test วัดสันติธรรม : Santidham : นครเชียงใหม่

ธนาคารธรรม "ธรรมโอวาท ของพระนพีสีพิศาลคุณ อนุสรณ์ครบรอบมรณภาพปีที่ ๔ "

 

มรดกธรรมของหลวงพ่อ
หนังสืออนุสรณ์การมรณภาพครบปีที่ ๔

ธนาคารธรรม ตอน ๑
(Bank Of Dhamma I)
ธรรมโอวาทของพระนพีสีพิศาลคุณ (ทองอินทร์ กุสลจิตฺโต) 
วัดสันติธรรม ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

******************************************************************************

ภาพประกอบจาก INTERNET

 

ยังมีเชื้อ  เกิดแน่นอน

...ที่พึ่งของกาย มีทรัพย์โภคะกันขนาดไหน เราก็ได้อาศัยกันชั่วขณะที่เรามีชีวิตอยู่เท่านั้น ไม่สามารถที่จะนำไปเป็นที่พึ่งในภายภาคหน้าได้ แต่ทางพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้ามีเหตุปัจจัย ถ้าใจยังมีเหตุปัจจัย คือหมายถึงว่ามีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม หรือความโลภ โกรธ หลง เต็มอยู่ที่ใจ อยู่แล้วนี่ ต้องเกิดอีก เพราะมันเป็นเชื้อที่ให้ใจยึดถือ หรือว่า ยังไม่สามารถตัดรูปภายในออกได้
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๑ ความสุขทางใจ หน้า ๑๓๓

 

 
 
 

อวิชชา

...อวิชชา ก็หมายถึง ใจ วิญญาณธาตุที่มันมี  ใจตัวนั้นมันโง่  มันไม่รู้สุข รู้ทุกข์ แล้วก็วิ่งเข้าไปคว้าเอาเลย จึงมีในหลักอวิชชา ว่า ไม่รู้ทุกข์  ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้จักทางปฏิบัติ เพื่อให้หลุดพ้นจากทุกข์นี้...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๘ อวิชชาพาเกิด หน้า ๑๗๕

 

 
 
 

ความอยากเป็นตัญหา 

ให้พวกเรานะจำหลักอันนี้ไว้  ปฏิบัติสม่ำเสมอไปเรื่อย ๆ อย่าไปเอาตัณหาเข้าไปใส่  ครั้นไปทำแล้วอยากจะให้ได้ ให้เป็นอยู่อย่างนั้น มันก็ไม่เกิด เมื่อไม่เกิดก็เดือดร้อนแล้ว ว่าเอ้ย เรานี้ปฏิบัติมานมนานแล้วไม่เห็นเป็นเห็นมีซะทีหนึ่ง ท้อถอยแล้ว จะไปเอาอะไรละ  เราเอาใจของเราปฏิบัติเอา...
 ที่มา : กัณฑ์ที่ ๑๗ อริยสัจ ๔ หน้า ๒๓๖

 

 
 
 

อวิชชา คือ ใจไม่รู้

..บุญบาป มันอยู่ที่ใจที่นี้ เบื้องต้นที่สุดมันคืออวิชชา แปลว่าไม่รู้คือไม่รู้ใจ ไม่รู้จักใจตัวเองจึงเป็นอวิชชา ว่าตามกิริยาคือ ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุทุกข์เกิด ไม่รู้จักความดับทุกข์ ไม่รู้จักข้อปฏิบัติที่จะปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์ก็ว่าถึงกิริยาเท่านั้น แต่ว่าตัวไม่รู้จริงๆ คือใจ เรียกว่า เราไม่รู้จักใจ ใจไม่รู้จักใจ คือไม่รู้จักตนเองนั่นแหละ มันจึงเป็นอวิชชาดำมืด เมื่อมันดำมืด จึงไปตามเรื่องของมัน... 
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๑๐ การตั้งจิต หน้า ๑๘๗

 

 
 
 

ใจละโลภ โกรธ หลง เหมือนการล้างโอ่ง

... ว่าโดยย่อกิเลสตัวต้นเค้า คือ โลภะ  โทสะ  โมหะ  โลภะ  ความอยากได้ ความต้องการ ความปรารถนามันมีอยู่ที่นี่  นอนอยู่นั่นนะ  โทสะความไม่พอใจ  หงุดหงิด  ทั้งเกลียดคนอื่นเขา  หรือสิ่งใดไม่พอใจก็โกรธขึ้นมา  หงุดหงิดขึ้นมา  โมหะคือหลงไปตามอำนาจ  สิ่งเหล่านั้นมันมีอยู่ในจิตนั้นหละแต่เราไม่ไปกุมละ มันดอก ไม่ต้องละมันหรอก  เอาสิ่งดี ๆ นั้นเข้าไป  เก็บเข้าไป  สิ่งนั้นมัน อยู่ไม่ได้ละ  โลภะ โทสะ โมหะ มันอยู่ไม่ได้  เราเอาสติ  สมาธิ  ปัญญา  เข้าไป  เก็บเข้าไป  เหมือนกับเราจะล้างโอ่ง ให้มันสะอาด  โอ่งมันสกปรกเหลือเกิน  เราก็เทน้ำเข้าไป  เทเข้าไป ๆ มันก็ไปฉอกกัน แล้วเอามือขัด ๆ  เสียแล้ว  เอาสิ่งมาขัด ๆ  มันก็สะอาด...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๔ ตามรอยพระอริยเจ้า หน้า ๑๕๐

 

 
 
 

อวิชชาพาให้เกิด (เรื่องคนระลึกชาติ)

หลวงพ่อได้เล่าเรื่องคนระลึกชาติได้ ว่ามีตาแก่คนหนึ่ง อายุประมาณหกสิบปี เป็นคนจังหวัดเลย ได้พบกับพระอาจารย์ของหลวงพ่อ แก่เล่าว่าแก่ระลึกชาติได้ เมื่อชาติที่แล้วแกเป็นเจ้าอาวาส พอแกมรณภาพแล้ว  เขาก็ตั้งศพไว้บนศาลาวัด แก่ก็วนเวียนอยู่ในวัด พอเขาเอาศพแก่ไปเผา แกก็ไปกับเขา ทีนี้พอแก่กลับมาวัด แก่ขึ้นบนศาลาไม่ได้ แก่ก็วนเวียนอยู่ในวัดนานทีเดียว  ต่อมามีหมาดำตัวใหญ่มาปรากฏให้แก่เห็น และบอกให้แก่ขี่มันไป แกก็ไปกับมัน มันพาแก่ไปนอนพัก ในถ้ำแห่งหนึ่ง แก่ก็หลับไป พอตื่นมาอีกที แกหาทางออกจากถ้ำไม่ได้ แก่พยายามดันตัวออกมา ที่ไหนได้ แก่คลอดออกจากท้องแม่แล้ว  พอมาชาตินี้  แก่ก็ระลึกชาติได้

้ซึ่งหลวงพ่อได้เล่าไว้ว่า  “อายุแกได้ซักขวบหนึ่ง แกก็พูดได้แล้ว  ระลึกชาติได้เลยว่าแกเป็นอย่างนั้น  อย่างนี้ เล่าให้เขาฟัง ชี้แจงให้เขา แกบอกให้เขาฟังให้หมดเลย อีกสิ่งหนึ่ง เรื่องหนังสือ ตำรับตำราแกก็อ่านได้หมดเลย อะไรที่แกเขียน ๆ ไว้ที่แกอยู่วัด ก็ชี้บอกว่า ของแกทั้งนั้น เป็นเพราะว่าแกไม่ได้เรียนหนังสือ  แกจำได้หมดเลย อันนี้ก็แนวเดียวกันที่ว่าให้ฟังมันเป็นวิญญาณชนิดหนึ่ง คือมีภาพ รูปร่างกายที่ศพ เขาตั้งศพไว้ที่ศาลาวิญญาณแกไม่ได้อยู่ในนั้น แต่ว่ามาอยู่นอก อาศัยภาพ มโนภาพ คือ ขันธ์ห้า ที่มันสิงในจิตนั้นน่ะอาศัยล่อง (วิ่ง)ไปล่อง (วิ่ง) มา เป็นตัวเองทั้งนั้นน่ะ คือดวงรู้ ใจ เรียกว่า ใจก็แล้วกัน ใจมันมีเครื่องห่อ อาศัย อาศัยขันธ์ห้า  มโนภาพ  ไม่ใช่ขันธ์ห้าจริง แต่มันเป็นภาพ ใจเกาะในนั้น  ดังนั้น เมื่อใจของบุคคลผู้ใดยังไม่มีสติ  สมาธิ  ปัญญา  พอบริบูรณ์แล้ว ตัวอวิชชานั้นจึงดำมืด ไม่สามารถจะมองเห็น แหวกว่ายตัวเอง  ออกนอกได้  ไม่สามารถแยกว่า  นี่คือขันธ์ห้า  นี่คือใจ  ในตัวเราทุกคนนี้ก็เหมือนกัน เมื่อใจยังไม่สงบ  เราก็ไม่สามารถที่จะแยกแยะขันธ์ห้าได้  เมื่อใจสลงลงแล้วปั๊บ เราอ่านขันธ์ห้าทีนี้”...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๑๔ ตั้งสติพิจารณาธรรม หน้า ๒๑๕

 
 
 
 

 

 
 
 

 

สุขที่เจือด้วยทุกข์

...พวกชาวโลกที่เขามีสามี ภรรยา แล้วเป็นสุข แล้วก็เป็นทุกข์  อยู่ในนั้นแหละ  อาตมาเคยเปรียบเทียบ ว่า เอ้อ อย่างนั้นแหละที่เขาเป็นสุข  มันเป็นทุกข์  แม้จะเป็นทุกข์ก็ไม่กลัว เหมือนกับตำน้ำพริกเผ็ด ๆ  นั่นนะ กินแล้ว  มันเผ็ดแต่มันอร่อยนะ  ในเรื่องกามคุณทั้งหลาย  ที่เขาเสวยกามคุณ แม้จะเป็นทุกข์  แต่ก็มีสุขอยู่ในนั้น  แม้มีทุกข์เขาก็ไม่กลัว  เพราะมันรสอร่อย อยู่ตรงนั้น..
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๑๖ ภาวนาพุทโธอยู่ที่ใจ หน้า ๒๓๑

 

สันติภาพจากข้างใน

...เราให้พิจารณา ตามความเป็นจริง ทุกสิ่งในโลก มันก็ต้องมีสิ่งวุ่นวายอยู่อย่างนั้น จะให้มันสงบ ที่เขาเรียกร้องหาสันติภาพ ๆ มันไม่สงบหรอก ถ้าใจของมนุษย์ นั้นไม่สงบลงเอง จะไปบังคับให้โลกสงบนั้นไม่ได้  ผู้ที่ต้องการให้สงบนั้น จงมาสงบเอาเอง คืออย่าฆ่ากัน อย่าเบียดเบียนกัน อย่าทำลายกัน อันนั้นข้างนอก ทีนี้จิตใจของเราก็เหมือนกัน อย่าไปเพ่งไปมอง อย่าไปมุ่งหวังที่จะเอาข้างนอกนั้น...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๒ อานิสงส์ของการแผ่เมตตา หน้า ๒๗๒

 

 
 
 

พิจารณาความตาย 

ให้พิจารณารู้จักตัวเอง ไม่ให้เราหลงในวัย ว่าเราไม่แก่และเป็นเครื่องหมายว่า เราจะต้องจากโลกนี้ไป จะรู้อยู่อย่างนั้นไม่ได้จะต้องไป ร่างกายในขณะที่หนุ่มแน่นก็หนุ่มแน่นมันก็หายไป หายไป หายตั้งแต่เด็กแต่เล็กมาจนเป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นวัยกลางคนและก็ไหลไปเรื่อยๆ มีความแก่ตามมา พระพุทธเจ้าสอนให้เราสวดว่าเราแก่เป็นธรรมดาต้องการให้เรารู้เพื่อในขณะที่เรากำลังสวดอยู่นั้นน่ะความเจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บไข้ธรรมดามันยังไม่มาถึงขณะนั้น ขณะที่เรากำลังสวดนั้น แต่มันก็ต้องมาเราก็เตรียมตัวไว้ เมื่อเราเจ็บไข้ได้ป่วย มันเป็นมันรู้ขึ้นมาแล้วเราจะได้ทำใจ แล้วก็ตายธรรมดาทีนี้คิดกันข้างใน ของที่แก่เจ็บตายคือรูปร่างกายมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๑๘ พิจารณาความตาย หน้า ๒๓๙

