พระธาตุแช่แห้ง
พระธาตุประจำผู้เกิดปีเถาะ
ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุแช่แห้ง บ้านหนองเต่า ตำบลฝายแก้ว กิ่งอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
พระธาตุแช่แห้งตั้งอยู่บนยอดดอยขนาดเล็กนอกเมืองน่าน มีเรื่องราวเล่าว่า เมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดสัตว์มาถึงภูเพียงแซ่แห้ง และพบกับพระอมละราชและพระมเหสี ที่มาสรงน้ำที่เดียวกับที่พระองค์สรงน้ำอยู่ พระอมละราชได้ถวายผ้าขาวให้พระพุทธเจ้าใช้สรงน้ำ แต่ผ้านั้นกลายเป็นทองคำ พระอานนท์จึงขอพระเกศาธาตุบรรจุในกระบอกไม้ซาง มอบให้พระอินทร์นำไปเก็บในอุโมงค์พร้อมผ้าทอง โดยพระอินทร์ได้ก่อพระเจดีย์สูง ๗ ศอกไว้ด้านบน ต่อมาราว พ.ศ.๑๘๙๖ สมัยพระยากานเมือง ได้ส่งช่างไปร่วมสร้างวัดหลวงที่สุโขทัย พระยาลือไทจึงมอบพระบรมธาตุ ๗ พระองค์ และพระพิมพ์คำ พระพิมพ์เงินอย่างละ ๒๐ องค์ ให้พระยากานเมือง ซึ่งได้นำไปบรรจุไว้ที่ภูเพียง และพบพระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระธาตุข้อมือข้างซ้ายของพระพุทธเจ้า พระองค์จึงให้ทำอุโมงค์ประดิษฐานพระบรมธาตุใหม่ และก่อพระเจดีย์เป็นพระธาตุแช่แห้งคู่เมืองน่านมาจนทุกวันนี้ ในวันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ และแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ ทางวันมีการจัดงานมนัสการพระธาตุแช่แห้ง ในงานมีมหรสพ การแห่ตุงถวายพระบรมธาตุ และการจุดบอกไฟถวายเป็นพุทธบูชาตามธรรมเนียมดั้งเดิม
องค์พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆัง รูปแบบของเจดีย์สันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลมาจากพระธาตุหริภุญชัย โดยรอบองค์บุด้วยทองจังโก (ทองดอกบวบ ทองเหลือง ผสมทองแดง) โดยจะมีเจดีย์ขนาดเล็ก ๔ องค์อยู่ที่ฐาน และยังมีที่มุมอีก ๔ องค์ ซึ่งเป็นลักษณะที่แปลกกว่าพระธาตุเจดีย์องค์อื่น ๆ ภายในพระเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุส่วนกระดูกข้อมือซ้าย บรรจุรวมกับพระเกศา
ทางขึ้นสู่องค์พระธาตุเป็นตัวพญานาค หน้าบันเหนือประตูทางเข้าพระวิหารเป็นปูนปั้นลายนาคเกี้ยว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมเมืองน่าน