พระครูฐิติธรรมญาณ ( หลวงปู่ลี ฐิตธัมโม)
2463-2542
วัดเหวลึก (วัดฐิติธรรมาราม) ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
๏ อัตโนประวัติ
“พระครูฐิติธรรมญาณ” หรือ “หลวงปู่ลี ฐิตธมฺโม” อดีตเจ้าอาวาสวัดเหวลึก (วัดฐิติธรรมาราม) และอดีตเจ้าอาวาสวัดศรีชมพู ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร มีชื่อเลื่องลือยิ่งในฐานะศูนย์รวมใจธรรม ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตใต้ร่มกาสาวพัสตร์ แนะนำพร่ำสอนคณะศรัทธาญาติโยมผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ให้รู้จักบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา และตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์
หลวงปู่ลี ฐิตธมฺโม มีนามเดิมว่า ลี แสนเลิศ เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พุทธศักราช 2463 ตรงกับวันเสาร์ แรม 5 ค่ำ เดือน 10 ปีวอก ณ บ้านบึงโนนอก ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โยมบิดาชื่อ พ่อใหญ่เคน แสนเลิศ โยมมารดาชื่อ แม่ใหญ่ปึ้ง แสนเลิศ หลวงปู่มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 3 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 1 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 2 โดยมีชื่อตามลำดับดังนี้
(1) โยมพี่ชาย (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก)
(2) หลวงปู่ลี ฐิตธมฺโม (มรณภาพแล้ว)
(3) โยมน้องสาว นางบุญ แสนเลิศ (เสียชีวิตแล้ว)
๏ ภูมิลำเนาเดิม
ภูมิลำเนาเดิมของโยมบิดาอยู่ที่บ้านแดง ตำบลหนองดินดำ อำเภอท่าวัดบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด ส่วนโยมมารดานั้นเป็นคนบ้านดอนแคนน้ำ ตำบลหนองดินดำ อำเภอท่าวัดบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด อาชีพหลักของท่านทั้งสองคือการทำนา สำหรับโยมบิดาของหลวงปู่นั้น ยังมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านพืชสมุนไพรต่างๆ ด้วย ท่านจึงทำหน้าที่เป็นหมอยารักษาชีวิตคนด้วยความเมตตาอีกทางหนึ่ง
พ่อใหญ่เคน แสนเลิศ โยมบิดาของหลวงปู่ เดิมมีภรรยาคนแรกและมีบุตรด้วยกัน 4 คน (ปัจจุบันเสียชีวิตหมดแล้ว) หลังจากที่ภรรยาคนแรกเสียชีวิตลง โยมบิดาได้แต่งงานใหม่กับแม่ใหญ่ปึ้ง แสนเลิศ โยมมารดาของหลวงปู่ โดยท่านทั้งสองได้ใช้ชีวิตร่วมกันที่บ้านดอนแคนน้ำ จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ แม่น้ำชีหนุนขึ้นสูงจนเกิดน้ำท่วมใหญ่และโรคระบาดอย่างรุนแรง ทำให้ผู้คนล้มตายกันมากมาย
โยมบิดาและโยมมารดาของหลวงปู่ จึงตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นฐานที่อยู่มายังบ้านบึงโนนอก ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ร่วมกับชาวบ้านอีกประมาณ 60 ครัวเรือน ด้วยได้ยินกิติศัพท์ว่า บ้านบึงโนนอกเป็นสถานที่อุดมสมบูรณ์มาก ผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันว่า ในสมัยนั้นบ้านบึงโนนอกจะมีต้นโสน และต้นแซง ขึ้นเต็มบึง แต่ละต้นมีลำต้นโตเท่าแขน หลวงปู่เล่าว่า “ต้นใหญ่ขนาดคนตัวโตนั่งเล่นได้ ไม่ตก”