               
 
 

 

 
 
 
หายสงสัย 

เรื่องนรก  เปรต  อสุรกาย  สัตว์เดรัจฉาน ผู้ที่ชอบคิดมากชอบพิจารณามาก บางคนบางพวกบางเหล่ามันไม่เชื่อ ว่าความชั่วคงไม่มี บุญคงไม่มี นรกคงไม่มี  สวรรค์คงไม่มี  เรียกว่า ไม่ได้พิจารณา  เอาแต่ความคิดซึ่งเป็นฝ่ายปริยัติเป็นหลัก พิจารณา เมื่อไม่เห็น ก็ว่าไม่มี ก็เลยเชื่อว่า  นรกก็ไม่มี  สวรรค์ก็ไม่มี  ดังนั้น หลักอันนี้ พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า ถ้าอยากให้ตัวเองหายสงสัย อันดับแรก เพียรพยายามทำใจของตัวเองให้เป็นสมาธิ คือสร้างสมาธิให้เกิดมีขึ้นในใจ เมื่อใจเขาเกิด ตัวเองเกิดสมาธิแล้วจึงจะหายสงสัยเอง
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๙ เกร็ดธรรม  หน้า ๑๘๐

อิริยาบถบังทุกขัง

...กองทุกข์ทั้งหลายอยู่ที่รูปร่างกายนี้  ทุกข์ไม่อยู่ ที่อื่นหรอก  มันอยู่ที่นี่ ที่ใจมาอยู่อาศัย มาครองร่างกายนี้ มันเป็นทุกข์ ที่เราสบาย ๆ อยู่ ก็เพราะว่าเราแก้ไข  เยียวยา ตลอดเวลา  อิริยาบถนั้นมันบังทุกข์ ไม่ให้เราเห็นทุกข์ ความทุกข์ คือความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ โดยเฉพาะคือ ความไม่สบายกาย  ถ้าเรานั่งมาก ๆ ไปก็เจ็บปวด เดินมากเราก็เหนื่อย ๆ เจ็บแข้ง เจ็บขา  ทั้งยืน  ทั้งนั่ง  ทั้งนอน ทั้งเดิน  ถ้าอันใด  อันหนึ่งมันมากเกินไปแล้ว  มันก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น  ไอ้ทุกข์  มันจึงอยู่ที่นี่  เราต้องแก้ทุกข์ตลอดเวลา
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๗ ข้อคิดในวันพระ – สร้างคุณธรรมในใจ หน้า ๑๗๑

 
 
 

สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ภายภาคหน้า 

...ตายแล้วเราจะไปไหน ก็ทางไปข้างหน้า ถ้ายังไม่เข้าถึงนิพพานก็เอามนุษย์  เอาสุคติ  คือ มนุษย์  สวรรค์ เราไม่เอานรก  เปรต  อสูรกาย  สัตว์เดรัจฉาน  ทีนี้การไม่เอาก็จำเป็นต้องมีเหตุ  พระพุทธเจ้าก็วางหลักธรรมไว้ให้ทั้งทางปัจจุบัน ทั้งภายภาคหน้าว่า  ทำบุญเพื่อภายภาคหน้า  ทำบุญเพื่อปัจจุบัน  ทำบุญเพื่อปัจจุบัน ก็หมายถึง  หาทรัพย์สิน  เงินทอง  เช่นว่า ให้มีความหมั่น ความขยันหาเงิน หาทอง  รู้จักเก็บหอมรอมริบ  อันนี้เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนในปัจจุบัน  ไปในภายหน้าก็ว่า  สัทธาสัมปทา  สีลสัมปทา  จาคสัมปทา ปัญญาสัมปทา  ให้ประกอบด้วยทั้ง  ๔ นั้น  จะไปไหนละ  ตายแล้วบ่ไปนรกหรอก  เกิดเป็นมนุษย์และเกิดบนสวรรค์เท่านั้น แต่จะไปนิพพานไม่ได้นะ
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๔ ตามรอยพระอริยเจ้า หน้า ๑๔๘

 

 
 

ศีลในองค์มรรคเป็นพื้นฐานของสมาธิ

                ...ศีลนั้นเป็นสิกขาบท  มิใช่ศีลแท้ คือที่เรารักษากันมันเป็นสิกขา  ไม่ใช่ศีลในองค์มรรค  ศีลในองค์มรรคคือ  สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะ  สัมมาอาชีวะ  นั่นคือ  ศีลในองค์มรรค  และในการปฏิบัติก็ไม่ต้องไปปฏิบัติศีลประเภทนั้น  เราก็เอาศีลสิกขาบทนี่แหละเป็นหลัก  เมื่อเราเอาศีลสิกขาเป็นหลักแล้ว  เราก็ปฏิบัติ  ทีนี้เราก็ใช้ สัมมาวายามะ  คือฝึกสติ  สัมมาวายามะ คือฝึกหัดเพื่อจะสร้างสติ  อันดับแรก  ตัวสติที่เราจะฝึกนั้นมันเป็นศีลเบื้องต้น  ศีลภายใน  ในขณะที่เรานั่งกำหนดจิต ใจของเราก็เป็นปกติ  วาจาก็เป็นปกติ  ก็เรียกว่า  มีศีลอยู่นั้น  มีจิตอยู่ในนั้น  จึงเป็นการรักษาใจให้มันอยู่ คือการมีสติรักษาใจให้มันอยู่  รักษาจิตให้อยู่ในจุดเดียว ในอารมณ์อันเดียว ในเรื่องอันเดียว  จนกว่าจิตนั้นจะรวมลงสู่ภวังค์ของมัน  เมื่อจิตมันลงสู่ภวังค์แล้วเมื่อใดนะ เข้าเป็น
เอกัคคตาจิตก็ได้ที่แล้วนะ ไม่หลงงมงายอีกแล้วเนี่ย  ปฏิบัติต่อไปอีกได้เรื่อย ๆ ศรัทธาก็มั่นคง...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๕ พระนางสามาวดี หน้า ๑๕๖

 

 
 
 

ศีลเป็นรั้วของใจ

... ลำดับแรกจึงให้เข้าถึง พระพุทธ  พระธรรม พระสงฆ์ รับศีล  เรียกว่า  ถึงสรณะสามนั้นเป็นแม่บท  รับสรณะ ก็หมายถึง เอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นหลัก ด้วยการปฏิญาณตนว่า  ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า ขอถึงพระธรรม  ขอถึงพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ เป็นการปฏิญาณอย่างนั้น ก็เป็นข้อปฏิบัติ  เพื่อจะรักษาศีล  รักษากาย  วาจา  อันนั้นเป็นเครื่องป้องกันภายนอก  เรียกว่า รั้ว เหมือนกับคนมีบ้าน เขาก็มีรั้วบ้าน  มีกำแพงบ้าน กำแพงบ้านนั้นมันก็ไม่กันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก  ถ้ามันมีโจร มีขโมย มันก็ปีนขึ้นกำแพงได้  แต่ว่าดีกว่าไม่กัน  เพราะว่า สิ่งที่มันหยาบกว่านั้น  มันเข้าไม่ได้   สิ่งที่เข้าไปได้ ในใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าว่ามันมีเครื่องป้องกัน เครื่องรักษา คือ กาย วาจา เอาศีล ไปตั้งที่กาย วาจา และใจ ความจริง ก็คือ รักษาใจนี่เอง เมื่อรักษาใจแล้ว  สิ่งเหล่านั้น มันก็เป็นไปเองเลย...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๗ ข้อคิดในวันพระ – สร้างคุณธรรมในใจ หน้า ๑๖๘

 

ความฉลาด

...ความฉลาดนั้นมีสองอย่างฉลาดแบบแกมโกงกับฉลาดที่ประกอบด้วยเมตตาธรรม  ความฉลาดเกิดจากการศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ทางโลกมาโดยลำดับ เพราะว่าชาติก่อนโน้น ได้ศึกษาเล่าเรียนมีความรู้ มาเกิดเป็นมนุษย์อีก  บุคคลนั้นเกิดมาก็ฉลาด เรียกว่า ฉลาดปราดเปรื่องมาก  แต่ว่าไม่ได้อบรมใจ เป็นฉลาดแกมโกงแล้วทีนี้  ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ แล้วทีนี้ ทิฏฐิมานะ  ถือว่าตัวเองฉลาด ถือว่าตัวเองเก่งทุกอย่าง แต่ถ้าว่าฉลาดทั้งได้รับการศึกษาและอบรมจิต คือ เอาหลักภาวนามัยสร้างจิตของตนเองให้สงบเป็นสมาธิ ใจของบุคคลใดอบรม  ใจก็จะเป็นสัมมาทิฏฐิ  ทีนี้สัมมาทิฏฐิ คือเห็นชอบ เห็นถูกต้อง ไม่ผิดทำนองคลองธรรม
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๑๓ อานิสงส์ผลบุญ หน้า ๒๐๒

 

การใช้ทรัพย์

..หลักง่าย ๆ ที่ท่านบัณฑิตนักปราชญ์เพิ่น(ท่าน)ตั้งไว้  มีทรัพย์โภคะแล้ว ๑. เอาทิ้งไปในแม่น้ำ ๒. เราใช้หนี้เก่า ๓. เอาฝังไว้ ๔. เอาให้เขากู้ และก็ยังมี  ๕.ว่าฝังไว้แล้วแต่ใครจะแยกแยะ อันนี้ความหมายก็คือ  เอาทิ้งไปในแม่น้ำ  หมายถึงกินใช้จ่าย พอใช้พอจ่าย มันก็หมดไป เหมือนกับทิ้งไปในแม่น้ำ ทรัพย์สินเงินทอง บางอย่างท่านเรียกว่า ใช้หนี้เก่า ๆ ก็หมายถึงว่า ให้พ่อให้แม่ ให้เขากู้ ก็เรียกว่าให้ลูกให้หลาน เอาฝังไว้ หมายถึงทำบุญให้ทาน ที่จะเกิดผลภายหน้า และอันสุดท้ายก็หมายถึงเก็บหอมรอมริบ เพื่อไว้สร้างเนื้องสร้างตัวต่อไป..
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๐ สัมมาสัมพุทธะ หน้า ๒๕๔

ปรมัตถประโยชน์

...อย่าให้ตัวเองมีความโง่เขลา  เบาปัญญา  ต้องสร้างปัญญา ให้ได้ยิน ได้ฟัง ได้ฝึกหัด และยังไม่พอ ยังปรมัตถประโยชน์อีก อันนี้เรียกว่า ประโยชน์ในภายหน้า เรียกว่า สัมปรายิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ในภายหน้า  สัทธาสัมปทา  สีลสัมปทา  จาคสัมปทา  ปัญญาสัมปทา บริบูรณ์แล้วนั่นล่ะ ให้เกิดประโยชน์ในภายหน้า ไม่ตกต่ำ ไม่ต้องกลัวหรอกที่จะไปตกนรก หมกไหม้  เป็นทางที่เกิดไปสู่ มนุษย์และสวรรค์เท่านั้น ไปทางนี้ได้ ยังไม่ได้นิพพานสมบัตินะ ดังนั้น ท่านจึงมีอีกประโยชน์ ที่เรียกว่า นิพพานสมบัติ เรียกว่า ปรมัตถประโยชน์ ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๐ สัมมาสัมพุทธะ หน้า ๒๕๖

 

