พระเทพเจติยาจารย์ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)
๒๔๖๓ - ปัจจุบัน
วัดธรรมมงคล เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร
นามเดิม
วิริยังค์ บุญทีย์กุล
เกิด
วันศุกร์ ที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๓ ปีระกา
บ้านเกิด
ณ สถานีรถไฟปากเพรียว ตำบลบ้านปากเพียง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี
บิดามารดา
ขุนเพ็ญภาษชนารมย์ และนางมั่น บุญฑีย์กุล อาชีพข้าราชการ
พี่น้อง
รวม ๗ คน
บรรพชา
อายุ ๑๔ ปี ตรงกับพ.ศ. ๒๔๗๗ ณ วัดสุทธจินดา ต.โพธิ์กลาง อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยพระธรรมฐิติญาณเป็นพระอุปัชฌาย์
อุปสมบท
อายุ ๒๑ ปี วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ณ วัดทรายงาม บ้านหนองบัว อ.เมือง จ.จันทบุรี โดยพระปัญญาพิศาลเถระ(หนู) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาทองสุข สุจิตโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “สิรินฺธโร”
เรื่องราวในชีวิต
ครอบครัวของท่าน เป็นบุคคลที่มีฐานะดี ส่วนมากทำงานเป็นข้าราชการ แม้กระทั่งบิดาของท่านก็เป็นข้าราชการด้วย ต่อมาย้ายครอบครัวมาอยู่ที่บ้านใหม่สำโรง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ชีวิตบ้านนอกคอกนาอาศัยป่าเขา ทุ่งเขียวขจี เป็นพื้นฐานประกันชีวิตครอบครัว ฉะนั้นทุกคนจะต้องเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าไปตามสภาพ ท่านถึงแม้จะเป็นเด็กเล็กๆ คนหนึ่ง ก็ต้องช่วยบิดามารดาทำมาหากิน เพื่อความอยู่รอดของชีวิต ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๒ ปี ก็พบพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ซึ่งท่านได้นำกองทัพธรรม ออกเผยแพร่ธรรม ที่บ้านใหม่สำโรงและในครั้งนั้น เด็กชายวิริยังค์ก็ได้ติดตามหลัง พระอาจารย์กงมา ออกเดินธุดงค์ไปในทุกแห่ง นับว่า พระอาจารย์กงมา เป็นผู้เปิดแสงสว่างทางธรรมให้เป็นครั้งแรก ปกติแล้ว ท่านเองสมัยเป็นเด็ก มีจิตใจรักในการทำบุญทำกุศลมาก ซึ่งเป็นการผิดนิสัยเด็กๆ โดยทั่วไป เช่นชอบทำบุญเข้าวัด ฟังพระเทศนา รักษาศีล เป็นต้น
อายุได้ ๑๓ ปี ท่านได้มาอยู่วัดเพื่อสมาทานศีลอุโบสถ นุ่งขาวห่มขาว ในทุกๆ วันพระตลอดไป
แต่กรรมก็ยังไม่สิ้น เพราะท่านเคยล้มป่วย เป็นอัมพาตเดินไปไหนมาไหนไม่ได้เลย และก่อนจะสิ้นกรรม ท่านต้องนอนอยู่กับที่ถึง ๓๗ วัน ก็พอดีมีตาปะขาวคนหนึ่งไม่รู้ว่ามาจากไหน…มารักษาให้ จนหาย นับว่าบุญบารมีเก่าท่าน มาส่งเสริมแล้ว โรคอัมพาตหายอย่างเด็ดขาด ตั้งแต่บัดนั้น
