test วัดสันติธรรม : Santidham : นครเชียงใหม่

รับได้ไหม? กับสิ่งที่ได้รับ

 

รับได้ไหม? กับสิ่งที่ได้รับ


เราปล่อยให้ดวงจิตที่รับไม่ได้ลอยนวลมานานเท่าไร  ทำให้เราต้องสติแตก  ร้องแรกแหกกระเชอ  โวยวาย  กลัดกลุ้ม รุ่มร้อน  เกรี้ยวกราด  

ทุกครั้งที่พบกับสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ  จะทำอย่างไร ในเมื่อการยอมรับง่าย ๆ  แต่ทำได้ไม่ง่ายอย่างที่คิด


โดย อะมะตะ

phramahaamorntep@gmail.com


๙  กันยานยน  ๒๕๕๐

ภาพประกอบจาก Intermet


. . . . . . . . ตั้งแต่วันแรกที่เราลืมตาขึ้นมาดูโลก  เราก็ร้องให้โวยวายทันทีที่พ้นจากท้องแม่  เสียงของเราดังลั่นโรงพยาบาล  โดยที่ขณะนั้น  เราก็ไม่รู้ว่า เกิดอะไรขึ้น  และบัดนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าวันนั้นเกิดอะไรขึ้น  วันเวลาล่วงเลยผ่านมา หลายวัน เดือน ปี  เราค่อย ๆ  รับหลาย ๆ สิ่งเข้ามาไว้ในหน่วยความจำและบันทึกสิ่งต่าง ๆ ที่เราชอบ และ ไม่ชอบไว้ในใจของเรา


เราเริ่มรับสัมผัสและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวพร้อมกับจำว่าสิ่งนี้ชอบสิ่งนี้ไม่ชอบ สิ่งนี้ถูก สิ่งนี้ผิด สิ่งนี้สวย สิ่งนี้ไม่สวย สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดี พร้อมกันนั้นเราก็ค่อย ๆ สร้างกำแพง ขึ้นมาห่อหุ้มใจของเรา ให้ใจที่เคยเปิดกว้างมีพื้นที่ว่างมากมาย เริ่มแคบลง ๆ จากที่ครั้งเดิมเรารับได้ทุกอย่าง จนมาถึงวันนี้มีหลายอย่างที่เราไม่อาจรับได้อีกต่อไป


ในวันหนึ่ง ๆ เราจะต้องพบกับหลาย ๆ สิ่งที่ผ่านเข้ามาหาเรา ทั้งสิ่งน่าชอบใจ  เช่น  รูปสวยงาม  อาหารเลิศรส  บทเพลงอันไพเราะ  กลิ่นน้ำหอมอันเย้ายวล  เป็นต้น  หรือสิ่งที่ไม่ชอบใจ อันได้แก่ปัญหาร้อยแปด พันเก้า  รถติด  เจ้านายดุ  เพื่อนร่วมงานไม่ถูกชะตา  งานมีแต่ปัญหา  เวลาไม่ลงตัว  เงินเดือนไม่พอจ่าย  ทะเลาะกับแฟนทุกวัน  โรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน  เป็นหนี้สิ้นหลายล้าน  เป็นต้น  เรื่องเหล่านี้ เมื่อเจอกับใคร ก็ต้องบ่นปวดศีรษะทั้งนั้น  และรู้สึกว่ามันยากที่จะรับไหว  จนบางคนคิดหาทางออกไม่ได้  ถึงกับคิดสั้นก็มี  เราจะหาทางออกอย่างไร  ให้กับตัวเอง  เมื่อเราได้รับปัญหาเหล่านี้


เราควรนึกไว้เสมอว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ มีทั้งด้านสว่างและด้านมืด  ถ้ามีเจริญ  ก็มีเสื่อม  มีดี  มีชั่ว  ทั้งคู่นั้นเราทุกคนจะต้องประสบด้วยกันทั้งนั้น  เมื่อมีปัญหา  ก็ต้องมีทางแก้  เพียงแต่ว่าเราจะต้องอาศัยเวลา  สติ  ปัญญา  และกำลังใจ  ซึ่งอาจจะได้จากตัวของเราเองให้กำลังใจตัวเอง  เพื่อจะสู้ต่อ และหาทางแก้ไข  จะต้องพบวิธีการและทางออกได้แน่ ๆ  เราอย่าให้ความมืด  และความสว่างนั้นมามีอำนาจเหนือจิตใจเรา  อย่ายินดีกับสิ่งที่พอใจจนเกินไป  อย่าเสียใจกับสิ่งที่เร็วร้าย  จนเป็นทุกข์  ควรหาทางสายกลางที่เป็นอิสระ  จากทั้งสองอย่างนั้น ด้วยตัวของเราเอง