คาถามหานิยม

...ในเวลาทั่วไปเราต้องฝึกหัดจิต เพื่อให้ได้ผลเร็วขึ้น คือเราต้องตั้งใจ ในขณะที่เราออกจากภาวนาแล้ว  ก็ให้สมมติว่า เราพบหน้าใคร แล้วจะนึกว่า นึกในใจทันที คุณจงมีความสุข ความเจริญ อย่ามีภัยน่ะ ให้นึกอย่างนั้นทุกครั้งไป เจอหน้าใคร ก็ตามเหอะ ให้นึกอย่างนั้น อันนี้แหละคือ มหานิยม...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๒ อานิสงส์ของการแผ่เมตตา หน้า ๒๖๘

 

จิตเหมือนเถาวัลย์ 

...ความยุ่งยากของจิตใจ  เปรียบเหมือนกับว่า เครือเถาที่มันขึ้นคลุมต้นไม้  เครือเถาที่มันคลุมต้น ที่ต้นมัน มันมีเครือเดียวเท่านั้นแหละ ขึ้นไปถึงกิ่งก้านสาขาแตกแขนงออก ก็คลุมต้นไม้จนหมดทั่วหมดนั่นแหละ  ถ้าจะไปสาวแต่ปลายเข้ามา  ปูโธ่! มันมากเหลือเกิน  ไอ้เครือที่มันแตกแง่ม แตกง่ามเยอะแยะ แต่ถ้ามาดูต้น มันมีเครือเดียวเท่านั้นแหละ ก็จับต้นมันนี่ นี่หลักภาวนาของเราก็เหมือนกัน ครั้งแรกเรากำหนดลมหายใจพุทโธ ๆ ๆ อีกอย่างหนึ่งว่า สั่งหายใจว่า 
พุทโธ ๆ อยู่น่ะ  เรากำหนดอาการน่ะ มันใช้วิญญาณนะ  ใจนั้นส่งเข้าไปตามกระแสวิญญาณ  วิญญาณนั้นแปลว่า รู้อารมณ์  ให้รู้ความหมายของคำว่า วิญญาณ  ใจไปรู้อารมณ์ คือใจนั่นแหละ แต่ว่าใจรู้อารมณ์ เรียกว่าใจไปรู้ลมหายใจเข้าออกก็แล้วกัน  มันก็เลยไปติดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกนั่น ไม่รู้ตัวเองเลย  เราสังเกตอยู่หายใจว่า พุทโธ ๆ ใจนั่นเพ่งมองไปที่ลมทั้งหมดเลย ไม่ย้อนหาตัวเองเลย ไม่ย้อนหาดวงรู้เลย...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๑๖ ภาวนาพุทโธอยู่ที่ใจ หน้า ๒๒๙

 

เข้าถึงผู้รู้

...เราจะเห็นได้ว่าหรือได้ยินได้ฟังมาเสมอว่าปู่ ย่า ตา ยาย ของเราสอนให้นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือในขณะที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็ให้นึก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือ บริกรรมในใจว่า พุทโธ ๆ สม่ำเสมอ ไม่ให้ปล่อยใจไป การบริกรรมอย่างนั้น การว่าอย่างนั้น ครั้งแรกก็เรียกว่ายังเป็นการบริกรรม เป็นการผูกพันรักษาใจของเราไว้ในเรื่องที่ว่านั้น เท่านั้น ยังไม่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่เมื่อใดนึกพุทโธ มาก ๆ เข้า ใจมันสงบลง  ใจก็สงบเข้าถึงผู้รู้ ถึงธาตุรู้ ถึงตัวเอง แล้วก็สงบเข้าถึง พุทโธ  คราวนี้ พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์ อยู่แล้วมีในใจ จึงพึ่งได้ เพราะมันเป็นอันเดียวกันกับใจซะแล้ว...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๓ ฉลาดในกุศลและอกุศล หน้า ๒๗๙

 

ชาวนากับวัว

...การรักษาจิต ผูกจิตไว้ เหมือนชาวนาเขามัด(ผูก)วัว  วัวตัวน้อย มันยังไม่ถูกเชือก ถูกปอน่ะ เขาจะเอาเชือก  เอาปอมาผูกมันใหม่  เขาก็เอาเชือกมัด(ผูก)ที่คอ มันก็ต้องมีเดี่ยว เดี่ยวคือขอด(ขมวด)ปมไว้  หรือเอาไม้ขอดปมไว้ เพื่อว่ามันรูดเข้าไป บ่ให้รัดคอมันนั่น  ตอนที่คอก็ใส่อย่างนั้น  ให้มีคือมีเดี่ยว สำหรับบ่ให้มัน(ผูก)รัดคอ แล้วก็นำเชือกอีกเงื่อนหนึ่งไปมัดที่เสา  เขาก็มัด(ผูก)มันให้มันหมุนรอบตัวมันได้  พอเอาเชือกมัด(ผูก)เท่านั้น มันก็ดิ้นใหญ่ วัวตัวนั้นดิ้นวนไป ๆ ๆ รอบเสานั้น ถ้าว่ารอบไป ๆ ไอ้เชือกมันก็อยู่อย่างเก่า เชือกมันก็บ่ขอดบ่รัด เพราะมันมีที่หมุน  มันหมุนตัว เต็มที่ของมันล่ะ  นานเข้ามันก็เหนื่อย เห็นว่าเชือกบ่ขาดละทีนี้ พอเชือกบ่ขาดก็นอน ผูกไว้ก็นอน เอาหัวเมาะไว้ที่เสาน่ะ นี่หลักน่ะ  เชือกก็บ่ดึงไว้  ทีนี้ มันฮู้ตัว ว่าเชือกมันบ่ขาด ก็เลยนิ่งรู้อยู่เลยทีเนี้ย ไม่ต้องไปดิ้นดันอะไรทั้งนั้น เพราะรู้ว่าดึงปั๊บ มันก็จะติดเชือก ละที่นี้ เรามาเปรียบเทียบของเราละทีนี้    วัวน้อยก็คือใจ ของเราทุกคน เชือกก็คือสติไปผูกมันไว้ หลักก็คือที่ตั้ง อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า กัมมัฏฐานและก็ลมหายใจ ว่า พุทโธ นั้นเรียกว่าหลักได้..
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๑๕ ผูกจิตดูทุกข์ หน้า ๒๑๘.

 

เอกัคคตาจิต

...เรากำหนดลมหายใจเข้าออกว่าพุทโธ ๆ ๆ อยู่อย่างนี้ให้เป็นเครื่องอยู่ เป็นการสร้างสติ  ทีนี้ถึงเวลามันจะเป็นทีนี้  อาการที่มันจะ ใจจะสงบลง เหมือนกับอาการที่เคลิ้ม ๆ มันเหมือนกับมันจะหลับ  บางคนว่า  แล้วมันก็วูบลง  วูบลงไป  ทีนี้ไอ้ใจหลังจากมันวูบลงไปแล้ว  แล้วมันมีความรู้สึกตื่นตัวขึ้นมา  พอวูบพรึบ ลงไปสู่จุดที่ตั้งแล้ว  แล้วก็จะมีความรู้สึกขึ้นมาว่า “อ้อนี่ใจ”  รู้จักใจตัวเองขึ้นมาอย่างนี้  เรียกว่า ใจเป็นสมาธิหรือใจตกลงสู่ภวังค์ เป็นสมาธิเรีกว่า สัมมาสมาธิ  เมื่อมันเข้าถึงอย่างนั้นจิตมันก็จะแน่วอยู่ในจุดนั้นเลย เป็นหนึ่งเลยทีนี้ เรียกว่า  เอกัคคตาจิต...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๕ มรรค ๘ หน้า ๒๙๑

 

 
 
 

สันตติบังอนิจจัง

...กาย สิ่งที่เรามองเห็นเป็นธรรมดา  ทั้งมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย เกิดมาเป็นรูปร่างกายและก็แปรปรวน เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติธรรมดา  ที่เรียกว่าอนิจจัง  เปลี่ยนไปอย่างนั้น  รูปร่างกายอันนี้มนุษย์ทั้งหลายมองเห็นได้อยู่  แต่แทนที่จะสลดสังเวชใจ ไม่สลด  เพราะไม่รู้จักตัวข้างใน  มีแต่ไปรู้ข้างนอกก็เลยยุ่ง...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๘ อวิชชาพาเกิด หน้า ๑๗๕

 

 
 
 

ภวังคจิต
              
  จิตตกสู่ภวังค์  หมายถึง ว่าจิตของเรามารวมกันเป็นหนึ่งในข้างใน  มันมีเวทนา  มีสัญญา  มีสังขาร  มีวิญญาณ  ดังที่ว่าให้ฟังไว้  มันต้องรวมกันเป็นจุดเดียว  รวมกันเฉย ๆ  เวทนาก็อยู่อย่างนั้น  สัญญาก็เหมือนกัน  สังขาร  วิญญาณ  ก็อยู่อยางนั่นล่ะ และใจก็เป็นผู้รู้ไปรวมกันเป็นหนึ่ง  มันไม่ทราบอย่างนั้น ว่ารวมเข้าเป็นอันเดียวกัน  จึงเรียกว่า  ใจเป็นหนึ่ง
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๖ สังวรปธาน หน้า ๑๖๕

 

 
 
 

ฝึกใจ

เรามาฝึกใจของเราให้มีสติ สมาธิ ปัญญา เกิดขึ้นไม่ใช่อื่นไกล ให้มันเกิดขึ้นในใจของเรา ถ้าหากว่าเราไปท่องจำว่า ศีล สมาธิ ปัญญา มันก็ไม่ยาก แต่ว่าทำให้มันมีมันเป็นเกิดขึ้น ถ้ามันเกิดขึ้นมันมีขึ้นแล้ว มันเป็นที่พึ่งของใจจริงๆ เมื่อใจเข้าสู่ความสงบแล้ว ศีลก็อยู่ที่นั้น สติก็อยู่ที่นั้น สมาธิก็อยู่ที่นั้น ปัญญาก็อยู่ที่นั้นหมดเลย 
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๑๑ เชื่อในกรรม หน้า ๑๘๙

 

 
 
 

หลักในสติปัฏฐาน 

...หลักในสติปัฏฐาน นั้น  ท่านว่าต้องประกอบด้วยองค์ ๓ คือ ๑. อาตาปี  แปลว่า  ความเพียรยังกิเลสให้เร่าร้อน 
๒.  สัมปชาโน คือมีสติรู้พร้อม  ๓.  สติมา ให้มีสติระลึกนึกอย่าให้หลงลืมระลึกนึกอย่าให้หลงลืม
 ถ้ามันหลงไปลืมไปก็ดึงเข้ามาอีกทีนี้ตัวสำคัญ  ได้ตัวสตินั้นมีหน้าที่จะต้องทำงาน  ที่จะต้องประคับประคอง  ถ้ามันวิ่งหนีไปดึงมาอีก  อาตาปี  ทีนี้ตัวความเพียรนั้น  หมายถึง  เรารักษาใจของเราไว้ในที่นั้น  ให้มันติดต่อกันไปเรื่อย อย่าให้มันขาดสาย...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๔ ตามรอยพระอริยเจ้า หน้า ๑๔๔

 

 
 
 
 

หัวใจเหมือนถ่านไฟแดง

เพราะว่าสิ่งต่างๆ มันเกิดจากใจเราทั้งนั้น  ถ้าเอาใจแล้วก็ใช้ได้เลย  เรียกว่าให้รู้ตัว  อย่าให้สิ่งที่มันไม่ดีไม่งามไปครอบงำ นี้ถ้ารู้อยู่ดวงรู้  รู้เฉพาะดวงรู้อยู่แล้วนะ  สิ่งที่มันไม่ดีมันอยู่ไม่ได้หรอก  เหมือนกับถ่านไฟ  ถ่านไฟแดงโร่  อะไรที่มันตกลงไปนะ  มันไหม้หมดละ ใจก็เหมือนกัน เข้าสู่ดวงรู้รวบรู้แล้วก็ โลภะ  โทสะ  โมหะ เข้าอยู่ไม่ได้...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๔ ตามรอยพระอริยเจ้า หน้า ๑๕๐

