บันทึกธรรม พระนพีสีพิศาลคุณ (หลวงพ่อมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต) วัดสันติธรรม เชียงใหม่

 

เรื่อง หลัก ศีล สมาธิ ปัญญา

โดย พระนพีสีพิศาลุคณ
วัดสันติธรรม อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ศีลอย่างต่ำ

ศีล  อันพระผู้มีพระภาคตรัสชอบแล้ว โดยปริยาย อย่างต่ำ คือพระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต, ย่อมเว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้, ย่อมเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย, ย่อมเว้นขาดจากฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เพราะดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย, ย่อมเว้นจากการพูดเท็จ

ศีลอย่างสูง

ศีล  อันพระผู้มีพระภาคตรัสชอบแล้ว โดยปริยาย อย่างสูง คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยเครื่องสำรวม คือพระปาฏิโมกข์ สมบูรณ์ด้วยมารยาท และที่เที่ยวไปอันสมควรอยู่ มีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายอันเล็กน้อย

สมาธิอย่างต่ำ

สมาธิ  อันพระผู้มีพระภาคตรัสชอบแล้วโดยปริยาย อย่างต่ำ คือพระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ กระทำกัมมัฏฐาน มีการสละลงเป็นอารมณ์แล้วได้สมาธิ ได้ความที่จิตเป็นธรรมชาติ มีอารมณ์เป็นหนึ่งลงไป

สมาธิอย่างสูง

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามารมณ์ทั้งหลาย สงัดจากอกุศลทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน (ความเพ่งที่หนึ่ง) มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก เพราะความที่วิตกวิจารทั้งสองระงับลง เข้าถึงทูติยฌาน (ความเพ่งทีสอง) เป็นเครื่องผ่องใสใจ ณ ภายในให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปิติและสุขที่เกิดจากสมาธิ อนึ่ง เพราะความที่ปิติวิราช (ปราศ) ไป ย่อมเป็นผู้เพิกเฉยอยู่และมีสติสัมปชัญญะและเสวยความสุขด้วยกาย อาศัยคุณ (คืออุเบกขา สติสัมปชัญญะและเสวยสุข) อันใดเล่าเป็นเหตุ พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า เป็นผู้อุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เข้าถึงตติยฌาน (ความเพ่งที่สาม) เพราะละความสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้เพราะความที่โสมนัสและโทมนัส ทั้งสองในกาลก่อนอัสดงค์ดับไป เข้าถึงจตุตฌาน (ความเพ่งที่สี่) ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติ บริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา
สมาธิอันพระผู้มีพระภาคตรัสชอบแล้วโดยปริยายอย่างสูง ดังนี้แล................

ปัญญาอย่างต่ำ

ปัญญา  อันพระผู้มีพระภาคตรัสชอบแล้ว โดยปริยาย อย่างต่ำ คือพระอริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีปัญญา อันเป็นไปยังความเกิดและความดับ ของสังขารทั้งหลาย อันเป็นปัญญาอย่างประเสริฐ อาจแทงกิเลสได้โดยไม่เหลืออันเป็นไปเพื่อยังความสิ้นทุกข์โดยชอบ

ปัญญาอย่างสูง

ปัญญา  อันพระผู้มีพระภาคตรัสชอบแล้ว โดยปริยาย อย่างสูง คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี่ทุกข์ ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่านี่คือความดับแห่งทุกข์ และย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี่คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีอานิสงส์มาก ย่อมมีผลมาก ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลมาก ย่อมมีอานิสงส์มาก และจิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายโดยชอบ นั่นคืออาสวะคือ ความอยากได้ อาสวะคือ ความอยากเป็น และอาสวะคือความไม่รู้

บุคคลผู้เจริญเพื่อผล ๔ อย่าง

๑.  บุคคลผู้เจริญสมาธิเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ได้แก่ ผู้อบรมสมาธิได้บรรลุรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ แล้วพอใจเท่านั้นไม่ใช้ฌานนั้นเป็นบาทเพื่อเจริญวิปัสสนาเพื่อมรรคผลย่อมได้รับผล คือได้อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน แต่ไม่เป็นทางพ้นทุกข์จากชาติ ชรา พยาธิ และมรณะ

๒.  บุคคลผู้เจริญสมาธิเพื่อฌานทัสสนะ เพื่อให้ได้หูทิพย์ และตาทิพย์ ผู้เจริญสมาธิ เพื่อฌานทัสสนะ ย่อมเจริญอาโลกสัญญา คือตั้งใจเป็นกลางวันเอาไว้ กลางวันเป็นอย่างไร กลางคืนก็ให้เป็นอย่างนั้น จนนิมิตแสงสว่างกลางวันเกิดขึ้นในจิต เมื่อนิมิตแสงสว่างเกิดขึ้นในจิตแล้ว หูทิพย์ ตาทิพย์ ย่อมเกิดขึ้น ผู้เจริญย่อมพอใจผลเท่านั้น ย่อมไม่เจริญวิปัสสนาต่อไป

