test วัดสันติธรรม : Santidham : นครเชียงใหม่

คาถากันผีที่ดีที่สุดของพระพุทธเจ้า

 

 

คาถากันผีที่ดีที่สุดของพระพุทธเจ้า


คนเรานั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาดที่สุด  เวลาอยู่ด้วยกันก็รักกันดี  แต่พอตายจากกันแล้วกับกลัวที่จะพบหน้า 

หาว่าเป็นผี  เสาะหาคาถาดี  ๆ  มาไล่  เวลาหมู  เป็ด ไก่  วัว  ควาย  ตาย  ไม่เห็นจะกว่าผีหมู  ผีเป็ด  ผีไก่  แต่ผีคนนั้นกลัวจริง ๆ  

ถ้ากลัวก็ต้องหาคาถากันผีนะสิ  ลองดูคาถากันผีของพระพุทธเจ้าดู ว่าจะสุดยอดขนาดไหน

เรียบเรียงโดย

อมรเทโว ภิกขุ 

phramahaamorntep@gmail.com

๑๔ กันยายน ๒๕๕๐

ภาพประกอบจากไตรภูมิพระร่วงและInternet


ในวัฒนธรรมของทุกชนชาติในโลกมีความเชื่อเรื่องผีเจือปนอยู่ด้วยทั้งนั้น  นั่นก็เพราะมนุษย์มีความเชื่อว่า  ความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต  หากแต่เป็นการเริ่มต้นใหม่ของชีวิตหลังความตาย  เวลาที่คนที่ตายแล้วมาปรากฏตัวให้คนเป็นได้เห็น  บางคนก็ไม่กลัว  แต่บางคนกลัวจนจับไข้  จึงมีการคิดค้นวิธีการที่จะขับไล่  หรือ เอาชนะผี  โดยแท้ที่จริงก็คือเอาชนะความกลัวของมนุษย์  โดยกลุ่มคนที่เป็นนักบวช  หรือ หมอผี  จึงเกิดมีคาถาอาคม  เครื่องราง  ของขลัง เพื่อป้องกันผี

ในพระพุทธศาสนา  ก็มีความเชื่อว่า  พระสูตรบางบทนั้นมีอานุภาพ  ในทางป้องกัน  และขับไล่ผีได้  ซึ่งมีอยู่ ๓  สูตรสำคัญด้วยกัน  คือ  รตนสูตร   กรณียเมตตสูตร  และ อาฏานาติยสูตร  ในพระสูตรทั้งสามนี้พระพุทธเจ้าทรงยกย่อง  กรณียเมตตสูตร  ว่าเป็น  ธัมมาวุธ  อันวิเศษยิ่ง  ถ้าผู้ใดท่องบ่นสาธยายแล้ว ภูตผีปีศาจ จะไม่เข้ามารบกวนได้  นั่นก็เนื่องมาจากตำนานแห่งการเกิดพระสูตรนี้  เป็นเรื่องพระภิกษุ ๕๐๐  รูป  เรียนกัมมัฏฐานในสำนักของพระพุทธเจ้า  แล้วออกไปอยู่ในป่าที่มีรุกขเทวดาอาศัยอยู่  พระภิกษุเหล่านั้นอาศัยอยู่โคนต้นไม้  รุกขเทวดาไม่สามารถขึ้นอยู่บนต้นไม้ได้  เพราะคุณแห่งศีลของภิกษุเหล่านั้น  วันแรก ๆ  ก็ไม่เป็นไร  แต่พระภิกษุเหล่านั้นอยู่จำพรรษาในป่านั้น  ทำให้รุกขเทวดาทั้งหลายลำบากอย่างหนัก จึงวางแผนกันที่จะขับไล่เหล่าพระภิกษุให้ออกไปจากป่า 