 

 

 
 
 
 

 

ใจทะลุทะลวงกิเลสเหมือนลูกไก่เจาะเปลือกไข่ออกมา

...สร้างธรรมะ ไม่ใช่สร้างเพื่อเอาหรอก เรียกว่าสร้างขึ้นมาเพื่อเครื่องใช้  เพื่อเป็นเครื่องเจียรไน ขัดเกลาให้ดวงรู้ซึ่งมันสกปรกด้วย อวิชชา  ตัณหา  อุปาทาน  กรรม มันห่อหุ้ม มันติด เหมือนกับลูกไก่ที่อยู่ในเปลือกไข่  เปลือกไข่มันห่อมันหุ้ม แต่ว่าตัวไก่ที่อยู่ในนึกว่ามันฉลาด  มันตัวแก่มาก ๆ เข้า  มันก็เจาะเปลือกไข่นั้นออกมาอยู่ภายนอกได้  ออกจากเปลือกไข่นั้น  ออกมาอยู่ภายนอกได้  ออกจากเปลือกไข่แล้วก็พ้น  ไอ้ใจของเรานี้ก็เหมือนกัน ก็หมกอยู่ในตัว อวิชชา  มันเป็นเปลือกไข่ห่อหุ้มอยู่ข้างนอก หรือเปรียบกับเราเอง  เอาถุงใหญ่ ๆ มาใส่ไว้ หรืออย่างถุงที่เป็นพลาสติกว่างั้นเถอะ มองเห็นของที่อยู่ในถุงนั้นได้  ไอ้ใจของเรานี้ก็เหมือนกัน  ห่อตัวมัดปาก  มัดปาก ผูกปากมองเห็นอยู่ มองเห็นตัวเอง แต่มันอยู่ใน ๆ ถุงนี้ มันออกมายังไม่ได้ จะต้องเจาะออกมาให้ได้ ใจจำเป็นจะต้องสร้าง สติ  สมาธิ  ปัญญา นั้นให้มั่นคง อันดับแรก สร้างสติ สมาธิ ก่อนเพื่อให้มันเข้าถึงตัวเองเสียก่อน  เมื่อเข้าถึง ตัวเองมีกำลัง ก็ถีบมันออกมา  ยันมันออกมา  เป็นอันว่ากิจเบื้องต้นนั้นเราเพียร พยายาม ที่จะต้องสร้าง สติ สมาธิ ปัญญา ...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๓ ฉลาดในกุศลและอกุศล หน้า ๒๗๙

 

 

 
 
 

ดุจเพชรจรัสแสง

...พุทโธนั้นเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง โดยมากจึงไม่สามารถที่จะผูกใจของตัวเอง ให้นิ่งให้อยู่ได้  เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้หาที่ตั้งๆ ดึงเข้ามา ๆ ที่ทรวงอก หมายรู้ไว้ที่ทรวงอกนี้ เพราะว่าทรวงอกนี้เป็นรูปธรรม ก็ต้องหมายรู้ตรงนี้ แล้วก็นึกพุทโธขึ้นมา ตรงนั้นตรงที่หมายนั้น ให้มันอยู่ตรงนั้น  จนมันมั่นคง จนมันนิ่ง จนมันอยู่ จนพุทโธเกิดขึ้น คือใจตั้งลง เมื่อตั้งลงก็เรียกว่าสติเข้าไปแล้วไปนอนลงได้แล้ว จึงเข้าถึงดวงรู้ เข้าถึงตัวเอง เข้าถึงใจ แต่ว่า เข้าถึงใจลักษณะที่ว่ายังไม่ใสแวววาวเหมือนกับเพชร ดังที่ว่าเมื่อกี้  เข้าถึงตัวเพชรแท้ ๆ แล้วล่ะ แต่ว่ายังไม่ได้เจียรไน  มันยังมีเขม่ายังมีเกร็ดหินติดอยู่ ในนั้น มันไม่เกลี้ยงเกลา  ก็จำเป็นต้องตั้งลงให้มั่นคงดีเสียก่อน ถ้าหากว่าตั้งไม่มั่นคงดี  แล้วจะไปเจียรนัย ไปทำยังไงก็ไม่ได้  มันก็หลุดออกไปอีก เพราะฉะนั้นกัมมัฏฐานที่เป็นรูปธรรมนั้น ท่านจึงให้หมายรู้ก่อน อย่างที่ให้ใช้ลม ลมนั้นก็เป็นรูปธรรม อันหนึ่ง มันเป็นของที่เกี่ยวเนื่องกับด้วยรูปกายของเรา แล้วการกำหนดลมหายใจเข้าออกนั้น ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ สติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็คือ กาย เวทนา จิต ธรรม...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๓ ฉลาดในกุศลและอกุศล หน้า ๒๗๙

ฝึกใจเป็นกลางไม่ยินดียินร้าย

                ... สัญญากับเวทนา มันเป็นคู่กัน  สัญญาเป็นคู่ ห่อหุ้มไว้ ห่อหมกไว้  เหมือนกับเขาเอาน้ำใส่ถุง หรือ ใส่อะไรสักอย่างนั่นแหล่ะ เอามาใส่เข้ามาทั้งห่อ  คราวนี้เอาตัวสังขาร คือตัวปัญญาไปแก้ห่อออกมา ก็เหมือนลักษณะปัญญาแก้ห่อออกมาแล้ว มาเลือกดูอะไรเป็นอะไร  ถ้าเห็นว่าสิ่งใดดี ก็ดีใจพอใจนั่นเป็นตัวสัญญา อย่างลองใส่ถุงใหญ่มา แบกมา ครั้งแรก ก็ยังไม่รู้ อันนั้นเป็นสัญญาตัวห่อหุ้มต่างๆ สิ่งต่างๆ คือห่อเอารูป เอาเสียง เอากลิ่น เอารส เอาโผฏฐัพพะ ทั้งหมด ห่อมาทั้งดุ้น นั่นแหล่ะเป็นตัวสัญญา  ห่อรวบรวมมา พอรวบรวมมาแล้วตัวสังขารทำหน้าที่ คือปัญญา แก้ห่อออก แกะห่อนั้น นึกว่าใจ ห่อนั้นมันมีอะไรบ้าง  แกะห่อออกไปเห็นแหวนเพชรดีอกดีใจ ในห่อนี้ โอ้แหวนเพชรเป็นสุขเวทนา ไปเห็นสิ่งที่มันไม่ดีในห่อ เกิดเป็นอุจจาระ รังเกียจขึ้นมาอยากจะทิ้ง ห่อของอีกแล้ว เป็นทุกขเวทนาไป  นี่ถ้าเห็นของธรรมดา ที่ไม่เป็นเหตุให้ละก้อ หัวใจเป็นกลาง ๆ เคยมี เคยใช้ เคยเห็นสิ่งนั้นอยู่เสมอ ๆ และสิ่งนั่นก็เคยไม่หัวใจเป็นกลาง ๆ มันมีก็ดี ทั้งที่มีเคยมีอยู่แล้วสิ่งนั้นก็มีมาอีก ใจมันก็เลยเป็นกลาง ในห่อนั้น ส่วนตัววิญญาณ มีหน้าที่แต่จะควบคุมรักษาสัญญาและตัวสังขารนั้นไว้ อาการที่เขาแก้ห่ออ่านอย่างนี่แหละ ให้รู้ตามความเป็นจริงของมันว่าอะไรเป็นอะไร ที่มันมี  ใจของเราเนี่ยเรียกว่า ให้รู้จักวาระจิต พระพุทธเจ้าสอนให้รู้วาระจิตของตัวเอง  ขณะนี้เป็นอุเบกขาเวทนา  เราอ่านมันอยู่อย่างเนียะ เราอ่านอาการ อ่านอย่างนั้นแหละ คือ สังขารในขันธ์ ๕ หล่ะ...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๔ ที่ตั้งของใจ หน้า ๒๘๗

 

 
 
 


ไม่ใช่เพียงรู้ธรรม
 

... ตำรับ ตำราท่านว่าไว้อย่างนั้น จะไปเห็นตามท่านก็ยังมิได้  ท่านจึงให้เราพิสูจน์ไง  เรียกว่าหลักการพิสูจน์นั้น จะต้องสามารถสร้างใจของเรานั้นให้เกิดสมาธิ  คือสร้าง สมาธินั้นให้เกิดขึ้นแก่ใจของเราให้ได้  ถ้าใจบ่สามารถ ให้คุณธรรมข้อนี้เกิดขึ้นแล้ว  ความสงสัยก็มีอยู่อย่างนั้นไม่หายสงสัย  เพราะใจของเรายังไม่เข้าถึง  เพราะว่าเราได้ยินได้ฟัง  ก็อาศัยความจำ  ความเข้าใจว่าธรรมอย่างนั้นมีเท่านั้นเท่านี้  เราก็ได้ยินได้ฟัง เราจำไว้ว่ามันเป็นอย่างนั้น ๆ  เราก็ได้ฟัง คราวนี้เราไม่เห็นแก่นแท้ เข้าไม่ถึงแก่นแท้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนว่าให้เข้าถึงธรรมก่อน  ไม่ใช่เพียงรู้ธรรม  ถ้าเพียงรู้ธรรม เท่านั้นยังไม่หายสงสัย  คนเรียนมากรู้มากเขาเรียกว่ารู้ธรรม ไม่ใช่คนมีธรรม  แต่เป็นคนมีความรู้ในธรรมแล้วยังนำธรรมนั้นมาปฏิบัติก็จึงได้ชื่อว่าผู้ปฏิบัติธรรม...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๕ มรรค ๘ หน้า ๒๙๐

 

               
 
 

 

 
 
 

ธาตุ ๔ 

...ตัวคนเรานี้มีธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ประชุมกัน ธาตุดิน  หมายถึง  สิ่งที่เข้มแข็งในตัวเรา หมายถึง ผมที่สวย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่  อาหารเก่า อันนั้นท่านเรียกว่า ธาตุดิน ซึ่งเป็นธาตุที่เข้มแข็งจับถูกต้องได้ แล้วยังมีธาตุน้ำ คือ เลือด เหงื่อ น้ำเลือด น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร อันนี้เรียกว่าธาตุน้ำ  ธาตุลม ก็หมายถึงลม ลมพัดไปตามตัว ลมหายใจ นี่คือ ธาตุลม ตัวเราก็มีลมขึ้น ลมลง อย่างนี้แหละ บางคนก็เป็นลม ก็เพราะธาตุลมนั่นแหละ ทีนี้ ธาตุไฟ ไฟมีอยู่ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกาย ให้กระวนกระวาย  หรือเป็นไข้ ร้อนในคือไฟเปล่งแสงออกมามาก ร้อนมากไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่เผาอาหารให้ย่อย ไฟอันนี้แหละ...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๑ ความสุขทางใจ หน้า ๑๓๒

 

กรรมจำแนกสัตว์

...เราเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ที่เกิดเป็นมนุษย์จำเป็นต้องอาศัยบุญ ผู้นั้นต้องให้ทาน  รักษาศีลมา  จึงจะสามารถมาเกิดเป็นมนุษย์ แต่นั้นผู้ใดมีทาน มีศีล มีมาก มีน้อย ก็ได้รับผลตามกำลังนั้นแล้วจะเห็นได้ว่า  บุคคล  มนุษย์  ทั้งหลายนั้นต่างกันในฐานะ ตระกูล ต่างกันในรูปร่างลักษณะต่างกันในลักษณะสติปัญญา  มีความรู้ความสามารถต่างกันไม่เหมือนกัน  ที่มันเป็นอย่างนั้นก็เพราะว่า  บุญกรรม  ที่กระทำมานั้น  แบ่งแยกเองจากชั้นระดับเป็นที่  ๑, ๒, ๓ ตามลำดับขั้นตอน ของบุญกุศล ที่ได้สร้างมานั้น  จำแนกส่งเสริมให้บุคคลนั้น เป็นไปตามนั้น ...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๓ ภาวนามัย หน้า ๑๔๐