บ้านบึงโนนอกในครั้งนั้นยังเป็นป่าดิบ เรื่อยมาตั้งแต่ดงผาลาด ดงบัง ต่อเนื่องจนถึงดงหม้อทอง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งช้างป่า เสือ เก้ง กวาง ละมั่ง หมูป่า ไก่ป่า หลวงปู่เล่าว่า “สมบูรณ์ขนาดปลาในบึง จับวันเดียวกินได้ทั้งอาทิตย์”
ในช่วงอพยพย้ายถิ่นฐานที่อยู่จากบ้านดอนแคนน้ำ จังหวัดร้อยเอ็ด มาที่บ้านบึงโนนอก จังหวัดสกลนครนั้น โยมมารดาของหลวงปู่กำลังตั้งครรภ์ท่านอยู่ ด้วยเหตุนี้หลวงปู่จึงมักปรารภว่า “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด” ด้วยถือว่าท่านถือกำเนิดนับแต่โยมมารดาตั้งครรภ์
๏ ชีวิตปฐมวัยและการศึกษาเบื้องต้น
แม่ใหญ่ปึ้ง แสนเลิศ โยมมารดาของหลวงปู่นั้นเสียชีวิตในขณะที่หลวงปู่ยังเล็กอยู่มาก คือหลังจากคลอดน้องสาว (นางบุญ แสนเลิศ) ได้ไม่นาน ส่วนโยมพี่ชายของหลวงปู่ก็เช่นกัน เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก โดยในตอนนั้นบ้านบึงโนยังไม่มีป่าช้า ท่านเคยเล่าขำๆ ว่า พี่ชายของท่านตายจองป่าช้า โยมบิดาของหลวงปู่ได้แต่งงานใหม่อีกครั้งหนึ่งกับแม่หม้ายลูกติด 1 คน ชื่อแม่หมุน มีลูกสาวด้วยกัน 1 คน ชื่อ บัว
ดังได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่า พ่อใหญ่เคน แสนเลิศ โยมบิดาเป็นหมอยาสมุนไพรช่วยรักษาชีวิตคน จึงเป็นเหตุให้บางครั้งต้องจากบ้านไปเพื่อรักษาชีวิตคน นานอาทิตย์หนึ่งบ้าง ครึ่งเดือนบ้าง หนึ่งเดือนบ้าง หลวงปู่กับน้องสาว (นางบุญ แสนเลิศ) จึงถูกทอดทิ้งให้อยู่กับแม่เลี้ยง ท่านว่า “ครั้งหนึ่งเคยเกือบเป็นฆาตกร ฆ่าแม่เลี้ยงไปแล้ว เนื่องจากน้องสาวของท่านถูกแม่เลี้ยงรังแก แต่โชคดีที่ท่านมีสติระงับได้ทัน”
เมื่อโยมบิดาถึงแก่กรรมในขณะที่หลวงปู่มีอายุไม่ถึง 10 ปีนั้น จึงนับว่าเป็นภาระหนักหนาสำหรับเด็กชายวัยนี้ ที่ต้องรับผิดชอบดูแลทุกอย่างในครอบครัว ทั้งเลี้ยงน้องที่ยังเล็กถึง 3 คน ทั้งต้องเลี้ยงวัวควาย ทำไร่ไถนา ด้วยความยากลำบาก และต้องอยู่กับแม่หมุนผู้เป็นแม่เลี้ยง
หลวงปู่เล่าว่า ท่านลำบากแม้กระทั่งการเรียน เรียนไปได้ 1 ปี ที่โรงเรียนวัดบ้านโคกสี ก็ต้องหยุดการเรียนการสอน เนื่องจากครูผู้สอนเสียชีวิต มาได้เรียนอีกทีก็เมื่อบ้านบึงโนนอกได้ตั้งโรงเรียนวัดบ้านบึงโนนอก (โรงเรียนวัดศรีชมพู ในปัจจุบัน) ขึ้น ท่านจึงได้มีโอกาสเรียนต่อจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2478 อายุ 15 ปี
๏ ชีวิตวัยหนุ่ม
ขณะอายุได้ 15-16 ปี หลวงปู่มีความฉลาดเฉลียว อุปนิสัยอาจหาญ ร่าเริง พูดเก่ง และเป็นผู้นำในหมู่ พ่อใหญ่สุด สหายในวัยเด็กของหลวงปู่เล่าว่า หลวงปู่จะเป็นผู้นำในทุกเรื่อง บางครั้งเวลาไปเลี้ยงควายคุยกัยแค่ 2-3 คน แต่สนุกสนานเฮฮาเหมือนคุยกัน 9 คน 10 คน เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้นในหมู่วัวควาย หลวงปู่ก็จะนำวัวควายที่เกิดโรคระบาดนี้ ไปในที่ห่างไกลจากหมู่บ้าน ไม่ให้แพร่เชื้อ ไปติดตัวอื่นที่ยังไม่เป็น
