แนวทางปฏิบัติเพื่อสันติสุข โดย พระนพีสีพิศาลคุณ (หลวงพ่อมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต) วัดสันติธรรม เชียงใหม่
|
ความสุข คือความสบาย มี ๒ อย่าง คือ
๑. ความสุขทางกาย หมายถึงความสบายอันเกิดจากความเป็นผู้มีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคาพาธ
๒. ความสบายทางใจ ได้แก่ ความสบายอันเกิดจากใจที่ได้รับอารมณ์อันเป็นที่น่าพอใจ มีรูปเป็นต้น
อารมณ์ที่น่าพอใจ มี ๒ อย่าง คือ
๑. อารมณ์อันเกิดจากกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันเป็นที่น่ารักใคร่ น่าพอใจ
๒. อารมณ์อันเกิดจากความสงบทางใจ ดังพุทธภาษิตว่า นัตถิ สันติ ปะรัง สุขังสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี ดังนี้
ความสุขอันเกิดจากความสงบนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า สันติสุข
สันติสุขได้แก่ความสบายกาย ความสบายใจ อันเกิดจากความสงบ, ความสุขอันเกิดจากความสงบนั้นเป็นความสุขที่ยิ่งกว่าความสุขทั้งหลาย เพราะเป็นความสุขไม่เจือปนด้วยอามิส
ส่วนความสุขที่เกิดจากกามคุณ ๕ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า สหคตทุกข์ คือได้รับทั้งสุข ได้รับทั้งทุกข์ เจือปนกันไป
เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้สร้างสันติสุขให้เกิดมีขึ้นในใจ สันติสุขจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย ศีล สมาธิ ปัญญา
ศีล จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยการรักษาความประพฤติทางกาย ทางวาจามิให้ประพฤติล่วงข้อห้ามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้
สมาธิ จะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะอาศัยการตั้งใจ การรักษาใจ การฝึกใจหรือฝึกสมาธิ ให้เกิดมีขึ้นในใจ โดยไม่ปล่อยใจให้วิ่งไปตามอารมณ์ ที่มากระทบโดยปราศจากสติ หรือปราศจากความรู้สึกตัว
เมื่อผู้ปฏิบัติเพียรพยายามตั้งใจ รักษาใจ ฝึกใจ โดยไม่ปล่อยใจให้วิ่งไปตามอารมณ์ที่มากระทบ รู้อารมณ์ที่ปรากฏนั้นด้วยสติความรู้ตัวแล้ว, สมาธิ ความสงบใจย่อมเกิดขึ้น
ปัญญาความรู้อารมณ์ภายในตามความเป็นจริงย่อมเกิดขึ้น
สันติสุข ความสบายกาย, เบากาย, ความสบายใจ, เบาใจความอิ่มกาย, อิ่มใจ ที่ท่านเรียกว่า ปีติสุข ย่อมเกิดมีขึ้นสมด้วยพระพุทธพจน์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระภิกษุทั้งหลายไว้ว่า สมาธิง ภิกขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย! เธอทั้งหลาย จงทำสมาธิให้เกิด ด้วยว่าชนผู้มีใจตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง ดังนี้
สมาธิ ความตั้งใจมั่น หรือใจมั่นในอารมณ์อันเดียว มี ๓ อย่าง คือ
