พุทธจริยาประวัติ: สมุดภาพพุทธประวัติจากผนังโบสถ์วิหารต่าง ๆ ในประเทศไทย

             
 

สารบาญเรื่อง

  องค์ที่ ๑

  อุทิศกถา
  อนุโมทนากถา โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
  คำนำ โดยสมเด็จพระวันรัต
  อารัมภกถา
  สารบาญเรื่อง
 
  ๐๑. ทูลเชิญสันดุสิตเทวราชโพธิสัตว์จุติ
  ๐๒. พระนางสิริมหามายาเสด็จสู่วิวาหมณฑล
  ๐๓. วิวาหมงคลปริวัตต์
  ๐๔. สมเด็จพระนางสิริมหามายาทรงพระสุบินนิมิต
  ๐๕. ประสูตเจ้าชายสิทธัตถะ
  ๐๖. พระศาสดาประสูติ ทรงพระราชดำเนินไป ๗ ก้าว
  ๐๗. อสิตดาบสเข้าเฝ้าเยี่ยม
  ๐๘. โกณฑัญญพราหมณ์ถวายคำพยากรณ์เจ้าชายสิทธัตถะ
  ๐๙. พระฉายของเจ้าชายสิทธัตถะไม่เอนเอียงไป
  ๑๐. ทรงแข่งธนูแผลงศร
  ๑๑. เจ้าชายสิทธัตถะทรงอภิเศก
  ๑๒. เจ้าชายสิทธัตถะทรงประทับราชรถชมบริเวณพระราชวัง
  ๑๓. เจ้าชายสิทธัตถะทรงสละราชโอรสและพระชายา
  ๑๔. พระมหาบุรุษเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา
  ๑๕. เจ้าชายสิทธัตถะปลงพระเกศา
  ๑๖. พระมหาโคดมเข้าศึกษาที่สำนักอุกธกรามบุตรดาบส
  ๑๗. พระบรมโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา
  ๑๘. ศุภนิมิตแห่งพิณ ๓ สาย
  ๑๙. พระมหาโคดมทรงเลิกล้มทุกกรกิริยา
  ๒๐. นางสุชาดากวนข้าวมธุปายาส
  ๒๑. พระมหาโคดมทรงรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา
  ๒๒. พระมหาโคดมทรงเสี่ยงบารมีลอยถาดทอง
  ๒๓. โสตถิยะพราหมณ์ถวายฟ่อนหญ้าคาพระมหาโคดม
  ๒๔. พระมหาบุรุษผจญพญาวัสวดีมาราธิราช
  ๒๕. พระพุทธเจ้าทรงเพ่งศรีมหาโพธิ์
  ๒๖. พระพุทธเจ้าประทับที่รัตนฆรเจดีย์
  ๒๗. พระพุทธเจ้าเสวยวิมุติสุขอยู่ใต้ต้นมุจจลินท์
  ๒๘. ธิดาพระยามาราธิราชแสดงยั่วเย้าพระพุทธองค์
  ๒๙. ตปุสสะและภัลลิกะสองพาณิชถวายข้าวสัตตุพระองค์

 


   ๓๐. ท้าวจตุมหาราชถวายบาตรพระพุทธองค์
   ๓๑. เสด็จมาเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์
   ๓๒. ทรงแสดงปฐมเทศนา
   ๓๓. พระยสกุลบุตรบวช
   ๓๔. โปรดชฎิลสามพี่น้อง
   ๓๕. พระเจ้าสุทโธทนะส่งทูตมาเชิญเสด็จพระพุทธองค์
   ๓๖. อุคคะคฤหบดีถวายภัตตาหาร
   ๓๗. พระพุทธองค์เสด็จเยี่ยมราชสำนักพระพุทธบิดา
   ๓๘. พระพุทธเจ้าเสด็จเยี่ยมพระนางยโสธรา
   ๓๙. เจ้าชายนันทะเสด็จละเจ้าสาวไปตามเสด็จพระพุทธเจ้า

   มีต่อองค์ที่ ๒ >>

   องค์ที่ ๒

   ๔๐. พระอานนท์เถระและพระเทวทัตต์ภิกษุบวช
   ๔๑. อนาถบิณฑิกะสร้างเชตวันวิหาร
   ๔๒. พระพุทธเจ้าทรงห้ามพระญาติ
   ๔๓. โปรดพุทธบิดา
   ๔๔. นางจิญจมานวิกาประภาษพระพุทธเจ้า
   ๔๕. พระยมกปาฏิหาริย์
   ๔๖. พระพุทธเจ้าโปรดพระพุทธมารดา
   ๔๗. พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากดาวดึงส์
   ๔๘. พระพุทธเจ้าเปิดโลก
   ๔๙. นางมาคันทิยากับพวกมิจฉาทิฏฐิด่าปริภาษพระองค์
   ๕๐. ทรมานอาฬวกยักษ์เป็นสัมมาทิฏฐิ
   ๕๑. พระราหุลออกบวช
   ๕๒. พระราหุลนิพพาน
   ๕๓. พระพุทธองค์เสด็จพยาบาลพระติสสะ
   ๕๔. โปรดองคุลิมาลย์
   ๕๕. พระพุทธเจ้าทรมานช้างนาฬาคีรี
   ๕๖. พระโมคคัลลานะปรินิพพาน
   ๕๗. ปัจฉิมบิณฑบาตร
   ๕๘. อัคคทานของนายจุนท์
   ๕๙. พระพุทธองค์ประชวรหนักขอน้ำเสวย
   ๖๐. พระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ปัจฉิมสาวก
   ๖๑. พระมหากัสสปเถระทราบข่าวปรินิพพาน
   ๖๒. สุภัททะภิกษุกล่าวลบหลู่พระธรรมวินัย
   ๖๓. ถวายพระเพลิงพระสรีระพระพุทธเจ้า
   ๖๔. โทณพราหมณ์ห้ามทัพ
   ๖๕. โทณพราหมณ์แจกพระบรมสารีริกธาตุ

 
 

 
สมุดภาพเล่มนี้
จัดทำเป็นภาพประกอบด้วยบรรยาย
พุทธจริยาประวัติ
อำนวยการพิมพ์ขึ้นโดยสำนักข่าวสารอเมริกัน
เพื่อบรรณาการแก่ประชากรไทย
ในนามแห่งประชากรอเมริกัน
ในโอกาสงานฉลอง
พุทธยี่สิบห้าศตวรรษ
พ.ศ. ๒๕๐๐
 
 

 
อารัมภกถา

ย่อมจะมีสิ่งจูงใจอยู่อย่างหนึ่งในหมู่ชาวไทยยิ่งไปกว่าภาพพุทธประวัติเสียอีก นั่นคือผนังโบสถ์วิหาร และท้องพระโรงย่อมจะมีภาพสวยสดงดงามแพราวพราวทั่วเพดานจนจดพื้นอย่างหาช่องโหว่ยาก หรือหาไม่ก็เป็นลายสลักอย่างวิจิตรพิสดาร สมุดภาพเล่มนี้ ประกอบด้วยจริยาประวัติของพระมหาบุรุษเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งเสด็จออกบรรพชา เพื่อแสวงหาโมกขธรรมเพื่อแก้ทุกข์ทั้งผองในโลกนี้พระองค์ได้ค้นพบจริงและทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ตามกระแสแห่งพระโพธิญาณของพระองค์ด้วยพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นี้เป็นสมัยแห่งศักราชพระพุทธประวัติอันมีคติธรรมแฝงอยู่อเนกนัย บนผนังโบสถ์วิหารนั้นภาพประวัติการย่อมไม่จีรังยั่งยืน ภายในระยะเวลาไม่ กี่ปี ภาพประวัติเหล่านี้ส่วนมากด้ลบเลือนสูญหายไปอันเนื่องมาจากวารสมัยฤดูกาล ดั่งนั้นศิลปะอันประเสริฐหาที่เปรียบมิได้เช่นนี้ก็จะสูญสิ้นไปอย่างไม่มีวันกลับมาอีก ในอันที่จะรักษาศิลปะ อันหานามผู้วาดมิได้นี้ บางทีจะช่วยให้เกิดความกระจ่างแจ้ง และในเวลาเดียวกัน ก็จะทำให้เรื่องราวพุทธจริยาประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมไว้เป็นส่วนฉะเพาะซึ่งหนังสือเล่มนี้ จะฟื้นฟูวัฒนธรรมนี้ขึ้นมาอีก ศิลปินได้มีข้อผูกพัน ให้เขียนลอกภาพจากกำแพง บรรดาท่านเจ้าสำนักสถานที่นั้น ๆ ต่างก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี พระเดชพระคุณพระคุณเจ้า พระคณาธิการสงฆ์ ที่ขอความร่วมมือให้บรรยายภาพเหล่านี้ ต่างก็ยินดีช่วยเหลืออย่างเต็มใจ ผลที่ได้มาคือสมุดภาพ พุทธจริยาประวัติ เล่มนี้ ขอได้รับความขอบพระคุณอย่างสูงแด่ท่านผู้มีอุปการะร่วมมือในงานนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะสงฆ์ไทย อาทิ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์มหาสังฆปรินายก สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สมเด็จพระวันรัต สังฆนายก และพระเดชพระคุณเจ้าทั้งหลายผู้ได้ร่วมมือบรรยายภาพนั้น ๆ และ ผู้อื่น ๆ อีกที่ได้ร่วมงาน ขอได้รับความขอบพระคุณยิ่ง

ค.ฟ.ล.
 
