test วัดสันติธรรม : Santidham : นครเชียงใหม่

ข้อกฏิกาสงฆ์ สัมมาปฏิบัติ (โดย พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม)


ข้อกติกาสงฆ์สัมมาปฏิบัติ

ว่าด้วยข้อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ



รจนาโดย พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (สิงห์ ขนฺตยาคโม)

และท่านพระอาจารย์มหาปิ่นปญฺญาพโล (ปธ.5) 

วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 

นำเสนอโดย อมรเทโว ภิกขุ www.santidham.com 

9 กุมภาพันธ์ 2554 

ภาพประกอบ จาก Internet 


ข้อกติกาสัมมาปฏิบัติ สำหรับพระธุดงคกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

                    พระอาจารย์สิงห์  ขันตยาคโม พระเถระผู้เป็นศิษย์รุ่นแรกของท่านพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น  ปญฺญาพโล (ปธ.5)พระน้องชายของท่าน วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ได้รวบรวมและเรียบเรียงข้อสัมมาปฏิบัติสำหรับพระธุดงคกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ไว้เป็นหนังสือ 1 เล่ม ซึ่งมีข้อปฏิบัติต่าง ๆ ดังนี้


1.ข้อปฏิบัติดีปฏบัติชอบ 

                    พระพุทธเจ้า  ผู้เป็นพระบรมศาสดาจารย์เจ้าของเราทั้งหลาย  พระองค์ทรงพระมหากรุณาใหญ่  ในหมู่เวไนยสัตว์ทั้งปวงยิ่งนัก  คือเบื้องต้น  พระองค์ทรงกระทำพระองค์เองให้ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์  คือ  ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเสียก่อน  และทรงพระมหากรุณาทรงตรัสพระสัทธรรมเทศนา  สั่งสอนให้พุทธบริษัททั้งปวง  พระทำความเพียรเพื่อพ้นจากทุกข์ในวัฏฏสงสาร  จึงทรงวางระเบียบการทั้งปวงไว้ในพระพุทธศาสนา  เป็นอเนกปริยาย  ให้พุทธบริษัททั้งหลายได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตาม 

กล่าวโดยย่อ  พระองค์ทรงสั่งสอนให้บำเพ็ญศีล  บำเพ็ญสมาธิ  บำเพ็ญปัญญา  ให้ถึงพร้อมบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท  ด้วยวิธีเจริญสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน  กระทำน้ำใจให้เป็นไป  ในกระแสหนทางแห่งอริยมรรคอริยผล  จนกว่าจะเอาตนพ้นจากทุกข์ในวัฏฏสงสารได้จริง ๆ  เมื่อยังไม่พ้นจากทุกข์อยู่ตราบใด  ก็ให้อุสาหพยายาม  กระทำความเพียรอยู่อย่างนั้น  ยาวะชีวิต ตราบเท่าสิ้นชีวิต 

ก็แลเมื่อพระพุทธองค์  ทรงตั้งน้ำพระทัยมุ่งหวังประโยชน์ถึงเพียงนี้  จึงสมควรยิ่งนักที่พวกเราเหล่าพุทธบริษัท  จะพึงปฏิบัติตามโดยไม่ประมาท 

 

               บัดนี้จะว่าด้วยพระภิกษุสามเณร  ผู้มุ่งมาเพื่อบำเพ็ญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานต่อเป็นลำดับไป ว่าด้วยเจตนาของพระภิกษุสามเณรผู้มุ่งมาต้องเป็นผู้หวังดีจริง ๆ  คือ  

เป็นผู้หวังความพ้นจากทุกข์และหวังเพื่อบำเพ็ญกิจของพระพุทธศาสนาจึงต้องสละความหวังความอาลัย  ในฆราวาสเหย้าเรือน  ตลอดจนสละชีวิตเลือดเนื้อมาเพื่อทรมานตน  ให้พ้นจากทุกข์ในวัฏฏสงสาร  จึงต้องประกอบข้อปฏิบัติพระพุทธศาสนา  ด้วยความเป็นผู้ไม่ห่วงหน้าห่วงหลัง  เช่นไม่ห่วงบ้านเกิดเมืองนอน  และญาติวงศ์พี่น้องของตนเป็นต้น  ในเวลาที่เข้ามาอยู่ในหมู่ในคณะแล้วก็ต้องเป็นผู้ยอมสารภาพ  ประพฤติตามระเบียบธรรมวินัยที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  ไม่ทำความโต้แย้งหรือทุ่มเถียงกัน  ด้วยธรรมวินัย  ต้องเป็นผู้ศึกษาธรรมวินัยด้วยความเคารพ