จึงได้แสดงอาการหลอกหลอน โดยประการต่าง ๆ  เป็นปิศาจมีรูปร่างพิกลเช่นหัวขาดเป็นต้น  ส่งเสียงอันน่าหวาดเสียว  และแกล้งใหเจ็บไข้ได้ป่วย  เป็นต้น  พระภิกษุเหล่านั้นจึงทนอยู่ไม่ได้  กลับมาหาพระพุทธองค์  ในระหว่างพรรษา  พระพุทธองค์จึงทรงประทาน  ธัมมาวุธ  คือ  กรณียเมตตสูตรอันนี้ให้ภิกษุเหล่านั้น  ไปท่องบ่นสาธยาย  และปฏิบัติตาม  ซึ่งก็ได้ผลทีเดียว  คราวนี้รุกขเทวดาเหล่านั้นไม่มารบกวนพระภิกษุอีกกลับมีความรักและเมตตาในเหล่าพระภิกษุนั้น  คอยช่วยเหลือ โดยประการต่าง ๆ  นั่นแสดงว่า  แท้ที่จริงพระสูตรนี้ไม่ใช่คาถาไล่ผี  แต่เป็นคาถาที่ทำให้ผีรัก  และเป็นหลักปฏิบัติสำหรับผู้หวังพระนิพพาน  เราจึงควรลองมาดูความหมายที่แท้จริงของพระสูตรนี้ดังคำแปลว่า

 

                กรณียมัตถกุสเลน  ยันตัง  สันตัง  ปทัง  อภิสเมจจ  ภิกษุผู้ฉลาดในประโยชน์ ผู้ปรารถนาจะบรรลุถึงทางอันสงบระงับคือพระนิพพาน อันเป็นที่สงบระงับกิเลสและกองทุกข์  มีกิจอันใดที่พึงจะกระทำตามหน้าที่  พึงกระทำกรณียกิจนั้นให้ครบครันด้วยองคคุณคือ 

 สักโก  ให้เป็นผู้องอาจ คือ สามารถในหน้าที่ 

อุชู  ให้เป็นคนตรง  คือตรงต่อหน้าที่  ตรงต่อบุคคล  ตรงต่อกิจการ  ตรงต่อความปฏิบัติของตน 

สุหุชู  ให้ประพฤติตนเป็นคนซื่อ  คือได้ภักดีเคารพนับถือผู้ใดแล้ว  เมื่อเห็นคุณสมบัติผู้นั้นจนแจ้งปรากฏอยู่  แม้ท่านผู้นั้นจะไม่ได้อำนวยประโยชน์เสมอ ๆ  แต่เลื่อมใสศรัทธาเห็นคุณสมบัติความประพฤติปฏิบัติของท่านเป็นอันดีแล้ว  ก็จงรักษภักดีซื่อต่อผู้นั้นไม่คลืนคลาย 

สุวโจ  ต้องเป็นคนว่าง่ายสอนง่าย  อยู่ในโอวาท 

มุทุ  ต้องเป็นคนอ่อนโยน  มีนิสัยสุภาพเรียบร้อยสงบเสงี่ยม

อนติมานี  ต้องเป็นคนไม่มีความเย่อหยิ่งถือตัวอันเป็นเครื่องอุปการะแก่ความอ่อนโยนนั้น

สันตุสสโก  เป็นผู้สันโดษยินดี เฉพาะจะได้  แต่ที่ควรไม่เป็นผู้ทะเยอทะยาน  แสวงหาด้วยอำนาจโลภเจตนา

สุภโร  เป็นผู้เลี้ยงง่าย  ชีวิตของบุคคลอยู่ด้วยอาหารและปัจจัยที่จะยังชีวิตให้เป็นอยู่แต่ถ้าเป็นผู้เลี้ยงยาก  ย่อมเป็นความลำบากแก่ตนเอง  ไม่เป็นกรณียะที่จะพึง  ปฏิบัติต่อเป็นผู้เลี้ยงง่าย  มีปัจจัยเลี้ยงชีพพอสมควรชื่อว่า  เป็นผู้ประกอบกรณียะอันสมควรส่วนหนึ่ง 

อัปปกิจโจ  เป็นผู้มีกิจน้อย  คือมุ่งหมายที่จะกระทำกิจเพียงตามหน้าที่  ไม่แส่หากรณียกิจอันนอกเรื่อง 

สัลลหุกวุตติ  เป็นผู้มีความประพฤติเบาพร้อม  คือเป็นคนเบาไปไหนไปได้สะดวก  ไม่ห่วงพะรุงพะรังห่วงหน้าห่วงหลัง  ซึ่งเป็นเหตุให้ไม่สามารถจะข้ามพ้น  บ่วงแห่งมาร  หรือห่วงแห่งวัฏฏสงสารไปได้