๑. ขณิกสมาธิ ใจสงบตั้งมั่น มีอารมณ์อันเดียวมีความสุขกาย ความสุขใจ ชั่วขณะหนึ่งแล้วถอนขึ้นมารู้อารมณ์ต่าง ๆ ตามเดิม
๒. อุปจารสมาธิ คือใจสงบตั้งมั่นลง มีอารมณ์เป็นหนึ่ง มีความสบายกาย ความสบายใจ ความอิ่มกาย ความอิ่มใจ ที่ท่านเรียกว่า ปีติสุข เกิดขึ้นในใจ มีปัญญารู้อารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายใน ภายนอก ผู้ปฏิบัติบางคนมีนิมิต คือ ภาพต่าง ๆ ปรากฏขึ้นในใจ เหมือนเห็นภาพต่าง ๆ ในโทรทัศน์ฉะนั้น
๓. อัปปนาสมาธิ คือใจสงบตั้งมั่นลงแน่นหนา มั่นคง มีอารมณ์เป็นหนึ่ง, ใจที่มีความรู้สึกเฉยอยู่เป็นปรกติ ไม่มีความคิด ไม่มีปัญญาความรู้ ไม่มีนิมิตขณะนั้น ไม่มีความรู้สึกกาย ไม่รู้ลมหายใจเข้าออก รู้แต่ใจ กับมีความรู้สึกเฉยอยู่ ผู้ปฏิบัติบางคน ใจสงบรู้เฉยอยู่อย่างนั้นนาน บางคนก็ไม่นาน
เมื่อใจสงบรู้เฉยอยู่อย่างนั้นแล้ว จากนั้นก็จะถอนออกมา รู้ลมหายใจเข้าออกรู้สึกทางร่างกายรู้อารมณ์ต่าง ๆ ตามเดิม ถ้าผู้ปฏิบัติกำหนดให้ใจสงบลง ก็จะสงบลงอีก ใจก็จะถอนขึ้นมารู้อารมณ์อีกอย่างเดิม
ถ้าตั้งใจมั่นลงไม่มีความรู้สึกทางกาย ทั้งทางใจแล้วท่านเรียกว่า โมหสมาธิ เป็นใจสงบด้วยความหลงลืมตัว ส่วนใจที่สงบลงแล้ว รู้กาย รู้ใจ ท่านเรียกว่า ขณิกสมาธิ ใจที่สงบลงแล้ว รู้ใจ รู้อารมณ์เฉยอยู เรียกว่า อุปจารสมาธิ ใจสงบลงแล้ว รู้ใจ รู้อารมณ์เฉยอยู่ แต่ไม่มีความรู้สึกกายขณะสงบนั้น เรียกว่า อัปปนาสมาธิ จึงเรียกว่า สัมมาสมาธิ ในองค์มรรค มี องค์ ๘
สัมมาสมาธิ เท่านั้นจึงจะเป็นทางให้เกิด วิปัสสนา
วิปัสสนาเกิดแล้วเป็นเหตุเกิดวิปัสสนาญาณ
วิปัสสนาญาณเป็นเหตุให้มรรคผล มีโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เป็นต้น เกิดขึ้นกับใจ
การปฏิบัติทำให้สติ, สมาธิ, ปัญญา, เกิดขึ้นในใจเรียกว่า ภาวนา แปลว่า การทำให้มี ให้เป็น ให้เจริญ
การปฏิบัติเพื่อจะให้สติ สมาธิ ปัญญาเกิดขึ้น ต้องเอาใจตั้งรักษาไว้ที่กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง
กรรมฐาน คือ ที่ตั้งของใจ หรือสำนักงานของใจ ท่านจัดไว้ถึง ๔๐ อย่าง แต่ในที่นี้เราใช้ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ อานาปานสติ กายคตาสติ เป็นหลักในการตั้งสติในภาคปฏิบัติ
การนั่งภาวนา หรือการนั่งสมาธิ
ตามปกติ การนั่งสมาธิ ให้นั่งขัดสมาธิ์ เอาขาขวาทับขาซ้าย, เอามือขวาทับมือซ้าย, เอาทับกันไว้ที่ตัก, ตั้งกายให้ตรง แล้วหลับตา, ที่ให้นั่งอย่างนี้ มีความประสงค์มิให้กายไหวง่าย เพราะถ้ากายไหว ดิ้นกระดุกกระดิกอยู่ใจจะไม่สงบ, ถ้าใจสงบอยู่ กายไหว ใจก็จะถอนจากความสงบ
