูคาม และเมืองโภคนคร โปรดแสดงพระธรรมเทศนาแก่มหาชนทุกแห่ง ต่อจากนั้นเสด็จไปสู่เมืองปาวานครและเสด็จเข้าไปอาศัยสวนมะม่วงของนายจุนท์บุตรช่างทอง
นายจุนท์ทราบข่าวก็มีความยินดี ถือธูปเทียนดอกไม้ของหอมมาสักการะพระพุทธเจ้า ๆ ก็ได้ทรงประทานพระธรรมเทศนาให้นายจุนท์จนบรรลุโสดาปัตติผล และได้ทราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเข้าไปฉันอาหารบิณฑบาตยังนิวาสถานของตน ในเวลารุ่งขึ้นนายจุนท์ก็ให้ตกแต่งชาทนียะโภชนียาหารอันประณีตกับทั้งสุกรมัททวะ เมื่อพระพุทธเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์มาสู่นิเวสน์แห่งนายจุนท์ ด้วยพระญาณอันพิเศษ ซึ่งทรงทราบอันตรายในสุกรมัททวะ จึงตรัสแก่นายจุนท์ให้นำสุกรมัททวะ มาอังคาสเฉพาะแด่พระองค์ผู้เดียวเท่านั้น ที่เหลือ อยู่นั้น ให้ขุดหลุมฝังเสีย เพราะพิจารณาเห็นว่า บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งในมนุษย์โลก เทวโลก จะบริโภคสุกรมัททวะแล้วยังเดโชให้เผาผลาญนั้นมิได้มี เว้นเสียแต่พระพุทธเจ้า และให้อังคาสพระภิกษุอื่นด้วยชาทนียะโภชนียาหารอย่างอื่น ๆ

พระวิเชียรธรรมคุณาธาร

 

ขึ้นบน
 
 
 

๕๘. อัคคทานของนายจุนท์

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงเสวยสุกรมัททวะบิณฑบาตของนายจุนท์แล้ว ได้ทรงทำอนุโมทนาให้นายจุนท์เกิดปิติปราโมทย์ แล้วเสด็จไปประทับ ณ อัมพวันอุทยาน ในวันนั้นบังเกิดปักขันทิกโรคลงพระโลหิต และทรงแสดงบุพพกรรมของพระองค์ในชาติก่อน ทรงอดกลั้นทุกขเวทนาด้วยอธิวาสนขันติ จนทุกขเวทนาบรรเทาลง
พระองค์พร้อมหมู่พระภิกษุสงฆ์เสด็จไปเมืองปาวานคร ในระหว่างทางเกิดทุกขเวทนากล้าจึงแวะพัก ณ ภายใต้ต้นไม้มีกิ่งสาขาร่มเงาสนิทดี จึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า “ผิวจะมีบุคคลผู้หนึ่งสงสัยติเตียนนายจุนท์ว่า พระพุทธเจ้าเสวยบิณฑบาตของนายจุนท์เป็นปัจฉิมบิณฑบาต แล้วปรินิพพานนายจุนท์จักเดือดร้อนเคลือบแคลง อานนท์จงเปลื้องข้อสงสัยของนายจุนท์ว่า บิณฑบาต ๒ ประการ คือ ๑.บิณบาตอันนางสุชาดาถวายพระองค์เสวยแล้วตรัสรู้สัพพัญตญาณ ๒.บิณฑบาตอันนายจุนท์ถวาย พระองค์เสวยแล้วปรินิพพาน มีอานิสงฆ์มากเสมอกันไม่มีทานอื่นเทียบเท่า เพราะบิณฑบาตของนางสุขาดาเป็นเหตุให้พระองค์ได้บรรลุอุปาทิเสสนิพพาน ส่วนบิณฑบาตของนายจุนท์ เป็นเหตุให้พระองค์ได้อนุปาทิเสสนิพพาน
พระพุทธเจ้าตรัสสอนต่อไปว่า “บุคคลผู้ให้ทานย่อมเจริญด้วยบุญ ผู้ละเว้นจากบาปเป็นผู้ไม่มีเวร ผู้ตั้งมั่นในกุศลเป็นผู้เว้นจากกรรมอันลามก บุคคลผู้สิ้นจากราคะ โทสะ และโมหะ เป็นผู้บรรลุพระนิพพาน” ฉะนั้น บิณฑบาตของนายจุนท์จึงมีอานิสงมาก