ในด้านอุปนิสัยผู้นำของหลวงปู่นั้น หลวงปู่อ่อนศรี ฐานวโร แห่งวัดถ้ำประทุน ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ได้เคยกล่าวรับรองในหลายโอกาสว่า “หลวงปู่ลีท่านเก่ง เป็นผู้นำมาแต่น้อย เราแอบหลังท่าน ไม่กล้า โตมาด้วยกัน เล่นกันมา ไล่หลังกันมา เพราะเราเป็นรุ่นน้องหลวงปู่ลี 2-3 ปี”
ช่วงอายุ 18-22 ปี ถ้าไม่ใช่ฤดูทำนา หลวงปู่มักจะพาหมู่ไปค้าขายไกลๆ ถึงร้อยเอ็ดบ้าง มหาสารคามบ้าง โดยใช้เกวียนเดินทาง ไปครั้งละ 1 เดือนบ้าง 5 วันบ้าง แล้วแต่ระยะทางและสินค้าที่นำไป สินค้าที่หลวงปู่นำไปขายส่วนใหญ่มักจะเป็นจำพวก หวาย ปลาร้า และเข (เครื่องมือในการย้อมไหม) พ่อใหญ่สุดเล่าว่า ไปกับหลวงปู่แล้วสนุกมาก ไม่เบื่อเลย เพราะหลวงปู่จะเป็นผู้นำที่ดีมาก รักหมู่รักเพื่อน ไม่ทอดทิ้งและดูแลทุกคนเสมอกัน
๏ การอุปสมบท
ล่วงเข้าสู่วัยหนุ่มฉกรรจ์อายุได้ 23 ปี หลวงปู่มีความคิดที่จะแต่งงาน แต่หลวงปู่ธรรม เจ้าอาวาสวัดดอนชัยมงคล อำเภอบ้านหัน (อำเภอสว่างแดนดิน ในปัจจุบัน) จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าของหลวงปู่ได้ห้ามเอาไว้ โดยบอกว่า “พ่อแม่ก็ล้มหายตายจากไปแล้ว ก็น่าจะบวชให้สักปีสองปีก่อน จึงค่อยลาสิกขามาแต่งงานก็ได้” ด้วยความกตัญญูหลวงปู่จึงตัดสินใจบวชเพื่อทดแทนพระคุณบิดามารดาในปีนั้นนั่นเอง
ในสมัยนั้น การบวชเป็นพระธรรมยุต จะต้องไปบวชที่วัดซึ่งมีพระอุปัชฌาย์เป็นพระธรรมยุตด้วยกัน และวัดที่อยู่ใกล้ที่สุดก็อยู่ไกลถึงวัดจอมศรี ตำบลพันดอน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี แต่เมื่อตัดสินใจเด็ดเดี่ยวแล้ว หลวงปู่ก็มิได้ย่อท้อแต่อย่างใด มุ่งมั่นเป็นผ้าขาวอยู่นานหลายเดือน จึงเดินตามรอยเท้าครูบาอาจารย์ จากบ้านบึงโน จังหวัดสกลนคร ไปยังวัดจอมศรี จังหวัดอุดรธานี เข้าสู่ชีวิตใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์
ต่อมาได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเมีย เวลา 11.00 นาฬิกา ณ พัทธสีมาวัดจอมศรี ตำบลพันดอน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี โดยมี พระครูพิทักษ์คณานุกร วัดจอมศรี จังหวัดอุดรธานี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระสมุห์ภา วัดจอมศรี จังหวัดอุดรธานี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระฮวด สุมโน วัดชัยมงคล ตำบลสว่าง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ฐิตธมฺโม” ซึ่งแปลว่า “ผู้ตั้งอยู่ในธรรม”
๏ ลำดับการจำพรรษา
พรรษาที่ 1 (พ.ศ. 2485)
เมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงปู่ได้เดินทางกลับบ้านบึงโนนอก มาจำพรรษาแรกอยู่กับ หลวงปู่ชาดี วัดธรรมิการาม ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร หลวงปู่เล่าว่า พอครบพรรษาก็เตรียมเก็บกระเป๋า ตั้งใจไปกราบลาสิกขากับหลวงปู่ชาดี เพื่อไปสร้างครอบครัวตามความตั้งใจเดิม แต่หลวงปู่ชาดีได้พูดยับยั้งไว้ว่า “อย่าเพิ่งสิกเลย บวชไปก่อนอีกสัก 5 พรรษา ค่อยสึก” หลวงปู่จึงว่า “ถ้าอย่างนั้นกระผมจะขอลาไปธุดงค์ก่อน” ความข้อนี้หลวงปู่ได้เคยขยายความว่า หลวงปู่ชาดีท่านใช้อุบายล่อหลอกไว้