 

อนุโมทนากถา

ตามที่สำนักแถลงข่าวอเมริกัน ได้รวบรวมภาพอันเกี่ยวกับพุทธประวัติ ซึ่งมีอยู่ในประเทศไทยพิมพ์ขึ้นนั้น ย่อมเป็นกิจที่น่าอนุโมทนา
ผู้ทราบประวัติของพระพุทธเจ้าย่อมเกิดศรัทธา ความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใสเป็นเครื่องนำให้เกิดปฏิบัติธรรมะ เพราะหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา ต้องปฏิบัติตามธรรมที่ทรงแสดงแล้ว ตามพระวินัยที่ทรงบัญญัติแล้ว ธรรมะในพระพุทธศาสนาแสดงสันติ ความสงบ ผู้ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาจึงเป็นผู้สงบปราศจากเบียดเบียนกันและกัน อันอำนวยสันติสุขให้แก่โลกในที่สุด
เพราะฉะนั้น ผู้ทราบประวัติแล้ว ควรปฏิบัติธรรม เมื่อปฏิบัติธรรมก็ได้ชื่อว่ามีพระพุทธเจ้าอยู่ในตน หรือชื่อว่า เห็นพระพุทธองค์ ดังที่ทรงแสดงไว้ว่า
“ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเชื่อว่าเห็นธรรม” ดังนี้
ขออนุโมทนาบุญราศรีในการบำเพ็ญกุศลกรณียกิจในพระพุทธศาสนานี้
ขออานุภาพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และบุญกุศลทั้งหลายจงบันดาลให้ประชาชนชาวโลกประสพสันติสุขตามหลักพระพุทธศาสนาทุกเมื่อ เทอญ ฯ

วัดบวรนิเวศวิหาร
๒๑ สิงหาคม ๒๕๐๐

 

คำนำ

ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่ได้เห็นสมุดภาพเล่มนี้ประกอบด้วยภาพพุทธประวัติทุกตอน พร้อมทั้งคำบรรยายภาษาไทยและอังกฤษ
สมุดภาพอันวิจิตรเล่มนี้ สำเร็จด้วยความดำริของศาสตราจารย์ เคอร์ด เอ๊ฟ ไลเด็คเกอร์ และได้บากบั่นพยายามแก้ไขอุปสรรคด้วยความละม่อมละไมจนสำเร็จเป็นเล่มสมุด ซึ่งนับว่าจะอำนวยประโยชน์มากหลาย
ประการแรกย่อมจะเป็นอุปกรณ์เพื่อเจริญพุทธานุสสติ ซึ่งเนื้อเรื่องแต่ละตอนก็ซาบซึ้งแก่บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายทั่วโลก
ประการที่ ๒ ทำให้นึกเห็นภาพเขียนตามฝาผนังโบสถ์วิหาร ซึ่งยังมิได้ศึกษาโดยตลอดหรือแม้ไม่มีโอกาสศึกษาให้ตลอดก็ดี ทั้งนี้เพราะอากาศชุ่มชื้นย่อมทำให้ภาพนั้นลบเลือนได้เร็วและขาดตกบกร่อง บัดนี้ศิลปินผู้มีนามว่า รูดอลฟ์ อัมเป ได้ปฏิบัติหน้าที่อันประเสริฐนี้ได้สำเร็จ คือนายช่างผู้นี้ไม่ใช่แต่เพียงลอกแบบภาพนั้นมา หากยังต่อเติมส่วนที่ลบเลือนขาดหายไปให้เต็มรูปอีกด้วย เขาได้พยายามเชียนตามสภาพของเดิมอันเป็นธรรมเนียมประเพณีไทยในยุคโน้นได้ดีมาก
ประการที่ ๓ คำบรรยายทั้งหมดนั้น ต่างก็ได้รับความร่วมมือจากพระเถรานุเถระในคณะสงฆ์ ย่อมแสดงให้เห็นว่าสงฆ์ไทยยังรักษาสมบัติอันมีค่าคือเรื่องราวเก่า ๆ อันเป็นความรู้ที่พึงศึกษาไว้ได้ ยิ่งกว่านั้นคำบรรยายภาพบางตอนยังเป็นทัศนียภาพในพระพุทธประวัติเปรียบดั่งเทพนิยายให้นักศึกษาพุทธศาสนาตะวันตกพึงสนใจอีกด้วย
ประการที่ ๔ สำนักข่าวสารอเมริกันสมควรจะรับอนุโมทนาสาธุการเป็นอย่างสูงในการที่ได้จัดสร้างสมุดภาพเล่มนี้ขึ้น อันเป็นอนุสรณ์แห่งสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทย และสหรัฐอเมริกา และย่อมจะเป็นที่ประจักษ์ว่า อเมริกา เทอดทูนศาสนาเสมอเหมือนกัน
ขออธิษฐานให้ผู้ร่วมแรงร่วมงานในการจัดทำสมุดภาพเล่มนี้ จงประสพความเมตตาและกรุณาธรรมตามสมควร เทอญ.

ขึ้นบน
 
 
 

๑. ทูลเชิญสันดุสิตเทวราชโพธิสัตว์จุติ

พระพุทธเจ้า เมื่อยังมิได้ตรัสรู้ ได้ทรงบำเพ็ญบารมีอยู่ในชาติต่าง ๆ เรียกว่า “พระโพธิสัตว์”
ในอดีตภพพระโพธิสัตว์แห่งเราบังเกิดเป็นสุเมธดาบส พบพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง มีพระนามว่าพระพุทธปีปังกรเจ้า ได้ตั้งความปรารถนาไว้ขอให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าเช่นพระองค์ท่าน จำเดิมแต่นั้นก็ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ มีทานบารมีเป็นต้น อุเบกขาบารมี เป็นที่สุด บำเพ็ญเป็นเวลานับด้วยกัลป์ สิ้นภพสิ้นชาติอันประมาณมิได้ พระชาติสุดท้ายบังเกิดเป็นพระเวสสันดรโพธิสัตว์ก็ทรงสร้างทานบารมีอย่างยอดเยี่ยม สิ้นจากชาตินี้ก็ขึ้นไปอุบัติในสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นเทพบุตรชื่อว่า “สันดุสิตเทวราช” เทพยดาในหมื่นจักรวาฬจึงมาประชุมกันในสวรรค์ชั้นดุสิต ต่างยกหัตถ์ทั้งคู่ชูอัญชลีกรทูลอาราธนาว่า “ข้าแต่พระมหาวีระ กาลบัดนี้ สมควรที่พระองค์จะจุติลงไปบังเกิดในมาตุคัพโภทร เพื่อขนสัตว์นิกร ในมนุษย์โลกกับทั้งเทวโลกข้าม ให้พ้นจากห้วงแห่งความเวียนตายเวียนเกิดอันมิรู้จักจบสิ้น ให้รู้จริงบรรลุถึงทางปฏิบัติซึ่งจะเข้าสู่พระอมตมหานิพพาน”
พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาดูปัญจมหาวิโลกนะทั้ง ๕ คือ กาล ๑ ทวีป ๑ ประเทศ ๑ ตระกูล ๑ พระมารดา ๑ แล้วจึงทรงรับปฏิญญาณ เสด็จแวดล้อมด้วยเทพบริวารไปสู่ทิพย นันทวันอุทยานในดุสิตเทวโลก และจุติลงสู่ปฏิสนธิในพระครรภ์แห่งพระนางสิริมหามายาราชเทวี พระอรรคมเหษีแห่งพระเจ้าสุทโธทนมหาราชกรุงกบิลพัสดุ ณ ชมพูทวีป ในวัน อาสาฬหปุรณมีเพ็ญเดือน ๘

พระคูปลัดสุวัฒนสุตคุณ (กมล โกวิโท)

ขึ้นบน
 
 

 

๒. พระนางสิริมหามายาเสด็จสู่วิวาหมณฑล

สมเด็จพระเจ้าสีหหนุราช กษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ราชธานี มีพระราชหฤทัยปรารถนาจะราชาภิเษก พระเจ้าสิริสุทโธทนมกุฏราชกุมารซึ่งมีวัฒนาการได้ ๑๖ พรรษา ไว้ในเสวตราชาฉัตร สืบสิริราชสมบัติแทนพระองค์ จึงทรงส่งพราหมณาจาร์ยผู้รอบรู้ในสตรีลักษณ์ไปเพื่อสืบแสวงหาซึ่งนางรัตนกัญญา จนได้ประสพพระนางสิริมหามายาราชกุมารี พระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าอัญชนาธิปราช กษัตริย์แห่งกรุงเทวทหะมีพระสิริวิลาศต้องตามนารีลักษณ์ ไม่มีผู้เทียมเท่า
เมื่อพระเจ้าสีหหนุราชทรงรับราชบรรณาการจากเทวทหนคร ก็ทรงโสมนัสยิ่งนัก โปรดให้กำหนดการวิวาหมงคล และดำรัสสั่งให้เสนาอำมาตย์ ตกแต่งมรรคาตั้งแต่กรุงกบิลพัสดุจนถึงเทวทหนคร ประดับด้วยอลังการให้กษัตริย์ศักยราชวงศ์ ๒๐๐ ประทับกุญชรชาติ พระเจ้าสิริสุทโธทนราชโอรสประทับช้างต้นเศวตไอยรารัตนแวดล้อมด้วยกษัตริย์ ๑๐๑ เป็นบริวาร พลม้า ๓,๐๐๐ พลเดินเท้าถือธนู ๙๐๐,๐๐๐ แห่ไปเบื้องหน้าพร้อมทั้งสรรพเสบียงอาหาร สู่อโศกอุทยาน

พระครูวินัยสังวร

ขึ้นบน
 
 
 

๓. วิวาหมงคลปริวัตต์

ราชพิธีมงคลราชาภิเษกสมรส สมเด็จพระเจ้าสุทธทนกับสมเด็จพระนางสิริมหามายาได้จัดขึ้นที่อโศกราชอุทยาน แห่งเทวทหนครนั้น
ส่วนพระนางสิริมหามายาทรงเครื่องแล้วก็เสด็จไปสู่พระราชอุทยานพร้อมด้วยหมู่ขัตติยกัญญา เป็นบริวารแสนหนึ่ง มีสมเด็จพระชนาธิราช พระราชบิดา กับพระนางสุนันทาเทวี พระราชชนนี เสด็จตามขบวนไปด้วย ประชาชน พลเมืองก็มาห้อมล้อมมหาวิวาหมงคลมณฑปอยู่โดยรอบ
ทรงยับยั้งอยู่ในมณฑปโรงราชพิธี มีการมโหรสพครบถ้วนไตรมาส จึงได้เสด็จกลับไปยังพระนครกบิลพัสดุ์ราชธานี สมเด็จพระเจ้าสีหหนุราช จึงทรงประกอบมงคลราชาภิเษกกษัตริย์ทั้ง ๒ ขึ้นครองสิริราชสมบัติแทนพระองค์ สมเด็จพระเจ้าสิริสุทโธทนมหาราชก็เสวยมไหสวริยราชสมบัติสืบสันติวงศ์กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริมหามายาราชเทวี เป็นบรมสุข จนเกิดพระราชโอรส คือ สิทธัตถราชกุมาร

พระโศภนกิตติธาดา

ขึ้นบน
 
 
 

๔. สมเด็จพระนางสิริมหามายาทรงพระสุบินนิมิต

ภาพปางเมื่อพระสิทธัตถะทรงถือปฏิสนธิ ในพระครรภ์ ของพระนางสิริ มหามายา จากสวรรค์ชั้นดุสิต ตามตำนานกล่าวว่า วันนั้นพระนางทรงสุบินนิมิต ว่า มี ท้าวมหาพรหมทั้ง ๔ มายกแท่นบรรทมของพระนางไปวางไว้ภายใต้ต้นรังใหญ่ ณ ป่าหิมพานต์ แล้วเหล่าเทพธิดานำพระนางไปสรงสนานในสระอโนดาด เพื่อชำระล้างมลทิน แล้วมีช้างเผือกเชือกหนึ่งถือดอกบัวขาว ลงมาจากภูเขาเงินภูเขาทองร้องบันลือเข้ามายังปราสาท ทำปทักษิณเวียนขวา ๓ รอบ แล้วเข้าสู่อุทรเบื้องขวาของพระนาง

พระอริยานุวัตร

ขึ้นบน
 
 
 