สันตินทริโย  เป็นผู้มีอินทรีย์อันสงบระงับ

นิปโก  เป็นผู้มีปัญญารักษาตน

อัปปคัพโภ  เป็นผู้ไม่คะนอง 

กุเลสุ  อนนุคิทโธ  เป็นผู้ไม่ข้องไม่ติด  ในสกุลทั้งหลาย

น  จ  ขุททัง  สมาจเร  กิญจิ  เยน  วิญญู  ปเร  อุปวเทยยุง  ไม่พึงประพฤติตนเป็นคนมักกินที่เป็นเหตุให้วิญญูชนติเตียนได้

สุขิโน  วา  เขมิโน  โหนตุ,  สัพเพ  สัตตา  ภวันตุ  สุขิตัตตา,   เย  เกจิ  ปาณภูตตฺถิ,   ตสา  วา  ถาวรา   วา  อนวเสสา   ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง  ทั่วทุกหมู่ ทั่วทุกภพจบจักรวาฬ  จงเป็นผู้มีความสุข  มีความเกษมสำราญ  ปลอดโปร่งใจ  มีตนถึงแล้วซึ่งความสุข จะเป็นสัตว์มีชีวิต  อย่างใด ๆ  ก็ดี    

ตสา  วา  เป็นผู้มีสติความเป็นไปหวาดเสียวหวั่นไหวไม่มั่นคงก็ดี  

ถาวรา   วา  เป็นผู้มีจิตมั่นคงหนักแน่นก็ดี  

อนวเสสา  ทั่วหน้าไม่มีเหลือ  

ทีฆา  วา  เย  มหันตา  วา  มัชฌิมา  รัสสกา  อนุกถูลา  สัตว์เหล่านั้น  มีร่างกายยาวก็ดี  มีร่างกายใหญ่ก็ดี  มีร่างกายเป็นปานกลางก็ดี  มีร่างกายสั้นก็ดี  มีร่างกายละเอียดและหยาบก็ดี  

ทิฏฐา  วา  เย  จ   อทิฏฐา  เย  จ    ทูเร  วสันติ  อวิทูเร  สัตว์เหล่านั้น  เราจะได้เคยเห็นรู้จักกันแล้วก็ดี ยังไม่เคยพบเห็นรู้จักกันก็ดี  อยู่ในที่ใกล้ก็ดี  อยู่ในที่ไกลก็ดี   

ภูตา  วา  สัมภเวสี  วา  สัพเพ  สัตตา  ภวันตุ  สุขิตัตตา  สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น  เป็นผู้เกิดแล้วก็ดี  เป็นผู้ยังเป็นอทิสมานกายยังแสวงหาที่เกิดอยู่ยังหาที่เกิดมิได้ก็ดี  ขอสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นทั้งหมด  จงเป็นผู้มีตนถึงแล้วซึ่งความสุขเถิด  ขออย่างได้เป็นผู้มีความทุกข์เลย

 น ปโร  ปรัง  นิกุพเพถ  นาติมัญเญถ  กัตถจิ  นัง  กิญจิ  ขอบุคคลอื่น  จงอย่ากระทำความข่มเหงเบียดเบียนบุคคลอื่นเลยและขอใคร ๆ  อย่าพึงดูหมิ่นเหยียดหยามบุคคลอื่นสัตว์อื่นในที่ไหน ๆ เลย

พยาโรสนา  ปฏีฆสัญญา  นาญญมัญญัสส  ทุกขมิจเฉยย  ขอสัตว์ทุกหมู่เหล่าอย่าได้ปรารถนาความทุกข์แก่กันเลย  เพราะมีจิตคิดประทุษร้ายกันอย่างใดอย่างหนึ่ง  หรือแม้จะมีสัญญาความเคียดแค้นหมายมั่น  กำหนดจดจำความที่กระทบกระทั่งอันใดอันหนึ่งแก่กันก็ดี

มาตา  ยถา  นิยัง  ปุตตัง   อายุสา  เอกปุตตมนุรักเข  เอวัมปิ  สัพพภูเตสุ  มานสมฺภาวเย  อปริมาณัง  มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตนด้วยยอมพร่าชีวิตได้ฉันใด พึงเป็นผู้มีจิตเมตตาในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น

เมตตัญจ  สัพพโลกัสมิง  มานสัมภาวเย  อปริมาณัง  อุทธัง  อโธ  จ  ติริยัญจ  อสัมพาธัง  อเวรัง  อสปัตตัง  บุคคลพึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณไปในโลกทั้งสิ้น  ทั้งเบื้องบน  เบื้องต่ำ  เบื้องเฉียง  เป็นธรรมอันไม่คับแคบ  ไม่มีเวร  ไม่มีศัตรู