๓. ผู้เจริญสมาธิเพื่อสัมปชัญญะ ผู้เจริญ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วย่อมกำหนดรู้ ย่อมกำหนดพิจารณา เวทนา สัญญา สังขาร โดยความเกิดขึ้น และความเสื่อมไป ดับไปแห่งเวทนา สัญญา สังขาร เหล่านั้น แต่ไม่กำหนดรู้กำหนดพิจารณา รูปและวิญญาณ สมาธิ จึงเป็นไปเพื่อสัมปชัญญะ ความรู้ตัวเท่านั้น

๔.  สมาธิที่เจริญอบรมแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะคือผู้ปฏิบัติมีปกติกำหนดรู้ กำหนดพิจารณาความเกิดขึ้น ความเสื่อมไปในอุปทานและขันธ์ ๕ ว่านี่คือรูป นี่คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และรู้ว่า นี่คือ ความเกิดขึ้นแห่งรูป ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ สมาธิคือ ใจตั้งมั่นมีอารมณ์เป็นอันเดียว นิ่งรู้อยู่ในจุดเดียว

วิธีปฏิบัติเพื่อให้สมาธิเกิดขึ้นในใจ

ต้องตั้งใจไว้ในอารมณ์กัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง มีอานาปานัสสติ  เป็นต้น
วิธีกำหนดอานาปานัสสติ ให้เอาใจกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก โดยเริ่มต้นให้เอาใจมาตั้งไว้ที่ลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้าให้นึกว่า “พุท” ลมหายใจออกให้นึกว่า “โธ” เรื่อยไปจนกว่าลมหายใจจะละเอียดอ่อนลง
จากนั้น ให้หยุด ไม่ต้องเอาใจตามลมเข้าออก แต่เอาใจมาจดจ่อไว้ที่ทรวงอกตรงที่ลมกระทบ รักษาใจให้สิ่งที่รู้อยู่ที่จุดลมกระทบ จนกว่าลมหายใจเข้าออกจะปรากฏที่จุดตั้ง

เมื่อลมหายใจเข้าออกปรากฏแล้ว ให้ใจรู้ลมเข้าออกด้วย รู้ใจด้วย รวมอยู่ที่จุดตั้งนั้น ไม่ต้องสูดลมหายใจเข้าออก แต่ให้รู้ลมหายใจเข้าออกตามธรรมชาติ อยู่ที่จุดตั้งนั้นกำหนดรู้อยู่อย่างนั้น จนกว่าใจจะรวมอยู่จุดเดียว

จากนั้นก็วางลมหายใจเข้าออกเสีย ให้รู้แต่ใจอย่างเดียว คือรักษาความรู้สึกอยู่อย่างเดียว ไม่ให้ใจรู้ลมหายใจเข้าออก เมื่อใจรู้อยู่อย่างนั้นได้แล้ว ความสุขใจชื่นใจก็เกิดขึ้น ให้นิ่งรู้อยู่ที่จุดเดียวเท่านั้น
เมื่อใจรู้อยู่ที่จุดเดียวได้แล้ว จำจุดที่ตั้งนั้นให้ดี เมื่อได้ต้องการให้ใจนิ่งรู้อยู่ ก็ประคองเข้าไปสู่จุดที่ตั้งนั้นทันที เมื่อใจตั้งอยู่ในจุดนั้นดีแล้ว จากนั้นให้กำหนดให้ใจ รู้จักกำหนดรู้เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ ให้รู้ตามความเป็นจริง

กำหนดพิจารณาให้รู้ว่า สิ่งไหนเกิด สิ่งไหนดับ เสร็จแล้วให้ใจนิ่งรู้อยู่ที่จุดตั้ง จากนั้นกำหนดรู้รูปกาย พิจารณารูปกาย ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จากนั้นจึงให้ใจมารู้อยู่ที่จุดตั้ง ให้กำหนดรู้ กำหนดพิจารณาขันธ์ ๕ กลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น จนกว่าจะรู้ตามความเป็นจริงแล้วปล่อยวางมีสติสัมปชัญญะอยู่ และรู้อยู่ที่ใจหรือใจมีสติสัมปชัญญะ เป็นเครื่องอยู่…………………


 

 


 


หน้าหลัก | นพีสีพิศาลคุณาลัย

 
วัดสันติธรรม ต.ช้างเผือก อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๓๐๐
โทร. ๐๕๓-๒๒๑๗๙๒  ๐๘-๗๑๙๓-๓๑๖๙  ๐๘-๖๑๘๗-๓๙๔๒ และ ๐๘-๑๖๐๒-๗๕๐๐