พระครูวิโรจน์ธรรมาจารย์ (พระอาจารย์มหาปิ่น ชลิโต)
-
วัดป่าพระธาตุเขาน้อย กิ่งอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
พื้นเพเดิม
เป็นคนจังหวัดนครปฐม
บรรพชา
วัดสัมประทวน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทราวาส เป็นพระอุปัชฌาย์
อุปสมบท
ณ วัดท่าตำหนัก เป็นวัดฝ่ายธรรมยุต โดยมีท่านเจ้าคุณพระเทพเจติยาจารย์ วัดเสน่หา เป็นพระอุปัชฌาย์จารย์
เรื่องราวในชีวิต
ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ชลิโต พื้นเพถิ่นกำเนิดของท่านอยู่ในจังหวัดนครปฐม ท่านเคยได้สมาธิตั้งแต่อายุ ๘-๙ ขวบเท่านั้น
เพราะผู้หลักผู้ใหญ่คนพื้นบ้าน เขาชอบนั่งสมาธิไปดูนรก-สวรรค์กัน ในยุคที่ท่านยังเป็นเด็กนั้น ชาวบ้านนิยมกันว่า “ถ้าบุตรในตระกูลใด ได้บวชแล้วเที่ยวออกธุดงค์รุกขมูลไปในที่ต่าง ๆ จะได้รับการยกย่องนับถือในหมู่ชนต่าง ๆ”
รสชาติของสมาธินั้น ยังตรึงจิตใจอยู่เสมอ ท่านได้ออกติดตามพระธุดงค์ตั้งแต่อายุครบ ๑๗ ปี ท่านได้ไปมาเกือบทั่วประเทศไทยตลอดจนถึงมาเลเซีย พม่า เขมร ลาว เป็นต้น
ท่านเคยดั้นด้นธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร จากภาคใต้มาถึงกรุงเทพ จากกรุงเทพไปถึงแม่ฮ่องสอน จากแม่ฮ่องสอนไปภาคอีสาน ก็ได้อาศัยเท้าทั้งสองเท่านั้น เดินเพื่อค้นคว้าหาความจริงในธรรมะ และความอดทนอันยอดเยี่ยม
ท่านเป็นศิษย์องค์หนึ่งของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น เป็นที่เคารพบูชาของประชาชนทั่วประเทศ
อันธรรมะที่ท่านเคยประพฤติปฏิบัติมานั้น ท่านได้นำมาถ่ายทอดแก่สาธุชนผู้ใคร่ในธรรมจนหมดสิ้น ลีลาการแสดงธรรมะของท่าน ท่านเฟ้นหาสาระเนื้อหาอันจับใจแก่ผู้ฟังธรรมเป็นอย่างยิ่ง
ท่านเป็นกำลังสำคัญ ในกองทัพธรรม สายหลวงปู่มั่นองค์หนึ่ง ที่ได้เที่ยวเผยแพร่หลักธรรมความเป็นจริงขององค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ความดีงามของท่านนี้ ทำให้ชาวบ้านในภาคต่าง ๆ เช่น ภาคกลางและภาคใต้ ต่างก็ได้ร่วมกันช่วยสร้างสำนักสงฆ์อันเป็นสาขาได้ ๒๐ กว่าแห่ง ท่านแสดงให้เห็นถึงความพากเพียรพยายามอย่างแรงกล้าในการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา นอกจากนี้แล้วท่านเคยเล่าว่า…”เคยแอบมากรุงเทพฯ เหมือนกัน เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดบวรฯ วัดราชาฯ วัดราชบพิธฯ วัดมกุฎฯ เมื่อเรียนแล้วก็หนีเข้าป่าฝึกสมาธิภาวนาต่อไป