พระภิกษุผู้เป็นอาจารย์สอนกรรมฐาน  อาจารย์หนึ่ง ๆ  พึงเป็นผู้ฉลาดรอบรู้ในธรรมวินัย  และรู้จักสังเกตนิสสัยใจคอของพระภิกษุสามเณรที่เข้ามาใหม่ ถ้าเห็นนิสสัยใจคอมีหลักฐานเพียงพอ สมควร ที่จะรับไว้จึงรับเข้าหมู่คณะ  ถ้าเป็นคนหาหลักฐานมิได้  ไม่สมควรที่จะรับไว้ได้  ก็ไม่ต้องรับเสียเลยเป็นอันขาด 

ดังข้อความที่จะกล่าวต่อไปนี้

1)  ถ้าภิกษุสามเณรถือลัทธิผิด ๆ มาแล้ว  เช่น  ถือ  ลัทธิศาสนาพราหมณ์  คือ  เคยเป็นหมอผีหมอมนต์มาแล้ว  เป็นต้น  ต้องแนะนำสั่งสอนให้ละลัทธิที่ผิดนั้นเสียแล้วให้ประพฤติตนในลัทธิที่ชอบ  ถ้าเป็นคนว่าง่ายสอนง่ายดังนี้  จึงควรรับไว้  ให้บำเพ็ญธุดงคกรรมฐานต่อไป

2)  ถ้าพระภิกษุสามเณร  เป็นผู้มีความเห็นผิดมาแต่เดิมแล้ว  และถือทิฏฐิมานะแข็งกระด้างมาก  เช่น เห็นว่าสมัยนี้ไม่ใช่สมัยที่จะบำเพ็ญธุดงค์กรรมฐานถึงแม้จะบำเพ็ญไปก็ไม่มีประโยชน์  ดังนี้เป็นต้น  พึงว่ากล่าวตักเตือนสั่งสอน  ให้ละทิฏฐิมานะเช่นนั้นเสีย  ถ้าละไม่ได้ก็ไม่ควรรับไว้เลย  แต่ถ้าละทิฏฐิเช่นนั้นได้แล้วก็ควรรับไว้  บำเพ็ญธุดงคกรรมฐานต่อไป

3)  ถ้าพระภิกษุสามเณร  เป็นผู้ว่ายากสอนยากและตั้งเจตนาผิด ๆ มาแล้ว  ด้วยความเป็นผู้ประมาทต่อข้อปฏิบัติ  คือ  เป็นผู้หวังร้าย  ไม่ใช่เป็นผู้หวังดี  เช่น  หวังเพื่อจะทำลายพระคณะกรรมฐาน  ให้แตกสามัคคีกันก็ดี  ให้ท้อถอยจากข้อปฏิบัติก็ดี  มาทำความฝ่าฝืนหมู่คณะหรือพระอาจารย์  แห่งพระกรรมฐานก็ดีเหล่านี้เป็นต้น  ไม่ควรรับไว้ในหมู่คณะแห่งพระกรรมฐานเลยเป็นอันขาด

4)  หน้าที่ของพระภิกษุสามเณรผู้บำเพ็ญธุดงค์กรรมฐาน  ต้องเป็นผู้หวังดีต่อพระพุทธศาสนาจริงๆ  คือ  หวังความพ้นจากพ้นทุกข์ในวัฏฏสงสาร  และสนใจใคร่ธรรมใคร่วินัย  แสวงหาวิโมกขธรรม  สันติสุขในพระพุทธศาสนา  และหวังเพื่อเชิดชูพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไปตลอดสิ้นชีวิต

5)  เป็นผู้มีความเพียร  ไม่เกียจคร้าน  และมีขันติธรรม  อดทดต่อความทุกข์ความยาก  และความลำบากตรากตรำ  ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ต่างๆ  ทั้งทางตรงและทางอ้อม  โดยเป็นผู้เห็นแก่พระพุทธศาสนาจริง ๆ

6)  เป็นผู้มีน้ำใจอันซื่อสัตย์สุจริตต่อพระศาสนาและครูบาอาจารย์  ตลอดถึงหมู่คณะ  อ่อนน้อมยอมตนให้หมู่คณะว่ากล่าวตักเตือนสั่งสอนได้ในธรรมวินัยเมื่อได้มาอยู่ในหมู่ในคณะนี้แล้ว  จะหลีกหนีไปก็ไม่ลอบลักดักหนีไป  ให้ล่ำลาครูบาอาจารย์ของตนก่อนเมื่อทานอนุญาตแล้วจึงไป  ถ้าท่านไม่อนุญาตก็ไม่ต้องไป