ผู้ไม่สามารถนั่งขัดสมาธิ์ได้ จะนั่งอย่างอื่นก็ย่อมได้ แต่ต้องรักษาใจให้อยู่ในอารมณ์กรรมฐานให้มั่นคง อย่าให้ใจไหวไปตามอาการของร่างกาย
เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว ให้น้อมใจเข้ามารู้สึกร่างกายทำความรูสึกตัวขึ้นมาว่า ขณะนี้เรานั่งอยู่ พร้อมทั้งเอาความรู้สึกควบกับตัวเองไว้ทั้งหมด จากนั้น ให้นึกบริกรรมขึ้นมาในใจว่า พุทโธ, ธัมโม, สังโฆ, นึกบริกรรมกลับไปกลับมาหลาย ๆ ครั้ง
จากนั้น ให้นึกอธิษฐานขึ้นมาในใจว่า ข้าพเจ้าขอปฏิบัติบูชาคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม และคุณของพระอริยสงฆ์ ขอให้ใจของข้าพเจ้าสงบระงับ ตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีความรอบรู้ในกองสังขารด้วยปัญญาเถิด
จากนั้น ประคองใจให้มีความรู้สึก รู้อยู่ที่ทรวงอก แล้วนึกบริกรรมในใจว่า พุทโธ ๆ รักษาการนึกพุทโธ ๆ ให้อยู่ที่ทรวงอกนั้น จากนั้นให้แผ่เมตตา เพื่อตนและผู้อื่น
แผ่เมตตาเพื่อตนว่า เราจงเป็นผู้มีสุข, เราจงเป็นผู้ไม่มีทุกข์, เราจงเป็นผู้ไม่มีเวร, เราจงเป็นผู้ไม่ถูกเบียดเบียน, เราจงเป็นผู้ไม่มีทุกข์ใจ, เราจงเป็นผู้มีสุขรักษาตนเถิด,
แผ่เมตตาเพื่อผู้อื่นว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข, จงเป็นผู้ไม่มีเวร, จงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย, จงเป็นผู้ไม่มีทุกข์ใจ, จงเป็นผู้มีสุขรักษาตน, จงพ้นจากทุกข์ทั้งปวง, จงอย่าไปปราศจากสมบัติอันตนได้แล้ว,
จากนั้นให้แผ่เมตตาไปเพื่อ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติ มิตรสหาย สามีภรรยา ทั้งที่มีชีวิตอยู่ และที่ชีวิตหามิได้
จากนั้น ให้แผ่เมตตาไปแก่ พวกภูต วิญญาณ พวกภูมิเทพ รุกขเทพ อากาศเทพ ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่
ส่วนผู้เคยปฏิบัติได้รับความสงบมาแล้วนั้น ให้นึกบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์แล้วแผ่เมตตา จากนั้นตั้งใจไว้ในกรรมฐาน ดังจะกล่าวต่อไป
เมื่อได้อธิษฐานบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แผ่เมตตาเสร็จแล้ว ต่อจากนั้นให้ตั้งใจไว้ในกรรมฐาน
ในที่นี้จะใช้ ลมหายใจเข้า-ออก กับ พุทโธ เป็นหลักเอาใจมาตั้งไว้ที่ลมหายใจ หายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึกว่า โธ ทำอยู่อย่างนั้น ต้องเพียรพยายามรักษาใจให้อยู่กับ พุทโธ นั้นเป็นเครื่องอยู่ของใจ อย่าให้ใจแวบออกไปจากลมหายใจ เมื่อกำหนดลมหายใจเข้าออกพร้อมกับนึก พุทโธ นานพอสมควรแล้ว ให้หยุดนึก พุทโธ เสีย
