สมเด็จพระพุฒาจารย์ (หลวงปู่โต พรหมรังสี)
๒๓๓๑ - ๒๔๑๕
วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
นามเดิม
โต (สมัยนั้นยังไม่มีนามสกุล)
เกิด
วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๑
บ้านเกิด
บ้านไก่จ้น ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ พระนครศรีอยุธยา
บิดามารดา
บิดา (ไม่ทราบนาม) มารดาชื่อ เกตุ
บรรพชา
อายุ ๑๒ ปี ที่วัดอินทรวิหาร (วัดบางขุนพรหมนอก) กรุงเทพฯ
อุปสมบท
ปี ๒๓๕๐ เป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดย สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุ
เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า พรหมรังสี
เรื่องราวในชีวิต
เมื่อเกิดแล้ว มารดาได้พาท่านมาพักที่ตำบลไชโย ในอ่างทอง
พอนั่งได้พาท่านมาพักที่ตำบลบางขุนพรหมในกรุงเทพฯ ในวัยเยาว์ได้เรียนที่วัดอินทรวิหาร หลังจากเป็นสามเณรแล้วได้ไปเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดระฆังกับพระอาจารย์ คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) หลังจากบวชเป็นภิกษุแล้ว ได้เรียนวิชาเพิ่มเติมจากสมเด็พระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุ จนเก่งทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ โดยเฉพาะทางด้านวิปัสสนา ได้เรียนจากสำนักวัดอินทรวิหาร และวัดสังเวชวิศยารามด้วย
หลังจากที่สมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ได้โปรดให้ตามหาตัวพระมหาโตมา เพื่อทรงแต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่ พระธรรมกิตติ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม เมื่อท่านอายุได้ ๖๔ ปี หลังจากนั้นท่านก็ได้เข้าไปเทศนาถวายในพระบรมมหาราชวังเป็นประจำ
ต่อมาท่านได้เลื่อนเป็นสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี และในปี ๒๔๐๘ อายุ ๗๘ ปี พรรษา ๕๖ จึงได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์สมเด็จโตได้รับความศรัทธาเลื่อมใสในด้านอิทธิปาฏิหาริย์ นับตั้งแต่สมัยนั้นมาจนสมัยนี้อย่างไม่มีเสื่อมคลาย ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งสอน อันเป็นอมตะหรือพระคาถาชินบัญชรที่ท่านได้ปรับปรุงจากคาถาโบราณ ตลอดจนสมเด็จพิมพ์ต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นที่ยอมรับกันทั่งไปในด้านความศักดิ์สิทธิ์ สมเด็จโตท่านได้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไว้หลายแห่ง เพื่อเป็นปูชนียสถานอันยืนยาวถาวร เช่นพระพุทธรูปนอนที่วัดสะตือ พระนครศรีอยุธยา พระพุทธรูปนั่งที่วัดไชโยวรวิหาร อ่างทอง พระพุทธรูปยืนที่วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้ ท่านได้ควบคุมดูแลการก่อสร้างจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตท่าน
มรณภาพ
วันเสาร์ที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ ในสมัย รัชกาลที่ ๕ อายุ ๘๔ ปี
ข้อมูลพิเศษ
* หลวงพ่อโต พระพุทธรูปยืนทรงบาตรที่วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม มีชื่อเป็นทางการว่า
“พระพุทธศรีอริยเมตไตรย์” สร้างเสร็จสมัย รัชกาลที่ ๗