๕. ประสูติ เจ้าชายสิทธัตถะ

เมื่อวันวิสาขบุรณมีดิถีเพ็ญเดือน ๖ เจ้าชายสิทธัตถะราชกุมารได้ประสูติจากพระครรภ์ของพระนางเจ้าสิริมหามายา ณ ป่าลุมพินีวันระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะนครต่อกัน
ในขณะนั้นเทพยดาทั้งหลาย และคณะพระประยูรญาติ ซึ่งมีพระเจ้าสิริสุทโธทนะเป็นประธานได้มาอนุเคราะห์ช่วยเหลือเป็นอย่างดียิ่ง
เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งที่พระมหาวีรบุรุษได้เด็จออกจากพระครรภ์พระมารดาแล้วก็แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ก้าวพระบาทออกไปได้ ๗ ก้าว เป็นบุพนิมิตหมายว่าพระองค์จะประกาศแสงสว่าง คือธรรมของพระองค์ไปใน ๗ ชนบท
ต่อจากนั้น พระเจ้าสิริสุทโธทนะ ก็ได้เชิญเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ แล้วอัญเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาเลือกสรรค์เอาแต่ผู้เชี่ยวชาญอย่างยอดเยี่ยมได้ ๘ คน จึงทรงรับสั่งให้ขนานพระนามพระราชโอรส พวกพราหณ์จึงได้ขนานพระนามว่า “สิทธัตถะกุมาร” เป็นมงคลนาม ซึ่งหมายความว่าเป็นผู้สำเร็จในสิ่งที่จะทำทุกประการ
พอพระองค์ประสูติได้ ๗ วัน พระราชมารดาก็ได้เสด็จสวรรคต

พระสีหสุวรรณวิสุทธิ์

ขึ้นบน
 
 
 

๖. พระศาสดาประสูติ ทรงพระราชดำเนินไป ๗ ก้าว

ณ มงคลสมัยวันศุกร์วิสาขบุรณมีเพ็ญเดือน ๖ แห่งปีก่อนพุทธศก ๘๐ เวลาสายใกล้เที่ยง ขณะที่พระนางเจ้ามายาพร้อมด้วยราชบริพารฝ่ายในฝ่ายหน้าเสด็จประพาสเล่นอยู่ที่ป่าลุมพินี เผอิญพระนางเจ้าประชวรพระครรภ์จะประสูติ อำมาตย์ผู้ตามเสด็จจัดที่ประสูติถวายใต้ ร่มสาละตามสามารถที่จะจัดได้ พระศาสดาได้ประสูติจากพระครรภ์พระมารดาในที่นั้น
พระศาสดาได้เสด็จอุบัติมา เพื่อทรงทำอุปการะอันใหญ่ยิ่งแก่โลก ฉะนั้นเวลาประสูติจึงประกอบกฤษดาภินิหาร คือพระมารดาเสด็จยืนไม่นั่งเหมือนสตรีอื่น พระองค์ประสูติบริสุทธิ์ไม่เปรอะเปื้อนด้วยครรภ์มลทิน มีหมู่เทพยดามาคอยรับก่อน มีธารน้ำร้อนน้ำเย็นตกลงมาจากอากาศสนานพระองค์ พอประสูติแล้ว ทรงดำเนินด้วยพระบาทได้ ๗ ก้าว เปล่งพระวาจาเป็นบุรพนิมิตแห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ

พระประพัสรมุนี

ขึ้นบน
 
 
 

๗. อสิตดาบสเข้าเผ้าเยี่ยม

ภาพพุทธประวัติภาพนี้แสดงว่า เมื่อพระราชกุมารบรมโพธิสัตว์ประสูติ ใหม่ ๆ อสิตดาบส หรืออีกอย่างหนึ่งเรียกว่า กาฬเทวิลดาบส ซึ่งเป็นผู้คุ้นเคยและ นับถือของราชสกุล ได้ทราบว่าพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะประสูติใหม่ จึงเข้าไปเยี่ยม พระเจ้าสุทโธทนะราชบิดาตรัสเชิญให้นั่ง ณ อาสนะที่สมควร ทรงอภิวาทและปราศรัยตามสมควรแล้วทรงอุ้มพระราชโอรสออกมาเพื่อให้นมัสการพระดาบส แต่ด้วยอภินิหารแห่งกุศลสมภาร ที่พระบรมโพธิสัตว์ด้สั่งสมอบรมมาจนถึงพระชาติ ที่สุด บันดาลให้พระบาททั้งสองข้างของพระราชกุมาร ไปปรากฏ อยู่เศียรแห่งดาบสเป็นอัศจรรย์ พระราชบิดาและดาบส จึงได้ยกหัตถ์ทั้งสองขึ้นประนตนมัสการแด่พระราชกุมารบรมโพธิสัตว์ อันธรรมดานิยมว่า พระบรมโพธิสัตว์พุทธางกูร เมื่อถึงพระชาติที่สุดที่จะได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้บำเพ็ญบารมีมาเต็มบริบูรณ์ เป็นเอกอัครอัจฉริยบุรุษรัตน์ อันบุญฤทธิ์ กฤษดาภินิหารหากให้เป็นไป จึงไม่ปรากฏว่าถวายมนัสการผู้หนึ่งผู้ใดเลย

พระปรากรมมุนี

ขึ้นบน
 
 
 

๘. โกณฑัญญพราหมณ์ถวายคำพยากรณ์เจ้าชายสิทธัตถะ

เมื่อพราหมหณ์ ๘ คนเข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธนะ ณ พระราชนิเวศน์ แห่งกบิลพัสดุ์ราชธานี ถวายพยากรณ์พระศิริลักษณ์พระสิทธัตถะกุมาร ซึ่งเพิ่งประสูติใหม่
ในพราหมณ์ ๘ คนนั้น ๗ คน ที่เจริญด้วยวัยวุฒิ ได้ถวายพยากรณ์รวมกัน เป็น ๒ คติว่า พระกุมารนี้ ถ้าอยู่ครองราชสมบัติ จะได้เป็นพระเจ้าจาตุรนต์จักรพรรดิมหาราชาธิราชเจ้า ถ้าออกทรงผนวช จะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก โดยยกนิ้วมือ ๒ นิ้ว ยืนยันพยากรณ์ดังในภาพนี้
ส่วนโกณฑัญญพราหมณ์ ซึ่งยังหนุ่ม (ผมหนวดดำ) แต่สูงด้วยวิทยาคุณ ได้ถวายพยากรณ์เป็นคติเดียว โดยยกนิ้วมือนิ้วเดียวยืนยัน ดังปรากฏในภาพนี้ว่าพระกุมารพระองค์นี้ จะไม่อยู่ในราชสมบัติ จะเสด็จออกทรงผนวช และตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกแน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอื่น

พระเทพเมธี

ขึ้นบน
 
 
 

๙. พระฉายของเจ้าชายสิทธัตถะไม่เอนเอียงไป

กล่าวตามตำนาน เป็นภาพแสดงถึงพฤติการณ์ในสมัยที่เจ้าฟ้าชายสิทธัตถะราชกุมารยังทรงพระเยาว์มีพระชนมายุได้ ๗ ปี ครั้นเมื่อนักขัตฤกษ์วัปปะมงคลพิธี จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นขัตติยะประเพณีนิยมในพระนครนั้น มาถึงเข้าโดยอภิลักขิตกาล พระเจ้าศิริสุทโธทนะ จึงมีพระราชบรรหารให้เชิญพระอัคร ปิโยรสเสด็จไปในงานพระราชพิธีครั้งนั้นด้วย ครั้นเสด็จถึง จึงตรัสสั่งให้ราชบริพารช่วย แวดวงมงคลสถาน บริเวณต้นหว้าใหญ่ด้วยพระวิสูตรอันพิสิฐ พร้อมทั้งประดิษฐ พระราชอาสนปูลาดด้วยราชบรรจถรณ์ เป็นที่ประทับสำหรับพระราชโอรส เมื่อเจ้าพนักงานปฏิบัติการสำเร็จหมดตามพระราชบัญชา และได้ทูลเชิญ เจ้าฟ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร ขึ้นประทับบนบัจจุฐานภายใต้ชมพูพฤกษฉายา ส่วนพระราชบิดาก็เสด็จไปทรงประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญ ฝ่ายพระพี่เลี้ยงชวนกันออกไปภายนอกม่านชมพิธีการตามอัธยาศัย ปล่อยให้พระกุมารประทับอยู่ภายในโดดเดี่ยวโดยลำพัง พระองค์จึงทรงประทับนั่งตั้งบัลลังก์ ขัดสมาธิดำรงพระสติกำหนดลมอัสสาสะปัสสาสะ เจริญพระอานาปานสติกรรมฐาน จนได้บัลลุปฐม ฌานเป็นสัมโพธินิมิตผิดประหลาด แม้ดวงภาณุมาศจะบ่ายคล้อยถอยลงไป แต่ฉายาพฤกษาใหญ่ยังตั้งตรงดำรงอยู่ ดูประดุจว่าเวลาเที่ยง มิได้เอนเอียงชายบ่าย ไปตามแสงแห่งพระอาทิตย์ ครั้นพระพี่เลี้ยงกลับมาเห็นการณ์วิปริตผิดธรรมดารีบกลับไปกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบยุบลเหตุ ท้าวเธอจึงเสด็จมาทอดพระเนตรดูเหตุการณ์อันน่าพิศวง แล้วได้ทรงย่อพระบวรกายประทับนั่งลง ในสถานที่ใกล้ ยกพระหัตถ์ขวาซ้ายขึ้นถวายบังคมพระราชโอรส โดยนิยมกำหนดในอัจฉริยคุณบุญญาภินิหารบารมี ก็ปิติอรรถคดีตามภาพแสดงเพียงเท่านั้น

พระประสิทธิวีริยคุณ

ขึ้นบน
 
 
 

๑๐. ทรงแข่งธนูแผลงศร

เป็นขัตติยประเพณี พระศากยราชกุมาร จะต้องศึกษายุทธศาสตร์ ยุทธวิธีอย่างชำนิชำนาญให้สมกับพระนามว่า “ขัตติยะ” ซึ่งแปลว่านักรบ เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงศึกษายุทธศิลป์เหล่านั้นมาโดยช่ำชอง จนพระเกียรติยศเลื่องลือไปทั่วสกลชมพูทวีป ก่อนที่จะทรงอภิเษกสมรส พระองค์ได้ทรงแข่งขันการยิงธนูแผลงศร ซึ่งเป็นยุทธศิลปะชั้นสูงในสมัยนั้น ปรากฏว่าได้ทรงผ่านการชนะเลิศมาได้อย่างง่ายดาย แม้เจ้าชายเทวทัตต์คู่แข่งขันสำคัญของพระองค์ ก็ทรงพ่ายแพ้อย่างหลุดลุ่ย จึงไม่เฉพาะแต่ทางโลกุตตระเท่านั้น ที่พระพุทธองค์ทรงเอาชนะได้ แม้ทางโลกียวิสัย ก็ทรงสามารถเอาชนะได้เช่นเดียวกัน สมตามพระวาจาประกาศิตที่ประองค์ทรงเปล่งเมื่อตรัสรู้แล้วว่า “อคฺโคหมฺสมิโลกสฺส - เราเป็นผู้เลิศในโลก” ดังนี้