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้เล่าเรื่องการออกเผยแพร่ธรรมะปฏิบัติภาคใต้ว่า…
“เมื่อได้ถวายเพลิงศพท่านอาจารย์มั่นแล้ว ก็มีความประสงค์จะเที่ยววิเวกทางภาคใต้ จึงพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หลายองค์ มีพระอาจารย์มหาปิ่น ชลิโต เป็นผู้ติดตามไปด้วย ไปพักที่วัดควนมีด จ.สงขลา และได้ออกหาสถานที่บำเพ็ญสมณธรรม จึงเดินทางต่อไปจนถึงจังหวัดพังงา รู้สึกอากาศถูกกับธาตุขันธ์อยู่มาก”
ท่านได้เล่าความเป็นมาทางภาคใต้ให้หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ฟังว่า
“กระผมได้เคยผจญภัยมาแล้ว ณ เมืองภูเก็ต พังงา สองแห่งนี้ ก็ได้รบกับความเดือดร้อนต่าง ๆ อย่างมากมาย ด้วยคณะพระธรรมยุตนิกาย ไม่เคยมีเลยในครั้งนั้นจึงได้พาคณะพรรคพวกกลับมาเผชิญเหตุการณ์ร้าย ๆ นี้อีก
กระผมดีใจที่ท่านพระอาจารย์มาเป็นประธาน ในการเดินทางในครั้งนี้ แม้จะมีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงน่ารังเกียจ อันผิดวิสัยของสมณะ! ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในเพศเดียวกันคอยกลั่นแกล้งทั้ง ๆ ที่นุ่งห่มสีเดียวกัน น่าละอาย
เมื่อท่านอาจารย์มาเป็นประธานในการเผยแพร่ธรรมะ กระผมก็มีความหวังดีต่อพระพุทธศาสนา ขอร่วมด้วย เพื่อเป็นการช่วยกันฟื้นฟูธรรมปฏิบัติในเขตสองจังหวัดนี้ เป็นการดียิ่ง”
การที่คณะเผยแพร่ธรรมะโดยหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้เป็นผู้นำแห่งกองทัพธรรม และมีท่านพระมหาอาจารย์มหาปิ่น ชลิโต ได้เข้าช่วยเหลือเผยแพร่ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าสู่จิตใจประชาชนได้เป็นอันมาก
ท่านได้ถูกกำหนดให้ไปอยู่จำพรรษาที่กระโสม โดยมีพระคณะละ ๑๖ องค์ ตลอดเวลา ได้ถูกพวกที่ไร้คุณธรรมบุกรบกวน เช่น เผากุฏิ เอาก้อนหินขว้างปาขณะออกเดินบิณฑบาต ลอบวางยาพิษ ต้องผจญกับความทุกข์ยากแสนสาหัส
แต่ก็ได้รับการเตือนสติจากหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ให้พยายามรักษาศีลบริสุทธิ์ อย่าทิ้งสติการภาวนา พิจารณาให้เป็นธรรมอย่าเผลอสติ นับเป็นความอดทนเป็นที่ยิ่ง