7)  ต้องเป็นผู้แสดงความสามัคคี  3  ประการ  คือ  กายสามัคคี  จิตตสามัคคี  ทิฏฐิสามัคคี  ต่อหมู่ต่อคณะอยู่เสมอ  ในเวลาทำกิจวัตร  10  ประการ  มีการปัดกวาด  เป็นต้น  ก็ต้องพร้อมเพรียงกันทำ  ในเวลารักษาธุดงควัตร  13 ประการ  มีการเที่ยวบิณฑบาต และฉันบิณฑบาต  เป็นต้น  ก็ต้องพร้อมเพรียงกัน  ในเวลาประกอบขันธวัตร  14  ประการมีอาจาริยวัตรและอุปัชฌายวัตร  เป็นต้น  ก็ต้องสามัคคีกัน

8)  ต้องเป็นผู้ไม่กระทำการทุจริตต่อหมู่ต่อคณะทั้งในที่ต่อหน้าและลับหลัง  และไม่ประพฤตินอกรีตนอกรอย  นอกธรรมนอกวินัย

9)  ต้องประชุมปรึกษาธรรมวินัย  และอุบายธรรมในใจกันอยู่เนื่องนิตย์  เมื่อประชุมก็ให้พร้อมเพรียงกันประชุม  เมื่อเลิกก็ให้พร้อมเพรียงกันเลิกและทำความเคารพต่อที่ประชุมเสมอ  ถ้ามีเหตุจำเป็นหรือกิจจำเป็น  ต้องบอกลากับหมู่คณะเสมอ

10) ต้องเป็นผู้มี  หิริและโอตตัปปะ  สะดุ้งหวาดเสียวต่อบาปกรรมประจำสันดานเป็นนิตย์  มีปกติสำรวมในพระปาฏิโมกข์  และสำรวมอินทรีย์พิจารณาปัจจเวกขณะในเวลาบริโภคปัจจัย  4 มีอาชีวปาริสุทธิศีล  นุ่งสบงห่มจีวร  เป็นปริมณฑลเรียบร้อยดี  เวลาเข้าไปในละแวกบ้าน  ต้องซ้อนผ้าสังฆาฏิกับอุตตราสงค์ (จีวร) ห่มให้เป็นปริมณฑลเสมอเว้นเสียแต่มีเหตุจำเป็นหรือมีอันตราย

11) ต้องเป็นผู้มีอาจาระ  คือ  มารยาทอันดีงามและมีโคจาระ  คือ  ที่เที่ยวไปอันสมควรแก่สมณสารูปเป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายอันมีประมาณน้อยสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายโดยความไม่ประมาท

12) ต้องเป็นผู้มีกตัญญูกตเวที  ต่อพระพุทธศาสนาทุกเมื่อ  ครั้นเมื่อศาสนาแนะนำให้ประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างใดใด  ต้องช่วยกันทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างนั้นนั้นทุกประการไป  โดยความเคารพ  และหวังความเจริญแก่พระพุทธศาสนาตลอดไป

13) ต้องเป็นผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท  คือ  ไม่ประมาทคุณพระรัตนตรัย  และไม่ประมาทคุณูปการของพระอาจารย์  ตลอกถึงหมู่คณะของตนและไม่ประมาทชาติชีวิตของตน  จำต้องทำตนให้ตั้งอยู่ในความเคารพเสมอ

14) ต้องทำใจของตนให้เป็นพรหม  คือ  ทำใจให้เป็นใหญ่กว่าอะไรทั้งหมด  และทำใจให้ยิ้มแย้มแจ่มใสเต็มไปด้วย  เมตตา  กรุณา  มุทิตา  อุเบกขา  แก่ตนและบุคคลผู้อื่นทั่วไปเสมอ

15) เมื่อจะพูดจากันด้วยธรรมวินัย  ต้องพูดกันด้วยความเคารพเสมอ  คือ  ต่างคนต่างต้องรักษาเสขิยธรรม  ให้ถูกต้องตามแบบที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้วทุกประการ

16) ต้องเป็นผู้ชำนาญในมคธภาษา  ท่องบ่นให้ได้  ทำวัตรเช้า  ทำวัตรเย็น  สวดมนต์ไหว้พระและพรหมวิหาร  4  ตลอดถึงเจ็ดตำนาน  และขัดตำนาน  และพระปาฏิโมกข์  ในภายใน  5  พรรษา

