หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม
๒๔๔๕ - ๒๕๒๓
วัดป่าสิริสาลวัน บ้านโนนทัน อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู
นามเดิม
บุญมา เป็นมงคล
เกิด
วันพุธที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๕ ปีขาล แรม ๑ ค่ำ เดือน ๕
บ้านเกิด
ณ บ้านก่อ หมู่ที่ ๓ ตำบลหนองไข่นก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี
พี่น้อง
รวม ๘ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๒
บิดามารดา
นายจันดา และนางเข็มมา เป็นมงคล
บรรพชา
อายุ ๑๙ ปี วันพุธ ที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๔ ณ วัดหนองอีมาตรบ้านก่อ ต.หนองไข่นก อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี
อุปสมบท
อายุครบอุปสมบท วันศุกร์ ที่๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๕ ณ พัทธสีมาวัดสร่างโศก(วัดศรีธรรมาราม) อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี
เรื่องราวในชีวิต
ท่านเป็นพระหลานชาย ของพระอาจารย์บุญ ในเพศฆราวาสท่าน ได้อยู่รับใช้ช่วยบิดามารดาประกอบการงาน อยู่จนกระทั่งอายุได้ ๑๙ ปีเต็มขณะเป็นสามเณร ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งปฏิบัติภาวนา รักษาจิตใจท่านไปด้วย การปฏิบัติภาวนานี้ ท่านได้เคยกระทำมาแล้วตั้งแต่สมัยเป็นฆราวาส ท่านเห็นผู้หลัก ผู้ใหญ่ซึ่งมีท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์) มาโปรดญาติพี่น้องอยู่ประจำ ๆ ท่านจึงอาศัยหลัก พุท-โธ นั้น เป็นเครื่องดำเนินมาโดยตลอด พร้อมทั้งความสันโดษ รักสงบมุ่งภาวนามาแต่บัดนั้น
เมื่อบวชเป็นพระแล้ว ท่านก็ได้รับพระเมตตาจาก พระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธ โดยท่านเป็นพระกรรมฐานที่รับการอบรมมาจากเจ้าคุณอุบาลีฯ ขณะนั้น ท่านยังเป็นพระภิกษุหนุ่ม ท่านได้รับอุบายธรรมะตลอดการเดินธุดงค์ท่องเที่ยวหาวิเวกธรรมไปอยู่ป่าพงดงลึก ถวายตัวเป็นศิษย์ อยู่ปฏิบัติพระอาจารย์บุญจนกระทั่งพระอาจารย์บุญได้มรณภาพ นอกจากนี้แล้วท่านยังได้มาฝึกอบรมธรรมปฏิบัติ และพระวินัยธรรมกับเจ้าคุณอุบาลี คุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ติดตามเดินธุดงค์ไปในถิ่นต่าง ๆ อีก ๓ พรรษา ได้รับคุณวิเศษในธรรมะอย่างมากมาย เพิ่มพูนสติปัญญา ศีลาจริยาวัตรในเพศสมณะอีก เป็นพระอาจารย์องค์ ที่ ๒ ของหลวงปู่ท่าน ระยะหลัง ๆ ท่านได้มีโอกาสถวายตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้รับฟังธรรมเทศนา ที่สุขุมล้ำลึก ติดตามเดินธุดงค์ไปอยู่ป่าและได้ใกล้ชิดกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตนานถึง ๖ พรรษา
ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ถือพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้อย่างเคร่งครัด ถือหลักปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ๓ ประการนี้ จากครูบาอาจารย์อย่างมั่นคง ออกเดินธุดงค์เดี่ยว อยู่ป่าดงอย่างคนอนาถา นอนกลางดินกินกลางทรายจริง ๆ แม้ถ้าได้พบกับสภาพของท่านในคราวเดินธุดงค์ ก็เป็นอาการภายนอกซึ่งไม่น่าดูไม่น่าชมอันใด