โดยความเป็นจริงแล้ว  สิ่งต่าง ๆ  นั้นมีความเป็นกลางของเขาอยู่เสมอ  อธิบายว่า  สิ่งบางอย่างไม่ดีสำหรับเรา แต่ดีสำหรับคนอื่น  ไม่สวยสำหรับเราแต่สวยสำหรับคนอื่น  เช่น  อุจจาระเป็นของน่ารังเกียจสำหรับมนุษย์  แต่เป็นที่ชอบใจของแมลงวันและสุนัข   นั้นแสดงว่า  สิ่งนั้นไม่ได้ดีหรือไม่ดี  สวยหรือไม่สวย  แต่ความดีไม่ดี  สวยไม่สวย  อยู่ที่ทัศนคติของบุคคลต่างหาก  ดังนั้นอารมณ์ทุกอย่างจึงเป็นกลาง  คือว่างจาก ดีและไม่ดี

               


การที่เราเกิดอาการรับไม่ได้ในอารมณ์บางอย่าง เพราะเรามีท่าทีกับอารมณ์นั้นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี รับไม่ได้   เช่น  โดนคนอื่นว่าร้าย  ให้เสียหาย   ถ้าเราไม่มีสติ  ปัญญา  ไม่เท่าทันอารมณ์  ก็จะแสดงอาการปั่นป่วนขึ้นมาอย่างแรง   ถึงกับระเบิดอารมณ์โต้ตอบ ออกมาอย่างไร้สติ  จนใคร ๆ รอบ ๆ ข้างเรา เกิดอาการรับเราไม่ได้เช่นกัน   แต่ถ้าหากเรามีสติรู้ใจของตนเอง  ระงับข่มอารมณ์ไว้ก่อน  แล้วให้ใช้ปัญญาพิจารณาว่าเราผิดหรือไม่ผิดตามความเป็นจริง  หากเราผิดก็ไม่ต้องโต้ตอบ  ถือว่าเขาเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้  หากเราไม่ผิดก็วางเฉยเสีย  ถือว่าเขาพ่ายแพ้ต่ออารมณ์ของเขา 

ในเวลาที่เราต้องพบก็เรื่องที่รับไม่ได้  การปล่อยวางเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก  ต่อจิตใจของเรา  ถึงแม้ว่าเรื่องของคำพูด กับการกระทำ เป็นคนละเรื่องกัน  พูดนั้นง่าย  ทำนั้นยาก  แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย เพราะ แม้การปล่อยวาง  ก็เป็นกลาง ๆ เช่นกัน  คือ  การปล่อยวางเป็นเรื่องยากของผู้ไม่ได้ฝึกหัดปล่อยว่าง  แต่เป็นเรื่องง่ายของผู้ฝึกฝนจนช่ำชอง  


การฝึกหัดปล่อยวาง เริ่มต้นจากการรู้จักตนเอง  ดูอารมณ์ของตนเอง  แล้วให้รู้จักว่าทุก ๆ อย่างนั้นมีความเป็นกลางอยู่ถ้าเราฉลาดที่จะมองให้เห็น ควาวนี้เมื่อต้องพบกับสิ่งที่รับไม่ได้  เราก็ไม่ต้องรับ วางลงเสียโดยความเป็นกลาง  วางจากความชอบ และไม่ชอบ  รัก หรือเกลียด ดี หรือไม่ดี  เห็นเป็นของธรรมดา  ธรรมชาติของสิ่งนี้เป็นอย่างนี้  แล้วรู้ทันใจผู้รับ สอนผู้รับให้รู้จักวาง ก็จะเบาในภายในของใจเรา


ผู้ที่ไม่ได้ฝึกหัดดูจิตของตนมักจะรับทุกอย่างเข้ามาแบกไว้ในใจและเผาใจตนเองให้เดือดร้อน  ส่วนผู้ที่ฝึกหัดดูจิตของตน จะรับได้  แต่ไม่ถือ ไม่ยึดอะไรสักอย่าง  ทั้งชอบและไม่ชอบ  เพราะผู้นั้นรับได้แล้วรู้จักวาง  คือ รู้ทันธรรมชาติของสิ่งที่มากระทบและสิ่งที่ถูกกระทบจิตก็จะเป็นกลางเองโดยอัตตโนมัติ และก็จะเกิดความสุข  สงบ  ร่มเย็น ในภายในของตนเอง  ดังเช่น  ธรรมะโอวาทของพระเดชพระคุณ พระราชนิโรธรังสี (หลวงปู่เทสก์  เทสฺรํสี)  วัดหินหมากเป้ง  ได้กล่าวไว้ว่า  “ผู้ใดทำใจให้ถึงความเป็นกลางได้  ผู้นั้นจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง”