โครงการบูรณปฏิสังขรณ์พระสันติเจดีย์ มรดกทางวัตถุธรรมของหลวงปู่สิม พุทธาจาโร
โครงการบูรณพระสันติเจดีย์ ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันรักษามรดกสมบัติ ของพ่อแม่ครูอาจารย์
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร หลวงพ่อมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต และคณะศรัทธาผู้ก่อตั้งวัดสันติธรรมทั้งหลาย
โอวาทธรรมของหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
อย่าปล่อยวาง เสียจนวัดร้าง โดยไม่มีผู้เอาใจใส่ดำรงศาสนาไว้สืบต่อไปเผื่อชนรุ่นหลัง เมื่อตนยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นที่สักการบูชา ที่ไหน ปรักหังพังก็จงบูรณะขึ้น อย่าปล่อยให้วัดเสื่อมโทรม เป็นการไม่สมควร เมื่อไม่สุดวิสัย ก็จงบูรณะ ไว้ในวัดปฏิสังขรณ์ ไม่ว่าอารามใด ศรัทธาญาติโยมอย่าทิ้ง ดูดายหากทิ้งวัดก็เปรียบเหมือน หากผู้ใหญ่ทิ้งวัด ก็เปรียบเหมือนปล่อยให้เด็กรุ่นหลังตาฟาง ควรพิจารณาไว้บ้าง มิใช่เราจะเมิน เราบูรณะไว้ ไม่ปล่อยให้เสื่อมโทรม ก็เหมือนดำรงศาสนาไว้ไม่ให้ทำลาย หากเราเคารพบูชา เด็กรุ่นหลังก็มาปฏิบัติตาม เช่น พระอุโบสถ พระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ หากเราปล่อยให้ ทรุดโทรมสูญสิ้นไป ก็เปรียบเหมือนทำลาย ลูกในตาของชนรุ่นหลังดำรงศาสนาไว้เปรียบเหมือนได้เข้าเฝ้าพระองค์ เรียกว่า พวกเราพุทธบริษัทช่วยกันรักษาลูกในตาไว้มิให้เสียหรือเศร้าไป จงพิจารณาไว้ให้ดี ๆ อย่าปล่อยให้หักพังหรือร้างไป การที่เราได้ทะนุบำรุงไว้ในวัด พระปฏิมากร พระสถูป พระพุทธรูป พระเจดีย์ กุฏิ ศาลา วิหาร สระน้ำใช้ บ่อน้ำรับประทานเป็นสมบัติอยู่ในศาสนา รักษาศีล บริจาคทาน ภาวนาบุญ ในส่วนกุศลนี้ เรียกว่าบุญบารมีเป็นกรรมดี ควรรักษาไว้ อย่าให้ เสื่อมโทรม ทะนุบำรุงไว้มิให้เศร้าหมอง เปรียบเหมือนเราได้รักษาตาของปวงชน ผู้หันเข้ามาหาแสงแห่งดวงธรรม พระธรรมเทศนา หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร – หนังสือ พุทธาจาโรลิขิต หน้า ๒๔๘ –๒๕๒ |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ประวัติการสร้างพระธาตุสันติเจดีย์ วัดสันติธรรม สร้างขึ้นบนพื้นที่เดิมของวัดร้างโบราณถึง 2 วัด คือ “วัดย่าผ้าขาว” และ “วัดกุญชร” เมื่อครั้งแรกที่พระเดชพระคุณพระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร) และคณะศรัทธาชาวเชียงใหม่ ได้มาปักหลักเพื่อสร้างวัดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ ยังปรากฏซากอิฐเนินดินเป็นแนวอุโบสถและเจดีย์เก่าให้ได้เห็นอยู่ จากการศึกษาสามารถประมาณอายุการสร้าง 500 กว่าปี ซึ่งอยู่ในยุคของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ราชวงศ์มังราย แต่เนื่องจากเกิดสงครามจึงได้ถูกปล่อยให้รกร้าง ดังนั้นต่อมาภายหลัง พระนพีสีพิศาลคุณ (หลวงปู่มหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต) และศรัทธาญาติโยมได้มีดำริสร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อให้เป็นหลักชัยของวัดสันติธรรม จึงได้ช่วยกันสร้าง “พระธาตุสันติเจดีย์” เป็นเจดีย์เหลี่ยมฐานกว้าง 12 x 12 เมตร สูง 31 เมตร โดยได้สร้างอยู่บนแนวของซากโบราณสถานเดิมโดยประยุกต์แบบมาจากเจดีย์เหลี่ยม วัดกู่คำ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นเจดีย์ทรงปราสาทสี่เหลี่ยม เรือนธาตุเป็นแท่ง ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 