test วัดสันติธรรม : Santidham : นครเชียงใหม่

พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (หลวงปู่วัน อุตฺตโม)
๒๔๖๕ - ๒๕๒๓
วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร

นามเดิม
         
วัน สีลารักษ์
   
     
เกิด
         
วันอาทิตย์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๙ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕
     
     
บ้านเกิด
         
หมู่บ้านตาลโกน ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน (บ้านหัน) จังหวัดสกลนคร
     
     
บิดามารดา
         
นายแหลม และนางจันทร์ สีลารักษ์
   
     
พี่น้อง
         
รวม ๒ คน ท่านเป็นบุตรคนโต
     
บรรพชา
         
พ.ศ. ๒๔๗๘ อายุ ๑๔ ปี ที่วัดอรัญญิกาวาส บ้านม่วงไข่ มีท่านพระอาจารย์วัง ฐิตสาโร เป็นเจ้าอาวาส  (ลาสิกขาอายุ ๑๙ปี)
   
     
อุปสมบท
         
วันขึ้น๑๓ค่ำเดือน๓พ.ศ.๒๔๘๕ณพัทธสีมาวัดสร่างโศกอ.ยโสธรโดยมีท่านพระครูวิจิตรวิโสธนาจารย์ โสภณเถร เป็นพระอุปัชฌาย์พระอาจารย์มหาคล้ายเป็นพระกรรมวาจาจารย์
   
     
เรื่องราวในชีวิต
         
มารดาท่านได้คลอดบุตรคนที่สองได้ไม่นานนักก็ได้เสียชีวิตลง และขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๓ ปีเท่านั้น ท่านจึงต้องกำพร้ามารดาตั้งแต่น้อย ต่อมาบิดาของท่านได้นำท่าน ซึ่งยังเล็กอยู่นั้นกลับมาที่บ้านปู่ ท่านจึงอาศัยปู่ของท่านเรื่อยมา… ปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๘ หลังการบรรพชาท่านได้เดินทางมาอยู่จำพรรษาที่วัดป่าสุทธาวาส และได้เริ่มเรียนนักธรรมตรี เมื่อสอบเสร็จแล้วท่านได้ติดตามพระสิงห์ (ลาสิกขาแล้ว) ไปนมัสการหลวงปู่เสาร์ กันต สีโล และได้อยู่รับใช้พระอาจารย์ใหญ่ที่ “ดอนธาตุ” จ.อุบลราชธานี ระยะหนึ่ง
เมื่อพ.ศ.๒๔๘๕ได้อุปสมบท ในช่วงนี้ท่านป่วยเป็นไข้จับสั่น บังเอิญวันนั้น จิตได้ดำเนินลงรวมเป็นสมาธิ แต่ท่านก็ไม่รู้ว่ามันเป็นสมาธิแล้ว อย่างน่าเสียดายยิ่ง นอกจากนี้แล้ว ท่านยังได้มาอยู่ฝึกจิตกับหลวงปู่หลุย จันทสาโร ก่อนเข้าพบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งเป็นการอบรมตัวก่อนที่จะได้มีโอกาสเข้าพบ เรียกว่า ผ่านด่านทดสอบนั่นเอง เมื่อผ่านการทดสอบแล้ว ก็จึงได้เข้ารับใช้พระผู้ทรงวิปัสสนาธรรมอันยิ่งใหญ่ คือ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ต่อไป ในช่วงที่ท่าน ได้มาอยู่รับใช้หลวงปู่มั่นนี้ เป็นยุคสุดท้ายและท่านหลวงปู่ก็มิได้เดินธุดงค์ไปไหนอีก นอกจากอยู่กับที่คือ วัดป่าหนองผือ ต.นาใน ด้วยชรามากแล้ว ท่านรับงานปรนนิบัตินี้จากท่านพระอาจารย์วิริยังค์ สิรินธโร การเข้ารับใช้ปรนนิบัติครูบาอาจารย์นี้เป็นงานละเอียด และมีสติกำหนดรู้ระแวดระวังอย่างยอดเยี่ยมเลยทีเดียว สิ่งของทั้งปวงห้ามเคลื่อนย้ายแม้แต่คืบเดียว นับตั้งแต่ผ้าเช็ดเท้าบนกุฏิของท่าน
นี้เป็นความที่ได้รับถ่ายทอดความละเอียดระเบียบวินัยอันดีงามมาเป็นอย่างดี ฉะนั้นอุปนิสัยของท่าน จึงไม่ค่อยชอบบุคคลที่มีนิสัยหยาบและจุ้นจ้าน ถ้ำอภัยดำรงธรรม เป็นสถานที่สงบวิเวกดีเยี่ยม และเคยเป็นสถานที่หลวงปู่เสาร์ กันตสีโลและหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เคยมาอยู่บำเพ็ญธรรมระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๕–๒๔๖๖
ปกติ ท่านเป็นพระผู้มีความเงียบสงบ ไม่ค่อยพูดจาอะไรกับใครโดยไม่จำเป็น ความเฉย ๆ ของท่านนี้ บางทีพวกเราอาจเข้าใจว่า “ท่านเป็นพระที่ดุ และเข้าหายาก” ความเป็นจริงมิใช่เช่นนั้น แม้บุคคลใดมุ่งหวังเข้านมัสการเพื่อสิ่งใด ท่านย่อมรู้ชัด ถ้ามาด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน และจะเข้ามาเพื่อสร้างเวรกรรมกันแล้ว ท่านจะไม่ยอมโปรดบุคคลผู้มากไปด้วยกิเลสเหล่านั้น นี้เป็นการแก้ต้นเหตุของกิเลสภายในจิตใจของคนให้ได้เบาบางลงไปบ้าง ก็นับว่าเป็นบุญเป็นคุณแก่ผู้เข้ามานมัสการอีกด้วย เพื่อจะได้ศึกษาดูตัวเอง และปรับปรุงจิตใจให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ท่านพระอาจารย์วัน อุตฺตโม ท่านยังเป็นพระผู้ปฏิบัติที่มีความเมตตาสงสารแก่เพื่อนมนุษย์ทุก ๆ คน ท่านนิยมชมชื่นบุคคลที่มีระเบียบวินัย มีมารยาท อ่อนโยน เมื่อบุคคลใด ได้ปฏิบัติธรรมสมาธิภาวนาด้วยแล้ว ท่านจะมีความเมตตาอบรมธรรมะคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย และดูเหมือนท่านจะให้ความดูแล เมตตาอย่างใกล้ชิด เพราะว่าการให้ธรรมะปฏิบัติแก่ผู้สนใจ และผู้มีสติปัญญา แม้บุคคลนั้นมีวาสนาบารมี ได้อรรถธรรมขั้นสูง ท่านย่อมได้รับบุญกุศลไปด้วย…
พ.ศ. ๒๕๒๓ เราทั้งปวงได้รับข่าวที่น่าสลดใจ เมื่อพระอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตก! ซึ่งมีพระคณาจารย์ผู้ทรงคุณมรณภาพพร้อมกัน ๕ องค์ ความจริงย่อมหนีความจริงไปไม่พ้นเมื่อเกิดก็ต้องมีแก่ เจ็บ ตาย เป็นความยุติธรรมของกฎพระไตรลักษณ์ พระอาจารย์วัน อุตฺตโม ได้จากพวกเราไปแล้ว สงบสุขด้วยธรรมที่ท่านปฏิบัติมา ท่านได้ฝากธรรมคำสอนไว้แก่เรา เพื่อเป็นเครื่องระลึกเตือนใจตลอดชั่วกาลนาน


