test วัดสันติธรรม : Santidham : นครเชียงใหม่

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวัฒฑโน)
2456-ปัจจุบัน
วัดบวรนิเวศวิหาร แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

 

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2532 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ประสูติ

3 ตุลาคม พ.ศ. 2456—ปัจจุบัน 

 

พระนาม

พระนามเมื่อแรกประสูติ เจริญ คชวัตร

พระฉายา สุวฑฺฒโน

พระนามโดยย่อ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน)

พระนามตามสุพรรณบัฏ สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศรธรรมนีติภิบาล อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัตติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร สุขุมธรรมวิธานธำรง วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี คามวาสี อรัณยวาสี สมเด็จพระสังฆราช

บรรพชาและอุปสมบท

พระองค์ได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ. 2469 ขณะชันษาได้ 14 ปี ภายหลังบรรพชาแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่ วัดเทวสังฆาราม 1 พรรษา จากนั้นได้มาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดเสน่หา จังหวัดนครปฐม กระทั่งชันษาครบอุปสมบท จึงได้เดินทางกลับไปอุปสมบทที่วัดเทวสังฆารามเมื่อพ.ศ. 2476 ภายหลังจึงได้เดินทางเข้ามาจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เพื่อทรงศึกษาพระธรรมวินัยต่อไป และที่วัดบวรนิเวศวิหารนี่เอง พระองค์ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุติกนิกาย โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์เป็นพระอุปัชฌาย์ ด้านการศึกษา ทรงสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ในปีพ.ศ. 2484

การดำรงตำแหน่งพระอภิบาล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉายภาพหมู่ร่วมกับคณะพระภิกษุสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อคราวทรงผนวช

ท่านได้ทรงอุทิศตนเพื่องาน พระศาสนาโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ทรงรับเป็นองค์แสดงธรรมยังสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่ง นอกจากนั้นยังได้ทรงนิพนธ์ ผลงานทางวิชาการ เอกสาร และตำราด้านพุทธศาสนา ซึ่งล้วนแต่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งไว้มากมาย พ.ศ. 2499 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเลือกให้เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่าง วันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499

การศึกษาพระปริยัติธรรม

พ.ศ. 2472 สอบได้นักธรรมชั้นตรี

พ.ศ. 2473 สอบได้นักธรรมชั้นโท และเปรียญธรรม 3 ประโยค

พ.ศ. 2475 สอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม 4 ประโยค

พ.ศ. 2476 อุปสมบทที่วัดเทวสังฆาราม จำพรรษาที่วัดนี้ 1 พรรษา แล้วกลับมาวัดบวรนิเวศวิหาร อุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุต และสอบไล่เปรียญธรรม 5 ประโยค

พ.ศ. 2477, พ.ศ. 2478, พ.ศ. 2481 และ พ.ศ. 2484 สอบได้เปรียญธรรม 6, 7, 8 และ 9 ประโยคตามลำดับ

พระภารกิจ

พ.ศ. 2484 เป็นสมาชิกสังฆสภาโดยตำแหน่ง เป็นกรรมการสังคายนาพระธรรมวินัย และเป็นผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร

พ.ศ. 2489 เป็นพระวินัยธรชั้นอุทธรณ์ และเป็นกรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

พ.ศ. 2493 เป็นกรรมการเถรสมาคม คณะธรรมยุต ประเภทชั่วคราว

พ.ศ. 2494 เป็นกรรมการอำนวยการมหามงกุฎราชวิทยาลัย และเป็นกรรมการแผนกตำราของมหามกุฏราชวิทยาลัย

พ.ศ. 2496 เป็นกรรมการตรวจชำระ คัมภีร์ฎีกา

พ.ศ. 2497 เป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุตประเภทถาวร

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

พ.ศ. 2499 เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมวราภรณ์ และรักษาการวินัยธรชั้นฎีกา

พ.ศ. 2501 เป็นกรรมการคณะธรรมยุติ และเป็นกรรมการมูลนิธิส่งเสริมกิจการพระศาสนา และมนุษยธรรม (ก.ศ.ม.)

พ.ศ. 2503 เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครองสั่งการองค์การปกครองฝ่ายธรรมยุติ

พ.ศ. 2504 เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นผู้อำนวยการมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นประธานกรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นผู้รักษาการณ์เจ้าคณะธรรมยุตภาคทุกภาค และเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ. 2506 เป็นกรรมการเถรสมาคม ซึ่งเป็นกรรมการชุดแรก ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505

พ.ศ. 2515 เป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ และได้รับโปรดเกล้า ฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ "สมเด็จพระญาณสังวร" สมเด็จพระราชาคณะในพระราชทินนามนี้ มีขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระ พระอาจารย์สุก วัดท่าหอย พระนครศรีอยุธยา ได้รับพระราชทานสมศักดิ์นี้เป็นองค์แรก และต่อมาก็มิได้พระราชทานสมณศักดิ์นี้แก่พระเถระรูปใดอีกเลย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2363 ถึงปี พ.ศ. 2515 เป็นเวลาถึง 152 ปี

พ.ศ. 2517 เป็นประธานกรรมการคณะธรรมยุต

พ.ศ. 2528 เป็นรองประธานกรรมการสังคีติการสงฆ์ ในการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก และเป็นสังฆปาโมกข์ปาลิวิโสธกะพระวินัยปิฎก เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พ.ศ. 2531 รักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย และเป็นนายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ. 2490 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระโศภณคณาภรณ์ และเป็นกรรมการมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

พ.ศ. 2495 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในพระราชทินนามเดิม

พ.ศ. 2498 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในพระราชทินนามเดิม

พ.ศ. 2499 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมวราภรณ์

พ.ศ. 2504 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระสาสนโสภณ[3]

พ.ศ. 2515 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ ที่ สมเด็จพระญาณสังวร[4]

พ.ศ. 2532 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็น "สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" ในพระราชทินนามเดิม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศรธรรมนีติภิบาล อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัตติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร สุขุมธรรมวิธานธำรง วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี คามวาสี อรัณยวาสี สมเด็จพระสังฆราช

 

พระโอวาท

"คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นสั่งสอนอยู่ในภายใน ปฏิบัติได้ อยู่ในภายใน รู้ยิ่งเห็นจริงได้เองทุก ๆ คน มีเหตุตรองตามให้ เห็นได้จริงทุก ๆ คน ปฏิบัติก็ได้ผลจริงทุก ๆ คน เพราะไม่ได้ สอนในภายนอก แต่ว่าสอนในภายใน แล้วก็เป็นเหตุเป็นผลที่ ตรองตามให้เห็นได้ ปฏิบัติได้ "