 
 
 

อาศัยขันธ์ ๕ วางขันธ์ ๕

               
เมื่อเราสามารถสร้างสติ  สมาธิ  ปัญญา ให้เกิดขึ้นมาในจิตแล้วเมื่อใด  นั่นละมันเป็นทางนำจิตให้หลุดพ้น ให้วางขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ที่ใจของเราอาศัย ก็คือ  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  ใจวางขันธ์ ๕ ได้  แต่ว่าต้องอาศัยขันธ์ ๕  แต่ว่าวางไว้ตามสภาพนั้น  ไม่ยึดถือว่าเป็นตัว เป็นตน  เป็นเราเป็นเขา  ต้องละถอนปล่อยวางโดยความรู้  รู้เห็นตามความเป็นจริง  แล้วก็วางไว้ตามสภาพ  อย่างนั้นท่านเรียกว่า  ละถอนปล่อยวางสักกายทิฏฐิ  ซึ่งเป็นองค์ของพระอริยะบุคคลชั้นต้น... 
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๔ ตามรอยพระอริยเจ้า หน้า ๑๔๖

 

 
 

มรรคอยู่ที่ใจ

...องค์มรรคแปดนั้น ท่านแยกเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่แล้ว  แต่มันเข้าถึงจิต  มันอยู่ที่จิตทีนี้ อยู่ที่ใจนั่นแหละทาง เมื่อสิ่งเหล่านั้น มันเกิดขึ้นที่จิตแล้ว  มันเป็นทางนำใจของตนเองให้หลุดพ้น จากมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ ทีนี้ เข้านิพพานสมบัติโน่น เข้าสู่นิพพานสมบัติ ใจเข้าถึงสภาพที่ไม่แก่ตาย...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๐  สัมมาสัมพุทธะ หน้า ๒๕๖

 

 
 
 

การแผ่เมตตานั้นเป็นเหตุให้ใจไม่หงุดหงิด

...แผ่เมตตา การแผ่เราต้องทำใจให้นิ่งสงบลงไปเสียก่อน เมื่อนิ่งสงบลงไปพอนิ่งอย่างนั้นแล้ว เราก็นึกขึ้นมาในใจว่า เราจงมีความสุข เราอย่ามีเวร เราอย่ามีภัย อย่าถูกเบียดเบียน เราอย่ามีทุกข์กายทุกข์ใจ นึกไปอย่างนี้ การนึกอย่างนี้ อย่าสำคัญว่าจะไม่ได้ผล คือแผ่อยู่สม่ำเสมอ แล้วจะเป็นเหตุให้ใจของเราไม่หงุดหงิด ใจจะสบาย กระทบสิ่งที่ได้เห็นได้ยินฟังใจก็จะเป็นกลาง บางทีสิ่งที่เขาพูดมาผิดหู ไม่ใช่ผิดหู หรอกมันผิดใจ มันเข้าไปที่หู มันผิดใจคือไม่ชอบในสิ่งที่เขาพูดนั้นใจก็เป็นกลาง...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๒ อานิสงส์ของการแผ่เมตตา หน้า ๒๖๘

 

ทุกข์ควรกำหนดรู้

                ทุกข์ควรกำหนดรู้ ทำยังไง อย่างเราเจอทุกข์ขึ้นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าว่าให้กำหนดรู้  ไม่ใช้กำหนดรู้ทุกข์นะ แต่กำหนดตัวผู้รู้ทุกข์ จึงจะเข้าใจได้ ถ้าว่าทุกข์กำหนดรู้อย่างนี้ เหมือนกับว่า เราจะไปอยู่ที่เราทุกข์ยากลำบากนั้น  แต่ความหมายนะ ทุกข์กำหนดรู้ กำหนดตัวผู้มารับทุกข์ต่างหาก เรารู้สึกเป็นทุกข์ขึ้นมา กำหนดดวงรู้ปั๊บ เราไม่ไปกำหนดตัวที่มันทุกข์ แต่กำหนดผู้รับทุกข์
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๑๗ อริยสัจ ๔ หน้า ๒๓๖

 

สมุทัยควรละ

                สมุทัยนี้ควรละ และพระพุทธเจ้า  พระองค์ตรัสว่า   สมุทัยนี้ เราละแล้ว สมุทัยแปลว่าเหตุให้ทุกข์เกิด  ว่าโดยเฉพาะถ้าว่าขึ้นมา มันเป็นเหตุอดีตนะ ไม่ใช่เหตุปัจจุบัน เรียกว่า ตัณหา ความอยากได้  อยากเป็น  ไม่อยากเป็น แต่ว่ามันเป็นทุกข์ทางกายของเรานี้ ไม่ใช่ตัณหานั้น  แต่มันเป็นผล  ไอ้รูปร่างกายนี้เป็นวิบากผลของตัณหา จึงว่าความอยากได้ มันจะเป็นผลในภายหน้าโน้น  ไม่ใช่เป็นผลที่รูปร่างกายนี้  รูปร่างกายนี้ ได้มาแล้ว  เป็นมาแล้ว  ตัณหาอดีตนู้น อยากได้ อยากเป็นมันมาแล้ว อยากได้  อยากได้อะไร  อยากได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั่นแหละของภายนอก รูปอันไหนที่ว่าสวยว่างาน  ว่าน่าใคร่พอใจก็อยากได้สิ่งนั้น แล้วก็อยากเป็น  อยากเป็นอะไร อยากให้ตัวเรานี้มันไปเป็น เป็นที่เขาว่าดีที่สุดนั้นหละ  วิเศษที่สุดนั้นหละ ไปเป็นอันนั้น ไม่อยากเป็น อันไหนที่มัน มันไม่ดีก็ไม่อยากเป็น ไม่อยากเป็นคนแก่ ไม่อยากเป็นคนมีโรคภัย ไข้เจ็บ เป็นอย่างนั้น ๆ ไม่อยากเป็นมันก็เป็น มันเป็นแล้วจึงเป็นทุกข์คราวนี้ ทีนี้ละสมุทัย ถ้าว่ากำหนดรู้แล้ว มันก็เข้า ๆ จุดเดียวกัน กำหนดดวงรู้ มันก็เป็นการที่จะละสมุทัย ถ้าว่าอย่าง ไอ้ดวงรู้นั้นมันออกจากที่มัน เราไม่ได้กำหนดดวงรู้ สมุทัยมันก็ซ่านไป...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๑๗ อริยสัจ ๔ หน้า ๒๓๖

 

นิโรธควรทำให้แจ้ง

...นิโรธควรทำให้แจ้ง ๆ อาการที่ละตัณหา ละความอยากได้ อยากเป็น ไม่อยากเป็นออกจากจิต มันเป็นนิโรธ   
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๑๗ อริยสัจ ๔ หน้า ๒๓๖

 

มรรคควรดำเนิน

พระพุทธเจ้าจึงว่ามรรคควรดำเนิน เรานะดำเนินแล้ว  มรรคดำเนินทำยังไง  ว่าถึงภาคปฏิบัติ  ทีนี้อาการที่เรากำหนด สัมมาสติ เราตั้งทำใจให้เป็นอารมณ์เป็นหนึ่ง อย่างที่พาปฏิบัติอยู่นี้  เรากำหนดลมหายใจเข้าออก  พุทโธ ๆๆๆ อยู่เรื่อย ๆ แล้ว ก็ปล่อยวางสิ่งนั้นกำหนดดวงรู้ทีนี้ อาการที่กำหนดดวงรู้ให้ใจเป็นหนึ่ง เรียกว่าให้จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง หรือตั้งรู้อยู่ที่จิตนั้นแหละ  มันก็เป็นตัวมรรคแล้ว ก็เป็นสัมมาสติ  สัมมาสมาธินั่นแหละ ในองค์นั่นแหละ เมื่อสัมมาสมาธิบริบูรณ์ คือว่ากำหนดมากเข้า ๆ จิตก็รวมลงสู่ภวังค์ลงแล้ว  สัมมาทิฏฐิจึงจะเกิด..    
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๑๗ อริยสัจ ๔ หน้า ๒๓๖

 

จิตกับเวทนา

...ดูจิตกับเวทนา  เช่นว่า  รู้สึกว่าเป็นสุข  รู้สึกว่าเป็นทุกข์แล้วก็กำหนดเลย  เราตอบได้ทันทีว่า ผู้ที่รับทุกข์นั้นคือใจ คำสอนพระพุทธเจ้าว่า ให้กำหนดรู้ ทำยังไงกำหนดรู้ทีนี้?  ทำให้ถูก ถ้าเราทำถูกพั๊บ ทุกขเวทนา มันมีอยู่อย่างงั้นน่ะ แต่มันไม่ครอบงำดวงรู้หรอก ทุกขเวทนากับสุขเวทนามันครอบงำจิตไม่ได้ ที่มันครอบงำได้ก็เพราะใจมันส่งกระแสออกไปมันเป็นวิญญาณ ไปตั้งอยู่ที่วิญญาณนั่น ไม่ตั้งอยู่ที่ดวงรู้...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๑๖ ภาวนาพุทโธอยู่ที่ใจ หน้า ๒๒๕

 

 

ฝึกใจให้สงบเหมือนมะพร้าวจมน้ำ

... ขณะที่ใจของเราสงบลงไปแล้ว พอได้สบายก็ถอนขึ้นมา บางคนก็สงบลงได้นานหน่อยหนึ่ง  บางคนชั่วขณะหนึ่งก็ถอนมาแล้ว บางคนพอถอนขึ้นมาก็กดลงไปอีก  กดคอมันลงไปอีก เอ้าลงไป ลงไปได้หน่อย ก็โผล่ขึ้นมาอีกมันอยู่อย่างนั้น เวลากดมะพร้าวลงในน้ำ  มะพร้าวห้าวนะไม่ใช่มะพร้าวดิบนะ มะพร้าวที่มันยังไม่แห้งน่ะ กดลงไปเหอะ  กดลงไปในน้ำน่ะ  ถ้าวางมันก็พุ่งพรวดขึ้นมาทันที  แต่อยากให้มันจมก็เจาะให้น้ำเข้าไปข้างในมันก็จมเอง  ในใจของเราที่มันลงไปแล้ว  มันได้ปีติสุขครั้งแรกแล้ว ก็เหมือนกันมันก็จมลงไป เพราะปีติ สุข มันก็จมลงไป ถ้ามีความสุขใจ ชื่นใจ มันก็จมลงไปแต่เมื่อปิติสุข หมดแล้ว มันก็ถอนขึ้นมา ถอนขึ้นมาแล้ว ก็ใส่เข้าไปอีกใหม่  ให้มันแช่มชื่น  มันก็ลงไปอีกใหม่ หมดกำลังก็ถอนขึ้นมาใหม่ มันก็อยู่อย่างนั้น ฉะนั้นมันจะสงบลงไปขนาดไหน โทษอย่างใดก็ให้มันลงไปเหอะ เมื่อมันลงไปแล้วก็ถอนขึ้นมา พอถอนแล้วกำหนดจิตทับทันที กำหนดลงรู้นี่ใจ  ไม่ต้องไปเอาสมาธิสบายหรือไม่สบาย  ไม่สำคัญ กำหนดขึ้นมาขณะนั้น ว่าขณะนี้ ใจมันมีอารมณ์คือสบายล่ะหรือไม่สบาย  เอ้าไม่สบาย ก็เอาอารมณ์ไม่สบายนั่นแหละเป็นที่พิจารณา...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๔ ฉลาดในกุศลและอกุศล หน้า ๒๘๖

 

 