พรรษาที่ 2 (พ.ศ. 2486)
หลวงปู่ได้จำพรรษา ณ วัดผดุงธรรม บ้านดงเย็น ตำบลดงเย็น อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี กับหลวงพ่อหรั่ง เนื่องจากเป็นช่วงที่หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ รับนิมนต์ชาวบ้านออกไปจำพรรษาในป่านอกวัดแต่ไม่ไกลกัน (ปัจจุบันบริเวณป่านอกวัดได้กลายเป็น “วัดประสิทธิธรรม” เขตต่อเนื่องกันกับวัดผดุงธรรม)
หลวงปู่เล่าว่า “ต้องเดินข้ามดงเสือไปฟังธรรมหลวงปู่พรหม ทุกคืนตลอดพรรษา” พอออกพรรษาก็ธุดงค์ไปจังหวัดอุดรธานี กับเพื่อนพระด้วยกัน ตอนแรกหลวงปู่ตั้งใจจะไปเพียง 3 วัน ก็จะกลับ แต่ในที่สุดก็ออกธุดงค์เรื่อยไปจนถึงจังหวัดร้อยเอ็ด (เพื่อนพระที่ไปด้วยกันในตอนแรกขอกลับก่อน) และที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด หลวงปู่ได้พบ หลวงพ่อสมชาย ฐิตวิริโย แห่งวัดเขาสุกิม ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และได้ออกเที่ยวธุดงค์ด้วยกันหลายเดือน และหลายหนต่อมา แต่ไม่เคยได้จำพรรษาด้วยกัน หลวงปู่เล่าว่า เที่ยวธุดงค์ไปหลายที่หลายแห่ง รวมทั้งวัดท่าคันโธ แต่ก็ไม่ได้จำพรรษาที่นี่
พรรษาที่ 3-4 (พ.ศ. 2487-2488)
หลวงปู่จำพรรษาอยู่กับ พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม ณ วัดป่าศรีไพรวัลย์ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด พระอาจารย์เพ็งนี้เป็นพระลูกชายของ หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ วัดราษฎรสงเคราะห์ (วัดป่าหนองแซง) อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ระหว่างปี พ.ศ. 2487-2489 หลวงปู่ได้เที่ยวธุดงค์ไปกับ หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล แห่งวัดป่าสันติกาวาส อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี เพื่อนสหมิกธรรมคู่บารมีของท่าน
หลวงปู่เล่าว่า หลวงปู่บุญจันทร์นั้นเป็นคู่บารมีของท่าน เที่ยวป่าด้วยกันถึง 3 ปี แล้วก็จากกันไปนาน มาพบกันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อหลวงปู่บุญจันทร์ได้มาอยู่ที่อำเภอไชยวานแล้ว ไม่ไกลจากวัดเหวลึกมากนัก แต่ก็ไม่เคยพบกัน จนกระทั่งวันหนึ่ง หลวงปู่ลีนั่งรถมาทำธุระที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งหลวงปู่บุญจันทร์ก็นั่งอยู่ในรถคันเดียวกัน
ท่านว่า เรามองหน้าท่าน จำได้คลับคล้ายคลับครา แต่ไม่แน่ใจ คิดมาตลอดทางจนถึงอุดรธานี พอลงรถ ก็ตัดสินใจเข้าไปจับมือ แล้วถามว่า “หลวงปู่บุญจันทร์ใช่ไหม ?” เมื่อท่านตอบว่า “ใช่” นั่นแหละความหลังจึงคืนมา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาหลวงปู่ลีก็ไปมาหาสู่หลวงปู่บุญจันทร์มาตลอด จนกระทั่งหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล ได้ละสังขารไปก่อน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2538