ต่อมาท่านได้พยายามที่จะบวชเสียที ขัดสนอยู่ในหมู่ญาติท่านจึงต้องต่อสู้อย่างทรหดอดทน คือ สู้ด้วยสติปัญญา ทั้งน้ำตาและความหวัง ในที่สุดท่านก็สมความปรารถนา ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร จากนั้นท่านได้หันหลัง ให้กับความวุ่นวายสับสนทางโลกอย่างสิ้นเชิง ติดตามหลวงปู่กงมา จิรปุญโญ เดินธุดงค์บุกบั่นเข้าไปบำเพ็ญสมณธรรม ท่ามกลางป่าเขา เช่น บริเวณป่าเขาใหญ่ ซึ่งล้วนมีแต่ไข้ป่า ที่แสนจะชุกชุมและเต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด แม้จะเป็นสามเณรน้อยๆ แต่เวลาปักกลด ท่านก็ไปปักกลดห่างไกลออกไปเชิงตีนเขา และได้เผชิญกับสัตว์ป่า ที่มาวนเวียนอยู่บริเวณกลด ท่านก็หาได้เกรงกลัวไม่ อาศัยใจสิงห์ที่มีความเด็ดขาด เชื่อมั่นในพระธรรม จึงผ่านพ้นมาได้ อำนาจจิตอำนาจใจของท่านนั้น แก่กล้าก้าวหน้าขึ้นมากมายในช่วงนี้ จนได้รับฉายานาม อาจารย์เณร ตั้งแต่สมันนั้นเลยทีเดียว การแสดงธรรมะนั้น ก็แยบคาย ผู้ฟังแล้ว ก็เข้าใจในธรรมที่ท่านแสดงนั้นๆ การสอน ท่านให้ทุกคนมีฐานะของจิตใจคือ ทาน ศีล ภาวนา เพราะการปฏิบัติธรรม ต้องอาศัยหลักธรรมเหล่านี้ จึงจะเป็นผลแห่งการปฏิบัติ
เมื่อบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้ว ท่านได้ติดตาม หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ ออกเดินธุดงค์ และได้ช่วยเป็นกำลัง ก่อสร้างวัดได้หลายแห่ง ในเขตจังหวัดจันทบุรี ภายหลังจากเดินธุดงค์ ผ่านป่าเขาลำเนาไพร จากจันทบุรี ออกทางด้านประเทศเขมร ตัดเข้ามาทาง จ.สกลนคร ท่านพระอาจารย์วิริยังค์ ก็ได้มีโอกาสพบ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้ครูบาอาจารย์อย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๕
พระอาจารย์วิริยังค์ เคยตายมาแล้ว ๒ ครั้ง ชนิดจิตออกจากร่างไปเลย พอครั้งที่ ๒ ตายไป ๓๐ นาที จึงได้กลับมาอีกครั้ง เพราะท่านได้ยินเสียงหลวงปู่กงมาเรียกให้กลับ ต่อมาท่านเดินทางเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วได้ออกมาดูที่จะสร้างวัดกรรมฐานเสียที่กรุงเทพฯ บังเอิญท่านมาพบกับสถานที่เป็นค่ายทหารญี่ปุ่นเก่า ปล่อยทิ้งเป็นป่าอยู่ และบังเอิญได้มีคณะญาติโยมศรัทธา ถวายให้สร้างวัด ท่านจึงได้ริเริ่มการก่อสร้างวัดป่า กลางใจพระนคร คือวัดธรรมมงคลถนนสุขุมวิท ๑๐๑ พระโขนง กรุงเทพฯ
นอกจากนี้แล้ว ท่านยังได้สร้างเกียรติประวัติ แด่พระพุทธศาสนาและวงการพระสงฆ์ไทย คือได้เดินทางไปรับ พระบรมสารีริกธาตุ และเส้นพระเกศา ขององค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้ก่อสร้างพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่ ชื่อว่า “พระวิริยะมงคลมหาเจดีย์ ศรีรัตนโกสินทร์” เพื่อประดิษฐานสิ่งอันบริสุทธิ์ สมควรแก่สักการะบูชา ของชาวไทย ต่อไปชั่วกาลนาน ท่านเป็นศิษย์รุ่นสุดท้าย และเป็นศิษย์ก้นกุฏิที่อยู่ปรนนิบัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต นานที่สุด ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ องค์สำคัญ ประกอบด้วยบุญบารมีมากองค์หนึ่ง ปฏิปทาของท่าน น่านิยมกราบไหว้บูชายิ่ง ท่านเคยติดตามพระอาจารย์ เดินธุดงค์กรรมฐาน ไปอยู่ป่าเขาลำเนาไพรผจญกับสัตว์ป่าที่ดุร้าย ตลอดจนไข้ป่าอันโชกโชนมาแล้วด้วยความมานะอดทน ชีวิตในทางธรรมนั้น ท่านเคยอยู่กับครูบาอาจารย์ที่วิเศษหลายองค์ด้วยกัน เช่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ ท่านพระอาจารย์มหาทองสุก สุจิตโต เป็นต้น.