จากนั้น ให้เอาใจมาตั้งรู้อยู่ที่ทรวงอก, รักษาใจให้นิ่ง ๆ อยู่, พร้อมทั้งสังเกตให้รู้ลมหายใจเข้าออกที่กระทบอยู่ที่ทรวงอกนั้น จนกว่าลมหายใจจะปรากฏให้ใจรู้ได้ เมื่อลมหายใจเข้าออกปรากฏแล้ว ให้เอาใจตั้งไว้ตรงจุดที่ลมหายใจกระทบรักษาใจไว้ตรงจุดลมกระทบนั้น พร้อมทั้งรู้ลมหายใจเข้าออกแต่ไม่ให้ใจตามลมเข้าออก ให้รู้นิ่งอยู่ที่จุดที่ลมกระทบ พร้อมทั้งรู้ลมด้วย ให้รู้อยู่อย่างนั้น อย่าให้ใจแวบออกไป, ถ้าแวบออกไป ให้เอาใจเข้ามาตั้งไว้ที่จุดตั้งใหม่, ให้ใช้สติประคองรักษาไว้ที่จุดตั้ง, ใช้สมาธิรักษาให้มั่นไว้ที่จุดตั้งนั้น, ใช้ปัญญาให้รู้อารมณ์ทุกชนิดที่ปรากฏขึ้นที่ตรงจุดตั้งนั้น, มิให้ใจแวบออกไปตามอารมณ์ หรืออาการที่ปรากฏขึ้นนั้น กล่าวตามหลักสติปัฏฐานก็คือ อาตาปี ความเพียรเผากิเลส การยกใจตั้งไว้ที่จุดตั้งไม่ให้ตกไป เป็นการเผากิเลส, กิเลส คืออารมณ์เป็นเหตุให้ยินดี อารมณ์เป็นเหตุให้ยินร้าย ให้ใจฟุ้งซ่าน, สัมปชาโน ให้ใจรู้พร้อม ทั้งลมหายใจเข้าออก และอารมณ์ที่เกิดขึ้น สติมา มีสติรักษาใจและอารมณ์ รวมไว้ที่จุดตั้ง
เมื่อรักษาใจให้รู้อยู่ที่จุดที่ลมหายใจกระทบ พร้อมทั้งรู้ลมหายใจเข้า-ออก นานพอสมควรแล้วให้หยุด, จากนั้นให้รักษาใจ ให้รู้อยู่นิ่ง ๆ รู้อยู่ตรงจุดที่ลมกระทบนั่นเอง หรือรักษาความรู้สึก ให้รู้อยู่ที่จุด ที่ลมกระทบนั้น โดยไม่เอาใจใส่ที่ลมกระทบ และลมหายใจ รักษาให้รู้นิ่ง ๆ อยู่อย่างเดียวเท่านั้น, เมื่อรักษาใจให้รู้อยู่นิ่งอยู่อย่างนี้ นานพอสมควรแล้ว เอาใจกลับมารู้ลมหายใจเข้า-ออก และจุดที่ลมกระทบอีก ให้ทำสลับกันไป คือเอาใจมารู้ลมหายใจและจุดที่ลมกระทบ แล้วกลับมารู้นิ่งอยู่ เอาใจรักษาใจ เอาตัวรู้รักษาตัวรู้ โดยไม่สนใจอย่างอื่นนอกจากนิ่งรู้อยู่
เมื่อผู้ปฏิบัติ เพียรพยายามรักษาใจ ให้รู้ลมหายใจเข้าออก รักษาใจไว้ตรงจุดตั้งนั้นแล้ว ลมหายใจจะละเอียดอ่อนลงโดยลำดับ, สุข คือความสบายกาย สบายใจ ความเบากาย เบาใจ ย่อมเกิดขึ้น, ปิติ ความอิ่มกาย ความอิ่มใจ ย่อมเกิดขึ้น เมื่อปีติสุขเกิดขึ้นแล้ว ได้ชื่อว่าใจเข้าสู่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ โดยลำดับ, เมื่อปิติความอิ่มกายอิ่มใจ สุข ความสบายกาย สบายใจ ปรากฏขึ้นแล้ว ให้กำหนดพิจารณาว่า ปีติสุข เป็นสภาพไม่เที่ยงเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปไม่แน่นอน เป็นสภาพเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ แล้วปล่อยวางปีติสุขนั้นไว้ตามสภาพ, อย่าเอาใจใส่ เอาใจใส่แต่การกำหนดรู้ใจและลมหายใจเข้า-ออก ต่อไป
เมื่อผู้ปฏิบัติ กำหนดรู้ใจ รู้ลมหายใจ อยู่อย่างนั้น ลมหายใจจะละเอียดลงโดยลำดับจนดับไป ใจจะรวมลงเข้าสู่จุดตั้ง นิ่งรู้อยู่
เฉย ๆ
