test วัดสันติธรรม : Santidham : นครเชียงใหม่

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท)
๒๓๙๙ - ๒๔๗๕
วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

นามเดิม
         
จันทร์ สุภสร
   
     
เกิด
         
วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๓๙๙ ตรงกับ เดือน ๔ แรม ๒ ค่ำ วันศุกร์ ปีมะโรง เวลา ๒๓.๐๐ น.
     
     
บ้านเกิด
         
บ้านหนองไหล ตำบลหนองไหล อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
     
     
บิดามารดา
         
หลวงสุโภรสุประการ (สอน สุภสร ) และนางสุโภรสุประการ (แก้ว สุภสร)
   
     
พี่น้อง
         
ร่วมบิดามารดา ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนโต (หัวปี)
     
บรรพชา
         
อายุ ๑๓ ปี พ.ศ. ๒๔๑๑ วัดศรีทอง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
     
อุปสมบท
         
เมื่อเดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำปีฉลู พ.ศ. ๒๔๒๐ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ วัดศรีทอง โดยมีท่านพระเทวธัมมี (ม้าว)
         
เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระอธิการสีโห (วัดไชยมงคล) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
   
     
เรื่องราวในชีวิต
         
ท่านเป็นเด็กที่มีความคิดพิจารณามาแต่อายุ ๗ ขวบ บิดามารดาเป็นคนใจบุญสุนทาน มีความใกล้ชิดกับวัดวาครูบาอาจารย์มากครอบครัวหนึ่ง
ยังผลให้บุตรคือ…ท่านผู้ติดตามบิดามารดา เห็นความแน่นแฟ้นในศีลในธรรม มีสัจจะวาจา มีความเลื่อมใสศรัทธาตามบิดาของตนเป็นอันมาก พออายุได้ ๑๓ ปี ก็พอดีปี พ.ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จสวรรคต เป็นธรรมเนียมของชาวไทยทุกคน ต้องโกนผมไว้ทุกข์แด่องค์พระมหากษัตริย์ และรักษาศีล เจริญภาวนาเป็นการบูชาพระคุณแต่บุคคลที่รักรูปรักกายสังขารก็มีอยู่บางคนถึงกับร้องไห้เสียใจเพราะตนต้องเป็นคนหัวโล้นโดยเฉพาะเป็นสตรีที่เสียใจกันมาก
แต่ท่าน (สมัยเป็นเด็ก) กลับมองตรงกันข้าม ท่านคิดในใจว่า “ศรีษะโล้นนี่เป็นของดีงาม วิเศษกว่ามีผมที่รุงรังบนหัว” ตั้งแต่ถูกโกนผมหมดหัวไปแล้ว ท่าน (สมัยเป็นเด็กเล็กอยู่นั้น) เกิดชอบอกชอบใจเป็นที่สุด จิตใจเบิกบานอย่างผิดสังเกต…บิดาเห็นเช่นนั้นก็ได้ถามขึ้นว่า… “ถ้าจะให้บวชเป็นสามเณร จะอดข้าวเย็นได้บ่” สิ้นเสียงที่บิดาถาม บุญบารมีเก่าได้มาหนุนนำชีวิตให้รุ่งโรจน์ ต่อไป ท่านตอบอย่างไม่ต้องคิดว่า “อดได้”
ต่อมาบิดามารดาได้นำบุตรชายที่อยากบวชเณร มาฝากบวชกับท่านเจ้าอาวาสวัดบ้านหนอง
ต่อมาอายุครบบวช บิดาจึงหาอุบายที่จะให้บุตรของตนได้บวชพระ โยมบิดาของท่านได้เล่าดังนี้… “บุตรชายของท่าน คือท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เป็นเด็กเลี้ยงยากที่สุด และเป็นเด็กที่แสนซน อีกทั้งยังเป็นเด็กขี้ร้องไห้ ใจน้อย ถ้าร้องไห้แล้วละก็ จะต้องเป็นชั่วโมงเลยทีเดียวไม่ยอมหยุด” ด้วยอุบายนี้ โยมบิดาจึงนำไปกล่าวแก่บุตรชาย (จันทร์) ได้ฟังว่า “บิดามารดาได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ถ้าไม่บวชให้ก็เห็นทีจะไม่พ้นโทษ ต้องบวชให้บิดามารดาจึงพ้นโทษจากความเลี้ยงยาก ซน และขี้ร้องไห้”
ด้วยเหตุนี้ จึงรับปากบิดามารดาว่า “จะบวชให้สัก ๓ ปี บิดามารดาจะพอใจหรือไม่?” บิดาจึงตอบไปว่า “ลูกจะบวชให้สักปีหรือสองปีก็ไม่ว่า แต่ขอให้บวชเป็นพระก็แล้วกัน” ในระหว่างเป็นพระภิกษุสงฆ์นั้น ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้อยู่จำพรรษากับพระอธิการสีโห ณ วัดไชยมงคล และได้รับภาระจากพระอาจารย์มาทำอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ส่วนทางด้านพระธรรมวินัยนั้น ท่านได้มาศึกษาอยู่กับพระเทวธัมมี (ม้าว) ที่วัดศรีทอง จนเป็นที่รักและไว้วางใจอย่างยิ่ง ต่อมาท่านพระอุปัชฌาย์ เทวธัมมี (ม้าว) ได้สอนกรรมฐานภาวนา และให้พิจารณาอยู่เป็นนิจในธรรม ๔ ประการ คือ… “อารักขกรรมฐาน ๔” ได้แก่…
๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า
๒. เมตตานุสสติ แผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า
๓. อสุภะ การพิจารณากายตนและผู้อื่นให้เห็นเป็นไม่งาม
๔. มรณัสสติ นึกถึงความตาย อันจะมีแก่ตน
พระเดชพระคุณปรมาจารย์ใหญ่ผู้เป็นต้นตระกูลพระกรรมฐาน ดังที่เราเรียกว่า กองทัพธรรมสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตนั้น ถ้าแม้ว่า…ไม่ได้ท่านเป็นผู้บุกเบิกทางแห่งการประพฤติปฏิบัติ และเป็นผู้อบรมสั่งสอนให้การสนับสนุน พระธุดงค์กรรมฐานแล้ว กองทัพธรรม ในสายพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของหลวงปู่มั่น ก็จะไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งทุกวันนี้
ท่านได้มานะพยายามศึกษาวิชาการต่าง ๆ อย่างชนิดทุ่มเทจิตใจ จนมาเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์ที่สุดในวงการ พระอริยสงฆ์ไทย คือทางด้านศึกษาพระปริยัติธรรม ท่านสอบได้มหาเปรียญ ๓ ประโยค จนได้รับพระราชทานตำแหน่งต่าง ๆ หลายตำแหน่ง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ การปฏิบัติธรรม ท่านมีความเชี่ยวชาญ รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมขณะออกปฏิบัติ “ธุดงคกรรมฐาน” จนมีความเข้าอกเข้าใจภูมิธรรมปฏิบัติ และได้สนับสนุนให้หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ก่อตั้งกองทัพธรรมเพื่อออกเผยแพร่ธรรมอันบริสุทธิ์แก่ประชาชนด้วยดีตลอดมา
การเผยแพร่ธรรม ท่านได้ออกไปเผยแพร่ธรรมะของพระพุทธเจ้ายังต่างแดน เช่น นครจำปาศักดิ์และนครเชียงตุง เป็นต้น
ส่วนทางด้านพัฒนาศาสนาวัตถุ ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านได้ดำเนินการสร้างและปฏิสังขรณ์ วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ให้เป็นวัดที่เจริญไพบูลย์ เป็นที่ยึดจิตใจของประชาชนตั้งแต่ระดับสูง จนมาถึงผู้หาเช้ากินค่ำอย่างวิเศษยิ่ง และยังได้สร้างวัดเขาพระงามหรือวัดสิริจันทร์นิมิต จังหวัดลพบุรี ให้เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน
   