กายคตาสติ

กายคตาสติ กำหนดกายนี่ กำหนดกายคือ กำหนด ผม ขน ฟัน หนัง เล็บ กำหนดอย่างใดอย่างหนึ่ง กำหนดเอาจนเกิดอุคคหนิมิต เช่นว่า กำหนดใจมาที่ผมเลย ประคองใจ ดูกระดูกซี่โครง ที่ทรวงอก ประคองความรู้สึกแนบรู้ พยายามนึกถึงกระดูกซี่โครงอะไรต่าง ๆที่มีอยู่ในนั้น จนกว่าอุคคหนิมิต จะเกิดขึ้น อุคคหนิมิต คือภาพของสิ่งนั้น ๆ ที่ปรากฏขึ้นในจิต เช่นว่า  เห็นกระดูก พอปรากฏปั๊บ เห็นซากกระดูก กระดูกที่ซี่โครงนั้นเป็นซี่ ๆ ก็ชัดเจน บางคนสามารถนับได้ว่าเท่าไหร่ ก็นับได้เลย พอมันเป็นอย่างนั้น ก็กำหนดอันนั้นเรื่อยไป พอกำหนดปุ๊บ  ใจก็จะสงบลง ทีนี้ลงเป็นสมาธิเลย  ใจแน่วแน่  คราวนี้ ก็ปรากฏเห็นกายทั้งนอกทั้งใน พร้อมกันไปเลยทีนี้จึงเรียกว่า อันนั้นล่ะ เป็นทางให้เกิดวิปัสสนาญาณ เพราะว่าใจที่ไปตั้ง มันเป็นกรรมฐานที่เป็นรูปธรรม...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๘ อวิชชาพาเกิด หน้า ๑๗๘

 

 

ขุดน้ำบ่อ 

... เมื่อเรา  เพียรพยายาม ตั้งจิตตั้งใจรักษาใจ มันจะไปไหนใจมันจะไม่สงบ  อันนี้เราทำน้อยเกินไป มันไม่พอ  เปรียบเหมือนกับคนขุดน้ำบ่อ ขุดลงไปเมื่อยังไม่ถึงที่ น้ำมันก็ไม่มี น้ำมันก็ไม่ออก  เพราะมันยังไม่ถึงตาน้ำ  ถ้าขุดลงไป ๆ มันถึงที่มันน้ำก็ต้องออกมา   เราปฏิบัติกันเมื่อเราทำไม่ถึงไม่ได้ ดังนั้น ในการกระทำอยู่อย่างนี้เรียกว่า  ความเพียร กำหนดลมหายใจ พุทโธ ๆๆ ๆ นะ ให้เรารู้อยู่ในสิ่งนั้นอย่าให้ใจแวบไปที่อื่น คือว่านี่หละเป็นสัมมาสติ เป็นการตั้งใจถูกต้อง แล้วไม่ผิด เมื่อการตั้งใจไม่ผิดอย่างนี้ แล้วมันก็จะลงสู่ความสงบ เข้าถึงสัมมาสมาธิ...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๕ มรรค ๘ หน้า ๒๙๒

 

 

 
 
 

เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

...เมื่อเข้าถึงตัวรู้เข้าถึงธาตุรู้ เรียกว่า เข้าถึงพุทธะ  ธรรมะ ก็หมายถึง สติสัมปชัญญะของพวกเรานั่นเอง  ทุกคนต้องมีสติสัมปชัญญะ ข้างนอกก็มีสติสัมปชัญญะ แต่ข้างนอกนั้นมีสติคุ้มครองใจไม่ได้ต้องมีสติความระลึกได้ ต้องมีสติคุ้มครองรักษาใจ  สัมปชัญญะ คือ รู้ตัว รู้ใจ จึงเรียกว่า พระธรรมส่วนพระสงฆ์นั้น หมายถึง ปฏิบัติดี  ปฏิบัติชอบ ในสังฆคุณที่สวด สุปฏิปันโน  อุชุปฏิปันโน  ญายปฏิปันโน  สามีจิปฏิปันโนพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดี  เป็นผู้ปฏิบัติตรงปฏิบัติชอบ บรรลุมรรคผลปฏิบัติชอบยิ่งแล้ว เมื่อพวกเรา ทำได้ของเรา ให้ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าไว้แล้ว  ใจได้รับความสงบ มีสติ สัมปชัญญะเกิดขึ้นมา ก็เรียกว่า เข้าถึงสังฆะ ใจของเรามีพุทธะ ธรรมะ สังฆะ อยู่ในใจ...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๓ ภาวนามัย หน้า ๑๔๐

 

 
 
 

วิธีกำหนดจิตภาวนา

...เรารู้กำหนดลมหายใจพุทโธ ๆๆๆ ต่อจากนั้นตั้งจุด  ทีนี้พอตั้งจุดแล้วก็นึกพุทโธ ๆ ต่อนั้น  รักษาจิต อย่างเดียวเพื่อไม่ให้มันหลงลืม จับจุดให้ดี จับจุดนั้น จับจุดตั้ง ประคองความรู้สึกไว้ในจุดตั้งแน่ว อย่าพลั้งเผลอ คือจับความรู้สึกของเราไปแปะไว้ในจุดนั้นให้ได้แต่อย่าไปเพ่งนะ ประคองความรู้สึกของเราจดจ่อไว้ตรงนั้น คำว่า เพ่งนั้น หมายถึงส่งไปตามสายตา  สมมติว่าเราจะดูที่ทรวงอกนี้  เพ่งลงไปที่ทรวงอกนะ  เหมือนกับเอาตาของเราส่องเข้าไป  อย่างนั้นเรียกว่าเพ่ง  ไม่ได้  มันลำบาก  ไปเพ่งไม่ได้  ถ้าไปเพ่งบางทีก็เกิดอุคคหนิมิตขึ้นมา  ก็ไปจับอุคคหนิมิต เอาอุคคหนิมิตหละทีนี้ ก็ใช้ไม่ได้  พระพุทธเจ้า ไม่ให้เอา...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๔ ตามรอยพระอริยเจ้า หน้า ๑๕๑

 

 
 
 

รักษาใจให้ตั้งมั่น

...การทำสติปัญญาให้เกิด เรียกว่า  ภาวนา   รวมความแล้วว่า การที่เราทำใจของเราให้เกิดสมาธิปัญญานั้น เรียกว่า  ภาวนา  คือทำให้มันมี ทำของดี ๆ ให้มันเกิดขึ้นในใจ  ไม่ใช่อื่นไกล  จึงเรียกว่า  ภาวนา แล้วภาวนานั้นแบ่งเป็นสอง  เรียกว่า สมถภาวนา แล้วเรียกว่า วิปัสสนาภาวนา  สมถภาวนา แปลว่า ทำใจให้มั่น  หาอุบายอันใดอันหนึ่งให้ใจเราสงบให้มันนิ่ง  ให้มันอยู่  เรียกว่าทำใจให้เป็นสมาธิ  คำว่าสมาธินั้น  แปลว่า ตั้งใจมั่น รักษาใจให้ตั้งมั่นครั้งแรก  เรียกว่า รักษาใจของเราให้มั่นคงอยู่ในหลักกัมมัฎฐาน โดย ภาวนา พุทโธ  พุทโธ  ก็ให้ใจมันอยู่ในพุทโธนั้น ให้ได้อย่างนี้ เรียกว่ารักษาใจให้มั่น ต่อไป เมี่อใจมันได้รับความสงบลงแล้ว เรียกว่า ใจมั่น หรือ ตั้งใจมั่น  ...
ที่มา :กัณฑ์ที่ ๓ ภาวนามัย หน้า ๑๔๓

 

 
 
 

กำหนดรู้ใจ ชนะความทุกข์ได้

...รู้อยู่ที่จุดรู้ของมัน  ถ้าเข้ามาสู่จุดรู้แล้วก็เรียกว่าใจ  เราจะไปรู้อย่างนั้นตลอด  มันก็ไม่ได้  ถ้ารู้อย่างนั้น ก็ คือนอนหลับตลอด หนึ่งเวลาจะให้รู้ใจอยู่ที่รู้ก็เข้าสมาธิ  เมื่อเข้าสมาธิก็ไปรู้อยู่ที่รู้  ทีนี้พอออกจากสมาธิ อันที่สองละ ให้อยู่ด้วยสติ  เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้น  มันมีอยู่อย่างนั้น  คือ  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  ก็จะหมุนเวียนอยู่กับจิตใจ แต่ให้ใจมีสติรับรู้  รับทราบ  อย่าให้สิ่งนั้นมาทับถมใจ  เป็นทุกข์ก็เหมือนกัน เพื่อจะให้มีสติ...ให้กำหนดรู้ สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มันเกิดขึ้นในใจ  มากระทบใจ ให้กำหนดรู้ปั๊บ แต่ว่ารวมแล้วรู้สึกว่าเป็นสุข  เรื่องสุขไม่เท่าไหร่หรอก มันไม่หวั่นไหวเท่าไหร่ มันเพลิน  โดยเฉพาะเรื่องทุกข์ พอรู้สึกว่าไม่สบายปั๊บ นี่มันเป็นเวลาสำคัญ เวลาที่จะกำหนดดวงรู้  เป็นเวลาที่จะกำหนดใจ ถ้าผู้ใดไม่กำหนดใจ ทุกข์นั้นจะทับถมทันที  ทับถมใจ และก็จะกระวนกระวาย กระเสือกกระสนด้วย มันจะเป็นทางให้ตัวเองพูด ทำ ในทางที่ผิดด้วย...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๖ สังวรปธาน หน้า ๑๖๓

 

 
 
 

การพิจารณาไตรลักษณ์

                เมื่อก่อนอาตมานึกสงสัยว่า เมื่อใจเข้าสู่ความสงบเป็นหนึ่งแล้วทำยังไงต่อ  ถ้าว่าตามตำราแล้วก็ เมื่อใจสงบแล้ว ก็เอาใจมากำหนดรู้ขันธ์ห้า พิจารณาขันธ์ห้าว่างั้นเหอะ คือพิจารณาว่านี่คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้ว่าตามตำรานะ เอ้าใจสงบจะพิจารณา มันก็ถอนออกหมดเลย มันก็ไม่ถูกละที่นี้ ทำอะไรมันก็ไม่ถูกล่ะ ...อาตมาจึงไปถามหลวงปู่ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร) “หลวงปู่ เมื่อใจตั้งมั่นเป็นสมาธิเป็นหนึ่งแล้ว จะทำอย่างไรต่อ? จะดำเนินอะไร? อย่างไรต่อไป?”  ท่านก็ตอบสั้น ๆ “พอใจสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่แล้ว ให้กำหนดรู้ขึ้นมา ถามจิตว่า อันไหนเกิดดับ อันไหนไม่เกิดดับ ให้กำหนดรู้ขึ้นมา อันไหนเกิดดับ อันไหนไม่เกิดดับ รวมความแล้วว่า ไอ้ที่เกิดดับมันคือ รูป เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ ไอ้ตัวที่มันไม่เกิดดับก็คือใจ ตัวกลาง”..
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๘ อวิชชาพาเกิด หน้า ๑๗๗

 

ผู้รู้เป็นเครื่องอยู่ของใจ


..สมถะ คือ สงบจิต วิปัสสนาคือ ให้ใจรู้จริง รู้เห็นตามความเป็นจริง แล้วก็ปล่อยวาง แล้วเครื่องอยู่ของเรา พวกเราที่เอา  เราเอาอะไรก็เราเอาใจ เอาใจ เอาอะไร รู้ใจ รู้ใจนะเป็นเครื่องอยู่  เราไปที่ไหน ๆ ก็รู้ใจนั่นแหละ ยืน เดิน  นั่ง  นอน  อยู่ที่ไหน ก็รู้ใจอยู่นั่นแหละ ถ้ามันมีสิ่งใดมากระทบ กระทั่ง ก็เอาเข้าสมาธิ  กำหนดจิตพั๊บ  พอกำหนดจิตแล้ว ก็พิจารณากำหนดสิ่งที่มากระทบมัน  นั่นคืออะไร ใจของเราไปรักไปหลงอะไร  ให้พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงบอกว่าอันนั้นมันไม่ใช่เราไม่ใช่ของ ๆ เรา แล้วสิ่งนั้นมันมากระทบ เราก็มีแค่นี้ มีแค่ใจเรานี้ ก็เอาแค่นี้...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๐ สัมมาสัมพุทธะ หน้า ๒๕๙

