test วัดสันติธรรม : Santidham : นครเชียงใหม่

พระครูญาณทัสสี (หลวงปู่คำดี ปภาโส)
๒๔๔๕ - ๒๕๒๗
วัดถ้ำผาปู่นิมิตร ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย

นามเดิม
         
คำดี นินเขียว
   
     
เกิด
         
วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๕ ตรงกับแรม ๑๔ ค่ำ ปีขาล
     
     
บ้านเกิด
         
ณ บ้านหนองคู ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
     
     
บิดามารดา

         
นายพร และนางหมอก นินเขียว
   
     
พี่น้อง
         

รวม ๖ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๒
     
อุปสมบท
         
อายุครบ ๒๒ ปีบริบูรณ์ (มหานิกาย) ที่วัดหนองแวง บ้านเมืองเก่า ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ญัตติเป็นพระธรรมยุติเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๑ ตรงกับปีมะโรง เวลา ๑๓.๓๐ น. โดยมี
พระครูพิศาลอรัญเขต เป็นพระอุปัชฌาย์
พระปลัดสังข์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระสมชาย เป็นพระอนุสาวนาจารย์
   
     
เรื่องราวในชีวิต
         
แต่เยาว์วัย ท่านอาศัยอยู่กับบิดามารดามาโดยตลอดประกอบกับท่านเป็นเด็กที่อ่อนแอเจ็บป่วยเสมอๆ
จึงเป็นที่ห่วงใยของบิดามารดาและวงศ์ญาติทุกคน อย่างไรก็ตาม คนเราที่เกิดมาแล้ว ย่อมมีกรรมติดตามมาอยู่เสมอ นอกเสียจากว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วเท่านั้น ถ้าแม้เรารู้วิบากกรรมนั้นๆ แล้ว เราสามารถหนีกรรมนั้นได้ด้วยการกระทำกรรมดีตลอดไปอย่างไม่ขาดตอนไม่พลั้งเผลอทำกรรมชั่วอีก ก็จะพบกับความจริง พออายุของท่านสมควรได้บวชแล้ว บิดามารดาได้พามาที่วัดใกล้บ้าน ขอบรรพชาเป็นสามเณร สามเณรคำดี ตั้งตนอยู่ในคุณของความดีมาโดยตลอด เชื่อฟังครูบาอาจารย์เสมอ พร้อมทั้งยังได้ศึกษาพระธรรมวินัย เพื่อความเจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต
เมื่อได้บวชเป็นสามเณรมานานจนอายุได้ ๒๒ ปี ท่านได้อุสมบทต่อเป็น พระคำดี ที่วัดเดิมนั่นเอง ซึ่งเป็นวัดฝ่ายมหานิกาย
ชีวิตหันเหเข้าสู่แนวทางปฏิบัติเมื่อได้เห็นปฏิปทาของพระธุดงค์ที่มาปักกลดอยู่ข้างๆ วัดที่ท่านจำพรรษาอยู่ ท่านจึงตัดสินใจเข้าสอบถามความเป็นไปในการเดินธุดงค์ของพระผู้ปฏิบัติเหล่านั้น จนปรากฏความจริงว่า “นี่คือแนวทางปฏิบัติ เพื่อหาทางพ้นเสียจากทุกข์ทั้งปวง”
ความปิติยินดีและความเบื่อหน่ายของชีวิตได้เริ่มแต่บัดนั้น เป็นเหตุให้ท่านถึงกับอธิษฐานในใจว่า.. “ถ้าแม้ข้าพเจ้า ยังดำเนินชีวิตอยู่เช่นนี้ เห็นทีจะต้องลาสิกขา ออกไปใช้ชีวิตภายนอกแน่นอน แต่ถ้าแม้ข้าพเจ้าสามารถประพฤติปฏิบัติตามเยี่ยงอย่างองค์สมเด็จพระศาสดาเจ้าคือ “ทางพ้นทุกข์” ดังเช่น พระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ที่เดินธุดงค์มาปักกลดเมื่อไม่นานมานี้ ขอให้พระผู้ปฏิบัติชอบมาโปรดสั่งสอนแนะแนวทาง แก่ข้าพเจ้าภายในวันสองวันนี้ด้วยเถิด”
ในที่สุดความจริงก็ปรากฏสมดังคำอธิษฐานนั้น ท่านได้เปลี่ยนญัตติใหม่เป็นฝ่ายธรรมยุตนิกาย และเริ่มออกเดินธุดงค์ติดตาม ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล มาตั้งแต่บัดนั้นมา
การบำเพ็ญเพียรของท่านนั้นแทบจะเอาชีวิตไปทิ้งเสียกลางป่ากลางดงหลายครั้งหลายหนเช่น ที่ถ้ำกวางท่านได้เข้าไปปฏิบัติโดยไม่ยอมฉันอาหารถึง ๑๑ วันต่อสู้กับกิเลสมาร ชนิดต้องหามลงมาจากถ้ำถึง ๒ ครั้ง
ท่านเกือบเสียทีกิเลสมารถึงสองครั้ง มาครั้งสุดท้ายนี่ท่านพระอาจารย์ สิงห์ ขันตยาคโม ท่านกำหนดรู้เสียก่อน จึงให้หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ไปแก้ไข เพราะท่านคิดจะสึก แต่ด้วยสติดีมีอำนาจอยู่ ท่านจึงพ้นวิสัยนั้นได้เพียงประโยคเดียวของหลวงปู่อ่อนว่า “ทำไมท่านโง่นัก!” ท่านขึ้นไปภาวนาธรรมที่เขากุดตระรังได้ผจญกับเสือโคร่ง และงูใหญ่ ด้วยอารมณ์ที่มั่นคงทั้งนี้ก็ได้รับความสงบทางจิตใจมากเป็นพิเศษ
ท่านเป็นพระอริยะเจ้าผู้มีปัญญาดี เอาธรรมะเป็นอาวุธเข้าฝ่าฟันอุปสรรคที่เกิดจากกิเลสตัณหาอุปาทานแพ้พ่ายอย่างราบคาบ เป็นศิษย์กล้าของพระบุพพาจารย์ใหญ่แห่งยุคคือ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม
มีแนวธรรมะที่ล้ำลึกฟังง่ายเข้าใจดี ได้แสดงไว้เพื่อการอบรมสั่งสอนบรรดาท่านพุทธบริษัทนั้น สมบูรณ์จนถึงแก่นแท้ของธรรม เป็นสาระแก่นสารธรรมแห่งชีวิต ปฏิปทาในการปฏิบัติที่ท่านแสดงนี้น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง พร้อมกับเป็นแบบอย่างอันดีงาม ที่ต้องยึดถือเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติสืบไป
   
     
มรณภาพ
         
วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๗ เวลา ๑๓.๑๓ น. ที่โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา กรุงเทพฯ
   
ธรรมโอวาท
         

“...อวิชชานี่สำคัญมันค่อยส่งสมุนเข้าล่าล้อมเมืองไว้ทุกประตู ถ้าเราเผลอ(สติ)มันโจมตีทันที พวกสมุนมารนี่ ชำนาญวิธีกองโจรที่สุด ว่องไวฉับพลันไม่มีการอืดอาด ไม่รอช้า ถ้าได้โอกาสเข้าโจมตีล่าเมือง จับจิตใจขงเราเป็นเชลย บงการให้เป็นไปตามใจชอบ ให้โลภหลงไปตามคำสั่งมัน ทางเข้าออกของสมุนมารคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ถ้าแม้เราอ่อนแอ เราสู้ไม่ได้ ชาตินี้เราก็หมดที่พักพิง เพราะอวิชชาเป็นเหตุ...”


“…เรื่องเป็นเรื่องตายไม่ใช่เรื่องของอาตมา เป็นเรื่องของพวกเขาต่างหาก เป็นเพราะใครทำกรรมอย่างใดก็ได้รับผลของกรรมอย่างนั้น ส่วนพวกเจ้าทำกันเองพวกเจ้าคงจะรู้ว่าเป็นเพราะอะไร…”


“…นี่แหละ การเบียดเบียนท่านผู้มีศีลย่อมได้รับกรรมตามทันตาเห็น จะหาว่าไม่มีบาปมีบุญที่ไหนได้ ศาสนามีทั้งคุณและโทษ ถ้าผู้ปฏิบัติดีก็นำพาจิตใจคนเหล่านี้ขึ้นสวรรค์นิพพาน ถ้าคนเหล่านี้ปฏิบัติไม่ดี ก็พาคนเหล่านี้ตกนรกอเวจีก็มีมาก เรื่องบาปกรรมย่อมไม่ยกเว้นให้กับใครทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระเณร หรือเจ้านายชั้นไหนๆก็ตาม ถ้าทำบาปลงไปเป็นบาปทั้งนั้น ไม่มีการยกเว้นลำเอียง...”