มรณภาพ
         
วันที่ ๑๙ กรกฏาคม พ.ศ.๒๔๗๕ สิริอายุได้ ๗๗ ปี พรรษา ๕๕


ข้อมูลพิเศษ
         
* ท่านเป็นต้นตระกูลพระกรรมฐาน ดังที่เราเรียกว่า กองทัพธรรมสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เพราะท่านเป็นผู้บุกเบิกทางแห่งการประพฤติปฏิบัติ


ธรรมโอวาท
         
           
๑. มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นของมีชีวิตที่อยู่ในโลกนี้ เจ้ากำหนดรู้ความเป็นไปของตนเองกันว่าเป็นเช่นไร เนื้ออยู่บนเขียง
         

รอแต่จะให้มีดสับเพื่อความป่นปี้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์สัตว์ก็ขึ้นเขียง รอความเจ็บป่วย ทุกข์โศก แก่ชรา แตกดับ ตายไป สับตนเองอยู่ตลอดเวลาอย่างนั้นเหมือนกัน ผู้ฉลาดควรพาตนออกไปจากเขียงนั้นเสีย


๒. ในโลกนี้ย่อมไม่มีผู้ใดอยู่ได้นานนัก ตามความนึกคิดของเขาทั้งหลาย เพราะสังขารย่อมเดินไปตามทางของมันอยู่ นานเข้าก็แก่ แล้วก็ตายหายไปจากโลก ต้องเป็นอยู่อย่างนี้แน่นอนและตลอดไป ฉะนั้นไม่ควรหลงใหลกับสิ่งต่างๆในโลกให้มากนัก ควรมองโลกนี้เสียให้ชัดให้แจ้ง ให้จริง พาจิตใจและอารมณ์ให้ออกห่างจากโลกนี้เสีย


๓. เกิดเป็นคนจะงามและมีความสุขที่สุดนั้น งามที่เมื่อเกิดมาแล้วในโลก และได้ทำสิ่งต่างๆอันจะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นในภายหน้า ในโลกนี้อันมากไปด้วยความทุกข์นั้นแหละ คือ ความสุข บริสุทธิ์ที่ไร้มลทิน มิใช่ว่าเมื่อเกิดมามีสังขารแล้ว จะจ้องแต่หาความสุขในการเสพกามคุณในสังขารร่างกายของฝ่ายตรงข้าม แล้วไปคิดว่านั้นแหละคือความสุขที่จะขาดเสียมิได้เมื่อเกิดมา การคิดอย่างนั้นมันเป็นเรื่องของคนไม่มีปัญญา ตกเป็นทาสของตัณหา ชอบเกลือกกลั้วกับของเหม็นของเน่า แล้วจะเอาความสุขบริสุทธิ์ที่แท้จริงจากไหนกับสิ่งเหล่านั้น


๔. ใครเล่าจะห้ามความตายได้ ใครเล่าจะทำตัวเองให้ดีกว่าเก่า ใครเล่าจะทำสิ่งที่ยังไม่รู้ให้รู้ขึ้นมา


๕. การศึกษาที่สูงที่สุด คือ การศึกษาตัวเอง