ข้อมูลพิเศษ
* ท่านเป็นศิษย์อุปัฏฐากหลวงปู่มั่นที่ยาวนานที่สุดกว่ารูปอื่น
* ท่านเป็นผู้เรียบเรียงหนังสือ “มุตโตทัย”อันเป็นการจดบันทึกคำสอนของหลวงปู่มั่น ครั้นเมื่อตอนอุปัฏฐากองค์หลวงป
ู่
ธรรมโอวาท :
“...เรา ท่านทั้งหลาย เราจึงเป็นผู้ที่มีความดี เรียกว่ามีความโชคดี มีความดีอย่างยวดยิ่ง หรือเรียกว่าอย่างยิ่งยวด ที่เราได้มีศรัทธามาปฏิบัติ พบพระพุทธศาสนา ได้พากันเดินทางถูกต้อง ได้พากันสะสม อบรมความดีต่างๆ ทั้งในด้านการบริจาค ทั้งด้านการรักษาศีล ตลอดจนการดำเนินจิตนี้ จึงเป็นหนทาง ที่จะให้ถึงซึ่งวิมุติ คือความหลุดพ้นจากอาสวกิเลสได้...”
“...ความสบายที่เกิดขึ้นจากสมาธินั้น เป็นสิ่งที่หาคามิได้ เรียกว่ามีคุณค่าสูงสุด เราพากันเกิดมาในโลก โลกนี้ เรียกว่า โลกัง อนิจจัง โลกนี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมา คร่ำคร่าท่ามกลาง สลายตัวในที่สุด แม้กระทั่งร่างกายของเรา ก็เรียกว่าเป็นวัตถุอันนึงของโลก ที่จะต้องเกิดมาแล้วก็ต้องสลายตัวไป
แต่ว่าในตัวของเรานั้น ก็มีสิ่งสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง สิ่งสำคัญนั้นก็คือ ใจของเรา ใจของเรานี้ เป็นอมตะ คือเป็นสิ่งที่ไม่สูญเสีย หรือไม่ตาย ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ใครจะมาทำลาย ใจนั้น ย่อมไม่ได้ เพราะฉะนั้น ใจนี่แหละ ที่เป็นสิ่งสำคัญอยู่ในขณะนี้...”
“...เหมือนกันกับคนขับรถ เมื่อเอามือจับพวงมาลัย เมื่อนั้นเขาก็เป็นสมาธิทันที ขับไปเรื่อยสมาธิก็เกิดขึ้น เมื่อขับตรงทางไปตลอดก็เรียกว่า มีสมาธิ ขาดสมาธิเมื่อไรไม่รู้หนทางไม่รู้อะไรก็ชนกันแหลก อย่างนี้เป็นต้น เหมือนกันกับเราจับพุทโธทันทีนั้น ก็เป็นสมาธิทันที ใครจะพูดว่าไม่เป็นสมาธิย่อมไม่ได้ สมาธิเหล่านี้เมื่อรวมตัวแล้ว มันก็กลับกลายเป็นพลังจิต...”