พระธรรมราชานุวัศร

 

ขึ้นบน
 
 
 

๑๑. เจ้าชายสิทธัตถะทรงอภิเศก

นี้เป็นภาพพระสิทธัตถะราชกุมารหรือเจ้าชายสิทธัตถะ รัชทายาทราชบัลลังก์กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงทำการอภิเศกสมรสกับเจ้าหญิงพิมพายโสธรา ที่กรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระชนมายุ ๑๖ พรรษา
ในภาพ เป็นที่น่าสังเกต ฝ่ายเจ้าหญิงอยู่ด้านซ้าย ฝ่ายเจ้าชายอยู่ด้านขวา (แต่ตรงกันข้ามกับมือของผู้ดู) องค์เจ้าชายและเจ้าหญิงประดับบนพระแท่นพิธีมีพระภูษาลาดเป็นพระราชอาสน์เป็นเครื่องหมาย นอกนั้น ที่นั่งแท่นต่ำลงมาถัดไปเบื้องพระปฤษฎางค์เจ้าชายและเจ้าหญิงนั้น เป็นเพื่อนเจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าสาว มีบายศรีประดิษฐานอยู่ท่านกลางระหว่างทั้งสองฝ่าย ภายในพระราชพิธีมณฑล
ชั้นล่าง มีพราหมณ์กำลังเบิกแว่นเวียนเทียนนั่งอยู่กลุ่มขวา กลุ่มด้านซ้ายเป็นพวกหญิงพนักงานและข้าเฝ้า

พระธรรมธีรราชมหามุนี

ขึ้นบน
 
 
 

๑๒. เจ้าชายสิทธัตถะทรงประทับราชรถชมบริเวณพระราชวัง

พระสิทธัตถะราชกุมาร เสด็จพระพาสพระราชอุทธยาน ๔ วาระ โดยลำดับกัน ทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ อันเทวดาแสร้งนิรมิตไว้ในระหว่างทาง ทรงสังเวชพระหฤทัย เพราะเหตุได้ทรงเห็นเทวทูต ๔ ข้างต้น อันพระองค์ยังไม่เคยทรงพบมาเลยในกาลก่อน และทรงพอพระหฤทัยในบรรพชา เพราะเหตุได้เห็นสมณะเทวทูตวาระที่ ๔ นี้ เป็นเหตุให้พระองค์เสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ บำเพ็ญบารมีธรรมจนได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ

พระเทพมุนี

ขึ้นบน
 
 
 

๑๓. เจ้าชายสิทธัตถะทรงสละราชโอรสและพระชายา

ด้วยกาลเวลาผ่านไป ความจริงค่อยปรากฏชัดแก่เจ้าชายสิทธัตถะ ธรรมชาติแห่งความคิดนึกตรึกตรอง และพระมหากรุณาของพระองค์ ไม่ยอมให้พระองค์เสวยความเพลิดเพลินในราชสำนักต่อไป พระองค์ไม่รู้จักความทุกข์เลย แต่ รู้สึกสงสารมนุษยชาติผู้มีความทุกข์ ภาพนี้แสดงให้เห็นว่าเจ้าชายสิทธัตถะผู้ทรงเบื่อหน่ายต่อความสุขอย่างชาวโลก กำลังเสด็จหนีออกบรรพชาในเวลาดึกด้วยทรงเห็นสาวสนมกรมในและพวกดนตรีทั้งหลายนอนกลิ้งเกลือกอยู่ ไม่เป็นที่น่ายินดี บางคนนอนผ้าหลุดลุ่ย บางคนนอนบ่นเพ้อละเมอไปไม่เป็นสมปฤดี ทรงเห็นสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ประกอบกับความสงสารแก่หมู่ประชา จึงตัดสินพระทัยทิ้งลูกน้อยและพระชายาผู้บรรทมอยู่บนพระแท่น ในราตรีกาลนั้น

พระครูคณานัมสมณาจารย์

ขึ้นบน
 
 
 

๑๔. พระมหาบุรุษเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา

ภาพพระพุทธประวัติตอนเจ้าชายสิทธัตถะ พระราชโอรสแห่งพระเจ้าสุทโธทนะราชา กับพระนางเจ้ามหามายาเทวี ซึ่งทรงเป็นพระสวามีแห่งพระนางเจ้ายโสธรา ผู้พระธิดาแห่งกรุงเทวทหะและเป็นพระบิดาแห่งราหุลกุมาร กำลังทรงม้ากัณฐกะเสด็จออกจากพระนครกบิลพัสดุ์ เพื่อทรงบรรพชาในราตรีกาลวันเพ็ญแห่งอาสฬหมาส ก่อนพุทธศก ๕๑ ปี คือในปีที่เจ้าชายมีพระชนม์ ๒๙ พรรษา ภายหลังเวลาที่เจ้าชายได้เสด็จประพาสพระอุทยาน และได้ทัศนาเทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ แล้วเสด็จกลับพระราชวัง ได้ทรงสดับข่าวการประสูติพระโอรส ทรงเปล่งพระอุทานว่า “ราหุโล” ซึ่งแปลว่าบ่วงคล้องแล้ว ในราตรีวันนั้นเอง เจ้าชายจึงได้ทรงตัดสินพระทัยเสด็จออกบรรพชา โดยปรากฏในภาพนี้ แสดงว่า เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จประทับบนหลังม้ากัณฐก มีนายฉันนะอำมาตย์ ยึดหางม้าตามไป ข้างหน้ามีเทวดีถือธงนำ ถัดมาเป็นท้าวสักกเทวราช กำลังจูงม้า เบื้องหลังมีพรหม ๔ หน้า เชิญเครื่องบวช มีบาตร และผ้ากาสายะ เบื้องล่างมีท้าวจตุโลกบาล และเทวดามีหัตถ์กุมเท้าม้าทั้ง ๔ เหาะลอยไปในอากาศเบื้องบนปรางค์ปราสาทแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ในขณะจะพ้นพระราชวังนั้น มีรูปแสดงพระยาวัสวดีมาราธิราชผู้มีจิตบาป ยกหัตถ์ขึ้นแสดงห้ามไว้ไม่ให้ออกไป
ทางสันนิษฐาน ภาพนี้เขียนขึ้นจากความรู้และเข้าใจจากการที่ได้พบข้อความในพระพุทธประวัติ และปฐมสมโพธิกถา ตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรม ซึ่ง ผู้เขียนได้ประมวลข้อความนั้น ๆ มาเขียน แสดงถึงการเสด็จออกจากพระราชวังของเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งเห็นการณ์ตอนนี้สับสนกัน จับใจความได้ยาก เท่าที่ศิลปินนำมาเขียนได้นี้ นับว่าเป็นความสามารถ และความเข้าใจซาบซึ้งเป็นอย่างดีแล้ว จึงสามารถเขียนได้ถึงเพียงนี้ ซึ่งจะเป็นความจริงเพียงใดนั้น เป็นการยากที่จะตอบได้ แต่ก็เป็นภาพหนึ่งซึ่งแสดงถึงการเสด็จออกบรรพชาของเจ้าชายสิทธัตถะ โดยบุคคลาธิษฐานคือมี

ขึ้นบน
 
 
 

(...บุคคลาธิษฐาน: ภาพบุคคลแสดง)

แต่ถ้าจะสันนิษฐานโดยทางธรรมแล้วก็จะได้ใจความจากภาพนี้ว่า “การทำความดีนั้น ย่อมจักมีผู้อนุโมทนาสาธุการด้วยมาก” เจ้าชายสิทธิธัตถะเสด็จออกบรรพชาเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ คือพระอมตมหานิพพาน และเพื่อหาทางปลดเปลื้องทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย ผู้เกิดมาในโลกแล้วจะต้องได้รับเสมอเหมือนกันหมด คือ ความแก่ ความเจ็บ และความตาย ซึ่งเจ้าชายเข้าพระทัยว่าจะต้องมีทางแก้ประดุจ มีร้อนแล้วมีเย็นแก้ฉะนั้น และทางนั้นคือบรรพชา เมื่อเจ้าชายเสด็จออกบรรพชาเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ และเพื่อจะปลดเปลื้องทุกข์ของสัตว์โลกเช่นนั้น จึงมีผู้อนุโมทนาสาธุการมาก ประดุจเทวดาแห่ไปฉะนั้น และความดีนั้นเป็นของบริสุทธิ์ สะอาดปราศจากสิ่งที่จะถ่วงให้หนักได้ ในภาพจึงแสดงการเหาะไป ส่วนท้าวสักกเทวราชนำหน้านั้น แสดงถึงความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อจะนำสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ พรหม ๔ หน้า แสดงถึงพรหมธรรม ๔ ประการ อันมีมั่นในพระทัย คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เทวดาทั้งหลาย แสดงถึงความดี นั้น ๆ ส่วนพระยามาร แสดงถึงน้ำพระทัยของเจ้าชายส่วนหนึ่ง ซึ่งยังคำนึงนึก เป็นห่วงราชสมบัติบริวารเป็นต้น โดยเฉพาะ พระนางยโสธราผู้เทวีและราหุลกุมารผู้เป็นปิโยรส อันเป็นประดุลพระยามารผู้มีจิตบาป คอยกั้นมิให้เจ้าชายเสด็จออกบรรพชาได้สะดวกฉะนั้น

พระกิตติวงศ์เวที

ขึ้นบน
 
 
 

๑๕. เจ้าชายสิทธัตถะปลงพระเกศา

ณ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชราในเวลาก่อนพุทธศก ๕๑ ปีมีพระมหาบุรุษหน่อพุทธางกูร ซึ่งทรงหลีกหนีจากพระประยูรญาติและพระราชวังอันโอฬาร พร้อมกับนายฉันนะและอัศวราชกัณฐก เพื่อแสวงหาโมกขธรรม นำสัตว์ให้ข้ามพ้นจากสังสารวัฏฏทุกข์ พระองค์ทรงเปลื้องขัตติยวราภรณ์มอบแก่นายฉะนนะรับสั่งให้นำม้ากัณฐกกลับคือสู่พระนคร เมื่อแจ้งข่าวแก่พระประยูรญาติและราชบิดา ก่อนจากไปนายฉันนะผู้เป็นอัศวบดี และอัศวราชกัณฐกผู้เป็นเดียรฉาน มีอาการวิปโยกโศรกเศร้า ถึงกับหลั่งน้ำตาเพระค่าแห่งความรักภักดี
พระมหาบุรุษสิทธารถ ผู้ทรงมั่นในอุดมคติว่า “สาธุ โข ปพฺพชฺชา” เมื่อจะทรงอษิฐานเพศพรรพชิต ได้ประทับนั่งเหนือแผ่นศิลา บ่ายพระพักตร์สู่ฝั่งชล มีหมู่อมรเทพ และมหาพรหมเรียงรายถวายความเคารพ และน้อมถวายสมณบริขาร คือบาตรและกาสาวพัสตร์ พระองค์ทรงตัดพระเมาฬีด้วยพระแสงขรรค์ แล้วทรงรับเครื่องสมณบริขารเหล่านั้นมาครองเพศเป็นบรรพชิต