17) เมื่อเห็นอาจารย์  หรือพระเถระผู้ใหญ่กระทำอะไรด้วยกาย  พูดด้วยวาจาใกล้ต่อความผิด  หรือใกล้ต่ออาบัติโทษ  จะทักทายว่ากล่าวทีเดียวก็ไม่สมควร  ต้องทำทีเป็นถามหรือศึกษาต่อท่านด้วยความเคารพเสมอ

18) ต้องเป็นผู้ปกครองตนเองได้ด้วยธรรมวินัย  คือ  ไม่ฝ่าฝืนธรรมวินัย และไม่ฝ่าฝืนครูบาจารย์ตลอดถึงหมู่คณะของตนเองเสมอ

19) ลาภที่ได้มาโดยทางที่ชอบ  ต้องถือว่าเป็นลาภที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจพระพุทธศาสนา  สำหรับบำรุงหมู่คณะผู้ปฏิบัติพระพุทธศาสนาทั่ว ๆ ไป  แต่ก็แล้วแต่เจ้าของผู้ได้มา  ถ้าสมควรแจกก็ต้องแจกตามสมควร  เว้นเสียแต่ของสงฆ์ที่เป็นครุภัณฑ์  จะแจกกันไม่ได้เลยเป็นอันขาด  จำเป็นต้องรักษาไว้ไม่ให้เสื่อมสูญอันตธานไป

20) ต้องรักษาเครื่องใช้อันเป็นสาธารณประโยชน์ทั่วไปในหมู่ในคณะ  เช่น  กุฏิ  วิหาร  ศาลา  โรงธรรม  โรงฉัน  โบสถ์  อาราม  เสื่อ  หมอน  เตียง  ตั่ง  ถาด โถ  ถ้วย  ชาม  ตุ่มน้ำ  ถังน้ำ  ครุและถังตักน้ำ  ถ้วยแก้ว  ชามแก้ว  เป็นต้น  ให้สะอาดและปราศจากอันตราย  เมื่อตนได้เอาไปใช้  หรือเห็นตกหล่นอยู่ในที่ใด ๆ  ต้องรีบเก็บทันที  อย่าให้เสียหายได้เป็นอันขาด ถ้าทำให้เสียหายต้องเป็นโทษ  ห้ามมรรค  ห้ามผล  ห้ามสวรรค์  ห้ามนิมพานถ้าปฏิบัติได้ก็เป็นบุญเป็นกุศลแก่ตนจริง ๆ

21) ต้องเป็นผู้มีเมตตาจิต  เอ็นดู  กรุณาสงเคราะห์กันและกันด้วยธรรมวินัยข้อปฏิบัติที่ดีที่ชอบตลอดการเจ็บป่วยไข้  ถ้าเกิดมีแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง  ต้องรีบช่วยกันพยาบาลจนกว่าจะหาย  เว้นเสียแต่เหลือวิสัย

22) ต้องเป็นผู้ฉลาด  ในการปฏิสันถารต้อนรับพระภิกษุสามเณรอาคันตุกะ  ผู้มาแต่ทิศต่าง ๆ  ด้วยเสนาสนะ ที่นั่ง  ที่นอน  น้ำใช้  น้ำฉัน  และต้อนรับแขกคนคฤหัสถ์หญิงชายน้อยใหญ่ตามสมควรด้วยอามิสปัจจัยและด้วยการแสดงธรรมเทศนา  ให้ได้รับความเชื่อความเลื่อมใสพอใจ  จะประพฤติปฏิบัติพระพุทธศาสนายิ่ง ๆ ขึ้นไป  และให้ต้อนรับเฉพาะห้องรับแขกเท่านั้น  ไม่ควรให้แขกเข้าไปพูดจาในห้องนอน  เว้นเสียแต่อาพาธ  หรือสมัยพิเศษ

23) ต้องเป็นผู้ฝึกหัดอักขระฐานกรณ์ในมคธภาษา  ให้ชำนาญคล่องแคล่ว  ถูกต้องดีเรียบร้อยบรรพชาและอุปสมบทด้วยมคธภาษาที่ถึงพร้อมบริบูรณ์  ด้วยสมบัติ  5  ประการ  คือ  วัถุสมบัติ 1 สีมา-สมบัติ  1  ญัตติสมบัติ  1  อนุสาวนะสมบัติ  1  ปริสสมบัติ  1  จึงไม่ขัดข้องแก่ทางมรรค  ทางผล  ทางสวรรค์นฤพาน