ขณะนั้นไม่มีความรู้สึกทางกาย ไม่รู้ลมหายใจเข้า-ออก มีความรู้สึกรู้อยู่ทางใจทางเดียว, มีอารมณ์รู้เฉยอยู่เป็นหลัก, ผู้ปฏิบัติบางคนจะมีความรู้สึกอยู่อย่างนั้นนาน, บางคนไม่นานใจมีอารมณ์อย่างนี้ เรียกว่า ใจเข้าสู่อัปปนาสมาธิ จากนั้นใจจะถอนออกมารู้ลมหายใจเข้า-ออก และมีความรู้สึกทางกายรู้อารมณ์ต่าง ๆ ตามเดิม
เมื่อใจถอนออกมารู้ลมหายใจ รู้กาย รู้อารมณ์ต่าง ๆ แล้ว ให้เอาใจกำหนด รู้ลมหายใจ รู้อารมณ์ที่ปรากฏอยู่ขณะนั้น โดยเอาใจที่ตั้งไว้ที่ลมหายใจ รวมไว้ที่จุดลมกระทบอารมณ์ใดปรากฏขึ้น ให้กำหนดรู้ แล้วพิจารณาลงสู่ ไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง เพราะเกิดดับ ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา เพราะเป็นไปเอง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ๆ
ขณะที่กำหนดรู้อารมณ์ต่าง ๆ พร้อมทั้งพิจารณาลงสู่ไตรลักษณ์ อย่าทิ้งลมหายใจ ต้องเอาใจผูกไว้ที่ลมหายใจ พร้อมกับการพิจารณาด้วย, ถ้าทิ้งลม ทิ้งที่ตั้ง สมาธิจะถอน ใจจะฟุ้งซ่าน, การพิจารณานั้น ให้พิจารณาอารมณ์ที่ปรากฏอยู่ขณะนั้น พิจารณาใจ พิจารณาลมหายใจ กำหนดพิจารณาร่างกาย พิจารณาให้รู้ตามความเป็นจริงแห่งสิ่งเหล่านั้น, แล้วรวมลงสู่ไตรลักษณ์ พิจารณานานพอสมควรแล้วหยุด จากนั้นกำหนดใจนิ่ง รู้อยู่เฉย ๆ เพื่อให้ใจพัก พักจนใจมีกำลังแล้ว กลับไปพิจารณาอีก ทำอยู่อย่างนั้น จนกว่าใจจะรู้ตามความเป็นจริง แล้วปล่อยวาง, ถ้าใจจะฟุ้งซ่านให้กำหนดรู้ที่ใจอีกนาน ๆ
ให้เพียรพยายาม กำหนดพิจารณาอยู่อย่างนั้น จนกว่าวิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้น วิปัสสนาญาณ หมายความว่า ความรู้ ความเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง จะเกิดขึ้นมาเอง โดยมิต้องปรุงแต่งนึกคิด เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ
ขณะที่กำลังปฏิบัติอยู่นั้น ใจจะเป็นสมาธิหรือไม่ก็ตาม, เมื่อจะหยุดให้ถอนใจออก ด้วยการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก โดยการนึก พุท หายใจเข้า, โธ หายใจออก, จากนั้นให้นึกอธิษฐานว่า เราจะอยู่ที่ไหน ไปที่ไหน ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิดอย่างไร จะรักษาใจให้รู้อยู่กับอาการนั้น ๆ เสมอ จะกำหนดลมหายใจเข้า-ออกพร้อมกับพุทโธบ่อย ๆ จากนั้นจึงหยุด แล้วรักษาใจต่อไปอย่าปล่อยใจ
การปฏิบัติภาวนา ตามที่ได้กล่าวมาทั้งหมดแล้วนั้นว่าไปตามขั้นตอนแห่งการปฏิบัติ โดยมิได้กล่าวถึงอุปสรรคในการปฏิบัติเลย ทั้งนี้ข้าพเจ้ากลัวว่า ผู้ปฏิบัติจะสับสนในการปฏิบัติ จึงได้กล่าวไปตามแนวทางแห่งการปฏิบัติตามลำดับจนถึงแดนแห่งวิปัสสนา
อุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในทางปฏิบัตินั้นคือ นิวรณ์ ๕ และนิมิตต่าง ๆ นิวรณ์ ๕ คือ ความพอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจ มีรูปอารมณ์เป็นต้นเรียกว่า กามฉันทะ ๑
ความคิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น เรียกว่า พยาบาท ๑
ความที่จิตหดหู่เคลิบเคลิ้ม ง่วงเหงาหาวนอน เรียกว่า ถีนมิทธะ ๑
ใจฟุ้งซ่านรำคาญ เรียกว่า อุทธัจจกุกกุจจะ ๑
ความลังเลสงสัยในข้อปฏิบัติไม่ตกลงได้เรียกว่า วิจิกิจฉา ๑
นิวรณ์ ๕ เหล่านี้ เมื่อเกิดขึ้นย่อมกั้นจิต มิให้เข้าสู่สมาธิ ผู้ปฏิบัติควรระวัง ถ้าเกิดขึ้นต้องรีบแก้ไข
วิธีแก้ ข้าพเจ้าไม่แนะนำให้ตามหลักปริยัติแต่จะแนะนำวิธีแก้ ตามแนวทางแห่งการปฏิบัติ กล่าวคือ เมื่อนิวรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ให้รีบตั้งใจไว้ในกรรมฐานนั้น ๆ ถ้าใช้กรรมฐานด้วยการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก พร้อมกับพุทโธ ก็ให้รีบตั้งใจกำหนดลมหายใจเข้า-ออกนึก พุท หายใจเข้า, นึก โธ หายใจออก, อยู่อย่างนั้นจนนิวรณ์นั้นสงบระงับ จากนั้นจึงกำหนดใจไปตามขั้นตอนของการปฏิบัติต่อไป
นิมิต หมายถึง ภาพ และ อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ขณะที่ปีติสุขเกิดขึ้นในใจ ขณะใจกำลังสงบ มี ๖ อย่างคือ รูปนิมิต ๑ เสียงนิมิต ๑ กลิ่นนิมิต ๑ รสนิมิต ๑ โผฏฐัพพนิมิต ๑ ธรรมนิมิต ๑
๑. รูปนิมิตนั้น ใจจะปรากฏเห็นภาพต่าง ๆ ทั้งภายใน ทั้งภายนอก เห็นภาพนั้นเหมือนเห็นภาพในจอโทรทัศน์ บางภาพปรากฏแว็บขึ้นมาแล้วดับไป บางภาพปรากฏให้ใจเห็นอยู่นาน
๒. เสียงนิมิตนั้น ใจปรากฏได้ยินเสียงต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่นั้นไม่มีเสียงเหล่านั้น
๓. กลิ่นนิมิตนั้น ปรากฏได้กลิ่นต่าง ๆ มีกลิ่นหอม กลิ่นเหม็น เป็นต้น ทั้ง ๆ ที่นั้นไม่มีสิ่งที่มีกลิ่นหอมและกลิ่นเหม็น
๔. รสนิมิตนั้น หมายถึงมีความอิ่มกาย อิ่มใจ ไม่รู้สึกหิวอาหาร
๕. โผฏฐัพพนิมิตนั้น มีความรู้สึกร้อน รู้สึกหนาว รู้สึกกายสั่นไหว รู้สึกกายสูงขึ้น ต่ำลง รู้สึกกายเล็กลง ๆ หรือรู้สึกร่างกายใหญ่โต
๖. ธรรมนิมิตนั้น รู้สึกมีธรรมเกิดขึ้นในใจ มีอาการถามตอบ, ถามตอบ, ด้วยธรรมอยู่ในใจ
ถ้านิมิตเหล่านี้เกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติปล่อยใจให้เป็นไปตามอาการเหล่านั้น นานเข้าใจย่อมถอนจากสมาธิ, ใจย่อมฟุ้งซ่านไปตามอาการเหล่านั้น ย่อมถึงวิปลาสได้
ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติอย่าปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านไปตามอาการของนิมิตนั้น, ให้รีบตั้งใจไว้ในกรรมฐาน, โดยรวมใจไว้ที่จุดลมหายใจกระทบ, พร้อมทั้งกำหนดรู้อาการเหล่านั้นว่า นั่นคือนิมิต มิใช่ของจริง เป็นสภาพและอาการอันเกิดจากความสงบ แล้วกำหนดอาการเหล่านั้นลงสู่ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง, ทุกขัง ความเป็นทุกข์, อนัตตา ไม่เป็นไปตามอำนาจของใคร,
