test วัดสันติธรรม : Santidham : นครเชียงใหม่

พระนพีสีพิศาลคุณ (ทองอินทร์ กุสลจิตฺโต)
๒๔๗๑ - ๒๕๔๗
วัดสันติธรรม ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

นามเดิม
         
ทองอินทร์ แก้วตา
   
     
เกิด
         
วันจันทร์ที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ แรม ๘ ค่ำเดือน ๘ ปีมะโรง
     
     
บ้านเกิด
         
บ้านน้ำร้อน หมู่ ๗ ตำบลนาป่า อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์
     
     
บิดามารดา

         
นายพรหมา และนางรินทร์ แก้วตา
   
     
พี่น้อง
         
รวม ๘ คน ท่านเป็นบุตรคนโต
     
บรรพชา
         
พ.ศ. ๒๔๘๘ อายุ ๑๘ ปี ณ วัดศิลามงคล บ้านหินฮาว ตำบลหินฮาว อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์มีพระอมราภิรักขิต (ทองดำ จนฺทูปโม) วัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร เป็นพระอุปัชฌาย์
   
     
อุปสมบท
         
วันศุกร์ที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ เวลา ๑๔.๐๐ น. ปีชวด ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
พระพุทธิโศภณ เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพิศาลขันติคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า กุสลจิตฺโต แปลว่าผู้มีจิตฉลาด
   
     
เรื่องราวในชีวิต
         
ท่านได้รับหนังสือชื่อว่า “ ไตรสรณคมณ์” แต่งโดยพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เมื่อได้อ่านเนื้อความนั้นก็รู้สึกติดอกติดใจ ยิ่งอ่านก็ยิ่งเข้าใจหลักธรรม เมื่ออายุ ๑๗ ปี หลังการบรรพชาเสร็จได้จาริกขึ้นมาเชียงใหม่ และมาพำนักอยู่ที่สำนักสันติธรรม ได้ฟังธรรมะจากหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ก็เกิดศรัทธาอย่างยิ่ง ได้ถวายตัวเป็นศิษย์ของท่าน และไปสมัครเรียนนักธรรมตรีและบาลีไวยากรณ์ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแสวงหาที่ศึกษาพระปริยัติธรรม ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ที่สำนักปฏิบัติธรรมสันติธรรม หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ ได้ให้การสนับสนุนโดยการจัดหาสิ่งของเป็นบริขาร ๘ ให้ท่านได้อุปสมบท
ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ อายุได้ ๒๖ ปี ได้ไปอยู่วัดศิลามงคล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ และสอบนักธรรมชั้นเอกได้ ต่อมาสอบเปรียญธรรม๓ ประโยคได้ โดยได้ไปสอบที่สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร จังหวัดพระนคร ต่อมาเมื่ออายุ ๒๘ ปี สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ อายุได้ ๒๙ ปี ท่านยังอยู่ที่วัดศิลามงคลจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ศึกษากับหลวงปู่หลอด ปโมทิโต จากนั้นได้กลับมาหาหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ที่วัดสันติธรรม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อจากนั้นได้ออกเดินธุดงค์ ไปยังถ้ำผาจรุย อำเภอป่าแดด และถ้ำผาจม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ต่อมาหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ได้เขียนจดหมายบอกให้ท่านกลับมาอยู่วัดสันติธรรมได้แล้ว เนื่อจากขณะนั้น ไม่มีพระผู้เป็นหัวหน้า ท่านจึงได้กลับมาพัฒนาวัดสันติธรรม
ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ หลวงปู่สิมเกิดป่วยเป้นโรคไต และลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส ต่อมาท่านจึงได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสันติธรรมแทน จากนั้นท่านก็ได้พัฒนาวัดสันติธรรมให้มีความสวยงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ท่านได้สร้างคุณประโยชน์มากมายในพระพุทธศาสนาพระนพีสีพิศาลคุณ ท่านเป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีการเป็นอยู่ที่เรียบง่าย มีศีลาจารวัตรอันงดงาม รักษาข้อวัตรปฏิบัติ ดำเนินตามปฏิปทาของบูรพาจารย์ ใฝ่ใจในสัลเลขปฏิบัติ ของพระสมณะโคดมไว้อย่างมั่นคง สมเป็นพระเถระ ที่น่าเคารพและบูชาของชาวเชียงใหม่และพุทธศาสนิกชนทั่วไป