24) ต้องฝึกหัดให้ชำนาญ  ในการตัดและเย็บย้อม  ผ้าสบงจีวรและผ้าสังฆาฏิ  สำเร็จเป็นขันธ์  5-7-9-11  ถูกต้องตามพุทธานุญาต ด้วยฝีมือของตนตลอดถึงการตัดเย็บย้อมผ้านิสี และถลกบาตรและย่ามใช้เองได้

25) ผู้ใดประมาทและล่วงเกินต่อระเบียบนี้ต้องลงโทษพุทธอาญา  ตามควรแก่ความผิดของตนเว้นเสียแต่พลั้งเผลอ  ก็ให้รีบกลับทำความรู้สึกในความผิดของตน  แล้วแสดงต่อหมู่คณะของตนทันทีเพื่อสำรวมระวังต่อไป


2. ข้อปฏิบัติในกุฏีและศาลา

พึงเป็นผู้ปฏิบัติดี  ในกุฏีวิหารและศาลาโรงธรรม  โรงฉัน  ดังข้อปฏิบัติต่อไปนี้

1)  พึงตั้งน้ำฉัน  น้ำใช้  ไว้ประจำกุฏีทุกๆ  กุฏี  และประจำศาลาโรงธรรมโรงฉันด้วย  ถ้าน้ำหมดก็ให้ตักมาใส่ไว้  ให้มีประจำอยู่เสมอ  อย่าให้ขาดได้

2)  พึงรักษาความเคารพต่อพระธรรมวินัย  ในเวลาที่จะขึ้นไปบนกุฏีวิหารหรือศาลาโรงธรรมโรงฉันนั้นเมื่อมาถึงเชิงบันไดแล้ว  ถ้าสวมรองเท้าก็ให้ถอดรองเท้าออกจากเท้า  แล้วเคาะรองเท้าให้ดินหลุดออกหมด  ขัดถูเช็ดเสียให้สะอาด  เก็บไว้ในที่สมควร  เสร็จแล้วจึงขึ้นไปบนกุฏีวิหาร ศาลา  โรงธรรม  โรงฉัน

3) ถ้าไม่ได้สวมร้องเท้ามา  ก็ให้ล้างเท้าด้วยน้ำใช้  เช็ดเท้าให้สะอาดเสียก่อน  จึงขึ้นไปบนกุฏีวิหารศาลาโรงธรรมโรงฉัน  อย่าเอาพื้นเท้าที่เปื้อนเปรอะเลอะเทอะ(ชึ้นบนศาลาโรงธรรมโรงฉัน) เป็นโทษ  พระพุทธเจ้าทรงห้าม  ปรับอาบัติทุกกฎไว้แล้วทุก ๆ ก้าวย่าง

4) จงรักษาความสะอาด  ในกุฏีวิหารศาลาโรงธรรมโรงฉันเสมอ  คือ  ให้หมั่นชำระปัดกวาด  และล้างด้วยน้ำเช็ดถูด้วยผ้า  ให้สะอาดอยู่เป็นนิตย์  แต่เวลาล้างด้วยน้ำนั้น  ไม่ต้องเทน้ำสาดไปให้เปื้อนเกินประมาณ  พึงเอาผ้าชุบน้ำให้เปียกถูไปตามพื้นกระดานทั่ว ๆ ไป  เท่านี้ก็สะอาดพอแล้ว  จงหมั่นถูเสมอเถิด      

5)  จงเก็บสิ่งของต่าง ๆ  ที่มีอยู่ในกุฏีวิหารศาลาโรงธรรมโรงฉัน  ไว้ให้เป็นที่เป็นฐาน  อย่าให้กระจัดกระจายรกรุงรัง  และรักษาสิ่งของเหล่านั้นให้สะอาดอย่าให้เยได้  เมื่อจะเอามาใช้ก็เอาง่าย  หายก็รู้ดูก็งามตา

6)  จงเก็บและรักษาสิ่งของที่ทายกทายิกานำมาไว้ประจำกุฏีหรือประจำศาลา  เช่น  เสื่อ  หมอน  ถาด  โถ  ถ้วย  ชาม  ถ้วยน้ำร้อน  แก้วน้ำเย็น  คนโทน้ำ  มุ้ง  กลด  สบง  จีวร  ผ้าปูนั่ง  ผ้าปูนอน  ผ้าห่มหนาว  กาน้ำ  ตุ่มน้ำ  เหล่านี้เป็นต้น  จัดได้ชื่อว่าเป็นของสงฆ์ทั้งนั้น  อย่าถือเอาไปเป็นสมบัติของตน  เป็นโทษที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามและปรับโทษไว้แล้ว  ถ้าถือเอาของสงฆ์ที่เป็นครุภัณฑ์  ปรับอาบัติถุลลัจจัย  เป็นสัคคาวรมรรคคาวรห้ามมรรคห้ามผล