มรณภาพ
         
วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ ด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตก สิริอายุ ๕๘ ปี ๓๘ พรรษา


ข้อมูลพิเศษ
         
* ท่านเป็นพระอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
* ท่านเป็นหนึ่งในห้าของพระเถระที่ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตก ที่ จ.ปทุมธานี
           


ธรรมโอวาท:

“...ให้เรามาคิดถึงบุญถึงคุณของผู้ที่มีคุณไว้หรือผู้ที่ทรงคุณความดี แม้ท่านจะไม่ได้ให้ความอุปการะเราแต่ประการใดก็ตาม แต่คุณความดีมีอยู่ในตัวของท่าน เราก็ให้รู้คุณ เพื่อเราจะได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบให้ถูกต้องในผู้ที่มีคุณทั้งหลาย อย่างพวกท่านทั้งหลายที่ได้มาในวันนี้ ก็มาระลึกถึงบุญคุณสนองบุญคุณของบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับดับจิตไปแล้ว ก็ขอให้ท่านทำความดี อันนี้เพื่อจะเป็นการตอบสนองบุญคุณนั้น ผู้ที่มาจำศีลภาวนา มาทำความสงบจิตใจ มาฟังธรรมะ มาบริจาคให้ทาน ล้วนแต่เป็นความดีที่เราจะบำเพ็ญเพื่อเป็นการตอบสนองในบุญคุณของบรรพบุรุษของเราไว้ จึงได้ตั้งอกตั้งใจด้วย...”


“...หลักของการเคารพก็คือเคารพทางกาย เคารพทางวาจา เคารพทางจิตใจ หากว่าเรามีคุณธรรมอันนี้ไว้ที่ตัวของเราแล้ว ความประพฤติปฏิบัติของเราก็มีความเจริญก้าวหน้า ได้รับความเมตตาอารีจากผู้อื่น ได้รับความเอื้อเฟื้อ ได้รับความอนุเคราะห์ สงเคราะห์ในทางประพฤติปฏิบัติของเรา เราก็จะเป็นที่เย็นอกเย็นใจ ยังข้อปฏิบัติของเราให้ดำเนินไปด้วยความสะดวกสบาย ฉะนั้นหลักของความเคารพ จึงเป็นคุณธรรมที่พวกเราทั้งหลาย จะต้องนำมาประพฤติปฏิบัติ...”


“...เราต้องการอยากจะให้จิตของเราบริสุทธิ์จากความโกรธก็ต้องเจริญเมตตากรุณา เมตตาคือความปรารถนาความดี ความสุขให้แก่คนอื่น กรุณาคือความสงสารเอ็นดูช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่น นี้จึงจะเป็นการชำระความโกรธที่มีอยู่ในจิตได้...”