พระวิมลมุนี

 

ขึ้นบน
 
 
 

๕๙. พระพุทธองค์ทรงประชวรหนักขอน้ำเสวย

หลังจากเสวยพระกระยาหารของนายจุนท์แล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงประชวรหนัก ขณะที่ทรงพระพุทธดำเนินไปนครกุสินารา ในท่ามกลางมรรคา ทรงพักใต้ร่มไม้ แล้วรับสั่งให้พระอานนท์ไปหาน้ำมาถวาย พระอานนท์กราบทูลว่า “ธารน้ำแห่งนี้ตื้นเขิน และบัดนี้มีเกวียน ๕๐๐ เล่มผ่านไปน้ำขุ่นไม่สมควรจะบริโภค ขอจงเสด็จพระพุทธดำเนินไปยังแม่น้ำกกุธานทีเถิด น้ำใสดีจะได้สรงเสวยให้สำราญ” แต่พระบรมโลกนาถตรัสสั่งถึง ๓ ครั้ง พระอานนท์จึงนำบาตรไป ทันใดที่พระอานนท์ก้มลงตักน้ำอันขุ่นข้นก็บันดาลให้น้ำนั้นใสสะอาดเป็นมหัศจรรย์ยิ่งนัก แล้วก็นำน้ำนั้นมาถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวย

พระวิสุทธสมณาจารย์

 

ขึ้นบน
 
 
 

๖๐. พระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ปัจฉิมสาวก

เมื่อพระองค์ได้ฉันภัตตาหารของนายจุนทะในวันนั้นก็ยังเกิดพระอาพาธ โลหิตปักขันทิกโรคมีกำลังกล้า (ลงพระโลหิต) แล้วจึงมีพระพุทธฎีกาตรัสแก่พระอานนท์ว่า “มาเราไปสู่เมืองกุสินารานครกันเถิด” พอเสด็จถึงป่าสาละวันของมัลลกษัตริย์นครกุสินารา จึงรับสั่งให้พระจุนทะเถระปูลาดอาสนะลง ณ ที่ระหว่างต้นไม้สาละคู่หนึ่ง ให้หันพระเศียรไปทางทิศอุดร แล้วประทับสีหไสยา ตั้งพระทัย จะไม่เสด็จลุกขึ้นอีก ทรงแสดงธรรมและแนะนำวิธีปฏิบัติต่าง ๆ แก่ภิกษุสงฆ์อยู่ตลอดเวลา พอย่างเข้าสู่ราตรีกาลวันนั้น มีปริพาชกผู้หนึ่งชื่อ สุภัททะ มาขอเข้าเฝ้า พระอานนท์เห็นพระพุทธองค์ทรงลำบากพระกายจึงห้ามไว้ สุภัททะก็อ้อนวอนจะขอเข้าเฝ้าให้ได้ พระบรมศาสดาทรงทราบ จึงประทานโอกาสให้สุภัททะเข้าเฝ้า ถามปัญหาต่าง ๆ พระองค์ทรงแก้ไขปัญหาและเทศนาธรรมกถาให้ฟัง จนเป็นที่เข้าใจ สุภัททะเลื่อมใสทูลขอบรรพชาอุปสมบท เมื่อสุภัททะได้อุปสมบทแล้ว ก็พยายามเจริญวิปัสสนาจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ทันเห็นพระพุทธองค์เป็นพระสาวกองค์สุดท้าย
ต่อนั้นพระองค์ประทานปัจฉิมโอวาทว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราเตือนท่านทั้งหลายให้รู้สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงให้กิจทั้งปวงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”

พระคูรสุวัฒน์สังฆกิจ

 

ขึ้นบน
 
 
 