ติฏฐันจรัง  นิสินโน  วา  สยาโน  วา  ยาวตสฺส  วิคตมิทโธ  เอตัง  สติง  อธิฏเฐยย  พรหมเนตัง  วิหารัง  อธิมาหุ  ทั้งในเวลายืนเดินนั่งนอน  ตลอดทุกอิริยาบถ  ชั่วกาลที่ยังไม่หลับเสีย  คือ  ยังมีสติสัมปชัญญะรู้สึกอยู่ไม่ใช่คนหลับเพียงใด  พึงตั้งสติอันนั้นไว้เพียงนั้น  บัณฑิตทั้งหลายกล่าวกิริยาอันนั้นว่าเป็นพรหมวิหารในพระศาสนานี้

ทิฏฐิญจ  อนุปคัมม  สีลวา  ทัสสเนน  สัมปันโน   บุคคลผู้ที่มีพรหมวิหารเป็นเรือนใจ  ไม่เข้าถึงคือิงอาศัยทิฏฐิความถือสั่นถือรั้น  เป็นผู้มีศีล  ถึงพร้อมด้วยทัสสระ  คือ ปัญญาที่เห็นชอบ

กาเมสุ  วิเนยย  เคธัง  น  หิ  ชาตุ  คัพภเสยยัง  ปุนเรติ  พึงกำจัดพึงตัดเสียซึ่งความหยั่งลง  ความคิดอยู่ในกามารมณ์ทั้งหลาย  พึงเป็นผู้ไม่เข้าถึงความเป็นคัพเภเสยยกสัตว์  คือ  เป็นผู้เกิดอีก  ได้แก่ถึงที่สุดแห่งทุกข์  ในอวสานดังนี้ฯ

กรณียเมตตสูตร  ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนามาแต่เบื้องต้น  ทรงสั่งสอนภิกษุบริษัทผู้มุ่งหมาย  ประโยชน์เพื่อประพฤติปฏิบัติให้ลุถึงที่สุดแห่งความสงบระงับคือพระนิพพาน  โดยทรงสอนให้เป็นผู้ฉลาดในประโยชน์  เมื่อมีจิตมุ่งหมายที่จะประพฤติปฏิบัติให้ลุถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว  พึงเป็นผู้มีคุณสมบัติบำเพ็ญกรณียกิจนั้น ๆ  ด้วยคุณลักษณะเป็นลำดับ ๆ  ไป  แต่ข้อสำคัญให้เป็นผู้มีเมตตากรุณาแก่สรรพสัตว์ไม่มีประมาณ  อันเป็นส่วนแห่งอัปปมัญญาพรหมวิหารธรรมคือ  ปรารถนาความสุข  ปรารถนาที่จะช่วยบำบัดทุกข์ของคนทั้งหลายสัตว์ทั้งหลายทั่วหน้า  และในลำดับสุดท้าย  ทรงสอนให้เป็นผู้มีศีลมั่นคงอยู่ในศีลธรรมปฏิบัติ  โดยไม่ให้เข้าไปถึงเข้าอิงอาศัยทิฏฐิ  คือ  ความยึดมั่นถือมั่นด้วยประการต่าง ๆ  ให้มุ่งหมายแต่ความประพฤติปฏิบัติเป็นการสำคัญ  และความปฏิบัตินั้นให้ถึงพร้อมด้วยทัสสนะคือปัญญาญาณ  ดวงตาที่เห็นด้วยปัญญารู้สภาวะของสังขารอันเป็นไปตามจริงอย่างไร  แล้วปล่อยวางความยึดมั่น  ด้วยประการทั้งปวง  กำจัดหรือนำความหยั่งลงในเบญจพิธกามคุณารมณ์อันเป็นบ่วงคล้องใจให้ติดอยู่ออกเสียได้ด้วยประการทั้งปวง  และในที่สุดทรงแสดงถึงผลแห่งความปฏิบัติ ไม่ต้องเข้าถึงความเป็นคัพภเสยยกสัตว์  คือ สัตว์ผู้จะนอนในครรภ์อีกต่อไป  ได้แก่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ในอวสานฯ 

ที่มา: กรณียเมตตสุตตเทศนา  ของ  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  กิตติโสภณมหาเถระ  สมเด็จพระสังฆราช  

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ๕ ธันวาคม  ๒๕๒๐