แต่อาการภายในของจิตนี่ซี ท่านเป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก ท่านเป็นพระสุปฏิปันโนผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ควรแก่การกราบไหว้สักการะบูชาองค์หนึ่งในยุคนี้
ท่านเป็นพระผู้เจียมตนอยู่เสมอ ท่านเป็นพระพูดน้อย แต่เวลาแสดงธรรมแล้ว หลวงปู่จะแสดงเหตุผลได้อย่างน่าอัศจรรย์ แสดงชนิดขุดถอนกิเลสกันเลยทีเดียว เพราะจิตใจมนุษย์นี้ มันไหลลงไปสู่ที่ต่ำอยู่เสมอ (ความชั่วร้าย) ปฏิปทาอันบริสุทธิ์งดงามประกอบด้วยคุณธรรมสูงองค์หนึ่ง เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไปว่า ท่านเป็นพระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เคร่งครัดเป็นอย่างยิ่งท่านเป็นพระสงฆ์ที่พูดน้อย สุภาพอ่อนโยน รักสันโดษ เป็นที่เคารพของครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติหลายองค์ในปัจจุบัน
มรณภาพ
วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ ด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตก สิริอายุได้ ๗๘ ปี ๕๘ พรรษา
ธรรมโอวาท
“...รูป รส กลิ่น เสียง เหล่านี้ เราทั้งหลายจงพยายามมองดูให้ลึกซึ้งเข้าไปในต้นเหตุของมัน เพราะสิ่งเหล่านี้
แม้ไม่มีรูปร่างหน้าตาแล้ว ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรไปหลงนะ ทำไมไม่ทำความรู้สึกเหมือนกับเราหายใจเอาลมเข้าไปบ้างล่ะ ลมมันไม่มั่นหมายอะไรเลยนะ มันพัดไปมาของมันเท่านั้น ไม่มีกลิ่น ไม่มีรูป ไม่มีน้ำหนัก บางทีเรายุ่ง ๆ ลืมเสียด้วยซ้ำไปว่าเราได้หายใจเอาลมเข้าไป ลมนี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันทรยศกับเรา มันเข้าแล้วไม่ยอมออก มันออกแล้วไม่ยอมเข้าจะลำบากนะ นี้แหละพระพุทธเจ้าของเราท่านจึงสอนว่า ควรกำหนดรู้ รู้กับอารมณ์ต่าง ๆ นั้น ไม่ว่าอะไรมากระทบ เราควรกำหนดรู้ให้ชัด ให้มีสติ ให้มีสัมปชัญญะซี เกิดมามีจิตใจย่อมปฏิบัติได้เสมอภาคทุกคน อย่าไปติดสิ่งภายนอกเพียงอย่างเดียว จิตก็จะก้าวหน้าได้แน่นอน...”
“...เราอย่าไปนึกคิดว่า บวชเข้ามาแล้วจะได้บุญกุศลคุณงามความดี จะได้บรรลุคุณธรรมคือศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล นิพพาน ฌาน วิโมกข์ เลยทีเดียว โดยไม่ได้ทำอะไร ถ้าอย่างนั้นก็คงได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ บรรลุนิพพานกันหมด...”
“...บิดามารดาเป็นบูรพาจารย์ของกุลบุตรธิดา เมื่อเราจะพรรณนาคุณของมารดาบิดา ก็ไม่สิ่งใดที่จะเอามาเปรียบเทียบได้ เด็กหญิง เด็กชาย ในโลกชมพูทวีปนี้ จะมาสู้คุณงามความดีของมารดาคุณ บิดาคุณ ไม่ได้เลย...”
“...ทางความบริสุทธิ์สิ้นพบสิ้นชาติ ข้ามโอฆะของสัตว์ทั้งหลาย สติปัฏฐานทางเดียวเท่านั้น ท่านผู้ข้ามแล้วในอดีต หรือท่านผู้จักข้ามในอนาคต หรือท่านผู้ข้ามอยู่ในปัจจุบัน บัดนี้ ท่านก็ข้ามโอฆะด้วยสติปัฏฐานทางเดียวนี้เอง ดังนี้...”