พระมหาเข็บ อนฺงคโณ

ขึ้นบน
 
 
 

๑๖. พระมหาโคดมเข้าศึกษาที่สำนักอุทธกะรามบุตรดาบส

สมัยพระมหาบุรุษทรงศึกษาอยู่ในสำนักของท่านอุทธกะดาบส รามบุตร ณ บรรณศาลา แขวงเมืองพาราณสี ได้สำเร็จวิชาชั้นสมาบัติแปด ซึ่งเป็นวิชาขั้นสูงสุดของท่านอุทธกะดาบส พระมหาบุรุษยังไม่ทรงพอพระทัยในวิชาเพียงเท่านี้ เพราะทรงเห็นว่า ยังไม่ใช่ทางตรัสรู้โลกุตระธรรมชั้นสูงสุด ต่อจากนั้น จึงทรงอำลาท่านดาบสผู้อาจารย์เพื่อค้นคว้าและบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณโดยลำพังพระองค์เองต่อไป

พระมหาสิงห์คำ สิทธิปญฺโญ

ขึ้นบน
 
 
 

๑๗. พระบรมโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา

หลังจากพระพุทธองค์เสด็จออกบรรพชาแล้วก็ทรงศึกษาค้นคว้าหาทางตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ โดยวิธีการต่าง ๆ อยู่ถึง ๖ พรรษา ทางหนึ่ง ที่ทรงสนพระทัยบำเพ็ญเป็นพิเศษยิ่งนักก็คือ “การบำเพ็ญทุกกรกิริยา”
ทุกกรกิริยา ทรงทรมานพระกายให้ลำบาก เริ่มแต่ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ กดพระดาลด้วยพระชิวหา ผ่อนลมหมายใจเข้า – ออกทีละน้อย เสวยพระกระยาหารแต่น้อยจนถึงไม่เสวยเลย จนพระกายได้รับความลำบากอย่างยิ่ง (ดังภาพ) ยากนักที่นักพรตใด ๆ จะกระทำได้ นับเป็นความเพียรอย่างอุกฤษฏ์โดย มีพระเบ็ญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เป็นผู้อุปถากและเป็นพยาน แต่ก็หาสำเร็จพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณได้ไม่ เพราะทุกกรกิริยา ไม่ใช่ทางแห่งความตรัสรู้

พระมหาบุญธรรม

ขึ้นบน
 
 
 

๑๘. ศุภนิมิตแห่งพิณ ๓ สาย

ความเพียรของพระมหาบุรุษเป็นไปอย่างแรงกล้าในตำบลอุรุเวลา เสนานิคม แคว้นมคธ ชมพูทวีป ถึงวาระที่ ๓ คืออดกลั้นพระกระยาหารจนพระวรกายซูบผอมซวนเซแทบจะพังทลายอยู่นั้น อุปมาญาณก็เกิดขึ้นในมโนธาตุของพระองค์ว่า “อันความเพียรถ้าย่อหย่อนก็เสียผลที่หวัง ถ้าตึงเครียดนักก็มักพลาดและฉิบหาย ต่อเมื่อพอดีทั้งกายใจ จึงจะเกิดผลแก่ผู้บำเพ็ญ ดุจพิณ ๓ สาย ถ้าหย่อนนักมักไม่ดัง ถ้าตึงนักมักขาด ต่อพอดีจึงจะมีเสียงนิ่มนวลควรฟังได้”
ตอนนี้พระโบราณาจารย์ได้แสดงเป็นบุคคลาธิษฐานไว้ว่า “เมื่อพระมหาบุรุษบำเพ็ญความเพียรโดยเคร่งเครียด จวนเจียนพระชนม์จะแตกสลายอยู่นั้น ท้าวสักกเทวราช ผู้เป็นเทพเจ้าที่คอยให้ความอนุเคราะห์แก่ธรรมจารีชนทั้งหลายอยู่เบื้องบน เกิดร้อนอาสน์เล็งเห็นความตั้งใจจริงเด็ดเดียวของพระมหาบุรุษจะไร้ผลเสียเปล่า จึงได้ถือพิณ ๓ สายเสด็จลงมาดีดถวาย สายที่หย่อนยานดีดเข้าไม่ดัง สายที่สองตึงนักเข้าขาดเปล่า สายที่ ๓ พอดีดีดเข้าประสานเสียงวังเวงกลมกลืนไพเราะ พระมหาบุรุษได้สติจึงยึดเอาพิณสายพอดีเป็นแนวทางปฏิบัติ คือตั้งความเพียรทางกายใจ ให้เป็นไปพอดี ไม่หย่อน ไม่ตึง ซึ่งเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา จึงสำเร็จพระโพธิญาณสมพระประสงค์
เมื่อพระองค์เลิกทุกกรกิริยากลับเสวยพระกระยาหารนั้น เบญวัคคีย์ผู้เชื่อจารีตประเพณีกว่าคัมภีร์โหรก็สิ้นหวังพากันหลีกไป

พระพนมเจติยานุรักษ์

ขึ้นบน
 
 
 

๑๙. พระมหาโคดมทรงเลิกล้มทุกกรกิริยา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเมื่อพระองค์ทรงกระทำทุกกระยาอยู่ ณ สถานที่เชิงแห่ง ภูผา เขาปราคโพธิ หรือ คงฺคสิริ อันตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้าจากลุมพินีประเทศเนปาลสู่พุทธคยาประเทศอินเดีย ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา สมัยกาลครั้งนั้นพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือ อัญญาโกณฑ์ญญะ ภัททิยะ วัปปะ มหานามะ อัสสชิ กระทำปฏิบัติพระองค์อยู่โดยหวังว่า พระสิทธัตถะกุมาร ผู้มีพระสรีระสมบูรณ์ ต้องตามมหาปุริสลักขณ์พยากรณ์ศาสตร์ มีคติเป็นสองประการ คือ ถ้าอยู่เป็นฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าออกบวช จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์กระทำทุกกรกิริยา อดพระกระยาหารอยู่นั้น จนพระสรีระซูบผอม พระฉวีวรรณเศร้าหมอง พระเสโทไหล มีพระทัยสวิงสวาย เพราะพระวาโยธาตุกำเริบ พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ต่างเข้าประคองสองพระพาหา โอบอุ้มพระสรีระ องค์หนึ่งถือพัดวารวิชนี ถวายงานพัด องค์หนึ่งปริเวทนาการ
ภาพนี้ เป็นทิฏฐานุคติ เตือนผู้ปฏิบัติ มิให้ดำเนินการปฏิบัติในทางทั้งสอง คือกามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมลถานุโยค ให้ดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทาตั้งในศีล สมาธิ ปัญญา รู้แจ้งในอริยสัจจธรรมมีความเบื่อหน่าย คลายความกำหนัด ถึงซึ่งวิมุติอริยมัคคญาณอยู่จบพรหมจรรย์ เป็นพระอริยบุคคลในพระบวรพุทธศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนี้แล

พระนิทานโพธิวัฒน์

ขึ้นบน
 
 
 

๒๐. นางสุชาดากวนข้าวมธุปายาส

ภาพนี้ แสดงถึงตอนนางสุชาดา บุตรสาวกฎุมพีผู้มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วย โภคทรัพย์มีทั้งโคกระบือนับอนันต์ ครั้งหนึ่งเธอตั้งความปรารถนาต่อรุกขเทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นไม่แห่งหนึ่งว่า หากข้าพเจ้าได้บุตรสุดสวาท ที่จะมาเกิดในครรภ์เป็น ผู้ชายแล้วไซร้ จะกระทำบวงสรวงด้วยมธุปายาสอันโอชะ ครั้นความปรารถนาของเธอสำเร็จสมประสงค์แล้ว จึงจัดแจงกวนข้าวมธุปายาสด้วยตนเอง
วิธีทำข้าวมธุปายาส เริ่มแรกเธอรีดเอานมจากแม่โคนมหนึ่งพันตัวก่อน แล้วนำไปให้แม่โคนมห้าร้อยตัว กินเป็นภักษาหาร จึงรีดเอานมจากแม่โคนมห้าร้อยตัวนำไปให้แม่โคจำนวนสองร้อยห้าสิบ กินเป็นภักษาหารอีก และรีดเอานมจากแม่โคสองร้อยห้าสิบให้แก่โคฝูงอื่นโดยลดส่วนลงไปตามลำดับ จนเหลือแม่โคจำนวนแปดตัว โคแปดตัวนี้ นับว่าเป็นแม่โคที่มีน้ำนมอันบริสุทธิ์ มีโอชะเป็นอันมากครั้นแล้วเธอก็รีดเอานมจากแม่โคนมทั้งแปดตัวนี้ใส่ในกระทะทองอันบริสุทธิ์นำไปหุงกวนเข้ากับธัญญาชาติอื่น ๆ อีกจนพอดี ขณะกำลังหุงอยู่นั้นสุคนธชาติก็ฟุ้งขจรหอมหวลไปถึงสรวงสวรรค์ พระอมรินทราธิราช ได้ทรงทราบเหตุการณ์ ดังนั้นจึงนำเอาทิพยาหารอันโอชะ มาให้ข้าวมธุปายาสมีรสโอชะยิ่งขึ้น เมื่อเสร็จแล้วเธอก็จัดแจงนำไปถวายแด่พระสิทธัตถะซึ่งประทับอยู่ ณ ควงแห่งต้นไม้ครั้งนั้น

พระโสภณธรรมมุนี

ขึ้นบน
 
 
 

๒๑. พระมหาโคดมทรงรับถาดข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา

ในรูปภาพนี้มีเรื่องว่า เมื่อพระสิทธัตถะบรมโพธิสัตว์ออกมหาภิเนษ กรมณ์เสด็จประทับอยู่ภายใต้ต้นไทร ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลเสนานิคม จังหวัดอุรุเวลาประเทศ ในกาลนั้น มีนางทาริกาคนหนึ่งนามว่า “สุชาดา” เป็นธิดาแห่งเสนากฎุมพีอันมีคฤหสถานอยู่ ณ ตำบลเสนานิคมนั้น เมื่อนางเจริญวัยวัฒนาการขึ้นแล้ว นางจึงทำพลีกรรมแก่เทวดานั้นด้วย ข้าวมธุปายาส ซึ่งหุงด้วยนมโคสดในวันจาตุททสีแห่งชุณหปักษ์ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) ข้างขึ้นเดือนหก นางจึงถือถาดทองซึ่งบรรจุข้าวมธุปายาสเต็มพอดี มีถาดทองใบอื่นปิดเป็นฝา ออกจากบ้านมุ่งหน้าไปสู่นิโครธพฤกษ์สถาน พร้อมด้วยนางทาสีแวดล้อมเป็นบริวารเป็นอันมาก เมื่อนางถึง ณ ที่นั้นแล้วก็ทอดทัศนาการเห็นพระมหาบุรุษ ด้วยมาสำคัญว่าพระมหาบุรุษนี้เป็นเทวดาโดยแท้จริง จึงน้อมนำถาดข้าวมธุปายาสเข้าไปถวาย พระมหาบุรุษทรงเหยียดพระหัตถ์ขวาออกรับและทอดพระเนตรดูนาง นางทราบอาการ เช่นนั้นแล้วก็ทูลว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าขอถวายข้าวมธุปายาสพร้อมกับภาชนะทองอันรองใส่ ขอพระองค์เจ้าจงรับไปโดยควรแก่พระหฤทัยปรารถนาเถิด” แล้วนางก็กราบถวายบังคมลา พานางทาสีบริษัทนิวัติกลับสู่นิเวศน์แห่งตน