 

 

 
 
 

บริสุทธิ์ ด้วยปัญญา

... พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปัญญายะ ปริสุชฺฌติ บุคคลที่จะบริสุทธิ์ สะอาด ปราศจากราคะ  โทสะ  โมหะ  ได้นั้นด้วยปัญญาเท่านั้น  ไม่ใช่บริสุทธิ์สะอาดได้ด้วยสมาธิ  สมาธินั้นเป็นทางให้เกิดความสงบ เป็นทางให้เกิดความสุขใจ แล้วก็เป็นทางให้ได้ใช้ปัญญา แต่ถ้าผู้ใดไปอยู่แค่สมาธิ  เอาแค่สมาธิ  ฝึกแค่สมาธิ  อยู่กับสมาธิ มันก็ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่อย่างนั้น บางครั้ง บางคราวอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ในลักษณะอาการร่างกายปลอดโปร่งดี เราเข้าสมาธิทำสมาธิ  จิตก็สงบได้ดี  นิ่งได้ดีมาก ทีนี้วาระใดโอกาสใดร่างกายก็ไม่ค่อยจะพร้อม ยังมีสิ่งใดขัดข้องในร่างกาย หรือในสิ่งแวดล้อมไม่ดี จิตมันก็สงบลงไม่ลึก สงบบ้างไม่สงบบ้าง แล้วก็วุ่นวายตามเหตุนั้นๆ นั่นคือสมาธิ...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๔ ฉลาดในกุศลและอกุศล หน้า ๒๘๖

 

สมถะและวิปัสสนา

...ว่าหลักย่อ ๆ สมถภาวนา  วิปัสสนาภาวนา  สมถคือตั้งจิตดังที่พาทำนี้ ตั้งจิตคือประคองใจเข้าอย่างว่า  กำหนดลมหายใจ พุทโธ ๆๆๆ ตั้งจิตอยู่อย่างนั้น  นี่เป็นอุบายสมถะ เพื่อให้ใจสงบ ลงสู่สมาธิ ดำเนินตามหลักอันนี้  เมื่อทำมาก ๆ เข้า ใจก็เป็นสมาธิขึ้นมา บางคนนั้น พอใจสงบเป็นสมาธิปั๊บ วิปัสสนาเกิดขึ้นเลยก็มี  แต่ถ้าหากว่าคนที่ไม่ได้ผ่านปัญญา ใช้ปัญญามันไม่เกิด ไม่เกิดเอง ต้องสร้างปัญญา เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๔ ตามรายพระอริยเจ้า หน้า ๑๔๘

 

 
 
 
 

ดวงตาเห็นธรรม 

                ...ท่านผู้ที่ได้บรรลุมรรคผล  ที่ว่าพระพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงธรรมแก่ประชาชน ประชาชนทั้งหลาย  ได้ยินได้ฟังแล้วก็เกิดดวงตาเห็นธรรม  มันเกิดขึ้นในจิตนู้น  เกิดขึ้นมาว่า  สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับเป็นธรรมดา  ทั้งที่ท่านเหล่านั้นไม่ได้ศึกษา  ไม่ได้ไปเรียน ว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น  ไม่ได้เรียนอย่างนั้น  แต่ว่าปรากฏผุดขึ้นมาเอง  ผุดขึ้นมาในใจเกิดขึ้นเลย  รู้ขึ้นมาเลย  ถ้ามันเกิดขึ้นมาอย่างนั้น  ผุดขึ้นมาอย่างนั้นมันก็วาง  มันก็ปล่อยได้เลย  ถ้าไม่เกิดขึ้นในจิตนะ  มันวาง  มันปล่อยไม่ได้...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๓ ภาวนามัย หน้า ๑๔๒

 

               
 
 

รู้จักคิดแล้ววางให้เป็น

...ใจของเราน่ะ มันชอบวิ่งไปตามอารมณ์ต่าง ๆ อยู่ข้างนอก ปกติมันก็อยู่กับอารมณ์ข้างนอก คือเรื่องราวข้างนอกอยู่แล้ว ดูเรื่องไป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งสิ่งเหล่านั้น มากระทบเข้า แล้วจิตก็เอามาคิด คิดไป ปรุงไป แต่งไป อยากได้ อยากดี ในสิ่งที่คิด ในสิ่งที่ปรุงแต่งนั้น ๆ เมื่อคิดมากเข้า บางคนน่ะปลงความคิดของตัวเองนั้นไม่ลง เมื่อปลงความคิดไม่ลง คิดมาก มันก็ทำลายประสาทสมอง เป็นเหตุให้เป็นโรคประสาทขึ้นมาเพราะคิดมาก  ความคิดต่าง ๆ นั้นพระพุทธเจ้าไม่ได้ห้าม ท่านสอนให้คิดได้ แต่ว่าคิดแล้วน่ะก็ต้องวางความคิดนั้นให้ได้หรือคิดให้จบให้สิ้น ไม่ใช่คิดอยู่อย่างนั้นตลอดไป ถ้าคิดอย่างนั้นตลอดไปแล้ว มันทำลายประสาทสมอง...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๒ อานิสงส์ของการแผ่เมตตา หน้า ๒๗๒

 

สุขแท้อยู่ที่ใจ สุขข้างนอกคือภาพลวงตา

...ธรรมะ คือ สติ  สมาธิ  ปัญญา นั้นมีพร้อมอยู่แล้วในใจนั้นแต่ว่าใจของเราน่ะ มันไม่ยอมรับเอาข้างในนี้  วิ่งไปหาเอาแต่ข้างนอกโน้น แสวงหาทุกสิ่ง ทุกอย่างข้างนอก  มนุษย์ทั้งหลาย ก็แสวงหากันอย่างนั้น  นึกว่าสุขมันอยู่ข้างนอกโน้น  สิ่งที่ตัวเองต้องการปรารถนาอยู่ข้างนอกโน่น วิ่งไป ท่านก็เปรียบเหมือนกับเราไปยืนอยู่กลางแจ้ง ในที่แจ้ง ๆ แล้วมีแดดจ้า  ก็จะมองเห็นพยับแดดอยู่ข้างหน้าประมาณ ๑๐๐ เมตรจากตัวเราไปมีพยับแดดดิ้นๆ กระพริบ ๆ เป็นตัวตนเป็นรูปร่าง แต่ถ้าเราวิ่งเข้าไปหาพยับแดดนั้น ๆ มันก็ขยับไปอีก  เข้าไปแล้ว ไม่มีตัวตน ไม่มีรูปร่าง ให้บุคคลจับต้องได้  อาการที่ใจของเรา หรือของมนุษย์ทั้งหลาย วิ่งเขาหาสุข แสวงหาสุขข้างนอกจากตัวเองนั้นก็เช่นเดียวกัน  มองเห็นอยู่ นึกว่ามันจะเป็นสุข  เอาเข้าจริง ๆ เพิ่มทุกข์เข้าให้ตัวเองมากมายนัก  จึงดิ้นรนกระเสือกกระสน กระวน กระวาย แสวงหาไม่มีที่สิ้นสุด...พระพุทธเจ้าตรัสว่า  อย่าเลย อย่าไปแสวงหาข้างนอก  ให้แสวงหาข้างในตัวเองนี้  มาเอาตัวเองข้างในนี้  ท่านพูดรวม ๆ ว่า จงมาเอาใจของตัวเองนั้นให้ได้...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๓ ฉลาดในกุศลและอกุศล หน้า ๒๗๙

 

 
 
 

พิจารณาขันธ์ ๕ เหมือนเอาสุ่มงุม (ครอบ) ไก่

...วิปัสสนานั้น มีสองอย่าง  วิปัสสนากรรมฐานกับวิปัสสนาญาณ  วิปัสสนากรรมฐานนั้น หมายถึงการกำหนดรู้ กำหนดพิจารณา  คือเมื่อใจของเราเข้าถึงจุดแล้วเราก็กำหนดดวงรู้ อ้อนี้ใจ มันรู้จักแล้วนี้คือใจ และกำหนดรู้อีกสิ่งที่ประกอบอยู่ในใจนั้นเรียกว่า  เจตสิก มีเจตสิกประกอบอยู่ที่ใจ คือ เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ นั้นเรียกว่า เจตสิก  มันห่อ ห่อหุ้มอยู่ที่ใจนี้  ห่อหุ้มอยู่ที่ดวงรู้  พอใจตั้งมั่น  เราก็มากำหนดรู้  อ้อนี่ใจ  ทีนี้เราก็กำหนดรู้อีก  ไหนเวทนา กำหนดรู้อาการ  พอกำหนดรู้แล้ว  ก็นิ่งรู้อาการสังเกตดูว่ามันเป็นยังไง มันจึงจะรู้ขึ้นมา เมื่อกำหนดรู้อันนี้แล้ว  กำหนดรู้ต่อไปอีกไหนเรียกว่า สัญญา  ไหนเรียกว่า สังขาร  ไหนเรียกว่า วิญญาณ กำหนดจนมันรู้ พอมันรู้แล้ว กลับมานิ่งรู้อยู่เฉย ๆ นี้คือหลัก เช่นว่า  เวทนา  เสร็จสรรพแล้วก็กลับมาตั้งอยู่ที่เก่า  กำหนดรู้ได้ เวทนา  สัญญา สังขาร  วิญญาณ ได้ขันธ์ ๔ รู้ขันธ์ ๔ ขันธ์ ๔ นั้น มันห่ออยู่ในใจนี้พร้อมบริบูรณ์แล้ว  แต่ว่าขันธ์อีกขันธ์  ตัวที่หนึ่ง เรียกว่ารูป มันเป็นเปลือกใหญ่นี่  ถ้าว่ากำหนดรู้ได้แค่นี้ยังไม่รู้ ยังไม่รู้รูปขันธ์ เมื่อมันเป็นอย่างนั้น  เราก็จำเป็นต้องกำหนดรู้กายนี้อีก ดึงความรู้สึกควบกายพั๊บ! ครั้งแรก ก็กำหนดไว้ทั้งหมดนี้ ทำความรู้สึกตัวทั้งหมดนี้ ควบตัวเองไว้  เหมือนกับเอาสุ่มไปงุม (ครอบ) ไก่ ที่อาตมาเคยเล่าให้ฟัง  ทำความรู้สึกให้มันทั่วไว้ที่กาย ในขณะที่นั่งจับจุดไว้นั้นก่อนจับไว้เฉย ๆ ก่อน เมื่อจับไว้อย่างนั้น พอจิตมันอยู่อย่างนั้น  จึงนึกถึงภาพของกาย  นึกถึงภาพของกายไหนว่าผม ก็นึกถึงภาพของผมบนหนังศีรษะ ไหนขน  ไหนเล็บ  ไหนฟัน  ไหนหนัง  เราก็นึกถึงอาการนั้น ๆ แล้วก็มาหยุด มารู้อยู่  รู้อยู่ที่กาย  กำหนดกาย  รู้กายไว้อย่างนั้น ถ้าเป็นการตั้งสมาธิไว้ตรงนั้น  เรากำหนดอีก  เมื่อเราทำมากเข้า ๆ หยุดทีนี้ ไปกำหนดดวงรู้อย่างเดียว ไม่กำหนดรู้กายแล้ว  กายเรา ก็ทำแล้วเรียกว่า ขันธ์ ๕ เรากำหนดแล้ว  คราวนี้หละ วิปัสสนาญาณมันจึงจะผุดขึ้นที่จิต  เกิดรู้เห็นขึ้นมาเอง...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๕ มรรค ๘ หน้า ๒๙๓

 

 
 

