นกมันยังทำรังอยู่ได้
คณะศรัทธาจะสร้างวัดอยู่
สักวัดหนึ่งไม่ได้หรือ ? |
พระครูสันติวรญาณ (สิม พุทฺธาจาโร )ได้ธุดงค์ไปในหลายจังหวัด อาทิ เช่น วัดป่าสระคงคา อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักสงฆ์หมู่บ้านแม่ดอย ( ต่อมาได้พัฒนาเป็นวัด ชื่อว่า วัดป่าอาจารย์มั่น ) อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ( ณ ที่นี้หลวงปู่ได้พบ หลวงปู่มั่นฯ และได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมจากหลวงปู่มั่น จนการปฏิบัติธรรม ของหลวงปู่ก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก ) เมื่อแยกจากหลวงปู่มั่นแล้ว
หลวงปู่ได้เดินธุดงค์ ไปทางอำเภอสันกำแพง เข้าพักที่ วัดโรงธรรม นานถึงห้าปี ตั้งแต่ปี พ . ศ . ๒๔๘๓ ถึงปี พ . ศ . ๒๔๘๗ ซึ่งขณะนั้น ยังเป็นสำนักชั่วคราว ที่วัดโรงธรรมสามัคคีนี้ เคยเป็นสถานที่ที่ครูอาจารย์หลายท่านเคยใช้พักจำพรรษา อาทิ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต , หลวงปู่ชอบ ฐานสโม , หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ , พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน และหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เป็นต้น
หลังจากนั้นย้ายไปจำพรรษาที่ ถ้ำผาผัวะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในสภาพหลังสงคราม โลกครั้งที่ ๒ ในระหว่างนั้น หลวงปู่ได้รับรู้ความคับจิตคับใจของบรรดาชาวบ้านทั้งหลาย หลวงปู่ได้ปลุกปลอบใจของชาวบ้านที่กำลังสิ้นหวังให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้น ด้วยการหยั่งพระ สัทธรรมลงสู่จิตของพวกเขา
ในระหว่างออกพรรษา หลวงปู่สิม ได้จาริกธุดงค์ไปบำเพ็ญเพียร ณ สถานที่วิเวกหลายแห่งในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ศิษย์อาวุโสชาวเชียงใหม่ท่านหนึ่งคือ เจ้าชื่น สิโรรส ( วัย ๙๖ ปี ) โดยในปี พ . ศ . ๒๔๘๘ เจ้าชื่น สิโรรส ได้อพยพครอบครัวหลบภัยสงครามไปอยู่ที่ถ้ำผาผัวะ ขณะที่หลวงปู่ธุดงค์ ไปจำพรรษาที่ถ้ำผาผัวะนี้ ท่านเปรียบเสมือนที่พึ่งอันสูงสุดที่มีความหมายมาก สำหรับคนที่อยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด
เนื่องจากสงคราม ปลายปี พ . ศ . ๒๔๙๘ เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาใกล้จะยุติ เจ้าชื่น สิโรรส ซึ่งอพยพจากถ้ำผาผัวะ กลับคืน ตัวเมืองเชียงใหม่ ได้กราบอาราธนาหลวงปู่ให้ย้ายเข้ามาพักจำพรรษา ที่ตึกของแม่เลี้ยงดอกจันทร์ กีรติปาล ( คิวริเปอร์ ) ตึกของแม่เลี้ยงดอกจันทร์ กีรติปาล (คิวริเปอล) อยู่ติดกับถนนสุเทพ ตรงกันข้ามกับถนนไปสนามบิน เมืองเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือที่ตั้งของ ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ )ยังเป็นตึกที่ว่างไม่มีใครอยู่ นอกจากคนที่อยู่เผ้าคอยดูแลรักษา เนื่องจากแม่เลี้ยงดอกจันทร์และลูกหลานได้อพยพหนีภัยสงครามไปอยู่ที่อื่นและ ณ ที่นี้เองที่หลวงปู่สิมพบกับลูกศิษย์ คนแรกที่อุปสมบทที่เชียงใหม่คือ พระมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต ซึ่งต่อมาก็ได้เป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันของวัด " สันติธรรม " ซึ่งได้ทำการก่อสร้างขึ้นในภายหลัง ปี พ . ศ . ๒๔๙๐ เมื่อสงครามสงบโดยสิ้นเชิง มีข่าวว่า เจ้าของบ้านคือ แม่เลี้ยง ดอกจันทร์ และลูกหลานที่อพยพหลบภัยสงครามไปจะกลับคืน ถิ่นฐานเดิม หลวงปู่จึงปรารภเรื่องการสร้างวัด คำปรารภในครั้งนั้น เป็นแรงบันดาลใจ ให้คุณแม่นิ่มนวล สุภาวงศ์ เกิดศรัทธาขึ้นมาอย่างแรงกล้า ที่จะสร้างวัดถวายหลวงปู่ ด้วยพลังศรัทธานั้นเอง " วัดสันติธรรม " จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาโดยอาศัยกำลังศรัทธาของศานุศิษย์ ท่านพระครูสันติวรญาณ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร) พร้อมกับ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภและหลวงปู่หลอด ปโมทิโต มีสามเณรทองอินทร์ พร้อมด้วยอุบาสกซึ่งเป็นโยมบิดาของหลวงปู่เหรียญด้วย ได้ไปพักอาศัยอยู่ ณ ตึกดังกล่าวนี้ ขณะนั้นพระสงฆ์ที่มีความรู้ ความสามารถในการแสดงธรรมโดยปฏิภาณโวหารมีน้อย การแสดงธรรมของหลวงปู่สิม จึงได้รับความสนใจจากพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ผู้ที่ได้สดับพระธรรมเทศนาจากหลวงปู่แล้ว มักนำไปกล่าวสรรเสริญและชวนคนอื่นไปฟังอีก
ก่อนที่หลวงปู่สิมและคณะจะจาริกไปในที่ต่างๆ หลวงปู่พำนักอยู่ที่วัดโรงธรรมฯ อำเภอสันกำแพง ขณะนั้นยังเป็นสำนักชั่วคราว มีศาลาฟังธรรมตั้งอยู่ในสวน จึงเรียกว่าวัดโรงธรรม โยม แสง ชินวิตร เป็นผุ้มีปสาทศรัทธา ในรสพระธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ คุณนิ่มนวล สุภาวงศ์ (นางสาวนิ่มคิ้ม แซ่เฮ้ง) เป็นผู้หนึ่งที่ถูกชักชวนให้ไปฟังเทศน์แต่ไม่ยอมไป คุณนิ่มนวลเล่าความรู้สึกให้ฟังว่า สาเหตุที่ไม่ยอมไปฟังเทศน์ เพราะไม่คุ้นเคยต่อขนบธรรมเนียม มีความกระดากใจ เห็นคนไปวัดจะต้องถือพานดอกไม้ไปด้วย จะทำตามเขาก็ทำได้ไม่สนิท กลัวจะไปทำผิดๆ ถูกๆ เพราะไม่เคยทำมาก่อน ตั้งแต่เด็กมาก็เคยไปแต่โรงเรียน แม้จะเคยไปวัด ก็ไม่ได้สังเกตว่าเขาทำอะไรบ้าง เรื่องทำนองนี้ คงจะมีคนอื่นๆอีกมาก ที่มีความรู้สึกเหมือนๆกัน
คุณนิ่มนวล สุภาวงศ์ เล่าให้ฟังต่อไปว่า เมื่อแม่แสง ชินวัตร พรรณนาถึงรสพระธรรมเทศนาของหลวงปู่สิมว่า เทศน์ได้ไพเราะฟังเข้าใจง่าย นึกอยากจะไปฟัง แต่ยังไม่เชื่อโดยสนิทใน เท่าที่เคยฟังพระเทศน์มาไม่เคยรู้เรื่อง เพื่อความมั่นใจ จึงจ้างให้ น้อยหมู ลูกจ้างของเตี่ยให้ไปฟังแทน ต่อมาเจ๊หมา และพ่อน้อยเงิน พรหมโย ก็ไปฟังและนำมาเล่าว่า หลวงปู่เทศน์ดี จึงนึกอยากไปฟังบ้าง