๖๑. พระมหากัสสปเถระทราบข่าวพุทธปรินิพพาน

ภาพนี้แสดงเมื่อตอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วถึงวันที่ ๗ คราวนั้น ท่านพระมหากัสสปพร้อมด้วยภิกษุบริวาร กำลังเดินทางจากเมืองปาวาจะไปยังเมืองกุสินาราเพื่อเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา แต่เนื่องด้วยเป็นเวลากลางวันแดดร้อนจัด ท่านจึงแวะพักร้อนเสียที่ร่มไม้ใกล้ทางจร รอเมื่อแดดอ่อนแล้วจึงจะเดินทางต่อไป เมื่อขณะที่กำลังนั่งพักอยู่ที่ร่มไม้นั้น ก็พอดีมีอาชีวกผู้หนึ่งถือดอกไม้ชื่อมณฑารพ ดอกไม้ใหญ่ผูกติดกับกิ่งไม้ถือต่างร่มเดินมา จึงคิดว่า ดอกไม้นี้ ไม่มีในแดนมนุษย์ เป็นดอกไม้สวรรค์ จะมีในแดนมนุษย์ก็ต่อเมื่อผู้มีฤทธิ์บันดาล และพระโพธิสัตว์เสด็จปฏิสนธิในครรภ์พระมารดาเป็นต้น แต่ว่าสมเด็จพระศาสดาของเรานั้น บัดนี้ทรงพระชรามากอยู่แล้ว พระองค์คงจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเสียแล้วเป็นแน่ ดำริฉะนี้แล้ว ท่านจึงลุกขึ้นจากที่นั่งเข้าไปหาอาชีวกผู้นั้น ยกหัตถ์อัญชลีทัศนสโมธานขึ้นเหนือเศียรเกล้าถวายคารวะในพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจึงถามว่า “เออก็ท่านยังทราบข่าวพระศาสดาของเราบ้างไหม” อาชีวกจึงตอบว่า “พระสมณโคดมได้ปรินิพพานเสียได้ ๗ วันเข้าวันนี้ ดอกไม้นี้ข้าพเจ้าได้เก็บมาจากบริเวณที่เสด็จปรินิพพานนั้น” พอทราบข่าวว่าพระศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้วเท่านั้น พวกภิกษุปุถุชน ก็พากันร้องไห้ปริเทวนาการ ถึงองค์สมเด็จพระทศพล ส่วนท่านที่เป็นอรหันต์เกิดธรรมสังเวชในความที่สังขารเป็นอนิจจตาทิธรรม ในพวกภิกษุบริวารนั้น มีพระสุภัททะ ซึ่งบวชเมื่อภายแก่รูปหนึ่ง เที่ยวห้ามปรามมิให้พวกพระทั้งหลายร้องไห้เศร้าโศก กลับแสดงความดีใจที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานเสีย เรื่องที่พระสุภัททะแสดงออกซึ่งอาการดังนั้น ต่อมาภายหลังพระ มหากัสสปเถระ ได้ถือเอาเป็นเหตุสำคัญแล้วกระทำปฐมสังคายนา

พระราชเทวี

 

ขึ้นบน
 
 
 

๖๒. สุทภัททะภิกษุกล่าวลบหลู่พระธรรมวินัย

ครั้งนั้น พระมหากัสสปะเถรเจ้า พร้อมด้วยภิกษุบริวาร ๕๐๐ คน เดินทางจะไปเฝ้าสมเด็ยพระบรมศาสดาในระหว่างทางได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค บรรดาสานุศิษย์เป็นเป็นพระอรหัสต์ก็ปลงธรรมสังเวช แต่ที่ยังมิสำเร็จ เป็นพระขีณาสพก็คร่ำครวญร่ำไห้ไปมา
มีพระภิกษุวุฑฒผู้บวชเมื่อแก่ ชื่อสุภัททะร้องห้ามภิกษุทั้งหลายว่า “ท่านทั้งหลายอย่าเศร้าโศกร่ำไรถึงพระสมณะนั้นเลย เราทั้งหลายพ้นเสียแล้วจากพระสมณะนั้นได้ยิ่งดี ท่านย่อมสั่งสอนถึงสิ่งควรทำไม่ควรทำ เราลำบากใจนัก บัดนี้เราจะทำสิ่งใดก็ได้ตามพอใจ ไม่ต้องเกรงบัญชาผู้ใด” แม้การปรินิพพานขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียง ๗ วันเท่านั้น ยังมีบุคคลกล่าวครหาได้ถึงเพียงนี้