7)  อย่าเอาการงานที่หยาบ ๆ และสกปรกขึ้นไปทำบนกุฏีหรือศาลาแห่งใดแห่งหนึ่ง  ให้กระทบครูดสีบอบบี้เสียหาย  และเปื้อนเปรอะเลอะเทอะไม่สดสวยงดงาม  ขาดความเคารพไม่ดี

8)  ระวังอย่าติดไฟเตาอั้งโล่และเตาสูบบนกุฏีวิหาร  และศาลาโรงธรรมโรงฉัน  เพื่อสถานที่จะได้สะอาดและห่างจากอันตรายด้วย

9) อย่าต้มน้ำร้อน  และทำอาหารการกินบนกุฏีหรือศาลาโรงธรรมโรงฉัน  เป็นการไม่เคารพต่อธรรมวินัย  และไม่เคารพต่อข้อปฏิบัติที่ตนปฏิบัติอยู่ทุกวัน

10) อย่าฉันอาหารบิณฑบาตในกุฏีหรือในที่นอนของตน  เว้นเสียแต่ป่วยหรือมีเหตุจำเป็น  ถ้าว่าโดยปกติธรรมดาของผู้ปฏิบัติ  ต้องรวมกันฉันที่โรงฉันแห่งเดียว

11)  เวลานอน  จงเอาผ้าของตนปกคลุมหุ้มหมอนเสียก่อนจึงนอนทุก ๆ คราวไป

12) อย่าเขียนกระดานพื้นฝาผนังและต้นแห่งกุฏีและศาลาโรงฉัน

13) ต้องบูรณะเสนาสนะสงฆ์  และของสงฆ์ที่ทรุดโทรม




3. ข้อวัตรในโรงไฟ


1)  ต้องชำระปัดกวาดโรงไฟให้สะอาดเสมอ

2)  ต้องแสวงหาฟืนมาไว้ในโรงไฟ  ให้มีประจำโรงไฟเสมอ  ไม่ให้ขาดได้

3)  เมื่อเวลาเข้าไปทำธุระข้อวัตรต่าง ๆ  มีต้มน้ำร้อนในโรงไฟ  เป็นต้น  ต้องเข้าไปด้วยความสำรวมระวังและเมื่อทำธุระสำเร็จแล้ว  ต้องให้รีบเก็บสิ่งของที่ตนเอาใช้ในโรงไฟ  และชำระปัดกวาดเสียให้เรียบร้อยอย่าทิ้งของให้เกลื่อนกลาดรกรุงรัง  ขาดความเคารพนับถือธรรมวินัยไม่ดี 


4. ข้อวัตรปฏิบัติในเว็จจกุฏี (ห้องน้ำ) 

1)  ให้ตั้งน้ำชำระไว้ประจำฐานเสมอ  ถ้าขาดก็ต้องตักมาใส่ไว้  และให้ทำไม้ชำระไว้ประจำฐานเสมอ  ไม่ให้ขาดสักเวลา

2)  ให้รักษาความสะอาดในเว็จจกุฏี  คือหมั่นปัดกวาดเสมอ  ทุกคราวที่เข้าไปในฐานและเวลาจวนค่ำทุก ๆ วัน  ต้องไปปัดกวาดบริเวณฐานโดยรอบเสมออย่าให้สกปรกได้ทั้งข้างบนข้างล่าง

3)  เวลาไปถ่ายอุจจาระในฐานนั้น  ถ้าเป็นส้วมซึมให้เทน้ำลงในช่องฐานก่อนจึงถ่ายอุจจาระลง  เมื่อถ่ายเสร็จแล้ว  ต้องชำระด้วยไม้หรือกระดาษ  ล้างทวารหนักให้สะอาด  เช็ดด้วยผ้า  เสร็จแล้วเทน้ำล้างช่องฐานปิดกายด้วยดี  ปัดกวาดฐานเสร็จแล้วจึงออกจากฐานมา


5. ข้อปฏิบัติใน ธุดงควัตร

1)  พึงปฏิบัติให้ถูกต้องตามแนวแถวแห่งอนุศาสน์  8  ประการ  คือไม่ฆ่าสัตว์  1  ไม่ลักของเขา  1  ไม่เสพเมถุนธรรม  1  ไม่อวดอุตริมนุสธรรม  1  และปฏิบัติตามนิสสัย  4  บำเพ็ญศีลสมาธิปัญญาให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท

2)  พึงรักษาเตรสธุดงค์  13  ประการ คือ  ถือผ้าบังสุกุลจีวรเป็นเครื่องนุ่งห่ม  1  ถือไตรจีวร  3  ผืน  1  บิณฑบาตมาฉันทุก ๆ วัน 1  เที่ยวบิณฑบาตไปตามแถว  1  ในวันหนึ่ง ๆ ฉันเฉพาะหนเดียว 1 ฉัน  เฉพาะในบาตร  1  ไม่ฉันภัตต์ที่เขานำมาเพิ่มเติมเมื่อภายหลัง  แต่ลงมือฉันแล้วไป  1 อยู่ในป่าห่างบ้านประมาณ  500  วา  1  อยู่รุกขมูลร่มไม้  1  อยู่อัพโภกาศในที่แจ้ง  1  อยู่ในป่าช้า  1  อยู่ในเสนาสนะที่ท่านจัดให้ 1  ถือเนสัชชิก  1

3)  ผ้ามหาบังสุกุลจีวร  ที่เกิดขึ้นในหมู่คณะกรรมฐานหมู่หนึ่ง ๆ ซึ่งได้เคยจัดการมาแล้วถ้าพอผ้าสังฆาฏิหรือจีวรหรือสบงผืนใดผืนหนึ่ง  หรือหรือครบทั้งไตรก็ดี  ก็ต้องตัดและผลัดเปลี่ยนสงเคราะห์แก่หมู่คณะผู้ขัดข้องและขาดเขิน  นับตั้งต้นแต่อาจารย์ผู้เป็นหัวหน้าตลอดถึงพระภิกษุหรือสามเณร ผ้าขาว  ดาบส  ถ้าไม่ทั่วถึงกันก็สงเคราะห์เป็นคราว ๆ ไป  คราวนี้ได้สงเคราะห์แก่ผู้นี้แล้ว  คราวหลังก็สงเคราะห์ผู้ใหม่ต่อไป       


4)  อาหารบิณฑบาตหรืออาหารอติเรกลาภที่เกิดขึ้นแก่พระพุทธศาสนา  สำหรับที่จะเฉลี่ยทำนุบำรุงบริษัท  ผู้ตั้งใจปฏิบัติพระพุทธศาสนา  ซึ่งเป็นสหธรรมมิก  หรือเพื่อนพรหมจารีด้วยกันทั้งนั้น


5)  วิธีแจกเสนาสนะ  พระภิกษุหนุ่มผู้เป็นสัทธิวิหาริก  หรืออันเตวาสิกทั้งหลาย  ต้องเป็นหูเป็นตาดูแลจัดเสนาสนะอันเป็นที่สบาย  ถวายแก่อุปัชฌาย์และพระอาจารย์  ถ้าเป็นพระอาคันตุกะมาจากวัดอื่นพระภิกษุผู้เป็นเจ้าอวาส  หรือภิกษุหนุ่มทั้งหลายเจ้าของอาวาส  ต้องเป็นหูเป็นตา  ดูแลจัดเสนาสนะอันเป็นที่สบาย  ถวายแก่พระอาคันตุกะ  ที่มาแต่ทิศใด ๆ นั้น  อย่าให้เป็นการฝืดเคือง  และแย่งชิงกันด้วยเสนาสนะ  คือ  กุฏิ  วิหาร  หรือสถานที่พักพาอาศัยเจริญสมณธรรม    



6. ข้อวัตรของสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกจะพึงปฏิบัติในอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์

1)  พึงลุกขึ้นแต่เช้าประมาณ  9 ทุ่ม (ตี 3)  หรือ  10 ทุ่ม (ตี 4)  ถวายน้ำบ้วนปากและไม้สีฟัน  เมื่อท่านล้างหน้าเสร็จแล้วพึงถวายผ้าเช็ดหน้าและเก็บตากไว้เสียให้เรียบร้อย

2)  เมื่อแจ้ง (สว่าง) เป็นวันใหม่  พึงเก็บเอาบาตรและอาสนะผ้าปูนั่ง  และเครื่องใช้  มาปูและตั้งไว้ที่โรงฉัน   

3)  ก่อนแต่จะไปเที่ยวบิณฑบาต  พระภิกษุสามเณรทุก ๆ องค์  ต้องมารวมกันที่ศาลาโรงฉันเพื่อชำระปัดกวาด  และปูอาสนะตั้งน้ำใช้น้ำฉัน  เสร็จแล้วพร้อมกันกราบพระเถระ  นุ่งสบงให้เป็นปริมณฑลและเอาผ้าสังฆาฏิกับอุตตราสงค์ (จีวร)  ซ้อนกันเข้า  ห่มให้เป็นปริมณฑล  สะพายบาตรด้วยจงอยบ่าเบื้องขวาเป็นปัจฉาสมณะตามหลังพระอุปัชฌาย์  และพระอาจารย์  เข้าไปเที่ยวบิณฑบาตในละแวกบ้าน  ตามระเบียบแบบแผนเยี่ยงอย่าง  ของพระพุทธเจ้าและอริยเจ้าสืบต่อเป็นลำดับมา

