พระธาตุพนม
พระธาตุประจำผู้เกิดปีวอก
ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
|
พระธาตุพนม พระบรมธาตุเจดีย์องค์สำคัญ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนสองฝั่งโขง บรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระมหากัสสปะเถระได้นำมาประดิษฐานไว้บนภูกำพร้าตามตำนานว่าก่อสร้างโดยกษัตริย์ห้าองค์คือ พระยาจุฬณีพรหมทัต พระยานันทเสน พระยาอินทปัด พระยาคำแดง และพระยาสุวรรณภิงคาร พร้อมไพร่พล ในส่วนลวดลาย ที่เรือนธาตุนั้น ตำนานเล่าว่า ตกแต่งโดยพระอินทร์และเหล่าเทวดา มีแผ่นอิฐที่จำหลักลวดลายเป็นภาพกษัตริย์โบราณ ฝีมือช่างพื้นบ้าน ศิลปะทวารวดี หรือพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕ นับว่าเป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่เก่าแก่ของภาคอีสาน พระธาตุพนมได้ รับการบูรณะและอุปถัมภ์โดยกษัตริย์แห่งล้านช้าง ในสมัย พ.ศ.๒๒๒๓-๒๒๒๕ พระครูโพนเสม็ด (ญาคูขี้หอม) นำราษฎรจากเวียงจันทน์ ๓,๐๐๐ คนมาปฏิสังขรณ์พระธาตุให้สูงขึ้น และเป็นรูปแบบที่นิยมในอีสาน ต่อมารัฐบาลได้บูรณะให้สูงขึ้นอีกเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ แต่ในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘ เกิดฝนตกหนักและพระธาตุพนมได้ทรุดพังทลายลง แต่ก็ได้รับการบูรณะโดยภาครัฐและเอกชนเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒
พระธาตุพนม องค์ปัจจุบัน สร้างขึ้นแทนองค์เดิมที่พังลงในปี ๒๕๑๘ โดยสร้างตามรูปแบบเจดีย์ที่เกิดจากการต่อเติมครั้งล่าสุดในปี ๒๔๘๓ รอบพระธาตุมีแท่งหินปักไว้ทั้ง ๔ ทิศ รวมถึงภาพสลักทั้ง ๔ ด้านที่อยู่บริเวณฐานของพระธาตุ ซึ่งแต่เดิมเป็นลายพันธุ์พฤกษา แทรกด้วยลายสำคัญคือนักรบหรือกษัตริย์ทรงช้าง ม้าออกล่าสัตว์ แต่ลวดลายดังกล่าวได้เสียหายไปกว่าครึ่งจากการ พังทลายของพระธาตุพนม
พระธาตุพนม ขณะที่พังลงได้ถูกหักออกเป็น ๓ ตอน ตอนแรกคือส่วนดั้งเดิม ตอนกลางเป็นส่วนที่บูรณะในสมัยพระครูโพนเสม็ก ตอนที่สามเป็นส่วนที่ต่อเติมในปี ๒๔๘๓ ได้มีการพบบริเวณส่วนกลางของพระธาตุพนมเป็นกล่องสำริดสำหรับใส่ผะอบ ซึ่งพบว่าซ้อนกันอยู่ถึง ๖ ชั้น โดยผอบชั้นในสุดได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้
ในเขตวัดมีบ่อน้ำพระอินทร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดของบ่อน้ำที่ใช้น้ำมาเสกน้ำพระพุทธมนต์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน งานมนัสการพระธาตุพนมจัดขึ้นทุกปีในวันขึ้น ๑๐ ค่ำ ถึงวันแรก ๑ ค่ำ เดือน ๓