พระสวรรควรนายก

 

ขึ้นบน
 
 
 

 

๖๓. ถวายพระเพลิงพระสรีระพระพุทธเจ้า

ปฐมเหตุที่พุทธบริษัท จะทำการบูชาในวันอัฏฐมีดิถีแรง ๘ ค่ำเดือน ๖
หลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วได้ ๗ วัน เหล่ามัลละกษัตริย์ในนครกุสินารา พร้อมด้วยชาวพระนครทั้งหลาย ได้เชิญพระบรมศพมาประดิษฐาน ณ มกุฎพันธนะเจดีย์
วันนั้นพระมหากัสสปเถระเจ้า พาพระสังฆบริวาร ๕๐๐ รูป มาจากเมืองปาวา ได้ทราบข่าวจากอาชีวกผู้หนึ่งในระหว่างทางว่า พระพุทธองค์ปรินิพพานได้ ๗ วันแล้ว พระสงฆ์เหล่านั้นพอทราบก็ตลึงงัน ท่านที่เป็นอรหันต์ก็ปลงธรรมสังเวช ท่านที่เป็นปุถุชนก็เศร้าโศกเสียใจร่ำไห้ไปตาม ๆ กัน พระมหากัสสปปลอบโยนพระสงฆ์เหล่านั้น ให้หายเศร้าโศกแล้ว ได้พาไปยัง มกุฎพันธนเจดีย์ ทันที พอไปถึงจึงทำปทักษิณ ๓ รอบ ถวายบังคมแล้วได้กล่าวรำพึงถึงความกตัญญูกตเวทีและความจงรักภักดีที่ตนมีต่อพระพุทธองค์แล้วตั้งสัตยาธิษฐานให้พระบาททั้งสองของพระพุทธองค์ทรงชำแรกพระหับทองออกมาเพื่อรองรับการถวายบังคมแห่งตน พอจบคำอธิษฐานพระบาททั้งสองได้ชำแรกพระหีบทองออกมารองรับการถวายบังคมของพระมหากัสสปดังประสงค์ ท่านขออโหสิกรรมแล้วพระบาททั้งสองก็ได้กลับไปในพระหีบทองดังเดิมโดยไม่มีอะไรผิดปกติเลย หลังจากนั้นไปไฟก็ติดพระศพเองไหม้อยู่ตลอด ๗ วัน ๗ คืน
ครั้นแล้วเหล่ามัลละกษัตริย์ จึงเก็บพระบรมธาตุ เชิญเข้ามาสู่สันฐาคารศาลา กระทำสักการบูชา สมโภชอีก ๗ วัน

พระมหาพิศิษฐ์ สุจิตฺโต

ขึ้นบน
 
 
 