พรรษาที่ 5-6 (พ.ศ. 2489-2490)
หลวงปู่เที่ยวธุดงค์มาจนถึงอำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ วัดประชานิยม ของท่านเจ้าคุณแดง หรือ พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต) แต่ก็ยังเทียวไปเทียวมาระหว่างวัดท่าคันโธอยู่ หลวงปู่เล่าว่า ที่กาฬสินธุ์เนื่องจากญาติโยมดี คือสนใจในพระพุทธศาสนา ท่านว่าภาวนาก็ดี ก้าวหน้าโดยลำดับดีมาก
ในช่วงที่อยู่กับท่านเจ้าคุณแดง ท่านเคยถูกเจ้าคุณแดงดุเอาเหมือนกัน ท่านเล่าให้ฟังว่า พระที่อยู่ในวัด 18 รูป ไม่มีใครกล้าขึ้นไปหาท่านเจ้าคุณแดง เวลาขุดหลุมลึกๆ แล้วใช้เสาสว่านขุด พองัดขึ้น หมุดเสาสว่านก็หัก พระทุกรูปกลัวท่านเจ้าคุณแดงจะดุ จึงไม่มีใครกล้าขึ้นไปบอกให้ท่านเจ้าคุณทราบ หลวงปู่ก็ได้พูดขึ้นว่า “คนจะกินคนหรือ” แล้วท่านก็ขึ้นไปกราบเรียนเรื่องหมุดเสาสว่านหัก ท่านเจ้าคุณก็ว่า “หักมันก็หักไป คนเรายังมีวันตาย” ท่านเจ้าคุณแดงพูดอย่างนี้ หลวงปู่จึงลงมาด้วยความสบายใจ
นอกจากนี้ พ.ศ.2490 หลวงปู่ได้เริ่มเป็นครูพระปริยัติธรรม ณ วัดศรีชมพู เรื่อยมาจนท่านมรณภาพ
พรรษาที่ 7-8 (พ.ศ. 2491-2492)
พอออกพรรษา หลวงปู่ก็คิดถึงบ้าน จึงกราบลาท่านเจ้าคุณแดงออกจากวัดประชานิยม จังหวัดกาฬสินธุ์ เดินทางกลับบ้านบึงโนนอก ผ่านมาทางอำเภอธาตุพนม ระหว่างทางพบ พระอาจารย์มหาทองสุก สุจิตฺโต (พระครูอุดมธรรมคุณ) และได้เดินทางกลับบ้านบึงโนนอกพร้อมกัน
สองพรรษานี้หลวงปู่อยู่ที่วัดธรรมิการาม เพื่อช่วยบูรณปฏิสังขรณ์วัดบ้านเดิมของท่าน หลวงปู่ได้นำพาพระเณรชาวบ้านสร้างศาลาการเปรียญ กุฏิ และอื่นๆ จนเสร็จสมบูรณ์ หลวงปู่เล่าว่า ช่วงพรรษาที่ 6 ต่อพรรษาที่ 7 ท่านเคยคิดที่จะสึกเพราะมีโยมอยากได้หลวงปู่เป็นลูกบุญธรรม จะมอบทรัพย์สมบัติทั้งปวงให้ครอบครอง หลวงปู่ได้พิจารณาตามและเกิดความเบื่อหน่าย ท่านว่า “ของเหล่านี้ไม่ใช่ของเรา ถ้าไปเอาของเขามา ก็จะเป็นการสร้างบาปสร้างกรรมให้ยืดเยื้อต่อไปอีก” คิดได้ดังนี้ จึงไม่คิดสึกออกไปอีกเลย
พรรษาที่ 9 (พ.ศ. 2493)
คณะศรัทธาญาติโยมได้นิมนต์หลวงปู่ให้อยู่จำพรรษาที่วัดศรีชมพู หลวงปู่รับนิมนต์และอยู่สร้างโบสถ์ที่วัดศรีชมพูจนแล้วเสร็จ ได้ฉลองโบสถ์ในพรรษานี้ด้วยกัน ต้นปี พ.ศ. 2493 หลวงปู่ได้เดินทางไปร่วมงานประชุมเพลิงศพพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ณ วัดป่าสุทธาวาส ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ในฐานะลูกศิษย์คนหนึ่ง อัฐิธาตุของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ส่วนซี่โครง 1 ชิ้นที่หลวงปู่ได้มานั้น ท่านได้นำไปประดิษฐานไว้บนยอดเศียรพระประธานวัดศรีชมพู ต่อมาหลวงปู่นึกสังหรณ์ใจจึงปีนขึ้นไปดู แต่ไม่พบ นึกสงสัยอยู่นานว่าหายไปได้อย่างไร เพราะไม่มีผู้ใดรู้ว่าหลวงปู่นำอัฐิธาตุท่านพระอาจารย์มั่นมาเก็บไว้ ณ ที่นี้ แต่พอนึกทบทวนดูจึงรู้ว่า เอาลูกไว้บนหัวพ่อ ท่านไม่ยอมอยู่จึงหนีไป
