พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)
(๒๔๔๕ – ๒๕๓๗)
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
 
     
 
นามเดิม
 
เทสก์ เรี่ยวแรง
 
เกิด
 
วันเสาร์ที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๕ ปีขาล
 
 
บิดามารดา
 
นายอุส่าห์ และนางครั่ง เรี่ยวแรง
 
 
พี่น้อง
 
รวม ๑๐ คน ท่านเป็นคนที่ ๙
 
บรรพชา
 
อายุ ๑๖ ปีโดยมีพระอาจารย์ลุย บ้านดงเค็งใหญ่ เป็นพระอุปัชฌาย์
 
อุปสมบท
 
อายุครบ ๒๐ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๔๖๖ ณ วัดสุทัศน์
     
อำเภอเมืองอุบลราชธานี โดยมีพระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา “ เทสฺรังสี”
 
เรื่องราวในชีวิต
 
เมื่ออายุ ๑๖ปี พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้เดินรุกขมูลมาถึงวัดบ้านนาสีดา
     
อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นวัดที่ท่านอุปัฎฐากอยู่
จึงเป็นโอกาสดีที่ท่านได้ปฏิบัติพระอาจารย์สิงห์ ท่านเดินทางธุดงค์ไปพร้อมกับ
พระอาจารย์สิงห์จนถึงจังหวัดอุบลราชธานีและได้บรรพชาที่นั่น
เมื่ออุปสมบทแล้วในปีนั้น พระอาจารย์สิงห์ฯ ได้กลับมาจำพรรษาที่เมืองอุบลฯ อีก
ออกพรรษาแล้วพร้อมด้วยพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล (น้องชายของท่านอาจารย์สิงห์)
และพระอีกหลายรูปด้วยกันรวมกับท่านด้วยได้ออกเดินรุกขมูลไปในที่ต่าง ๆ
เดินตัดลัดป่าดงมูลและดงลิงซึ่งเลื่องลือในสมัยนั้นว่าเป็นป่าช้าง ดงเสือ ผ่านจังหวัดร้อยเอ็ด
และกาฬสินธุ์ ตลอดจนถึงจังหวัดอุดรธานี ท่านได้ผจญอันตรายและความยากลำบากต่าง ๆ
แต่ก็ได้รับรสชาติของการออกเที่ยวรุกขมูล จนกระทั่งเดินทางถึงบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
จึงได้พบหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้เข้าฟังธรรมเทศนาจากหลวงปู่มั่นๆ
ได้ให้ท่านตามไปตั้งสำนักสงฆ์ที่บ้านสามผง ที่นี้ท่านได้มีโอกาสถวายการปฏิบัติหลวงปู่มั่น
โดยท่านได้ไปนอนที่ระเบียงกุฏิ ของหลวงปู่คอยถวายการปฏิบัติและได้มีโอกาสปฏิบัติความเพียรเดินจงกรม
ทำความสงบฟังเทศน์จากหลวงปู่มั่น เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ท่านได้ไปเผยแพร่ธรรมะที่สิงคโปร์ อินโดนีเซีย
และออสเตรเลีย ตามคำชักชวนเป็นเวลา ๓ เดือนกว่า และได้กลับไปที่สิงคโปร์อีกครั้งหนึ่ง
ไปพักที่เดิมเป็นเวลานาน เพราะมีผู้อยากจะสร้างวัดที่นั่น แต่สถานที่ไม่เหมาะจึงไม่ได้สร้าง ในปี พ.ศ.๒๕๓๔
ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นชั้นราช ฝ่ายวิปัสนาธุระที่ พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหินหมากเป้งอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ท่านนับเป็นลูกศิษย์ที่สำคัญยิ่งของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต องค์หนึ่ง ท่านได้อุตสาหะปฏิบัติบำเพ็ญธรรมด้วยชีวิตเป็นเดิมพัน ได้บำเพ็ญกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน และความเจริญมั่นคงแห่งพระศาสนา โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่าง ๆ และด้วยจิตใจที่แน่วแน่มั่นคง ผู้ที่เคยได้กราบนมัสการท่าน มักพูดในทำนองเดียวกันว่า ได้รับความอิ่มใจและเป็นบุญของเขาที่ได้มีโอกาสกราบนมัสการท่าน ทั้งนี้คงเป็นเนื่องจากบารมีธรรมที่ท่าน
ได้บำเพ็ญเพียรปฏิบัติมาและเมตตาจิตที่ท่านแผ่มายังบุคคลเหล่านั้นนั่นเองในวาระสุดท้ายท่านได้ไป
บำเพ็ญสมณธรรมที่วัดถ้ำขาม อ.พรรณนิคม จ.สกลนครและได้ดับสังขารลงที่นั่น
 