๖๔. โทณพราหมณ์ห้ามทัพ

ขณะนั้นมีกษัตริย์ทั้ง ๗ พระนคร มีกรุงอาชาตสัตรูราช เป็นอาทิ ยกพลโยธาทพมาล้อมเมืองกุสินารา แล้วให้พลทหารร้องประกาศเจ้าไปในเมืองว่าให้แบ่งปันส่วนพระบรมธาตุให้เราโดยดี ถ้าไม่แบ่งให้ก็จงออกมาชิงชัยยุทธการกัน เราจะชิงเอาพระสารีริกธาตุนั้นจงได้ ฝ่ายกษัตริย์มัลราช ในนครกุสินารา ก็ให้ พลทหารขึ้นประจำหน้าที่บนเชิงเทินปราการ แล้วร้องตอบไปว่าพระผู่มีพระภาคเสด็จมาปรินิพพานที่นี่ พระบรมศาสดาเสด็จมาสู่คามเขตรของเราด้วยพระองค์เอง แล้วส่งข่าวสาสน์เข้ามาให้เราออกไปหายังสำนักพระศาสดา อนึ่งแก้วอันประเสริฐเกิดขึ้นในคามเขตรของท่าน ๆ ก็ไม่ยอมแบ่งให้แก่เราฉันใด นี่ก็เหมือนกันข้าพเจ้าจักไม่ยอมแบ่งให้แก่ท่าน กษัตริย์ทั้งสองฝ่ายต่างก็กระทำการคุกคามอันเป็นเหตุแห่งการไม่เหมาะสมกับการปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ซึ่งการปรินิพพานของพระบรมศาสดาครั้งนั้น จะเป็นชะนวนก่อสงครามในการแย่งพระบรมสารีริกธาตุกันขึ้น
ครั้งนั้น เมืองกุสินารามีนักปราชญ์ชื่อโทณพรหมณ์ ซึ่งเคยเป็นอาจารย์ สั่งสอนมาหลายนครแล้ว เมื่อได้สดับเหตุการณ์วิวาทจะก่อสงครามขึ้นอันเกียวกับปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาเช่นนั้น เห็นว่าไม่สมควร อาตมาต้องออกไประงับเหตุการณ์ ณ บัดนี้ แล้วจึงขึ้นยืนอยู่บนเชิงเทินแห่งหนึ่ง ร้องประกาศห้ามออกไปเพื่อไม่ให้เกิดสงครามขึ้น ฝ่ายกษัตริย์ทั้งหลายเมื่อได้ยินวาทะของท่าน โทณพราหมณ์ ซึ่งเคยเป็นอาจารย์ของตน ต่างฝ่ายก็เลยหยุดฟังการประกาศห้ามของโทณพราหมณ์ ผลที่สุดก็เลยตกลง แบ่งพระสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน เพื่อแจกให้นครต่าง ๆ เอาไปบรรจุไว้เพื่อเป็นที่สักการะสืบต่อมาตลอดจนทุกวันนี้

พระชยานันมุนี

 

ขึ้นบน
 
 
 

๖๕. โทณพราหมณ์แจกพระบรมสาริริกธาตุ

ครั้นเสด็จถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว มัลลกษัตริย์ให้เชิญพระ บรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ในสัณฐาคารศาลา ท่ามกลางพระนครกุสินารา จัดการรักษาไว้เป็นอย่างดี และให้มีดุริยางค์ดนตรีประโคมเป็นโกลาหลตลอดกาลประมาณ ๘ วัน
ครั้งนั้น เหล่ากษัตริย์และพราหมณ์ ๗ พระนครคือ ๑.พระเจ้าอชาตศัตรูกรุงราชคฤห์ ๒.เจ้าลิจฉวี ณ เมืองไพสาลี ๓.เจ้าศากยะ ณ เมืองกบิลพัสดุ์ ๔.ถูลีกษัตริย์ ณ อัลลกัปปนคร ๕.โกลิยกษัตริย์ ณ ราคาม ๖.มหาพราหมณ์ เจ้าเมืองเวฏฐทีปถะ ๗.เจ้ามัลละ ณ เมืองปาวา เมื่อต่างทราบข่าวปรินิพพานก็ต่างส่งทูตมาขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ พวกมัลลกษัตริย์ไม่ยอมให้จนเกือบจะเกิดสงครามประหารซึ่งกันและกัน
ณ ที่นั้น โทณพราหณาจารย์ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ จึงเกลี้ยกล่อมกษัตริย์ทั้งหลายให้ปรองดองพร้อมเพรียงกัน แล้วโทณพราหมณ์จึงถือเอาดุมพะ คือทะนานทองตวงพระบรมสารีริกธาตุแบ่งเป็น ๘ ส่วนเท่า ๆ กัน ครั้นเสร็จแล้ว ส่วนตนก็ทูลขอทะนานทองนั้น เพื่อไว้เป็นที่สักการบูชา

พระศรีวรญาณ

 

ขึ้นบน
 
 
 

จบบริบูรณ์

   
     

 

 
     

<< กลับไป องค์ที่ ๑  

ขึ้นบน
 
 
 
วัดสันติธรรม ต.ช้างเผือก อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๓๐๐
โทร. ๐๕๓-๒๒๑๗๙๒  ๐๘-๗๑๙๓-๓๑๖๙  ๐๘-๖๑๘๗-๓๙๔๒ และ ๐๘-๑๖๐๒-๗๕๐๐