พระนิพพานอยู่หนใด
หรือจะเป็นเพียงคำกล่าวอ้างถึงสิ่งที่ คนธรรมดาสามัญอย่างเรา ๆ ท่านๆ ไม่มีวันไปถึง...
เรียบเรียงโดย
สุกิตตยานนท์
นิพพาน มิได้มีความหมายเป็นบ้านเมือง หรือโลกของพระเป็นเจ้าที่เต็มไปด้วยความสุข ชนิดที่ใฝ่ฝันกันและเป็นอยู่อย่างนิรันดร
นิพพาน มิใช่มีความหมายเป็นทางหลุดรอดของตัวตน จากโลกนี้ไปสู่โลกเช่นนั้น หรือภาวะแห่งความมีตัวตนเช่นนั้น
แต่ว่า “ นิพพาน ” มีความหมายเป็นความดับสนิทแห่งความเร่าร้อน เผาลน ความเสียบแทงยอกตำ และความผูกพัน ร้อยรัด อันมีอยู่ในจิตใจของมนุษย์ โดยตัดต้นเหตุแห่งความเป็นอย่างนั้นเสียได้สิ้นเชิง ความเป็นอย่างนี้ มีอยู่อย่างเป็นอนันตกาล คือมีอยู่ในที่ทุกแห่งและทุกเวลา พร้อมที่จะปรากฏแก่จิตซึ่งปราศจากกิเลสอยู่เสมอ เราจึงกล่าวว่า ภาวะแห่งนิพพานและพระนิพพาน ปรากฏขึ้นในโลกครั้งแรก เพราะการเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เข้าถึงความดับสนิทแห่งความเร่าร้อนเป็นคนแรกในโลก
นิพพาน แปลหมายเอา ความเย็นดับสนิทของสิ่งที่ร้อน ได้แก่ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ วิญญาณ ผัสสะ ที่ถูกเผาเพราะไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ความเย็นสนิทของสิ่งเหล่านี้เพราะไม่ถูกไฟคือ ราคะ โทสะ โมหะ เผาให้ร้อนนั้นคือ นิพพาน
นิพพาน แปลว่า ปราศจากของเสียบแทงยอกตำ ซึ่งในตัวเราหรือตัวบุคคลคนหนึ่ง ๆ ที่มีการยึดถือเอาสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มาให้เกิดเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา การกระทำเช่นนี้เองเป็นความเสียบแทงยอกตำ มีเต็มอัดอยู่ในทุก ๆ ชีวิต ที่ยังมีความคิดที่ผิดอยู่เช่นนี้ จนกว่าเมื่อใดชาวโลกจะมีความเข้าใจอันถูกต้องตามแบบที่พระพุทธองค์ ได้ทรงค้นพบ และถอนลูกศรนั้นออกเสียได้ โดยสิ้นเชิง
นิพพาน แปลว่า ปราศจากเครื่องผูกพันร้อยรัด อันได้แก่ ความเข้าใจผิดในชีวิตที่ยังโง่เขลาอยู่ทุกแง่ทุกมุม ความโลภก็ดี ควา,รักก็ดี ความโกรธก็ดี ความเกลียด ความอิจฉา ริษยา อาฆาต ความกลัว ฯลฯ ก็ดี ล้วนแต่เป็นเครื่องรึงรัดจิตใจ หากบุคคลขาดจากสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะชื่อว่า เป็นผู้ปราศจากเครื่องผูกพันร้อยรัด ย่อมมีภาวะแห่งความไม่เร่าร้อนเผาผลาญ และไม่เสียบแทงยอกตำอยู่ในตัว เพราะปราศจากสิ่งที่เรียกว่า กิเลสอย่างเดียวกัน จัดว่าเป็นพระนิพพานร่วมกัน
เรื่องพระนิพพาน มิใช่เป็นเรื่องที่พูดให้จบ หรือให้เข้าใจกันได้ ด้วยคำพูดเพียงสองสามคำ เพราะฉะนั้น ท่านผู้อ่านต้องทำการศึกษา คิดค้น ตีความและเทียบเคียง จากการเสาะแสวงหาความหมายจาก พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านผู้รู้ หรือจากการอ่านก็ดี โดยเฉพาะการพากเพียรปฏิบัติให้รู้จักตัวของตนเอง และรู้จักต่อธรรมภายในใจ จะเป็นเครื่องพิสูจน์และบ่งชี้ให้เห็น ด้วยตัวเอง อย่างซึ้งถึงจิต ถึงใจได้ดีที่สุด ดังพุทธสุภาษิต แห่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
"นิพพานัง ปรมัง สุขัง **** นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง"
ที่มา : พุทธทาส ภิกขุ, นิพพาน, ๓ - ๑๐, สำนักพิมพ์ธรรมสภา, ๒๕๔๒