หลวงปู่เคยพูดว่า “การอยู่กับหลวงปู่มั่นนั้นต้องระมัดระวังความคิดมากเป็นพิเศษ อย่าคิดนอกลู่นอกทาง เพราะท่านจะรู้เท่าทันหมด ต้องสำรวมกาย-วาจา-ใจ ไม่ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อื่น ใครๆ ก็ว่าหลวงปู่มั่นดุ ท่านดุก็เพราะคนผู้นั้นทำผิด ท่านดุก็เพื่อให้ผู้นั้นกลับตัว”
หลวงปู่เคยเล่าให้ฟังถึงการอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นไว้สั้นๆ ว่า “เราคิดว่าเราไวแล้ว เรายังไวไม่เท่าเพื่อนเลย”
ในพรรษานี้ หลวงปู่ได้สร้างอุโบสถวัดเจริญราษฎร์บำรุง บ้านมาย ตำบลมาย อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร
พรรษาที่ 10-11 (พ.ศ. 2494-2495)
สองพรรษานี้หลวงปู่กลับมาจำพรรษาอยู๋ที่วัดป่าศรีไพวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด อีกวาระหนึ่ง ช่วงในระหว่างพรรษา สหธรรมิกที่หลวงปู่ปรารภเสมอว่า เป็นคู่ทุกข์คู่ยากของหลวงปู่ ซึ่งได้ออกเที่ยวธุดงค์กับหลวงปู่ด้วย คือ พระอาจารย์อุดม ญาณรโต หรือ พระครูอุดมศีลวัตร แห่งวัดป่าสถิตธรรมวนาราม บ้านหนองผักแว่น ตำบลพรเจริญ อำเภอพรเจริญ จังหวัดหนองคาย
จากคำเล่าของพระอาจารย์อุดม ท่านว่า หลวงปู่ลีมีอัธยาศัยช่างพูด ช่างเล่า เที่ยวธุดงค์จำพรรษาด้วยกัน 6 พรรษาจนกลายเป็นศิษย์-พระอาจารย์กัน พระอาจารย์อุดมว่า “อาตมาเทิดทูนท่านมากน่ะ ปู่ลีท่านเป็นครูเป็นอาจารย์ ตีเสมอครูบาอาจารย์ไม่ดีน่ะ” ท่านว่ามีกิจกรรมร่วมกันมาตลอดจนตายจากกัน
พรรษาที่ 12 (พ.ศ. 2496)
หลวงปู่เล่าว่า ก่อนเข้าพรรษาปีนี้ พระอาจารย์อุดมมารับหลวงปู่ที่บ้านบึงโนนอก เพื่อจะไปธุดงค์ด้วยกัน ที่จังหวัดกาฬสินธุ์นั้น ฝนตกตลอด แม่น้ำชีไหลเชี่ยวกราก ต้องโยงสายลวดให้ผู้คนช่วยดึงเพื่อให้เรือแล่นไปตามสายลวด ไม่เช่นนั้นเรือจะข้ามฟากไปไม่ได้ ครั้นไปถึงวัดประชานิยม จังหวัดกาฬสินธุ์ ก่อนเข้าพรรษาแค่วันเดียว จึงเข้าไปขอนิสสัยจากท่านเจ้าคุณแดง เจ้าอาวาส มีพระเณรมาจำพรรษาทั้งสิ้นรวม 9 รูป
พระอาจารย์อุดมเล่าว่า พรรษานี้สมภารไม่ค่อยจะเข้ากับหลวงปู่ลีท่านเท่าไรนัก เนื่องจากหลวงปู่ลีเทศน์เก่ง พูดคุยสนุก คณะศรัทธาญาติโยมจึงชอบสนทนาธรรมกับหลวงปู่มากกว่าหมู่ พระอาจารย์อุดมเล่าว่า ท่านได้รับความเมตตาจากหลวงปู่ลีมาก หลวงปู่ลีจะคอยแนะนำพร่ำสอนการงานทุกอย่าง ทำศาลา ทำกุฏิ ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ท่านสอนหมด เพราะติดตามท่านไม่ห่าง ท่านเล่าว่า หลวงปู่ลีเป็นผู้ละเอียดมากทั้งงานภายนอกงานภายใน ระหว่างพรรษานี้ได้ขุดบ่อน้ำ 2 แห่ง แต่ใช้ไม่ได้เลย เพราะขุดลงไปก็พังหมด เนื่องจากเป็นดินทรายและน้ำก็เหม็นมาก ท่านต้องหาน้ำ หาบน้ำมาต้มน้ำให้หลวงปู่ลีสรงน้ำอาบตลอดพรรษา