พระศรีสมโพธิ

ขึ้นบน
 
 
 

๒๒. พระมหาโคดมทรงเสี่ยงบารมีลอยถาดทอง

ภาพนี้ แสดงการเสี่ยงพระบารมี ด้วยการลอยถาดทองคำ ก่อนที่พระ โคดมจะได้ตรัสรู้เป็น “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” มีเรื่องเล่าว่า เมื่อทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ ๖ พรรษาแล้วไม่พบทางตรัสรู้ ทรงแน่พระทัยว่า ทุกกรกิริยานั้นเป็นอัตตกิมสถานุโยคทำตนให้ลำบากเปล่า ไม่ใช่ทางสันติ ไม่เป็นทางตรัสรู้แน่ จึงทรงเลิกทุกกรกิริยาแสวงหาโมกขธรรมทางมัชฌิมาปฏิปทาเริ่มเสวยพระอาหารตามปกติ
เช้าวันตรัสรู้นั้น นางสุชาดาธิดาแห่งกฎุมพีชาวเสนานิคม ได้นำข้าวมธุปายาสมาถวาย พระมหาบุรุษทรงรับเสวยหมดแล้ว ได้เสด็จไปฝั่งแม่น้ำเนรัญชราเสี่ยงพระบารมีว่า ถ้าจะได้ตรัสรู้อนุตตรธรรม ขอให้ถาดลอยทวนกระแสน้ำไป ถาดได้ลอยไปด้วยแรงอษิฐาน และได้จมลงสู่นาคพิภพรวมกับถาด ๓ ใบของอดีตพระพุทธเจ้า มีพระพุทธกกุสันโธ เป็นต้น ในภัทรกัปป์นี้ ดังที่ปรากฏในภาพนั้น

พระธรรมวโรดม

ขึ้นบน
 
 
 

๒๓. โสตถิยะพราหมณ์ถวายฟ่อนหญ้าคาพระมหาโคดม

ภาพนี้ แสดงพุทธประวัติตอน โสตถิยะพราหมณ์ ถวายฟ่อนหญ้าคาแก่พระมหา โคดม ก่อนที่พระองค์จะทรงบำเพ็ญเพียรติตเพื่อตรัสรู้ เมื่อทรงรับฟ่อนหญ้าคาแล้ว ก็ทรงเอามาปูลาดเป็นสันถัดประทับนั่งบนสันถัดนั้น บำเพ็ญเพียรจนได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตามธรรมเนียมของพุทธศาสนิกชนชาวไทย เมื่อเวลาประกอบพิธี มักใช้ฟ่อนหญ้าคาสำหรับประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ก็เพราะถือว่าเป็นพุทธบัลลังก์ตามประวัติดังกล่าวนั้น

พระปริยัติโศภณ

ขึ้นบน
 
 
 

๒๔. พระมหาบุรุษผจญพญาวัสวดีมาราธิราช

ขณะนั้น พญาวัสวดีมารเห็นพระมหาบุรุษจะพ้นจากอำนาจของตน จึงระดมยกพลพยุหเสนามาร มีพลช้าง พลรถ พลม้า พร้อมด้วยศัสตราอาวุธนานาชนิด มาประชิดอาสนะบัลลังก์ หมายมั่นที่จะจู่โจมทำลายและและให้พระมหาบุรุษตกพระทัยเสด็จหนีไปเสีย พระองค์ได้น้อมพระหฤทัยถึงพระบาร มีธรรม ๑๑ ทัศ ที่ทรงบำเพ็ญมาแล้วในอดีต มิได้ทรงสะดุ้งตกพระทัยแต่ประการใด ทรงอธิษฐานพระปฐพีมณฑลเป็นสักขีพยาน เสี่ยงพระบารมีธรรมเข้าช่วยผจญมาร ด้วยเดชะอำนาจพระบารมีธรรมนั้น พระนางธรณีเทพยดาผู้รักษาแผ่นดินจึงแปลงเพศเป็นหญิงมายืนปรากฎกายอยู่ภายใต้อาสนะบัลลังก์ อธิษฐานแล้วบีบพระเกศาเป็นอุทกธารา ไหลหลั่งท่วมท้นพญามารและเสนามารให้ปราศนาการพ่ายแพ้ไปหมดสิ้น แต่พระอาทิตย์ยังมิทันอัสดงคต หลังจากนั้น พระองค์ก็ทรงพ้นจากภยันตรายน้อยใหญ่ ทรงตั้งมโนปณิธานบำเพ็ญความเพียรทางใจต่อไปจนได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ณ ราตรีเพ็ญวิสาขมาสนั้น
ภาพนี้ เขียนขึ้นด้วยมโนภาพที่แสดงให้เห็นว่าพระมหาบุรุษเจ้า ต้องผจญต่ออุปสรรคของการบรรลุมรรคผลนานาประการ อันเกิดขึ้นด้วยอำนาจกิเลสในส่วนที่เป็น โลภะ โทสะ โมหะ ตัณหา ราคะ อรดี อันเป็นมารน้อย มารใหญ่ เป็นชะนวนบั่นทอนมิให้บุคคลบัลลุผลอันเป็นความดีงามที่ทุก ๆ คนปรารถนา แต่การที่พระมหาบุรุษเจ้าทรงมีชัยชนะต่อมารผู้ล้างผลาญความดีงามภายในเหล่านี้ได้ ก็เพระอำนาจพระบารมีธรรมที่ได้ทรงอบรมมาแล้วด้วยดี มี ทาน ศีล เมตตา ขันติ เป็นต้น และเพราะเหตุนั้น พระองค์จึงสามารถบรรลุอมตะธรรมได้ในที่สุด

พระทักษิณวรนายก

ขึ้นบน
 
 
 

๒๕. พระพุทธเจ้าทรงเพ่งพระศรีมหาโพธิ์

ในสัปดาห์ที่ ๒ จากวันที่ตรัสรู้แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระดำเนินไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อได้ระยะพอควรกับการทอดสายพระเนตร พระองค์ก็ทรงกลับพระพักตร์มายืนพิจารณาต้นไม้อันเป็นที่ตรัสรู้นั้น ลืมพระเนตรโดยมิได้กระพริบเลยตลอดสัปดาห์ เหมือนหนึ่งจะทรงทบทวนความทรงจำต่อเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วโดยลำดับ และก็มาหยุดความ เร่ร่อนอันหมุนไป ตามอำนาจของสังขารจักรลงแค่นี้ ต้นไม้ต้นนี้ อันเป็นที่ให้กำเนิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง และพระสัจจธรรมอันบริสุทธิ์สำหรับชำระกิเลสนานาชะนิดของสัตว์โลก ได้อย่างศักดิ์สิทธิ์ เป็นการยืนยันการตรัสรู้ อันหนักแน่นและเด็ดขาดโดยความพอพระทัย สถานที่นี้จึงเรียกว่า อนิมิสเจดีย์

พระธรรมปหังษนาจารย์

ขึ้นบน
 
 
 

๒๖. พระพุทธเจ้าประทับในรัตนฆรเจดีย์

หลังจากตรัสรู้แล้วสัปดาห์แรก พระทับภายใต้ต้นโพธิ์ ที่ตรัสรู้นั้นสิ้น ๗ วัน สัปดาห์ที่ ๒ เสด็จประทับทางด้านทิศอีสานของต้นโพธิ์นั้น เพ่งพระเนตรโดยไม่กระพริบเลยตลอด ๗ วัน เพื่อคารวะต่อพระธรรม สถานที่นั้นเรียกว่า “อนิมิสเจดีย์” แล้วเสด็จกลับจากที่นั้น มาหยุดในระหว่างกลางแห่งพระมหาโพธิ์ และ อนิมิสเจดีย์ ทรงนิรมิต ที่จงกรมขึ้นแล้ว เสด็จจงกรม ณ ที่นั้นสิ้น ๗ วัน สถานที่นั้นเรียกว่า รัตนจงกรมเจดีย์ ในสัปดาห์ที่ ๔ เทวดานิรมิต เรือนแก้วขึ้นทางทิศพายัพแห่งต้นโพธิ์ เสด็จนั่งขัดบัลลังก์ ทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฎกสิ้น ๗ วัน สถานที่นี้เรียกว่ารัตนฆรเจดีย์ แต่นั้นเสด็จไปยังไม้อชปาลนิโครธ ต้นไทร และ ต้นไม้จิก ต้นไม้เกด โดยลำดับรวม ๗ แห่ง ๆ และ ๗ วัน
จากนั้นก็ทรงแสดงธรรมโปรดประชาชนให้ได้รับความสุขโดยทั่วกัน ทรงอุทิศทุก ๆ อย่างอันเป็นความสุขส่วนพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของปวงสัตว์เป็นที่ตั้งจวบจนเข้าสู่พระปรินิพพาน ล่วงมาถึงบัดนี้ครบ ๒๕๐๐ ปีพอดี บรรดาชาวพุทธต่างพร้อมใจกันจัดการฉลองอย่างมโหฬารเป็นพิเศษ ทั้งส่วนภายนอกอันเกี่ยวกับการประดับตกแต่ง และส่วนภายในคือการปฏิบัติ ตามพระโอวาทของพระองค์เพื่อเป็นพุทธบูชา

พระธรรมภาณโกศล

ขึ้นบน
 
 
 

๒๗. พระพุทธเจ้าเมื่อเสวยวิมุติสุขอยู่ใต้ต้นมุจจลินท์

ในคราวนี้ ตามคัมภีร์รับรองว่า ได้มีฝนเจือด้วยลมหนาวตกพรำอยู่ ๗ วัน พญานาคชื่อ “มุจจลินท์” เข้ามาวงด้วยขนด ๗ รอบ และแผ่พังพานปกพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะป้องกันฝนและลมมิให้ถูกพระกาย ครั้นฝนหายแล้วก็คลายขนดออกจำแลงเพศเป็นมาณพ มายืนเฝ้า ณ ที่เฉพาะพระพักตร์ พระองค์ได้ทรงเปล่งอุทานว่า
“ความสงัดเป็นสุข สำหรับบุคคลผู้ได้สดับธรรมแล้ว ยินดีอยู่ในที่สงัด รู้เห็นตามเป็นอย่างไร ความไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความปราศจากกำหนัด คือความล่วงกามทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวงเป็นสุขในโลก ความนำอัสมีมานะ ถือว่ามีตัวตนให้หมดได้เป็นสุขอย่างยิ่ง”
หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จประทับอยู่ ณ ภายใต้ร่มไม้มหาโพธิ์ เสวยวิมุติสุข คือสุขเกิดเพราะความหลุดพ้นจากกิเลสสิ้นเวลา ๗ วัน แล้วได้เสด็จออกจากร่มไม้มหาโพธิ์ ไปประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ภายใต้ต้นไทร ซึ่งเป็น ที่พักแห่งคนเลี้ยงแพะอันได้ชื่อว่า “อชปาลนิโครธ” อีก ๗ วัน ต่อจากนั้นได้เสด็จออกจากร่มไม้ อชปานิโครธ ไปยังต้นจิกซึ่งได้นามว่า “มุจจลินท์” ซึ่งอยู่ทางทิศอาคเณย์แห่งต้นมหาโพธิ์ ได้ทรงเสวยวิมุติสุขอยู่ที่นั้นอีก ๗ วัน