ในชีวิตของพระสุปฏิบัติเช่นท่าน คือ… ท่านรักในความสันโดษวิเวกท่ามกลางป่าเขา ชีวิตธุดงคกรรมฐานของท่าน ได้เดินทางมาไกลแสนไกลบุกป่าฝ่าดง ปีนป่ายภูเขาลูกแล้วลูกเล่า จากลูกนี้สู่ลูกโน้น และในที่สุดท่านก็มาหยุด ณ ภูเขาลูกหนึ่ง รำพึงอยู่ที่เชิงเขา เป็น ภูเขาลูกย่อม มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ในสถูปองค์น้อย ณ ที่นั้นเราจึงเรียกว่า “พระธาตุเขาน้อย” หรือ วัดป่าพระธาตุเขาน้อย ท่านได้ก่อสร้างขึ้นเป็นวัดที่ถาวร เป็นเครื่องเตือนจิตเตือนใจให้ระลึกถึงท่านและพระธรรมคำสอนอยู่เสมอแม้ว่าบัดนี้ท่านพระอาจารย์ท่านได้ละสังขารจากพวกเราไปแล้วก็ตาม แต่คุณงามความดีนั้นหาได้เสื่อมสลายตามไปไม่ ท่านยังทิ้งรอย ให้พวกเราทั้งหลายได้ดำเนินชีวิตอันถูกต้อง ตามไปเบื้องหน้าตลอดกาลนาน และเป็นความสุขนิรันดรอย่างแท้จริง
ธรรมโอวาท
“พวกเธอจงจำไว้ พระป่านั้น เขามีคติอยู่ว่า ปฏิบัติธรรมเพื่อธรรมและทำงานเพื่องาน
พระป่าโดยสายเลือดและวิญญาณเขามุ่งปฏิบัติมาทุกยุคทุกสมัย
พระป่าหาใช่เพียงกิน ถ่าย นอน และนั่งหลับตาโดยมิได้ทำอะไรเลย
พระป่าอาจโง่ในสายตาของผู้ที่เขาไม่ได้ “ปฏิบัติ” นั่งหลับตาศึกษาสัจธรรม
พระป่าในเมืองไทยนี้นับแต่หลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่น พระบุพพาจารย์เจ้าเหล่านี้ล้วนแต่เรียนรู้คำสั่งสอนของพระศาสดาด้วยการปฏิบัติด้วยกันทั้งสิ้นและท่านก็สามารถรู้แจ้งในสัจธรรม จนสามารถยังประโยชน์ตนและผู้อื่นได้ พวกเธอจงจำไว้”
“...สติปัฏฐานนั้น เป็นฐานที่ตั้งของธรรม แต่ธรรมที่ท่านกล่าวไว้ในตำรับ ตำราแบบแผน นั่นเป็นโลกุตตระ เพราะฉะนั้นสติปัฏฐาน ที่ท่านแสดงไว้นั้น จึงเป็นโลกุตตรธรรม อันเราท่าน ทั้งหลายที่มานั่งกันอยู่ ณ บัดนี้ ยังเป็นโลกีย์ กาย วาจาใจยังเป็นโลกอยู่ เมื่อกาย วาจา ใจยังเป็นโลกอยู่ เราจะก้าวขึ้นหาโลกุตตระนั้น จำเป็นต้อง ปรับกาย ปรับวาจา และปรับใจ ของเราไปเป็นขั้นตอน...”
“...ใจคือตัวผู้นึกผู้คิด เอาความนึกความคิดนี้ ระลึกไปนึกคิดไปในวัตถุสิ่งนั้นจะนึกคิดว่ามันเป็น สิ่งๆหนึ่ง โดยไม่ต้องไปใช้ปัญญาพิจารณาเลยว่ามัน เป็นสิ่งๆ หนึ่งโดยไม่ต้องไปใช้ปัญญาพิจารณาเลยว่า มันเป็นอะไรมีลักษณะรูปร่างสีสัณฐานอย่างไรก็ไม่ต้อง ทั้งนั้น ไม่ต้องไปคำนึงถึงสีมันทีเรียกว่า วัณโณ ไม่ ต้องคำนึงถึงกลิ่นของมัน ไม่ต้องคำนึงถึงรสของมัน ไม่ต้องคำนึงถึงความซึบซาบใดๆ ของมัน เป็นแต่ว่าเอา ตัวผู้รู้นี้ไปรู้ไว้ที่ตัววัตถุสิ่งหนึ่ง ที่เรียกว่าเพ่ง ไว้กับวัตถุสิ่งหนึ่ง เพ่งสิ่งไปในกายของเรา เพ่งไว้ สิ่งหนึ่งแล้วก็ระลึกอยู่กับสิ่งๆ หนึ่งระลึกไปรู้ไป ระลึกไปรู้ไป อาศัยเวลาอยู่บ้างเมื่อเราระลึกนานเข้าๆ ตัวรู้กับตัวระลึกตัวนี้กับตัวเป้าที่เพ่งมันจะเด่น ขึ้น ชัดขึ้นๆ จนวางอารมณ์อื่นๆทั้งหมด...”