นอกจากนี้พระอาจารย์อุดมยังเล่าให้ฟังว่า ความเมตตาที่ท่านได้รับจากหลวงปู่ลี จนประทับจิตประทับใจเป็นที่สุดก็คือ คำชี้แนะเรื่องข้ออรรถข้อธรรมและการภาวนา ท่านว่า หลวงปู่ลีไม่เคยปิดบังอำพราง แต่จะพูดเปิดเผยทุกอย่าง โดยเฉพาะเวลาค่ำๆ ที่อยู่เฉพาะกันเพียง 2 องค์ บางครั้งปิติกับคำสอนจนสามารถปฏิบัติได้ถึงขนาด พระอาจารย์อุดมเล่าว่า พรรษานี้เป็นพรรษาที่ปฏิบัติความดีมาก เร่งรัดความเพียรเป็นที่สุด แต่กิจการงานภายนอกก็ไม่ขาดน่ะ เรื่องนี้หลวงปู่ลีท่านเข้มงวดมาก ขาดไม่ได้เลยทั้งสองส่วน
พรรษาที่ 13 (พ.ศ. 2497)
ก่อนเข้าพรรษานี้ หลวงปู่และพระอาจารย์อุดม พร้อมด้วยคณะศรัทธาญาติโยมอีกประมาณ 20 คน ได้เดินทางจากกุดเรือคำไปถึงดงหม้อทอง เพื่อกราบนมัสการเยี่ยม หลวงปู่ขาว อนาลโย และพระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ ซึ่งท่านทั้งสองได้มาพักที่ดงหม้อทอง ครั้งที่ยังเป็นป่าสมบูรณ์ ไม่เห็นแดด ครึ้มตลอด มีแต่เสียงหริ่งเรไรร้อง มีโขลงช้าง ซึ่งเวลามาที คนก็วิ่งแตกตื่นขึ้นบนขอนไม้ใหญ่ ก็ไปเจอทากข้าอีก (ภาษาอีสานเรียกว่า ปลิงโคก) ก็วิ่งหนีกันจนผ้าผ่อนเปิด ไม่ได้สนใจกัน หลวงปู่อยู่บนก้อนหิน (พระลานหิน) เป็นลูกๆ คล้ายโบกี้รถไฟติดต่อกัน ต้องทำสะพานเชื่อมกันไว้ลูกสูงขึ้นไปต้องทำบันไดขึ้น เมื่อขึ้นไปแล้วก็ชักบันไดขึ้น ไม่ต้องกลัวเสือ ข้างบนมองลงมาเห็นช้าง เห็นเสือ แต่มันขึ้นไปกวนไม่ได้
หลวงปู่ยังเล่าเพิ่มเติมถึงประวัติของดงหม้อทองอีกว่า เดิมมีน้ำตกลงมาจากที่สูง ลงมาเป็นอ่างน้ำ เป็นวังวน ถ้ามุดใต้น้ำเข้าไปจะพบถ้ำ (แอ่งน้ำอยู่หลังถ้ำ) แล้วจึงจะพบหม้อทองโบราณอยู่ภายในถ้ำ หลวงปู่เล่าว่า ที่ดงหม้อทองนี้ท่านไม่ได้อยู่จำพรษา เพียงแค่ไปกราบเยี่ยมครูบาอาจารย์ พักอยู่หลายวันจึงเดินทางกลับออกมา ถึง วัดกุดเรือคำ ตำบลกุดเรือคำ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ก่อนเข้าพรรษา 7 วัน เป็นอันว่าพรรษานี้หลวงปู่กับพระอาจารย์อุดมอยู่จำพรรษาที่วัดกุดเรือคำของ ท่านพระครูอดุลสังฆกิจ (หลวงปู่มหาเถื่อน อุชุกโร) หลวงปู่ได้ทำหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างกุฏิเจ้าอาวาส ที่วัดกุดเรือคำ นี้ 1 หลัง จนแล้วเสร็จในพรรษานี้เช่นกัน
พรรษาที่ 14-16 (พ.ศ. 2498-2500)
ระหว่าง 3 พรรษานี้ หลวงปู่อยู่จำพรรษาที่วัดศรีชมพู จังหวัดสกลนคร แต่จะไปมาระหว่างวัดศรีชมพู กับวัดประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น ตำบลดงเย็น อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นวัดของ หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ เพื่อกราบเยี่ยมสนทนาธรรมกับองค์หลวงปู่พรหม เป็นประจำมิได้ขาด แต่ไม่เคยอยู่จำพรรษากับท่าน
ปี พ.ศ. 2498 หลวงปู่สอบได้นักธรรมชั้นโท และในปี พ.ศ. 2499 สอบได้นักธรรมชั้นเอก ณ สำนักเรียนวัดกุดเรือคำ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
ระยะเวลา 2 ปีแรก คือ ระหว่าง พ.ศ. 2498-2499 ศาลาข้างโบสถ์วัดศรีชมพูก็สร้างจนแล้วเสร็จในช่วงนี้เช่นกัน
พรรษาที่ 17-21 (พ.ศ. 2501-2505)