พระมหาจำนงค์ ชุตินฺธโร

ขึ้นบน
 
 
 

๒๘. ธิดาพระยามาราธิราชแสดงยั่วเย้าพระพุทธองค์

ภาพนี้ เป็นปางเมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ ภายใต้ร่มไม้อชปาลนิโครธ อันตั้งอยู่ในทิศบุรพาแห่งพระมหาโพธิ์ ทรงเสวยวิมุติสุขอยู่ ธิดามารสามตน คือ นางตัณหา นางราคา นางอรดี ได้อาสาพ่อเข้าไปเฝ้า ทูลประเล้าประโลม เล่ห์ กามคุณ เนรมิตอัตภาพเป็นหญิงนานาชนิดหวังให้ทรงชมชิดติดในกามารมณ์ แต่พระองค์มิได้ทรงใฝ่พระทัย กลับทรงขับไล่ให้ออกไป นี่แสดงถึงบุคลิกลักษณะอันประเสริฐของผู้ชำนะตนได้แล้ว ไม่ยอมกลับเป็นผู้แพ้อีก
เรื่องนี้พระพุทธโฆสาจารย์ กล่าวไว้ในอรรถกถาธรรมบท อ้างว่าเป็นพระประวัติที่พระพุทธองค์ตรัสเล่าแก่ท่ามาคันทียพราหมณ์กับภรรยา

พระอรรคทัสสีสุทธิพงศ์

ขึ้นบน
 
 
 

๒๙. ตปุสสะและภัลลิกะสองพาณิชถวายข้าวสัตตุแด่พระพุทธองค์

ภาพนี้ แสดงถึงตอนที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ๒๘ วัน (หรือ ๔ สัปดาห์) ทรงประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ที่ใต้ต้นไม้เกดซึ่งนามว่า “ราชายตนะ” สมัยนั้นได้มีพาณิช ๒ คนชื่อ ตปุสสะคนหนึ่ง ภัลลิกะคนหนึ่ง เดินทางมาจากอกุกลชนบท ถึง ที่นั้นแล้ว ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับอยู่ ณ ภายใต้ต้นไม่เกด มีพระ รัสมีอันผ่องใสยิ่งนัก ก็บังเกิดความเลื่อมใส จึงได้นำข้าวสัตตุผงสัตตุก้อนซึ่งเป็นเสบียงเดินทางของตนเข้าไปถวาย แล้วได้อ้างถึงพระองค์กับพระธรรมเป็นสรณะ สองพาณิชนี้ได้เป็นปฐมอุบาสกที่ถึงพระพุทธเจ้ากับพระธรรมเป็นสรณะเรียกว่า “เทววาจิกะ” พระองค์ทรงรับด้วยบาตรที่ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ นำมาถวาย ซึ่งพระองค์ทรงอธิฐานให้เข้าไปเป็นใบเดียวกัน

พระศรีรัตนมุนี

ขึ้นบน
 
 
 

๓๐. ท้าวจตุมหาราชถวายบาตรพระพุทธองค์

เมื่อพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณแล้ว ประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ภายใต้ต้นไม้เกดอันมีนามว่า “ราชายตนะ” อันตั้งอยู่ในทิศทักษิณแห่งพระมหาโพธิ์ ครั้งนั้นพาณิช ๒ คนคือ ตะปุสสะ ๑ ภัลลิกะ ๑ ได้น้อมนำเอาข้าวสัตตุผง ข้าวสัตตุก้อนเข้าไปถวาย พระองค์และมีพระประสงค์จะรับ แต่ในเวลานั้นบาตรทรงไม่มี ครั้นจะรับด้วยพระหัตถ์ ก็ผิดประเพณีของพระพุทธเจ้า ทั้งหลายในปางก่อน ฝ่ายท้าวมหาราช ๔ องค์ คือ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ ท้าวกุเวร ทราบพระพุทธประสงค์แล้ว ต่างนำบาตรศิลาองค์ละใบเข้าไปถวาย พระองค์ทรงรับและอธิฐานเข้าเป็นใบเดียวกัน แล้วทรงรับข้าวสัตตุผง ข้าวสัตตุก้อนของ ๒ พาณิชด้วยบาตรนั้น

พระศรีวิสุทธโมลี

ขึ้นบน
 
 
 

๓๑. เสด็จมาเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์

เมื่อตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้เสด็จ จากต้นอชปาลนิโครธ มาถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ในเวลาสายัณห์แห่งวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ก่อนพุทธศก ๔๕ ปี เพื่อจะเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ (บรรพชิต ๕ รูป คือ โกณฑัญญะ ๑ วัปปะ ๑ ภัททิยะ ๑ มหานามะ ๑ และ อัสชิ ๑) ผู้ซึ่งเคยอุปัฏฐากพระองค์เมื่อครั้งยังทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่
ขณะที่ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในระยะไกล ปัญจวัคคีย์เข้าใจว่าพระองค์เลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยาเสียแล้ว คงไม่ได้บัลลุธรรมพิเศษอะไร จึงพร้อมใจกันไม่ออกไปทำความเคารพและต้อนรับอย่างที่เคยทำ และแม้เมื่อพระองค์เสด็จเข้ามาใกล้ก็ยังใช้โวหารเรียกนามโดยไม่เคารพ ต่อเมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราได้ตรัสรู้อมฤตธรรมโดยชอบแล้ว จะนำมาสั่งสอนพวกเธอ ถ้าพวกเธอตั้งใจฟังและปฏิบัติตาม ในไม่ช้าก็จะได้รับบัลลุอมฤตธรรม” ปัญจวัคีย์นึกได้ว่า พระวาจาเช่นนี้พระองค์ไม่เคยตรัสมาก่อน จึงได้ออกไปทำความเคารพต้อนรับ และเกิดความสนใจที่จะฟังธรรม
ครั้นในวันรุ่งขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้เทศนาธรรมจักรกัปปวัตนสูตรที่เรียกว่า “ปฐมเทศนา” ประกาศสัจจธรรมอันประเสริฐ

พระวิสุทธิพรหมจรรย์

ขึ้นบน
 
 
 

๓๒. ทรงแสดงปฐมเทศนา

ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน นครพาราณสี พระบรมศาสดาได้เสด็จไปสู่สำนักปัญจวัคคีย์ คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ เมื่อพระ ผู้มีพระภาคตรัสปลอบใจให้ปัญจวัคคีย์ เชื่อในความตรัสรู้ของพระองค์แล้ว พระองค์ก็แสดงปฐมเทศนาเรียกว่า พระธรรมจักกัปวัตนสูตร ทรงแสดงถึงที่สุด ๒ อย่างไม่พึงเสพคือ กามสุขัลลิกานุโยค คือพัวพันหนักในทางกามสุข และอัตตกิล มถานุโยค คือ ประกอบกรรมเป็นการทรมานตนให้เหนื่อยเปล่า ไม่ใช่ทางแห่ง อริยภูมิ ทรงชี้ทางให้ดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลางมี ๘ ประการ เริ่มด้วยสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ และจบด้วยสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นที่ชอบ แล้วพระองค์ก็แสดงอริยสัจ ๔ ประการ เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระโกณฑัญญะก็สำเร็จพระโสดา รู้ตามกระแสพระธรรมของพระองค์ เป็นเหตุให้พระบรมศาสดาทรงเปล่งอุทานว่า “โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ” แล้วพระโกณฑัญญะก็ขออุปสมบท ทรงประทานอนุญาตด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ต่อมาทรงเทศนาสั่งสอนให้พระปัญจวัคคีย์ได้สำเร็จอรหัตผลทั้งห้าองค์
นี่แหละปราชญ์ย่อมไม่ปกปิดคุณธรรมพิเศษไว้เฉพาะตน หากยังได้เอื้อเฟื้อเจือจานแก่ผู้อื่น สมเด็จพระบรมศาสดาก็ทรงประกาศพระมหากรุณาธิคุณให้ประจักษ์เห็นปานฉะนี้

พระพิมลธรรม

ขึ้นบน
 
 
 

๓๓. พระยสกุลบุตรบวช

ประสพการณ์ทางจิต ที่ยสกุลบุตรได้รับก่อนแต่จะหนีออกจากเรือนไปนั้น มีลักษณะอย่างเดียวกันกับที่พระสิทธัตถะโคตมะ ข้อนี้ได้แก่ การที่ชายหนุ่ม ผู้นี้มีชีวิตอยู่ในปราสาทครบทั้ง ๓ ฤดูอย่างลูกเศรษฐีแห่งเมืองพาราณสี ที่พ่อแม่รักและถนอมอย่างแก้วตา เขาถูกบำเรอด้วยกามสุขอย่างสูงสุด โดยเฉพาะด้วยสตรีมากและนานถึงขนาดที่กล่าวได้ว่า “เกินจุดอิ่มตัว” จึงได้เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมา คืนวันหนึ่งเวลาดึกสงัด เขาตื่นก่อนพวกนางบำเรอ ได้เห็นคนเหล่านั้นนอนหลับระกะอยู่ในลักษณะที่น่าขยะแขยง ดุจซากศพในป่าช้าที่ทิ้งศพ เขาสลดใจจนลืมตัว เท้าพลางจากเรือนเดินดุ่ม ๆ ไปในลักษณะของคนใจลอย เป็นไมล์ ๆ ปากพร่ำบ่นอยู่ว่า “อัดอัดจริง อึดอัดจริง” จนกระทั่งเข้าไปในป่านอกเมืองโดยไม่รู้สึกตัว เขาได้พบพระพุทธองค์ในปานนั้น ได้รับคำต้อนรับว่า “ยสเอ๋ย. ที่นี่ไม่อึดอัดเลย ที่นี่ไม่อึดอัดเลย.” เขาเกิดความโล่งใจเป็นอย่างยิ่ง เข้าไปสนทนาด้วย จนได้บวชและเป็นพระอรหันต์ ในปีแรกแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธองค์นั้นเอง
ในภาพนี้ เป็นเวลาดึกสงัด เขากำลังลงบันไดจากเรือนไป คนที่นอนห้องในเป็นภรรยาเอก นอกนั้นเป็นนางบำเรอ หรือ “ซากศพในป่าช้าผีดิบ”

