test วัดสันติธรรม : Santidham : นครเชียงใหม่

พระอรหันต์ในเพศฆราวาส

 

เมื่อบรรลุพระอรหันต์ในเพศฆราวาส  จะต้องนิพพานภายใน  ๗  วัน  

ต้องออกบวชจึงจะมีชีวิตต่อไปอีกเช่นนั้นหรือ ?

 

เรียบเรียงโดย

สุกิตตยานนท์

 

เพศฆราวาส หมายถึง การหนาแน่น  หมักหมมอยู่กับเรื่องโลกีย์  เช่นคนที่เป็นฆราวาสจริง ๆ เขาทำกันอยู่  เพศบรรพชิต หมายถึง เพศที่สละสิ่งของเหล่านั้นออกไปแล้ว  อย่าหมายเพียงโกนหัวนุ่งผ้าเหลืองอยู่วัดเท่านั้น   เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับเพศฆราวาส  ก็แล้วทำไมจึงต้องตายหากท่านอยู่ในเพศฆราวาส  หรือตายในทั้ง ๆ ที่เรียกว่า เพศบรรพชิต


ทำไมปลาน้ำจืดจึงตาย  เมื่อต้องไปอยู่ในน้ำเค็ม?  เพราะเกลือที่อยู่ในน้ำนั้นมันไม่ถูกกันกับตัวของปลาน้ำจืด  ในเพศฆราวาสที่เป็นฆราวาสจริง ๆ  มีอะไรที่คล้ายกับเกลือ  แม้พระอรหันต์จะเคยเป็นฆราวาสมาก่อน  ซึ่งก็เหมือนเคยอยู่เค็มมาก่อนแล้ว  แต่บัดนี้มากลายเป็นตรงข้ามเสียแล้ว  กายของท่านไม่ถูกกับที่อยู่เก่าอีกต่อไป  สำหรับใจของท่านแม้จะให้อยู่ก็เท่ากับไม่อยู่  เพราะความที่ใจไม่ยึดถือสิ่งใด  แต่ส่วนกายที่เป็นเพียงวัตถุนั้น   เมื่อใดที่มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นข้าศึก ย่อมกระสับกระส่าย   เลยต้องอนุมานเอาว่าท่านจะต้องตายภายใน  ๗  วัน


 ที่ต้องอนุมานก็เพราะว่า   พระอรหันต์ท่านไม่เคยอยู่และอยู่ไม่ได้ในเพศฆราวาส  แม้จะให้ท่านอยู่ที่บ้านนุ่งผ้าสี  ท่านก็ต้องมีอะไร ๆ ในตัวท่านที่เป็นบรรพชิตอยู่นั่นเอง ไม่มีอะไรมาทำให้ใจท่านเปลี่ยนเป็นใจฆราวาสไปได้   มันจึงเท่ากับจับมาขังคุกเมื่อถูกบังคับ (ซึ่งทำได้แต่ทางกาย)  หนักเข้าก็ต้องตายไปโดยส่วนกาย หรือสังขารธรรม แต่ท่านหาได้ตายไม่  เพราะฉะนั้น จึงได้กล่าวว่า ไม่มีใครสามารถจับพระอรหันต์ใส่ลงไปในเพศฆราวาสได้เลย เพราะเหตุนี้ที่ต้องสมมุติว่า ถ้าอยู่หรือขืนอยู่จะต้องมอดดับไปเหมือนไฟที่เขาวางไว้กลางฝน  จึงมีคำว่า  “นัยว่า”  ในเมื่อกล่าวถึงเรื่องนี้


 

ทั้งนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นลักษณะแห่งการเปลี่ยนแปลงของท่านว่า  มีอยู่อย่างประหลาดใจเท่านั้น  แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากว่าเกิดมีใครที่บังคับให้ท่านครองชีพอย่างฆราวาสให้ได้จริง ๆ   ก็ต้องตายจริงด้วยเหตุดังกล่าวนี้ แต่มันไม่เป็นวิสัยที่ใครจะไปบังคับท่านได้  เพราะเหตุที่จิตเปลี่ยนไปตรงกันข้าม  แม้กระทั้งมนุษย์  เทวดา  พรหม  หรืออะไรอื่นอีกทั้งหมดรวมกันก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจท่านได้  เพราะฉะนั้นท่านจะครองชีพฆราวาสบริโภคกามได้อย่างไร



 


ที่มา : พุทธทาส ภิกขุ, เขียนมาตอบไป, ๑๑๐ - ๑๑๒, สำนักพิมพ์ธรรมสภา, ๒๕๔๒