วันหนึ่งคืนหนึ่ง

...วันหนึ่งคืนหนึ่งถ้าใจยังไม่เข้าสงบแล้ว  คนนั้นก็จะไม่สบายใจ  ถ้าเราสามารถเอาใจของเราเข้าสงบ ก็จะได้รับความสบาย ได้รับความสงบ  ดังนั้น ให้เราทำทั้งสองอย่าง  อย่างหนึ่ง เพียรพยายามเก็บใจของเราเข้าสู่ความสงบให้ตั้งมั่นเป็นหนึ่ง  รู้ในจุดนั้น ประการที่สอง ที่ทำแล้วขอให้เอามา  มากำหนดรูปร่างกายของเราและคนอื่น ว่ารูปร่างกายของเรานี้ก็เหมือนกัน ของคนอื่นก็เหมือนกัน ต้องแก่นะ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยนะ  ต้องแตกดับ ไม่ใช่อยู่อย่างนี้ตลอด ทีนี้ ของที่ไม่แก่ เจ็บตาย ก็คือใจ  พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้เอาใจ ให้ใจของเราน่ะหลุดพ้น หลุดพ้นจากความยึดถือ  ไม่ใช่หลุดพ้นหนี หลุดพ้นจากการยึดถือรูปร่างกายเวทนา  และเราก็จะต้องมีสติเป็นเครื่องอยู่ มีรูปเป็นเครื่องอยู่
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๖ สังวรปธาน หน้า ๑๖๔

 

 
 
 

องค์ของพระโสดาบัน 

                ...องค์ของพระอริยะบุคคลชั้นต้น  พระโสดาบันละสังโยชน์ได้ ๓ สักกายทิฏฐิ  วิจิกิจฉา  สีลัพพตปรามาส  ๓ อันสักกายทิฏฐิ หมายถึง  การยึดถือรูปร่างกาย ขันธ์ ๕ นั่นแหละถ้าใจยังยึดยังถือ  ใจนั้นยังเป็นอันเดียวกันกับขันธ์ ๕ยังเป็นอันเดียวกันกับเวทนา  กับสัญญา  กับสังขาร กับวิญญาณอยู่นั่น  อย่างนั้นเรียกว่ามันยึดถือ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิมันจึงแยกตัว  ทีนี้เวทนาก็เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ แต่ละอัน ไม่ใช่อันเดียวกัน แต่มันอยู่ที่เดียวกัน  จึงรู้ตามความเป็นจริง รู้ตามความเป็นจริงว่า ตัวรู้ ดวงรู้ คือใจของเรา
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๔ ตามรอยพระอริยเจ้า หน้า ๑๔๖

 

 

มัคคสมังคี

...คุณธรรมที่มีในใจของมนุษย์ คือ องค์มรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มันมีอยู่ที่ใจคน ว่าองค์มรรคแปด สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ทีนี้ว่าถึงภาคปฏิบัติ ท่านสร้างสัมมาวายามะ ด้วยการสร้างสติ ให้ใจตั้งมั่นลงสู่สัมมาสมาธิ เมื่อใจเข้าถึงสัมมาสมาธิ แล้วเมื่อใด องค์ของมรรคนั้นจึงจะรวมตัวกัน คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะ รวมลงที่จิต เรียกว่า มัคคสมังคี...ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๐ สัมมาสัมพุทธะ หน้า ๒๕๖

 

เจโตปริยายญาณ ดูใจผู้อื่น

...เจโตปริยายญาณ สามารถกำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ บางท่านกำหนดดูใจผู้อื่น จึงเปรียบเทียบให้ฟัง ท่านจะกำหนดดูที่หทัยรูปของบุคคลผู้นั้น กำหนดจิตวาบ เห็นหทัยรูปของบุคคลผู้นั้น หทัยรูปของบุคคลผู้นั้นเป็นอย่างไรท่านรู้ รู้อย่างไร บุคคลผู้นั้นมีน้ำเลี้ยงหัวใจของคนแตกต่างกัน ถ้ามีราคะก็มีน้ำเลี้ยงหัวใจนั้น ก็เหมือนกับน้ำล้างเนื้ออยู่ในนั้น ผู้ใดบริสุทธิ์ก็ขาวผ่องสะอาด บุคคลที่มีปัญญา พอกำหนดปุ๊บสว่างวาบๆๆ ที่หัวใจนั้น จะสว่างเป็นดวงแก้วเลย สามารถจะมองเห็นในดวงแก้วนั้นหัวใจของคนที่มีปัญญา ของคนที่บริสุทธิ์ ท่านรู้อย่างนั้น...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๑ ฌาน หน้า ๒๖๐

 

 

การบรรลุธรรม ด้วยเจโตวิมุตติ

ฝ่ายเจโตวิมุตติ นั้นท่านได้สำเร็จ มรรคผลนั้น ท่านไม่ได้สำเร็จอย่างพวก ปัญญาวิมุตติ พวกที่เป็นเจโตวิมุตตินั้น เพิ่นสามารถบำเพ็ญสมาธิได้  ฌาน ๔ แล้วเข้าอรูปฌาณด้วย ได้อรูปฌาน  ๔ แล้วก็เข้านิโรธสมาบัติด้วย เข้านิโรธสมาบัติแล้ว ก็ขึ้นเข้าไปถอนกิเลสที่นิโรธสมาบัติเลย ถอนจิตออกตรงนั้น อันนี้ว่าตามแนวที่พระพุทธเจ้าแนะ..
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๑ ฌาน หน้า ๒๖๑

 

คุณพระอรหันต์ เจโตวิมุตติ

                ...พระสาวกที่ได้เจโตวิมุตติ ได้อภิญญา นะ อภิญญา ๖ ท่านจึงใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะคือ อิทธิวิธี ตัวนั้นนะ สามารถปราบปราม ทรมาน ทรกรรมคนที่มี ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิได้  ทรมานคนที่จะมาเป็นปฏิบักข์ต่อศาสนาได้ นั้นพระอรหันต์ประเภทนั้น จึงสามารถรักษาพระศาสนาไว้ได้ ใครจะมารุกราน ใครจะมาย่ำยีท่านสามารถ คุ้มครองรักษาไว้ได้ รักษาศาสนารักษาหมู่คณะไว้ได้ นั้นเป็นอย่างนี้
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๑ ฌาน หน้า ๒๖๒

 

 

ธรรมภาคปฏิบัติ

...เมื่อจิตเป็นหนึ่ง กำหนดดวงรู้  จิตเป็นหนึ่งแล้ววิปัสสนาญาณไม่เกิดหรอก  กำหนดรู้ดวงรู้  แล้วก็กำหนดมาสู่ดวงรู้  ว่าอะไรคือเวทนา  ที่เป็นเวทนานั้นคืออะไร ถามจิตขึ้นมา แล้วก็พยายามจับอยู่ในจุดนั้น จนกว่ามันจะเกิดผุดขึ้นมาให้รู้  ถ้ามันปรากฏผุดขึ้นมาซักอย่างเดียว ที่เกิดขึ้นมาอันอื่นก็เป็นไปเลย  ว่านี่ เอ่อ อาการอย่างนี้เรียกว่า เวทนา ต่อจากนั้น ก็รู้สัญญา  สังขารไปเลย และก็รู้ใจไปเลย                 ที่นีเมื่อมันเกิดรู้ขึ้นมา  รู้ขึ้น ใจมันก็เคลื่อนที่ ทีนี้พอ
กำหนดกึ๊ก ดึงมารวม ทีนี้ไม่ให้ใจเดินไปตามนั้น มันกำหนดรู้ข้างใน เรียกว่ารู้ใจ นี่คือใจ เรียกว่า รู้ที่ใจ เมื่อรู้ที่ใจแล้ว ยังไม่ชัดเจน กำหนดรู้อีก กำหนดรู้ว่า ไหนเวทนา สัญญา สังขาร กำหนดรู้และก็ไปนิ่งรู้อยู่ และกำหนดไป สิ่งที่รู้มาทั้งหมดนั้น คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นนาม เป็นเครื่องประกอบกับใจนี้  แต่ว่าสิ่งนั้นเกิดดับ ทีนี้ คือเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เรียกว่า เกิดดับ
ต่อจากนั้นก็กำหนดรู้รูป ทีนี้กำหนดรู้รูป ประคองใจ  

กำหนดรู้กายนี้ทั้งหมดรวมกันไปเลย  ไม่ต้องไปจดจ่อในจุดนั้น  นี่คือกาย  กำหนดรู้ไว้ตรงนี้  ให้ใจมันรู้สึกว่า  นี่คือกาย  เมื่อกำหนดมากเข้า ๆ มันก็จะปรากฏ ทีนี้คือ  กายนี้จะปรากฏให้จิตเห็น เรียกว่า อุคคหนิมิต  และถ้าใจมันผ่านมาอย่างนั้น  มันไม่ช้า เรียกว่าเป็นอุคคหนิมิต  ปฏิภาคนิมิตตามลำดับ  อันนี้จิตจะสงบ  ลงสู่ความสงบวูบอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้วิปัสสนาญาณเกิดแล้ว  อันนี้คือ หลักนะ  พระพุทธเจ้าปฏิบัติตามนั้น  นี่ก็ว่าไปตามแนวทางที่จะต้องสร้าง  ต้องทำให้ใจสงบก่อน  จึงสร้างวิปัสสนากรรมฐาน  วิปัสสนากรรมฐาน  นั่นล่ะเรียกว่าใช้ความคิดนะ  เช่นว่า ดึงรูปมาพิจารณาว่า  รูปร่างกาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา  อันนั้นเป็นความคิดไป  ถ้าเราไปใช้อย่างนี้  จิตจะถอนจากสมาธิ ใช้ไม่ได้  เราต้องกำหนดรู้ข้างในจึงจะได้  ถ้ายังไม่รู้ก็ให้รู้ใจอยู่อย่างนั้นก่อน  กำหนดสิ่งนั้น  จนกว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นในจิต  ถ้ายังไม่เกิด จะไปห่วง ไปอาลัยทำไม เราก็รู้ใจของอยู่ในนั้นละ  เมื่อทำมากเข้า ๆ  วิปัสสนาญาณจึงจะเกิด  มันเกิดขึ้นมาอย่างไร  มันเกิดผุดขึ้นมาเลย  เกิดสลดสังเวชขึ้น  เกิดเบื่อหน่าย  คลายกำหนัดในขันธ์ ว่ารูปกายขันธ์ที่เป็นที่อยู่อาศัยนี้  มันเป็นกองทุกข์  ทั้งมวลที่ใจไปอาศัย  มันเกิดรู้ขึ้นมาอย่างนั้น  ถ้ามันเกิดขึ้นมา  ก็กำหนดดวงรู้ต่อไปนะ  เราอย่าปล่อยให้ใจของเราไปตามอาการนั้น  ถ้าเราปล่อยให้ใจของเราไปตามอาการ มันจะเป็นวิปัสสนูไป ความรู้เห็นผิดทางไปน่ะ นี่คือหลักปฏิบัติ...
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๘ อวิชชาพาเกิด หน้า ๑๗๘
 

อรหัตตผลคือพระนิพพาน
                ..พอถึงนิพพานแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปสร้างบุญอีก มันเต็มแล้ว มันพอแล้ว บุญน่ะสร้างมาพอแล้ว จนได้มรรค ได้ผลแล้ว เหมือนกับน้ำที่เราตักใส่โอ่ง จนเต็ม เมื่อเต็มแล้ว จะเอามาใส่อีก เท่าไหร่ ก็แค่นั้น ไม่มีที่จะใส่ มันเต็ม บุญบารมี ที่ได้สร้าง ทานมัย สีลมัย เป็นเครื่องประกอบเท่านั้น แล้วไปรวมลงสู่ภาวนามัย เอาให้องค์มรรคเกิดขึ้นในจิต แล้วศีล สมาธิ ปัญญา บริบูรณ์ในจิต นี้จึงเป็นทางให้ใจหลุดพ้น..
ที่มา : กัณฑ์ที่ ๒๐ สัมมาสัมพุทธะ หน้า ๒๕๖