พระธรรมโกศาจารย์ (หลวงพ่อพุทธทาส อินทปัญโญ)
๒๔๔๙ - ๒๕๓๖
วัดสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี
นามเดิม
เงื่อม พานิช
เกิด
วันอาทิตย์ ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๙
บ้านเกิด
หมู่บ้านกลาง ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี
บิดามารดา
นายเซี้ยง และ นางเคลื่อน อาชีพค้าขาย
พี่น้อง
เป็นบุตรคนโต ใจจำนวนพี่น้อง ๓ คน
อุปสมบท
อายุ ๒๐ ปี ที่วัดนอก (วัดอุบล) ตำบลพุมเรียง โดย พระครูโสภณเจตสิการาม(คง วิมโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายา อินทปัญโญ
เรื่องราวในชีวิต
เมื่ออายุ ๘ ขวบ เรียนหนังสือที่วัดพุมเรียง ๓ ปี แล้ว เข้าเรียนชั้นประถม และมัธยมต้นที่โรงเรียนวัดโพธาราม เมื่อบวชแล้ว ได้เทศนาจนญาติโยม ติดใจเลื่ยมใส เพราะเทศน์โดยไม่ใช้ใบลาน สอบได้นักธรรมเอกเมื่อปี ๒๔๗๑สองปีต่อมาได้เข้า ศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ จนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค
ปี ๒๔๗๕ เดินทางกลับบ้านเกิด มาอยู่ที่วัดร้างตระพังจิกแล้วก่อตั้งสวนโมกขพลารามขึ้น ได้มุ่งศึกษาพระไตรปิฎกอย่างจริงจัง ทุ่มเทให้กับงานศาสนา ภายใต้นามใหม่ว่าพุทธทาส ได้จัดหนังสือพิมพ์รายสามเดือนชื่อ พุทธศาสนาออกเผยแพร่แก่พุทธสนิกชน และออกเทศนาไปทั่วประเทศ ปลุกให้ผู้คนตื่นนอนจากความงมงายในวัตถุ หันมาศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้าควบคู่ กับการปฎิบัติ ปี ๒๔๘๖ ได้ย้ายสวนโมกขฯ มาตั้งที่วัดธารน้ำไหล เขาพุทธทอง ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์หลายครั้ง นับตั้งแต่ปี ๒๔๘๙ ในที่พระครูอินทปัญญาจารย์ มาจนถึงปี ๒๕๓๐ ในที่ พระธรรมโกศาจารย์ หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ เป็นพระอริยสงฆ์ที่มีภูมิธรรมสูง สามารถตีความ บาลีในพระไตรปิฎกได้ลึกซึ้งกว่าที่มีคำแปลกันอยู่ทั่วไป คำสอนของท่านบางครั้ง ก็มีลักษณะเป็นปรัชญาตะวันออกอยู่มาก แต่ในขณะเดียวกัน ในเรื่อง ที่เกี่ยวกับสังคมปัจจุบัน ท่านกลับ เทศน์ได้อย่างกระจ่างชัด กล้าหาญ และ เห็นจริงเป็นจริงอยู่ทุกยุคทุกสมัย
มรณภาพ
วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ อายุ ๘๗ ปี
ข้อมูลพิเศษ
* ท่านมีปณิธานในการทำงาน ๓ ข้อคือ
๑. พยายามช่วยให้ทุกคนเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา
๒. พยายามดึงคนออกมาจากอำนาจวัตถุนิยม
๓. พยายามทำความเข้าใจอันดีในระหว่างศาสนา
ธรรมโอวาท
“....โลกปัจจุบันนี้ ไม่มีศีลข้อที่สอง คือ อทินนาทานาเวรมณี...เห็นแก่ตัวจัด เห็นแก่ตัวจัดก็รักษาศีลข้อนี้ไว้
ไม่ได้ เดี๋ยวนี้มันปล้นกันซึ่งหน้า อย่าว่าแต่ขโมยลับหลังเลย ปล้นกันซึ่งหน้าคือ สงครามยากกองทัพปล้น กันซึ้งหน้า นี้ก็ไม่เพราะไม่มีศีลข้อนี้ ลับหลังก็ปล้น ซึ้งหน้าก็ปล้น แล้ว ก็เตรียมปล้นกันขนาดหนักต่อไปอีก ใช้นโยบายทางการเมืองล้วงเอาประโยชน์ของผู้อื่นมาเป็นของตัวก็มี...”
“...เรื่องตัวเรา เรื่องของเรา เรื่องตัวกู และเรื่องของกูนี้ คือปัญหาเพียงอันเดียว ข้อเดียว และเป็นใจความสำคัญของพุทธศาสนาเพียงข้อเดียว เรื่องเดียวที่จะต้องสะสางให้หมดไป แล้วจะเป็นอันว่ารู้ เข้าใจ และปฏิบัติพุทธศาสนาทั้งหมดโดยไม่มีเหลือ เพราะฉะนั้น ขอให้ตั้งใจฟังให้ดี...”
“...คำว่า พุทธศาสนา ขอให้เข้าใจคำนี้ตรง หรืออย่างถูกต้องอีกเช่นเดียวกันด้วย ว่าสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนานั้น เมื่อตกมาถึงสมัยนี้แล้วมันพร่ามาก คือมันกว้างขวางไม่ค่อยมีขอบเขต ถ้าเป็นอย่างสมัยพุทธกาลก็ใช้คำอื่นคือคำว่าธรรม หมายถึงธรรมเฉพาะที่ดับทุกข์ เขาไม่ได้เรียกกันว่าพุทธศาสนาอย่างที่เราเรียกกันเดี๋ยวนี้ เขาเรียกกันว่า “ธรรม”...”
“...ถ้าอย่างบาลี ก็เรียกว่า “อัตตา” นี่คือตัวเรา “อัตนียา” นี่คือของเรา ถ้าเรียกกว้างออกไป อย่างที่เรียกให้ทุกแขนงของปรัชญาในอินเดีย เขาเรียกว่า อหังการ นี้คือตัวเรา มมังการ นี้คือของเรา อหังการ แปลว่า ทำความรู้สึกว่าเรา เพราะคำว่าอหังการ แปลว่าเรา และ มมังการ แปลว่า ทำความรู้สึกว่าของเรา เพราะคำว่า มะมะ แปลว่า ของเรา...”