มรณภาพ
 
วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๗ เวลา ๒๑ นาฬิกาเศษ ณ วัดถ้ำขาม อ.พรรณนิคม
   
จ.สกลนคร สีริอายุได้ ๙๒ ปี ๗ เดือน ๒๑ วัน
ข้อมูลพิเศษ
 
* ท่านมีความกตัญญูสูงเมื่อรู้ธรรมแล้วได้ไปเทศน์และชักชวนบิดามารดาได้ปฏิบัติธรรมจนถึงขั้นสูง
   
 
ธรรมโอวาท:


๑. ธรรม คือ ของจริงของแท้ เป็นแก่นของโลก ธรรม แปลว่า ของเป็นอยู่ทรงอยู่สภาพตามเป็นจริง เป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เรียกว่า ธรรม ชาติ ชรา พยาธิ มรณะเป็นธรรมทั้งนั้น เรียก ชาติธรรม ชราธรรม พยาธิธรรม มรณธรรม ทำไมจึงเรียกว่า ธรรม คือทุก ๆ คนจะต้องเป็นเหมือนกันหมด (ธรรมเทศนาเรื่อง ธรรมะ)

๒. สมบัติที่มนุษย์ต้องการ ไม่ทราบว่าจะกอบโกยเอาไปถึงไหน ได้มาก็เพียงแต่เอาเลี้ยงชีวิตเท่านั้น เลี้ยงชีวิตให้นานตายหน่อย นั่นละ ประโยชน์ของมนุษย์สมบัติเพียงแค่นั้นแหละ

๓. เราเกิดมาในโลกนี้ จะเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์ต่างๆ ก็ตามเถอะ เรียกว่าอยู่ในแวดวงของมัจจุราชทั้งนั้น หรือเปรียบเสมือนกับ อยู่ในคุกในตะราง (รอความตาย) ด้วยกันทุกคน จะทำอะไรอยู่ก็ตาม จะเป็นผู้ดีวิเศษวิโสเท่าไรก็ช่าง แม้แต่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า สรีระร่างกายของพระองค์ยังปล่อยให้พญามัจจุราชทำลายได้ แต่ตัวจิตของพระองค์เป็นผู้พ้นแล้ว ไม่ยอมให้มัจจุราชข่มขี่ได้เลย (ธรรมเทศนาเรื่อง มัจจุราช)

๔. ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นธาตุสี่เท่านั้น แต่คนเราไปสมมติแล้วหลงสมมติตนเองต่างหาก มันก็ต้องยุ่ง และเดือดร้อนด้วยประการทั้งปวง (อัตตโนประวัติฯ)

๕. มนุษย์เราพากันสมมติ เรียกเอาตามความชอบใจของตนว่านั่นเป็นคน นั่นเป็นสัตว์เป็นนั่นเป็นนี่ต่างๆ นานาไป แต่ก้อนธาตุนั้น มันก็หาได้รู้สึกอะไรตามสมมติของคนไม่ มันมีสภาพเป็นอยู่อย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้นตามเดิม สมมติว่า หญิง ว่าชาย ว่าหนุ่ม ว่า แก่ ว่าสวย ไม่สวย ก้อนธาตุอันนั้นก็ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย หน้าที่ของมันเมื่อมาประชุมกันเข้าเป็นก้อนแล้ว อยู่ได้ชั่วขณะหนึ่ง แล้วมันก็แปรไปตามสภาพของมัน ผลที่สุดมันก็แตกสลายแยกกันไปอยู่ตามสภาพเดิมของมันเท่านั้นเอง (ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ สัมพันธ์)

   
หน้าหลัก | หน้าก่อน | หน้าต่อไป  
     
     
 
วัดสันติธรรม ต.ช้างเผือก อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๓๐๐
โทร. ๐๕๓-๒๒๑๗๙๒  ๐๘-๗๑๙๓-๓๑๖๙  ๐๘-๖๑๘๗-๓๙๔๒ และ ๐๘-๑๖๐๒-๗๕๐๐