จากนั้นให้กำหนดแยกออกว่า สิ่งที่ปรากฏให้ใจเห็นนั้นคือ อารมณ์ ได้แก่ ภาพนิมิตและอาการต่าง ๆ ผู้ที่รู้เห็นคือ ใจ, ใจไม่มีตัวตน แต่มีผู้รู้, ธาตุรู้, ซึ่งกำลังรู้อยู่ขณะนี้
รวมความว่า ให้เอาใจกำหนดรู้อารมณ์ คือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนั้น ให้รู้ตามความเป็นจริง กำหนดพิจารณาลงสู่ไตรลักษณ์ แล้วปล่อยวางไว้ตามสภาพคือไม่ให้ใจไปตามอารมณ์เหล่านั้น แต่ให้รู้อยู่ที่ใจ โดยประคองให้รู้อยู่ที่ตั้งที่ลมหายใจกระทบ
วิธีเดินจงกรม
หากมีสถานที่พอจะเดินจงกรมได้ ก็ควรฝึกหัดเดินจงกรมการเดินจงกรมนั้น ให้เดินกลับไป กลับมา, ก่อนเดินให้นึกอธิษฐาน บูชาคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม และคุณของพระอริยสงฆ์, แผ่เมตตาเพื่อตนและผู้อื่น เสร็จแล้ว, ให้เอาใจมากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก โดยนึก พุท หายใจเข้า, นึก โธ หายใจออก เหมือนการนั่ง, จากนั้นให้เดินกลับไปกลับมา, เมื่อกำหนดลมหายใจเข้า พุท โธ ออก นานพอสมควร หยุดนึกพุทโธเสีย, จากนั้นเอาใจมาจดจ่อรู้ลมหายใจเข้า-ออกที่ปลายจมูก, รักษาลมหายใจเข้า-ออกอยู่ที่ปลายจมูกนั้น อย่าให้เผลอ, เดินกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้นจนรู้สึกเหนื่อย จึงหยุด, ก่อนหยุดให้สูดลมหายใจเข้าออก พุท เข้า, โธ ออก หลาย ๆ ครั้ง, จากนั้นให้รักษาใจ ให้รับรู้อารมณ์ทุกชนิดที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยสติสัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัว
การตั้งใจขณะเดินจงกรม อีกแบบหนึ่ง คือให้นึก พุทโธ ๆ พร้อมทั้งทำความรู้สึกกาย เดินกลับไปกลับมาจนรู้สึกเหนื่อยจึงหยุด
วิธีปฏิบัติภาวนาดังกล่าวมาแล้ว เมื่อจะถือเอาเนื้อความโดยย่อแล้วก็พอจะถือเอาวิธีปฏิบัติโดยย่อ ได้ดังนี้คือ
๑. นึกอธิษฐานบูชาคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม และคุณของพระอริยสงฆ์
๒. แผ่เมตตาจิต เพื่อตน และผู้อื่น
๓. ตั้งใจไว้ที่ลมหายใจเข้า-ออก โดยนึก พุท หายใจเข้า, นึก โธ หายใจออก,
๔. หยุดนึก พุทหายใจเข้า, โธหายใจออก, เอาใจมารู้ที่ทรวงอก สังเกตดูลมหายใจเข้า-ออกตรงจุดที่ลมกระทบ
๕. เมื่อลมหายใจเข้า-ออก ปรากฏแล้ว ให้เอาใจจดจ่อไว้ตรงจุดที่ลมกระทบพร้อมทั้งรู้ลมด้วย
๖. ให้กำหนดแยกว่า ผู้ที่รู้ลมหายใจเข้า-ออก และจุดที่ลมกระทบนั้น คือใจ ใจคือความรู้สึกที่มีอยู่ขณะนี้
๗. เมื่อเอาใจให้รู้อยู่ที่ลมหายใจกระทบพร้อมทั้งรู้ลมหายใจเข้า-ออก นานพอสมควรแล้วหยุด จากนั้นให้ใจรู้นิ่งอยู่เฉพาะใจ คือรู้อยู่กับรู้ โดยไม่เอาใจใส่ลมหายใจและที่ลมกระทบนานพอสมควรแล้ว เอาใจกลับมารู้ลมหายใจที่มากระทบอีก