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลวงปู่สิมและคณะได้มาจำพรรษาอยู่ที่ตึกแม่เลี้ยงดอกจันทร์ บ้านหลิ่งห้า อำเภอเมือง เชียงใหม่ แม่แสง ชินวัตร ได้มาชวนให้ไปฟังเทศน์อีก จึงตกลงไปฟัง จำไม่ได้ว่าหลวงปู่สิม เทศน์เรื่องอะไร จำได้แต่เพียงว่าท่านเทศน์ดี รู้สึกจับใจ ตั้งแต่วันนั้นมา จึงได้ไปฟังเทศน์บ่อยๆ
พระนพีสีพิศาลคุณ (พระมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดสันติธรรม ก็ได้ทำการอุปสมบทในสมัยนั้น อุปสมบทที่วัดเจดีย์หลวง โดยมีเจ้าแม่กาบคำ ณ เชียงใหม่ เป็นผู้อุปการะในการอุปสมบท เป็นศิษย์องค์แรกของท่านอาจารย์ ที่ได้รับการอุปสมบทในระยะที่มาจำพรรษาอยู่ในเมือง
หลวงปู่สิม อยู่จำพรรษาที่ตึกของแม่เลี้ยงดอกจันทร์ได้ ๒ พรรษา คือปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ๒๔๙๐ แม่เลี้ยงดอกจันทร์และลูกหลานจะต้องการใช้บ้าน คือจะกลับมาอยู่ หลวงปู่และคณะศิษย์จึงจำเป็นจะต้องหาที่อยู่ใหม่ วันหนึ่ง หลวงปู่สิมปรารภในระหว่างเทศน์ว่า นกมันยังทำรังอยู่ได้ คณะศรัทธาจะสร้างวัดอยู่สักวัดหนึ่งไม่ได้หรือ ?
คุณนิ่มนวล บอกว่า เมื่อได้ฟังคำพูดของหลวงปู่สิม ประโยคนั้นแล้ว ทำให้คิด กลับมาบ้านแล้วก็ยังเก็บมาคิด ยิ่งคิดก็ยิ่งเพิ่มแรงศรัทธา อยากจะได้ที่สร้างวัด รุ่งขึ้นรับประทานอาหารเช้าแล้ว บังเอิญ มีผู้นำเงินค่าแหวนมาให้จำนวน ๑,๐๐๐ บาท จึงตกลงใจว่าจะบริจาคเงินจำนวนนี้เป็นค่าที่ดินสร้างวัด
ขณะนั้น คิดอยากจะพบกับพ่อน้อยเงิน พรหมโย และบังเอิญพ่อน้อยเงินก็มาหา จึงเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้พ่อน้อยเงินฟัง พ่อน้อยเงินเห็นดีเห็นชอบด้วยทุกอย่าง พร้อมรับอาสาว่า จะพยายามหาที่ให้ได้ เจ๊หมา เมื่อทราบเรืองการหาที่ดินจะสร้างวัด ก็ได้แสดงความจำนงบริจาคทรัพย์ร่วมอีก ๑,๐๐๐ บาท ในวันต่อมา พ่อน้อยเงิน และนายฮั้งยิ้น (สามีเจ๊หมา) จึงพากันไปหาซื้อที่ดิน ชั่วเวลาไม่กี่วันก็ไปได้ที่ดินของ คุณพระอาสาสงคราม คุณพระท่านทราบว่าอยากจะได้ที่ดินสร้างวัดท่านก็ยินดีขายให้ในราคาถูก
เนื้อที่ที่ตกลงซื้อขายกันครั้งแรกเป็นที่ ๕ ไร่ คิดราคาไร่ละ ๙๐๐ บาท ต่อมาได้ขอซื้อเพิ่มเติมอีก ๓ ไร่ ๓ งาน คิดเป็นราคาทั้งหมด ๗,๕๖๘ บาท รายนามผู้มีจิตศรัทธาซื้อที่ดินมีดังนี้
(๑) นางสาวนิ่มคิ้ม แซ่เฮ้ง บริจาค ๑,๙๗๐ บาท
(๒) นายฮั้งยิ้น แม่หมา และบุตรธิดา บริจาค ๑,๙๗๐ บาท
(๓) นางสาวทองหล่อ ขาวประไพ บริจาค ๑,๐๐๐ บาท
(๔) เจ้าผัวผัด ณ เชียงใหม่ บริจาค ๑,๐๐๐ บาท
บริจาคครั้งที่ ๒ มีดังนี้
(๑) นายฮั้งยิ้น แม่หมา บริจาค ๓๒๘ บาท
(๒) นางสาวนิ่มคิ้ม แซ่เฮ้ง บริจาค ๑,๐๐๐ บาท
(๓) แม่บุญทอง ตุงคมณี บริจาค ๒๐๐ บาท
(๔) แม่แก้วลูน สุวรรณยืน บริจาค ๑๐๐ บาท
คุณพระอาสาสงคราม นอกจากท่านจะยินดีขายที่ดินให้แล้ว ท่านยังให้การสนับสนุนช่วยเหลือ ทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ ท่านบริจาคทรัพย์สร้างกุฏิ บ่อน้ำ และส้วม ตลอดจนตั้งแต่การแผ้วถาง และทำการก่อสร้าง คุณพระท่านช่วยดูแลเอาใจอย่างใกล้ชิด