พระอริยนันทมุนี

ขึ้นบน
 
 
 

๓๔. โปรดชฎิลสามพี่น้อง

สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่ ตำบลอุรุเวลา ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงทรมาน อุรุเวลกัสสปะ ชฎิลผู้พี่ใหญ่ มีบริวาร ๕๐๐ คน จนยอม อ่อนน้อมขอบรรพชา และลอยบริกขารล่องตามน้ำไป
นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ น้องชายทั้งสองเมื่อเห็นเครื่องบริกขารของพี่ชายลอยน้ำมาก็แปลกใจจึงพากันขึ้นไปหาอุรุเวลกัสสปะพี่ชาย เมื่อทราบว่าพี่ชายละลัทธิของตน ขออุปสมบทเป็นสาวกของสมเด็จบรมศาสดา พร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐ คน จึงพาบริวารของตนรวมอีก ๕๐๐ คน มาบวชในพระพุทธศาสนาตามพี่ชาย แล้วพระผู้มี พระภาคเข้าก็ทรงแสดงอาทิตยปริยายสูตรพวกชฎิลก็ได้บรรลุธรรมพิเศษเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น

พระสารธรรมมุนี

ขึ้นบน
 
 
 

๓๕. พระเจ้าสุทโธทนะส่งทูตมาเชิญเสด็จพระพุทธองค์

เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะ ได้ทรงทราบว่า พระโอรสของพระองค์ ผู้ซึ่งได้สละราชสมบัติออกแสวงหาอมฤตธรรมเป็นเวลาช้านานนั้น บัดนี้ได้พบอมฤตธรรมแล้ว แล้วกำลังจาริกเผยแผ่แก่ประชาชนในแคว้นต่าง ๆ อยู่
พระเจ้าสุทโธทนะ จึงส่งมหาอำมาตย์ทูลเชิญเสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์บ้าง แต่ได้ถูกพระพุทธองค์ยับยั้งไว้ถึง ๙ ครั้ง พอครั้งที่ ๑๐ เมื่อกาฬุทายี อำมาตย์ ผู้สหชาติมาทูลจึงได้เสด็จไป
การที่พระองค์ยับยั้งรอไวนานถึงปานนั้น ก็เพื่อรอให้ญาณของพระชนกและพระญาติแก่กล้าเสียก่อน เหมือนกสิกรผู้ฉลาดรอโอกาสที่จะหว่านพืชผลฉะนั้น

พระเมธังกรญาณมุณี

ขึ้นบน
 
 
 

๓๖. อุคคะ คฤหบดีถวายภัตตาหาร

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน แขวงเมืองเวลาลี เวลาเช้าเสด็จไปยังนิเวศน์ของอุคคะคฤหบดี พวกญาติ และบริวารชนต่างช่วยกันจัดแจงเครื่องไทยทาน ตามคำสั่งของคฤหบดีตั้งแต่เช้าตรู่ คฤหบดีนั้นนั่งเฝ้าเพ่งดูพระรูปโฉมของพระผู้มีพระภาค อันประกอบด้วย มหาปุริสลักษณะ ๓๒ อนุพยัญชนะ ๘๐ มีพระรัศมี ๖ สีสร้านออกจากพระวรกาย ครั้นเครื่องไทยทานเสร็จแล้วจึงได้กราบทูลว่า “พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ได้สดับและรับฟังมาว่า ผู้ให้สิ่งที่พอใจย่อมได้สิ่งที่พอใจพระเจ้าข้า ขอพระองค์จงอาศัยความอนุเคราะห์รับของขบฉัน และสมณบริขารอันล้วนแต่อย่างดี เป็นที่พอใจของข้าพระองค์เถิด” กราบทูลแล้วก็น้อมของเหล่านั้นเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาค ขณะที่พระองค์กำลังเสวยอยู่นั้น คฤหบดีและคนอื่น ๆ ก็คอยปรนนิบัติอยู่อย่างใกล้ชิด ต่างก็ชื่นชมยินดีผู้ในพระรูปโฉมของพระองค์ บ้างก็มีศรัทธาใคร่ฟังกระแสพระดำรัส บ้างก็นิยมติดใจในพุทธลีลาศ และสีของสบงจีวร เมื่อเสวยเสร็จแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุโมทนา เป็นคาถาว่า
“ผู้ให้สิ่งดีพอใจ ย่อมได้สิ่งที่พอใจ ผู้ใดเต็มใจถวายเครื่องนุ่งห่ม ที่นั่งที่นอน ข้าวน้ำและปัจจัยต่าง ๆ ในท่านผู้ประพฤติตรงทั้งหลาย ผู้นั้นรู้จักการเสียสละการบริจาค และการอนุเคราะห์ในพระอรหันต์ผู้เปรียบเสมือนนาบุญ ผู้ให้สิ่งที่พอใจย่อมได้สิ่งที่พอใจ ดังนี้ ฯ”

พระอมรเมธี

ขึ้นบน
 
 
 

๓๗. พระพุทธองค์เสด็จเยี่ยมราชสำนักพระพุทธบิดา

ครั้งหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปสู่กบิลพัสดุ์ เป็นการเสด็จไปคราวแรก มีการต้อนรับปฏิสันฐานอันมวลพระญาติทรงกระทำแล้ว จึงเสด็จไปสู่นิโครธาราม ทรงนิรมิตวัตรจงกรมบนอากาศจงกรมอยู่ ทรงแสดงธรรมเพื่อทำลายมานะแห่งมวลพระญาติ มวลพระญาติมีพระเจ้าสุทโธนะมหาราชเป็นต้น ทรงมีจิตเลื่อมใสไหว้แล้ว ฝนโบกขรพรรษได้ตกลงในสมาคมแห่งญาตินั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเห็นปรารถนาของมหาชนที่พูดพึงฝนโบกขรพรรษจึงตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ในกาลเท่านั้นก็หาไม่ ที่ฝนโบกขรพรรษได้ตกลงในสมาคมแห่งมวลพระญาติของเรา ถึงในกาลก่อนฝนโบกขรพรรษได้ตกลงในสมาคมแห่งพระญาติของเราเหมือนกัน” ดังนี้แล้วแสดงเวสสันดรชาดก เมื่อจบเทศนาลงแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดา ทรงตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลเป็น พระอริยบุคคลชั้นต้นในพระพุทธศาสนา เทศนามีประโยชน์แก่มวลพระญาติที่ มาประชุมดังนี้

พระญาณวีราคม

ขึ้นบน
 
 
 

๓๘. พระพุทธเจ้าเสด็จเยี่ยมพระนางยโสธรา

ครั้งหนึ่ง พระโคดมพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยพระสงฆ์ ผู้ใหญ่เพื่อเทศนาโปรดพระประยูรญาติ มีพระราชบิดาเป็นประมุข เป็นการเสด็จครั้งแรก นับแต่พระองค์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ จนได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การเสด็จครั้งนี้ยังหมู่พระญาติให้เบิกบานพระหฤทัยเป็นอันมาก พระองค์ได้แสดงประเพณีของพระพุทธเจ้าในอดีต ถวายแก่พระชนก จนเป็นที่ทราบซึ้ง พระหฤทัย พระองค์ได้ตรัสเวสสันดรชาดกในท่ามกลางพระญาติ ได้เสด็จไปในงานวิวาหมงคลของเจ้าชายนันทะ ต่อมาไม่นานก็ยังเจ้าชายนันทะให้อุปสมบท เป็นภิกษุ ในการเสด็จครั้งนี้ พระนางยโสธรา และพระราหุลกุมาร ได้เข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์เป็นครั้งแรก พระนางได้ส่งพระราหุลกุมารไปสู่ที่เฝ้าเพื่อทูลราชสมบัติจากพระบิดา แทนที่พระองค์จะพระราชทานราชสมบัติ อันเป็นสมบัติภายนอกที่ ไม่จีรังยั่งยืนและก่อให้เกิดทุกข์อยู่เป็นนิจแก่ราหุลกุมาร พระองค์กลับพระราชทานอริยทรัพย์อันประเสริฐ อันเป็นทรัพย์ที่จีรังยั่งยืนตลอดกาล

พระครูพลญาณพิสุทธิ์

ขึ้นบน
 
 
 

๓๙. เจ้าชายนันทะเสด็จละเจ้าสาวไปตามเสด็จพระพุทธเจ้า

ภายหลังจากวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้โคดมโคตรศากยวงศ์ เสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ โดยการอัญเชิญของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้พุทธบิดาแล้ว วันนั้นเป็นวันที่ ๓ วิวาหมงคลระหว่างเจ้าชายนันทะผู้พุทธอนุชาต่างพระชนนี กำลังเริ่มพิธีอภิเษกอยู่ พระองค์เสด็จไปรับบิณฑบาตร แล้วประทานบาตรแก่เจ้าชาย นันทะ ทรงอนุโมทนาแล้วเสด็จลุกหลีกไป หาได้ทรงรับบาตรจากเจ้าชายไม่ เจ้าชายนันทะด้วยความเคารพและเกรงพระทัย หาได้ทูลให้ทรงรับบาตรของพระองค์ไม่ แต่ดำริอยู่ในพระทัยว่าจักทรงรับบาตรที่หัวบันได และที่พระลานหลวงก็หาทรงรับดังดำริไม่ เจ้าชายนันทะต้องเสด็จติดตามไปด้วยไม่พอพระทัย เจ้าหญิงพอสดับดังนั้นน้ำพระอัสสุชลไหลอาบพระปราง รีบเสด็จไปที่พระแกล ทูลด้วยเสียงสำเนียงอันหวานละห้อยว่า “พระลูกเจ้าเอย ขอพระองค์รีบกลับมาโดยด่วนนะเพคะ” เจ้าชายนันทะ พระกรกำลังอุ้มบาตรสดับสำเนียงอันหวานละห้อยจับพระทัย พระองค์ก็หาได้ทรงรับบาตรไม่ เสด็จพาไปจนกระทั่งถึงพระวิหาร เจ้าชายผู้จะ เข้าสู่พิธีอภิเษกก็กลายเป็นภิกษุนันทะไปแล้ว ในกาลต่อมา เสียงเย้ยหยันจากเพื่อนพรหมจารีว่า นันทะบวชเพราะต้องการได้นางสวรรค์ พระผู้มีพระภาคเป็นนายจ้าง นันทะเป็นลูกจ้าง เธอจีงละอายใจหลีกออกจากหมู่บำเพ็ญเพียระแล้วได้ประสบสุขชั่วนิรันดร

พระราชสุธี

ขึ้นบน
 
         
 
วัดสันติธรรม ต.ช้างเผือก อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๓๐๐
โทร. ๐๕๓-๒๒๑๗๙๒  ๐๘-๗๑๙๓-๓๑๖๙  ๐๘-๖๑๘๗-๓๙๔๒ และ ๐๘-๑๖๐๒-๗๕๐๐