ท่านอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร ผู้ไทบ้านบัว เมืองพรรณา สกลนคร ท่านมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต ลาวแง้ว อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่วัดสันติธรรม เมืองเชียงใหม่
วัดสันติธรรม แต่เดิมเป็นที่ดินของคุณพระอาสาสงคราม กว้าง ๘ ไร่ พอจะเป็นวัดได้ ท่านอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร พาหมู่คณะย้ายมาจากบ้านของแม่เลี้ยงดอกจันทร์ คิวลิเปอร์ มีญาติโยมหลายคนช่วยเหลือ ในการสร้างวัด แม่คิ้ม นิ่วนวล เจ็กอั้งยิ้น แม่หม๋า ญาติโยมทางสันกำแพง หลายคนออกเงินสละข้าวของสัมภาระมาช่วย มีแม่แสง ชินวัตร น้อยเงิน พรหมโย น้อยหมู นายเอ็กลั้ง ตลอดจนชาวเวียงอีกหลายคนหลายหมู่ คณะของเจ้านายก็มี จนได้เงินพอเป็นที่จะจ่ายค่าที่ดิน แก่คุณพระอาสาสงคราม
แต่คุณพระอาสาสงคราม ก็รับไว้เพียงแค่ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งก็ถวายคืนให้เป็นทุน ในการสร้างวัด พอตกลงว่าได้ที่ดินแล้ว หมู่ลูกศิษย์ของท่านเจ้าคุณ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และลูกศิษย์ลูกหาของเพิ่นครูอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ก็มาช่วยเหลือ ใครมีอะไรก็มาให้ จนได้เสนาสนะศาลาธรรม กุฏิ ให้พระเณรขุดบ่อน้ำ ทำห้องส้วม ห้องถาน โรงต้มน้ำ สร้างอยู่ ๒ ปี แล้วจึงเสร็จอยู่ได้
จากนั้นก็ทำเรื่องขออนุญาตให้เป็นวัด รอเรื่องอยู่ ๖ ปีกว่า จึงได้รับอนุญาตมาให้เป็นวัด ได้ใส่ชื่อว่า วัดสันติธรรม เมื่อต้นปี ๒๔๙๒ ท่านพระอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร เป็นเจ้าอาวาสต๋นแรก ต่อมามหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต มาสืบแทนเป็นเค้าค้ำวัด จนที่สุดได้เป็นถึงเจ้าคณะจังหวัดธรรมยุต เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ช่วงนี้ผู้ข้าฯไม่รู้จัก รู้จักแต่ช่วงที่ยังเป็นมหาน้อย มหาหนุ่ม เพราะเคยได้อยู่จำพรรษาด้วยกัน แม้หน้าแล้งก็ได้พบปะกันอยู่เนือง ๆ อยู่ด้วยกันนั้นมีมหาบาเรียน หลายรูปด้วยกัน มีมหาทองอินทร์ มหานอง มหาเอี่ยม มหาสุทธิ์ ในหมู่พระเณรมาต๋นอยู่
ท่านมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต เป็นผู้ตั้งใจ ใส่ใจดีกว่าหมู่เพื่อนและอัธยาศัยน้ำใจเป็นที่ชอบพอและเข้ากันได้กับ ท่านอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร จึงถือได้ว่า เป็นลูกศิษย์ต้น เป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร ก็ว่าได้
อยู่ด้วยกันชอบมาพูดคุยกับผู้ข้าฯ ถึงหลักการปฏิบัติพระธรรมพระวินัย แบบประเพณีของพระกรรมฐาน ก็ได้ให้คำแนะนำชี้แจง แสดงความคิดเห็นให้เหตุผล ไปตามเรื่อง
มีอยู่วันหนึ่งมาถามข้าฯ ว่า ท่านอาจารย์อะไรบ้าง ที่จะเป็นความดี ของพระนักเรียนอย่างผม หรือ หมู่เพื่อนักเรียน นักศึกษา ด้วยกันนี้ครับ
ผู้ข้าฯ ก็พิจารณาแล้วตอบว่า
๑.ให้จิตเป็นความดี
๒.หมู่คณะด้วยกันให้เป็นความดี
๓.การศึกษาเล่าเรียนให้เป็นความดี
๔.กิจของพระศาสนาให้เป็นความดี
ทั้งสี่อย่างสี่ประการนี้หละ เป็นความดีของพวกเรา
เมื่อครั้งที่อยู่ด้วยกันนั้น ท่านมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต แม้จะศึกษาเล่าเรียนมามาก เป็นมหาบาเรียนด้วย ก็ทำตัวเป็นผู้น้อย อย่างกับพระนวกะ คอยฟังคำแนะนำตักเตือน หนักในความเคารพ มีความยำเกรง อ่อนน้อมกราบไหว้ ตั้งใจฟังด้วยดี มั่นคงในพระธรรมวินัย
แม้แต่ท่านอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร ก็ยังได้ว่าไว้ว่า มีมหาบาเรียนอยู่ด้วยหลายรูป มีแต่มหาทองอินทร์เท่านั้นที่ตั้งมั่น ในกตัญญูกตเวทิตาธรรม อย่างสม่ำเสมอ ในหมู่คณะก็ส่อพรหมวิหารธรรมออกมาให้ปรากฏได้
เกิดมาทีหลังก็ตายก่อน เกิดมาก่อนก็ตายก่อน
ความตายมันแน่นอน มันเที่ยงของมันเสมอ อนตีโต ไม่มีใครต้านทานหรือล่วงพ้นไปได้
จึงว่าสังขารที่เที่ยงนั้นไม่มี ไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรยั่งยืน ปัญหามีอยู่ว่า ใครตายใครดับลงไปนั้น ให้ตายอย่างหมดเชื้อ การเกิดการตาย ให้ดับวิบากขันธ์ ให้มอดสนิทให้ได้ อย่าตายเล่น ๆ อย่าตายเน่า ตายเหม็น ให้ตายแท้ตายจริง ตนของตนจึงจะเป็นผู้งามทั้งเบื้องต้น งามทั้งท่ามกลางและงามในที่สุด งามก็ให้งามทั้งภายนอกและภายใน
อยู่ก็ให้สุคโต ไปก็ให้สุคโต