ผู้มีส่วนริเริ่ม และร่วมมือร่วมใจในการแผ้วถางและก่อสร้าง คือ คุณนิ่มนวล สุภาวงศ์ , พ่อน้อยเงิน พรหมใย, นายฮั้นยิ้น นางหมา และลูก ผู้ที่เป็นช่างออกแบบสร้างกุฏิ และคอยดูแลเอาใจใส่ คือนายเล่งไฮ้ ท่านผู้ใจบุญบริจาคทรัพย์ช่วยเป็นค่าแรงงาน คือ
แม่แสง ชินวัตร บริจาค ๑,๐๐๐ บาท
โยมชื่น สิโรรส บริจาค ๕๕๐ บาท
ในการแผ้วถางดำเนินการครั้งแรก สังเกตเห็นได้ว่า เนื้อที่บริเวณที่จะสร้างกุฏิ มีอิฐ มีกระเบื้อง มีแนวกำแพง และมีเนินโบสถ์หรือวิหาร พอจะหยั่งสันนิษฐานได้ว่า ที่แห่งนั้นเคยเป็นวัดมาก่อน แต่ไม่อาจสืบประวัติได้ว่าเป็นวัดอะไร
เมื่อทำการก่อสร้างกุฏิ พอเป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสามเณรได้แล้ว คณะศรัทธาจึงได้อาราธนา หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร (ขณะนั้นท่านพักอยู่วัดโรงธรรมสามัคคี อำเภอสันกำแพง) และพระภิกษุสงฆ์สามเณรที่เป็นศิษย์ของท่านมาอยู่ ได้ทำพิธีเปิดป้ายเป็นการชั่วคราวขึ้น เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ให้ชื่อว่า วัดสันติธรรม นครเชียงใหม่
ในวันเปิดป้าย ผู้ใหญ่ได้อาราธนา และเชิญให้มาร่วมงาน คือ ฝ่ายสงฆ์มี (๑) ท่านพระครูพิศาลขันติคุณ (เจ้าคุณเทพสารเวที) วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ ฝ่ายฆราวาสมี (๑) พลตรีหลวงกัมปนาทแสนยากร ข้าหลวงภาค (๒) ขุนไตรกิตติยานุกูล ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงใหม่ (๓) ข้าหลวงยุติธรรม (๔) นายจรัส มหาวัจน์ ศึกษาภาค (๕) ร.ต.อ. สุจินต์ หิรัญรักษ์ ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ (๖) นายวิชาญ บรรณโสภิษฐ์ (๗) นายเฉลิม ยูปานนท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่
มีพุทธศาสนิกชน ไปร่วมงานประมาณ ๒๐๐ คน พรรษาแรกนี้ มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาคือ พระภิกษุ ๑๑ รูป สามเณร ๙ รูป
พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ทำหนังสือยื่นขอสร้างวัดต่อทางการ โดยนางสาวนิ่มคิ้ม แซ่เฮ้ง (นิ่มนวล สุภาวงศ์) เป็นตัวแทน ลงนามในหนังสือ ขณะนั้นทางการคณะสงฆ์ได้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. คณะสงฆ์หลายอย่าง โดยเฉพาะ พ.ร.บ. อันว่าด้วยการสร้างวัด
ขณะนั้นเป็นเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ในการปฏิบัติงานของคณะสงฆ์ การยื่นหนังสือขอสร้างวัด จึงพบกับปัญหาหลายแง่หลายกระทง กว่าจะได้รับอนุญาตให้สร้างวัดได้ ต้องใช้เวลาถึง ๓ ปี คือ ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดได้ เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ใช้นามว่า วัดสันติธรรม ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก คือ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร (พระครูสันติวรญาณ,พระญาณสิทธาจารย์)