๘. ขณะที่เอาใจรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้า-ออก และที่ลมกระทบนั้น สิ่งใดเกิดขึ้นให้พิจารณาลงสู่ไตรลักษณ์ แล้วปล่อยวาง, กลับมารักษาใจให้รู้อยู่ที่จุดลมกระทบ โดยไม่เอาใจใส่จุดที่ตั้งและลมเลย แต่ให้รู้อยู่กับใจ คือ รู้อยู่กับรู้
๙. เมื่อรู้นิ่งอยู่เฉพาะใจ จนใจกำลังแล้ว ให้เอาใจกลับมากำหนดรู้ลมและจุดที่ลมกระทบ พร้อมทั้งกำหนดพิจารณาลมและกำหนดรู้รูปร่างกาย พิจารณารูปร่างกายรวมลงสู่ไตรลักษณ์แล้วปล่อยวาง กลับมารู้อยู่เฉพาะใจอย่างเดียว
๑๐. เมื่อจะหยุด ให้สูดลมหายใจเข้า-ออก พุท หายใจเข้า, โธ หายใจออก, หลาย ๆ ครั้ง จึงหยุด จากนั้นให้รักษาใจให้รู้ตัวอยู่ทุกอิริยาบถ
เมตตานิสงส์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสแสดงอานิสงส์การแผ่เมตตาจิตไว้ในโอกขาสูตรว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติ อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นโดยลำดับ สั่งสมแล้ว ปรารภด้วยดี พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ ประการ คือ
๑. ย่อมหลับเป็นสุข
๒. ย่อมตื่นเป็นสุข
๓. ย่อมไม่ฝันลามก
๔. ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
๕. ย่อมเป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
๖. เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา
๗. ไฟ ยาพิษ หรือศาสตรา ย่อมไม่กล้ำกรายได้
๘. จิตย่อมตั้งมั่นโดยรวดเร็ว
๙. สีหน้าย่อมผ่องใส
๑๐. เป็นผู้ไม่หลงใหลทำกาละ
๑๑. เมื่อไม่แทงตลอดคุณอันยิ่ง ย่อมเป็นผู้ถึงพรหมโลก
อานิสงส์การเจริญสมาธิ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสแสดงอานิสงส์การเจริญสมาธิ ไว้ในสมาธิสูตรว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย! เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง ก็ภิกษุย่อมรู้ตามความเป็นจริงอย่างไร ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิดและความดับแห่งรูป ความเกิดความดับแห่งความเวทนา ความเกิดความดับแห่งสัญญา ความเกิดความดับแห่งสังขาร ความเกิดความดับแห่งวิญญาณ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ธรรมอันจะนำความสุขมาให้ยิ่งไปกว่าสมาธิย่อมไม่มี ผู้มีจิตตั้งมั่นย่อมไม่เบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี่ทุกข์ นี่เหตุให้เกิดทุกข์ นี่ความดับทุกข์ นี่ทางให้ถึงความดับทุกข์ เมื่อเธอรู้อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ฯ
|
|
|
หน้าหลัก | นพีสีพิศาลคุณาลัย |