สมณศักดิ์
• ปี พ.ศ. ๒๕๑๖อายุ ๔๕ ปี เป็นพระครูสันตยาธิคุณ เจ้าอาวาสวัดราษฎร์
• ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ อายุ ๕๕ ปีเป็นพระครูเจ้าคณะตำบล ชั้นโท นามเดิม และได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
• ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ อายุ ๖๘ ปีเป็นพระครูเจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก นามเดิม
•ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ อายุ ๗๔ปีเป็นพระครูรักษาการเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน (ธรรมยุต) นามเดิม
•วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ อายุ ๗๕ ปี เข้ารับพระบัญชาแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน จากเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร
ในมหามงคลสมัพระราชพิธีเฉลิมพรชนมพรรษา วันศุกร์ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเลื่อน และแต่งตั้งสมณศักดิ์ พระครูสันตยาธิคุณ เจ้าคณะธรรมยุต จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน เจ้าอาวาสวัดสันติธรรม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ เปรียญ ราชทิน ที่ “ พระนพีสีพิศาลคุณ”


มรณภาพ
         
วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เวลา ๑๕.๐๐ น. ด้วยโรคภาวะไตวายเรื้อรัง ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ รวมสิริอายุ ๗๖ ปี ๒ เดือน ๒๕ วัน


ข้อมูลพิเศษ

         
* เป็นศิษย์รูปแรกของหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
           
* หลังจากพระราชทานเพลิงศพแล้ว เมื่อคณะศิษย์เริ่มเก็บเศษอัฐิละเอียดที่ปนกับเถ้าอังคาร ก็ได้พบพระธาตุของท่านซึ่งมี พรรณะ สีบุษราคัม สีขาวดังสังข์ และสีเขียวเมฆหมอก เป็นต้น
           
ธรรมโอวาท :

“...กำหนดพิจารณาให้รู้ว่า สิ่งไหนเกิด สิ่งไหนดับ เสร็จแล้วให้ใจนิ่งรู้อยู่ที่จุดตั้ง จากนั้นกำหนดรู้รูปกาย พิจารณารูปกาย ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จากนั้นจึงให้ใจมารู้อยู่ที่จุดตั้ง ให้กำหนดรู้ กำหนดพิจารณาขันธ์ ๕ กลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น จนกว่าจะรู้ตามความเป็นจริงแล้วปล่อยวางมีสติสัมปชัญญะอยู่ และรู้อยู่ที่ใจหรือใจมีสติสัมปชัญญะ เป็นเครื่องอยู่…”


“...ให้ประคองจิตให้กำหนดรู้กาย คือประคองความรู้สึกมารครอบรู้ไว้ที่กาย ทำเหมือนเขาเอาสุ่มครอบไก่ แล้วกำหนดพิจารณากาย ตั้งแต่หัวถึงเท้า ว่ากายนี้มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด ใจผู้ครองกายนี้ย่อมได้รับสุขรับทุกข์ไปตามเหตุ เพราะกายนี้มีความแก่ความเจ็บไข้เป็นธรรมดา สุดท้ายย่อมแตกดับ ใจจะรักจะหวงแหนอย่างไร กายนี้ก็เป็นไปตามสภาพของมัน ใจที่ครองกายนี้มีแต่ทุกข์กับสุข สุดท้ายมีแต่ทุกข์เวทนาใจเสวยอารมณ์เป็นสุขเป็นทุกข์...”