พ.ศ. ๒๔๙๕ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ในฐานะเจ้าอาวาสได้พิจารณาเห็นว่าการดำเนินการสร้างวัดก็ได้ลุล่วงผ่านพ้นมาโดยลำดับ เสนาสนะที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสามเณรก็มีพอสมควร ศาลาโรงธรรมก็มีพอได้อาศัย แต่วัดยังขาดพระอุโบสถ ที่สำหรับทำสังฆกรรมของสงฆ์ นับว่าขาดถาวรวัตถุอันเป็นหลักของวัด จึงดำริที่จะสร้างพระอุโบสถ แต่ก็หนักใจเรื่องทุนทรัพย์ที่จะนำมาใช้จ่ายดำเนินการก่อสร้าง ถึงจะหนักใจอย่างไร ก็ต้องเริ่มดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องจำเป็น ในขั้นต้น หลวงปู่ ได้เริ่มดำเนินการปักเขตที่สร้างพระอุโบสถ โดยอาศัยแนวซากอุโบสถเก่า ซึ่งยังปรากฏให้เห็นเนินดินอยู่ ทั้งนี้โดยมีความประสงค์ว่า เมื่อปักเขตตั้งเป็นรูปร่างไว้แล้ว ผู้มีปาสารทะศรัทธาได้รู้เห็นก็จะได้บริจาคทรัพย์ช่วยกันก่อสร้าง วิธีหาทุนทรัพย์ดำเนินการก่อสร้าง หลวงปู่ ใช้วิธีค่อยคิดค่อยทำไปตามกำลังทรัพย์ เมื่อมีผู้บริจาคทรัพย์ถวายก็ทำการก่อสร้าง เมื่อหมดทุนทรัพย์ก็หยุดไว้ก่อน ไม่เคยออกใบฎีกาบอกบุญเรี่ยไร ไม่เคยทำตระกรุดผ้ายันต์ ไม่เคยสร้างพรทำเครื่องรางของขลัง
การก่อสร้างพระอุโบสถได้ดำเนินมาโดยลำดับ จนถึง พ.ศ.๒๕๐๐ จึงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ส่วนกว้าง ๔๐ เมตร ส่วนยาว ๘๐ เมตร
การก่อสร้างพระอุโบสถได้หยุดชะงักลงในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๐๕ ๒๕๐๖ สาเหตุเนื่องจากท่านเจ้าคุณ พระสุทธิธรรมรังษีฯ (ท่านพ่อลี) วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ได้ถึงแก่มรณภาพลง วัดอโศการามจึงขาดพระเถระผู้ใหญ่ที่จะให้การอบรมสั่งสอนทายก ทายิกาในทางภาวนากัมมัฏฐาน ทายกทายิกาจึงพากันนิมนต์หลวงปู่สิมไปช่วยอบรมสั่งสอน หลวงปู่เลยอยู่จำพรรษาที่นั้น
แม้ว่าหลวงปู่สิมจะไปอยู่จำพรรษาที่วัดอโศการาม ไม่ได้อยู่ก่อสร้างโบสถ์วัดสันติธรรม แต่เรื่องโบสถ์วัดสันติธรรมก็ตามหลวงปู่ไปด้วย ทายกทายิกาวัดอโศการามเมื่อได้ทราบว่า หลวงปู่มีงานสร้างโบสถ์ที่เชียงใหม่ ต่างก็บอกกล่าวเล่าเรื่องบอกบุญเรี่ยไรช่วยกันบริจาคทรัพย์สมทบทุนสร้างพระอุโบสถ เป็นจำนวนทั้งหมดประมาณสามแสนบาท นับเป็นปัจจัยที่ได้มาเพราะแรงศรัทธาเขามีต่อหลวงปู่สิม หรือจะกล่าวว่า เป็นผลงานที่เกิดจากรสพระธรรมเทศนาที่ท่านอาจารย์อบรมสั่งสอนพวกญาติโยมก็ได้ ผู้ที่เป็นกำลังช่วยเหลือในการชักชวยการบริจาคทรัพย์ ที่ควรกล่าวชื่อเพื่อแสดงมุทิตาจิต คือ โยมกิมหงษ์
เนื่องจากหลวงปู่สิม ต้องรับภาระในการอบรมสั่งสอนทายกทายิกา ที่วัดอโศการาม ต้องไปมาระหว่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่บ่อยๆ ทำให้ห่วงหน้าพะวงหลัง ไม่สะดวกที่จะปฏิบัติงานทั้งสองฝ่าย ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ หลวงปู่สิม จึงมีหนังสือให้ พระมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต ซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน ให้มาอยู่จำพรรษาที่วัดสันติธรรม เพื่อดูแลควบคุมการก่อสร้างแทน ขณะนั้นพระมหาทองอินทร์ อยู่จำพรรษาที่วัดถ้ำผาจลุย จังหวัดเชียงราย
ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ หลวงปู่สิมเป็นโรคไตอย่างแรง ต้องหยุดพักรักษาตัว ไม่ทำการอบรมสั่งสอนและได้ทำหนังสือขอลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสวัดสันติธรรม ออกไปพักรักษาตัวอยู่ที่วัดสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร บ้านเกิดของท่าน ทางการคณะสงฆ์จึงแต่งตั้ง พระมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต ให้รักษาการเจ้าอาวาสแทนในปีนั้น และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสในปี พ.ศ. ๒๕๑๐
ในปี พ.ศ.๒๕๐๗ พระมหาทองอินทร์ ได้รับช่วงการดำเนินการก่อสร้างต่อ ผู้มีจิตศรัทธาได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือหาทุน ที่จะเว้นกล่าวอนุโมทนาเสียไม่ได้ คือ คุณสุนทร จันทรวงษ์, คุณกระดิ่ง โอวาทสาร, คุณพงศักดิ์ ฐิตะปุระ, และคุณชูศักดิ์ กุศลวงษ์ ท่านที่ออกนามมานี้นอกจากขวนขวายชักชวนญาติมิตรผู้ใจบุญให้ช่วยบริจาคทรัพย์สมทบทุนแล้ว ยังได้สละทรัพย์ส่วนตัวเป็นค่าพิมพ์หนังสือ เที่ยวกรรมฐาน ของท่านอาจารย์บุญนาค แจกจ่ายแก่สาธุชน เป็นบรรณาการแก่ผู้บริจาคเงิน เพื่อสมทบทุนสร้างพระอุโบสถอีกโสตหนึ่งด้วย
อนึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ๒๕๑๓ ได้อาศัยกำลังความคิด กำลังทรัพย์และกำลังคน จากนายช่างสมเกียรติ ทรงเกียรติกุล เป็นอย่างมาก จึงขอจารึกชื่อไว้ ณ ที่นี้ด้วย
เป็นอันสรุปได้ว่า การก่อสร้างพระอุโบสถ วัดสันติธรรม ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๙๕ ได้สำเร็จบริบูรณ์ลงในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ รวมเป็นเวลา ๑๘ ปี สำเร็จด้วยกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังใจของหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร พร้อมทั้งแรงสนับสนุนของคณะศิษย์และศรัทธาวัดสันติธรรม
โดยเฉพาะอุบาสิกาผู้มีแรงศรัทธาอันแก่กล้า ได้ทำการยืนหยัดต่อสู้ด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ ตั้งแต่เริ่มสร้างวัดเป็นต้นมา จนกระทั่งสร้างอุโบสถสำเร็จ โดยมิได้ปลีกตนเองออกห่างแม้แต่ระยะใดระยะหนึ่งได้มีส่วนรับรู้ร่วมงานมาโดยสม่ำเสมออุบาสิกาผู้นี้คือ คุณนิ่มนวล สุภาวงศ์ จึงของอนุโมทนาสาธุการ จารึกชื่อนี้ไว้กับประวัติวัดสันติธรรมนี้ ชั่วกัลปาวสาน
พระอุโบสถวัดสันติธรรมหลังนี้ กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๒๘ เมตร สูงจากพื้นดิน ๓๐ เมตร สิ้นทุนทรัพย์ในการก่อสร้างทั้งหมดเป็นจำนวนเงิน ๗๘๒,๙๑๐.๑๐ บาท (เจ็ดแสนแปดหมื่นสองพันเก้าร้อยสิบบาทสิบสตางค์)
อันเป็นก้าวแรกของการก่อตั้งวัดสันติธรรม นับจากนั้นเป็นต้นมาต่อเนื่องยาวนานถึง ณ ปัจจุบันนี้
|