4)  เมื่อกลับจากบิณฑบาตใกล้ที่จะเข้าวัด สัทธิวิการิกและอันเตวาสิก  ต้องรีบกลับก่อน  เพื่อเอาบาตรมาวางไว้แล้วคอยรับผ้าสังฆาฏิและล้างเท้าเช็ดเท้า  เสร็จกิจตอนนี้ก่อนจึงขึ้นบนศาลาจัดอาหารฉันบิณฑบาตต่อไป       

5)  เมื่อฉันบิณฑบาตเสร็จแล้ว  พึงรื้ออาสนะและเสื่อ  ชำระปัดกวาดศาลาโรงฉัน  และบริเวณแห่งศาลา  ตักน้ำใช้น้ำฉันไว้ตามเดิม

6)  ตอนกลางวัน  ตั้งแต่ฉันเสร็จแล้วไป  ให้เดินจงกรม  และทำวัตรเช้าเจริญพรหมวิหาร  4  นั่งสมาธิแสวงหาที่วิเวกสำหรับกลางวัน  ทำความเพียรตลอดเวลาบ่าย  3  โมง  ออกจากวิเวก  จัดเครื่องยาเลี้ยงน้ำร้อน  เสร็จแล้วชำระปัดกวาดวัดวาอาวาส  สรงน้ำชำระกาย  ประกอบข้อวัตรตามหน้าที่

7)  ตอนเย็นตั้งแต่เวลาย่ำค่ำแล้วไป  ให้หยุดการงานทั้งปวงหมดทุกอย่าง  เตรียมตัวเข้าหาพระอาจารย์ศึกษาหาอุบายทำใจได้ดีแล้ว  เดินจงกรมทำวัตรเย็นเจริญพรหมวิหารนั่งสมาธิทำจิตใจต่อไป

8)  ตอนมัชฌิมยาม  นอนสีหไสยาสน์เอามือซ้ายวางทับมือขวา  เอาขาซ้ายวางทับขาขวา  แต่ให้ลดลงไปประมาณครึ่งฝ่ามือหรือครึ่งแข้ง  มีเวลานอนตั้งแต่  4  ทุ่ม  ถึง  9  ทุ่ม  พึงลุกขึ้นแต่เช้า  แล้วถวายน้ำบ้วนปากและไม้สีฟัน  และกระทำความเพียรต่อไปจนสว่างเป็นวันใหม่

9)  เมื่อพระอุปัชฌาย์มีกิจธุระ  เช่น  ซักผ้า  ย้อมผ้า  โกนผม  โกนคิ้ว  สัทธิวิหาริกต้องรับภาระธุระทำแทน  หรือช่วยอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ตลอดไป

10) สัทธิวิหาริกหรืออันเตวาสิกต้องเป็นผู้ฉลาดรู้จักนิสัยใจคอ  ของพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ต้องเป็นผู้ขอนิสัย  อยู่ในสำนักพระอุปัชฌาย์หรือพระอาจารย์  ตั้งแต่วันอุปสมบท  ตลอดถึงห้าพรรษา

11) สัทธิวิหาริกหรืออันเตวาสิก  ต้องเป็นผู้มีองค์คุณ  5  ประการ  คือ

1.  อธิมตฺโต  ปสาโท โหติ        มีความเลื่อมใสยิ่งนัก

2.  อธิมตฺตํ   เปมํ โหติ             มีความรักใคร่ยิ่งนัก

3.  อธิมตฺโต  คารโว โหติ         มีความเคารพยิ่งนัก

4.  อธิมตฺตา   หิริ โหติ             มีความละอายยิ่งนัก

5.  อธิมตฺตา   ภาวนา โหติ      มีความเจริญเมตตายิ่งนัก

ในพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์  ถ้าขาดจากองค์คุณ  5  ประการนี้แล้ว  พระอุปัชฌาย์หรือ

พระอาจารย์ต้องประณามนิสสัย  ถ้าไม่ประณามนิสสัยพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ต้องอาบัติทุกกฏ   

(ข้อกติกาสงฆ์สัมมา ปฏิบัติว่าด้วยข้อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ. 2539)