หลวงปู่จำพรรษาอยู่ที่วัดธรรมิการามบ้าง วัดศรีโพนสูง (วัดป่าบ้านถ่อน) บ้าง และมาจำพรรษาที่วัดศรีชมพู (วัดบ้านบึงโนนอก) ตามคำกราบนิมนต์ของญาติโยมบ้าง ในช่วงออกพรรษา ปี พ.ศ. 2502 ท่านได้รับเจตนารมณ์ของหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ เพื่อสร้างวัดศรีโพนสูง (วัดป่าบ้านถ่อน) ตำบลโพนสูง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ใช้เวลาดำเนินการ 2 ปี จึงแล้วเสร็จ
และในพรรษาที่ 18 นี้เช่นกันที่สหธรรมิกของหลวงปู่คือ พระอาจารย์อุดมได้ขอลาไปเที่ยวธุดงค์ หลังจากที่เป็นคู่ทุกข์คู่ยากจำพรรษาด้วยกันมาถึง 6 พรรษา
พรรษาที่ 22 (พ.ศ. 2506)
ปีนี้หลวงปู่ปลีกวิเวกจากหมู่ไปจำพรรษาที่วัดเนินเขาแก้ว ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ของ หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท มูลเหตุแห่งการปลีกวิเวกในครั้งนี้ เป็นเพราะในระหว่างที่หลวงปู่จำพรรษาอยู่ที่วัดศรีชมพูนั้น ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) แห่งวัดโพธิสมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ประสงค์จะให้หลวงปู่เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่หลวงปู่ปฏิเสธ
พ่อใหญ่สด (โยมอุปัฏฐาก) ได้กราบเรียนถามว่า เพราะเหตุใดหลวงปู่จึงปฏิเสธไม่รับตำแหน่งทั้งๆ ที่บ้านบึงโนยังไม่มีพระอุปัชฌาย์ ชาวบ้านจะบวชพระธรรมยุติลำบาก
หลวงปู่ตอบว่า “บ้านพวกเจ้านี้หรือที่อยากจะได้พระอุปัชฌาย์ เห็นแต่ละคนไม่พากันเข้าวัดเลย แล้วจะอยากได้พระอุปัชฌาย์ไปทำไม ที่เรามาบวชนี้ก็เพราะอยากทำความเพียร ทำภาวนา สร้างบุญ สร้างกุศล ไม่ได้ต้องการเป็นพระเจ้าพระนาย มีตำแหน่งใหญ่โตให้ผู้คนรู้จัก”
พ่อใหญ่สดเล่าว่า เจตนาข้อนี้ของหลวงปู่ได้แสดงให้เห็นแจ้งชัดกันอีกครั้ง เมื่อเจ้าคณะอำเภอสว่างแดนดินมรณภาพลง คณะสงฆ์ประชุมกัน 4-5 ครั้ง ลงมติมอบตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอให้ท่าน แต่ท่านก็ไม่ยอมรับเช่นกัน ในที่สุดหลวงปู่จึงปลีกวิเวกหลบไปจำพรรษาที่จังหวัดจันทบุรี เป็นการยุติเรื่องทั้งมวล
พรรษาที่ 23-24 (พ.ศ. 2507-2508)
หลวงปู่จำพรรษาอยู่ที่วัดศรีโพนสูง (วัดป่าบ้านถ่อน) ตำบลโพนสูง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เพื่อสอนธรรมศึกษา สำหรับเรื่องธรรมศึกษานี้เป็นที่ประจักษ์กันในหมู่พระเณรที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาของหลวงปู่ว่า ท่านสนับสนุนให้พระเณรแตกฉานในทางธรรม เรียนกันตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี โท ถึงเอก ตามลำดับ นอกเหนือจากการปฏิบัติภาวนาอันเป็นหลักของใจ ด้วยเหตุนี้ ปี พ.ศ. 2507 หลวงปู่จึงรับเป็นพระธรรมทูต สายที่ 5 นอกจากนี้ ปี พ.ศ. 2508 ท่านยังได้รับตำแหน่งเจ้าคณะตำบลสว่าง เขต 2 (ธรรมยุต)
พรรษาที่ 25 (พ.ศ. 2509)
ไม่แน่ชัดว่าหลวงปู่ได้กลับไปจำพรรษาที่วัดเนินเขาแก้ว จังหวัดจันทบุรี อีกครั้ง หรือจำพรรษาที่วัดศรีชมพู จังหวัดสกลนคร อย่างไรก็ดีหลวงปู่ท่านเคยเล่าให้ญาติโยมฟังสนุกๆ ว่า ท่านหนีไปจำพรรษาและบิณฑบาตฉันแต่ทุเรียนอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ในปี พ.ศ. 2509