5 ชั้น แต่ละทิศประดิษฐานพระพุทธรูปในซุ้มจระนำ รวม 60 องค์ ในแต่ละชั้นของ พระธาตุสันติเจดีย์ มีซุ้มจระนำ ด้านละ 3 ซุ้ม มีทั้งหมด 5 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นที่ประดิษฐานพระปางห้ามพระสมุทร ชั้นที่ 2 เป็นที่ประดิษฐานพระปางอุ้มบาตร ชั้นที่ 3 เป็นที่ประดิษฐานพระปางห้ามญาติ ชั้นที่ 4 เป็นที่ประดิษฐานพระปางรำพึง ชั้นที่ 5 เป็นที่ประดิษฐานพระปางเปิดโลก บริเวณมุมเรือนธาตุแต่ละชั้นประดับด้วยสถูปิกะ เจดีย์จำลองทุกมุม ส่วนยอดเป็นบัวกลุ่ม คาดด้วยลูกแก้วอกไก่ ถัดไปเป็นปัทมบาทรับปลียอด และฉัตรโลหะซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่า รูปแบบของเจดีย์ เหลี่ยมนั้นรับอิทธิพลมาจากกู่กุด หรือสุวรรณจังโกฏิเจดีย์ วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน อันเป็นสถาปัตยกรรมสมัยหริภุญไชย จึงนับได้ว่าพระธาตุสันติเจดีย์เป็นเจติยวิหารที่ได้รับการออกแบบให้สืบทอดความงามด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของอาณาจักรล้านนา เริ่มวางศิลาฤกษ์โดยพันตำรวจเอกนิรันดร ชัยนาม ผู้ว่าราชการจังหวัด เชียงใหม่ เมื่อวันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2514 เวลา 8.15 น. พระราชวินยาภรณ์ (พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) ) วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ วันเสาร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2519 พระราชวินยาภรณ์ (พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล)) วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นประธานทำบุญยกยอดฉัตรสันติเจดีย์
ระหว่างวันที่ 14-16 มีนาคม พ.ศ. 2519 จัดงานทำบุญฉลองพระธาตุสันติเจดีย์ วันที่ 14 มีนาคม มีการเจริญพระพุทธมนต์และประกอบพิธีเบิกเนตรพระที่สร้างใหม่ตรงกลางพระธาตุหันหน้าออก 4 ทิศ
วันจันทร์ ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2519 เวลา 19.00 น. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสนมหาเถระ) เสด็จเป็นองค์ประธานการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและปูชนียวัตถุไว้ที่ยอดและในองค์พระธาตุสันติเจดีย์ เจริญพระพุทธมนต์และทรงแสดง พระธรรมเทศนาอบรมกรรมฐาน 1 กัณฑ์ ซึ่งพิธีกรรมต่าง ๆ ในการสมโภชพระธาตุสันติเจดีย์นี้ ได้รับการแนะนำจากหลวงปู่ครูบาคำแสน คุณาลงฺกาโร
เช้าวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2519 ทำบุญตักบาตรและถวายพระธาตุสันติเจดีย์และพระพุทธรูปทั้งหมด พิธีกรรมในการวางศิลาฤกษ์และการยกฉัตรพระเจดีย์ การบรรจุพระธาตุ ปูชนียวัตถุ วัตถุมงคล สิ่งของต่างๆ ในพระเจดีย์ตามประเพณีนิยมแต่โบราณกาลนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แม่คิ้มได้ไปกราบนมัสการขอคำแนะนำจาก หลวงปู่ครูบาคำแสน คุณาลังกาโร วัดดอนมูล อำเภอสันกำแพง (ศิษย์ชั้นผู้ใหญ่ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต) หลวงปู่ได้เมตตาแนะนำลำดับพิธีการทุกอย่าง
เหรียญหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร รุ่น ๓ สันติเจดีย์ ปัจจัยในการก่อสร้างได้รับบริจาคจากศรัทธาทั้งหลาย ส่วนหนึ่งแม่คิ้มได้สำรองจ่ายเป็นเงินส่วนตัวสร้างเหรียญหลวงปู่สิม พุทธาจาโร รุ่นเจดีย์ ๑๗ – ๗ - ๑๗ โดยคุณชัชวาลย์ ชุติมา เป็นผู้ติดต่อประสานงาน ช่างเกษมเป็นผู้แกะพิมพ์ หลังจากหักต้นทุนออกแล้วเหลือเงิน ๗๔,๕๒๘.๕๒ บาท สมทบทุนสร้างพระเจดีย์ อนึ่งโดยคำแนะนำของช่างก่อสร้าง ภายในองค์พระเจดีย์ ได้สร้างชั้นสองของพระเจดีย์เป็นที่เก็บน้ำ พ.ศ. ๒๕๔๐ ซ่อมพระเจดีย์ ทำที่เก็บน้ำใหม่ที่ชั้นสามของพระเจดีย์ เพื่อเพิ่มแรงดันน้ำ ได้ใช้ประโยชน์มาจนทุกวันนี้ และเพิ่มความสูงของยอดฉัตรเป็น ๓๕ เมตร ความสำคัญของพระธาตุสันติเจดีย์
1.เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
2.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสนมหาเถระ) เสด็จเป็นองค์ประธานการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
3.สร้างโดยพระมหาเถระรูปสำคัญ คือ พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร) เป็นประธานที่ปรึกษาในการก่อสร้าง พระนพีสีพิศาลพิศาลคุณ (หลวงพ่อมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต) เป็นประธานดำเนินการก่อสร้าง 4.เป็นเจดีย์ที่มีพุทธศิลป์เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งมีอยู่เพียงองค์เดียวในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ สภาพพระธาตุสันติเจดีย์ในปัจจุบัน
พระธาตุสันติเจดีย์ได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ลายปูนปั้นบางส่วนได้หลุดกะเทาะออกไป ยอดพระเจดีย์รายได้แตกกะเทาะจนมองเห็นโครงเหล็กภายใน ระบบไฟฟ้ารอบพระเจดีย์ได้ถูกตัดขาด ทองจังโกยอดปลีไม่สมบูรณ์ พระพุทธรูปปูนปั้นมีสภาพร้าวรานแตกหักไม่เป็นที่เจริญศรัทธา ภายในห้องโถงมีรอยรั่วทำให้มีน้ำซึมเข้ามา เห็นเป็นรอยด่าง กระจกช่องลมแตกหลายแห่ง ประตูเลื่อนก็ชำรุด มีตระไคร่น้ำและหน่อโพธิ์ขึ้นกระจายอยู่โดยรอบ
ขอเชิญพุทธศาสนิกชนร่วมกันบูรณพระธาตุสันติเดจีย์ คณะศรัทธาวัดสันติธรรมในฐานะศิษยานุศิษย์ผู้สืบทอดรักษามูลมรดกที่พระบูรพาจารย์ หลวงปู่สิมพุทฺธาจาโรและหลวงพ่อมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต ท่านได้สร้างไว้ให้ลูกหลานได้ช่วยกันรักษา จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องทำการบูรณะพระธาตุสันติเจดีย์ ให้มีสภาพที่สมบูรณ์งดงามดังเดิม จึงได้มีกำหนดการที่จะเริ่มทำการบูรณปฏิสังขรณ์ ในเดือนมิถุนายน 2557 นี้ งบประมาณดำเนินการ งานโครงสร้างต่าง ๆ และลายปูนปั้น เป็นเงิน จำนวน 8,169,000 บาท ค่าหล่อพระพุทธรูป รอบองค์พระเจดีย์ 3,240,000 บาท ค่าปูพื้นกระเบื้อง 350,000 บาท ค่าบานประตู 800,000 บาท ค่าปลียอดฉัตร 2,500,000 บาท ค่าตกแต่งภายใน 500,000 บาท รวม ทั้งสิ้น 15,559,000 บาท ใช้เวลาในการบูรณะประมาณ 3 ปี จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกท่าน ได้ร่วมกันสร้างมหากุศลร่วมกันบูรณะพระธาตุสันติเจดีย์ให้ยั่งยืนคงถาวรอยู่คู่พระพุทธศาสนา คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินไทยสืบไป
ต้นแบบบูรณะพระสันติเจดีย์
ผู้สนใจร่วมทำบุญสามารถทำบุญได้ที่สำนักงานวัดสันติธรรมโดยตรง
โทร. 053-221792,087-1933169, เลขา 081-6027500
หรือโอนเข้าธนาคารกรุงเทพ สาขาประตูช้างเผือก ประเภทสะสมทรัพย์
ชื่อบัญชีวัดสันติธรรม (บูรณะเจดีย์) เลขที่บัญชี 390-4-50371-5
รายการร่วมทำบุญ
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
อานิสงส์อันเนื่องด้วยพระบรมสารีริกธาตุ
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
|
ประกาศเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 : 21.27 น.