พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
(๒๔๖๔ – ๒๕๔๒)
วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
     
 
นามเดิม
 
พุธ อินทรหา
 
เกิด
 
วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๔ ตรงกับวันพุธ เดือน ๓ ปีระกา
 
 
บ้านเกิด
 
หมู่บ้านชนบท ต.หนองหญ้าเซ้ง อ.หนองโดน จ.สระบุรี
 
 
บิดามารดา
 
อาชีพทำนาทำไร่-ค้าขาย
 
บรรพชา
 
พ.ศ. ๒๔๗๙ อายุ ๑๔ ปี วัดอินทร์สุวรรณ บ้านโคกพุทรา ต.ตาลเนิ้ง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
 
 
โดยมีพระครูนิบูรณ์ธรรมขันธ์เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูโพธิภูมิไพโรจน์ เป็นพระบรรพชาจารย์
 
อุปสมบท
 
พ.ศ. ๒๔๘๕ อายุของท่านครบบวช ณ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร
 
 
โดยมีท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู) เป็นพระอุปัชฌาย์ได้รับฉายา “ฐานิโย”
 
เรื่องราวในชีวิต
 
ท่านเกิดมาเป็นคนอาภัพเพราะอายุได้เพียง ๔ ขวบ ชะตากรรมเก่า ได้พรากบิดามารดาไปจากท่าน
 
 
ซึ่งท่านได้เสียชีวิตไปพร้อมกัน ปล่อยบุตรน้อยคือตัวท่าน ต้องผจญชะตากรรมไว้เบื้องหลัง เพื่อนบ้านที่สลดใจในเหตุการณ์ ได้นำท่านเอาไปเลี้ยงไว้ชั่วคราว ต่อมาท่านได้ไปอยู่กับญาติที่จังหวัดสกลนคร ชีวิตที่มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เศร้าโศกลำเค็ญอย่างแสนสาหัสนั้น ท่านได้รับมาแล้วอย่างสิ้นเชิง อายุได้ ๑๔ ปี หลังจากบรรพชาแล้ว ท่านได้ออกติดตามเดินธุดงค์ไปกับท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร ผจญกับสัตว์ป่าไข้ป่าอย่างทรหดอดทน ทั้งพระอาจารย์และลูกศิษย์ เป็นสมัยแรกในการเดินธุดงค์ท่านได้รับการสอนถ่ายทอดความรู้มากมายเป็นพิเศษ จิตใจเบิกบานในธรรมตั้งแต่เป็นสามเณรหนึ่งเดือน เดินอยู่กลางป่ากลางดง ท่านพระอาจารย์พามาถึงอุบลราชธานี พระอาจารย์เจ้าคุณฯ ได้มาฝากไว้ที่วัดบูรพาและได้เป็นศิษย์ของพระอาจารย์พร (ซึ่งท่านพระอาจารย์พรนี้ท่านเป็นพี่ชายของท่านพระอาจารย์บุญ ชินวังโส)
ณ แห่งนี้ ท่านได้เข้านมัสการเป็นศิษย์ของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโลพระบุพพาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ท่าน ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมและปฏิบัติธรรมควบคู่กันไป จนสามารถสอบพระปริยัติธรรม ได้นักธรรมเอก…ขณะนั้นอายุได้ ๑๘ ปีเท่านั้น… ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ได้พาท่าน ออกเดินทางมาจากอุบลราชธานี เข้ามาที่กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาหาความรู้ต่อไป ขณะเดินทางมากรุงเทพฯนั้น หลวงปู่เสาร์ ได้แนะแนวข้อปฏิบัติธรรมแก่ท่านมากมาย เป็นธรรมะเพิ่มเติมสติปัญญาเรียกว่า เข้าใจรู้แจ้งในธรรมปฏิบัติมากยิ่งขึ้น เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว ท่านได้ฝากตัวอยู่กับท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู) ศึกษาพระธรรมบาลีจนเปรียญ 4 ประโยค ที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ หลังการอุปสมบทแล้วท่านก็ได้รีบเร่งศึกษาพระธรรมวินัยต่อไปอย่างมิได้ลดละ ถือความขยันหมั่นเพียรเป็นที่ตั้ง เพราะการศึกษานี้แหละเป็นหลักวิชาของครู ในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ สงครามบูรพาเอเชียเกิดขึ้น ท่าน ก็ได้อพยพไปอยู่จังหวัดอุบลฯ ได้ไปอยู่จำพรรษาที่วัดบูรพาดังเดิม ต่อมาเจ็บป่วยชนิดร้ายแรงเกือบเสียชีวิตไปแล้วดีอยู่ที่หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้บอกแนะอุบายรักษาด้วยธรรมโอสถท่านเป็นโรคนี้อยู่ ๑๐ ปี หายขาดเพราะสมาธิแท้ ๆ ดังนั้นท่านจึงเร่งปฏิบัติอย่างยิ่งยวด ไม่มีอะไรดีกว่าการปฏิบัติธรรมทั้งหม ท่านหมดโอกาสได้กราบนมัสการหลวงปู่มั่น ก็เพราะโรคภัยไข้เจ็บนี่เองจนท่านมรณภาพไป ท่าน ได้รับหน้าที่คณะสงฆ์ โดยเป็นเจ้าคณะอำเภอวารินชำราบ เจ้าคณะ จังหวัดศรีสะเกษ ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา ท่านได้อยู่จำพรรษามาโดยตลอด
ท่านเป็นพระสงฆ์ที่ทรงไว้ซึ่งคุณงามความดี มีชีวประวัติอันงดงามมาโดยตลอด นับตั้งแต่สมัยเป็นผ้าขาวน้อย หิ้วปิ่นโตสะพายย่ามติดตามครูบาอาจารย์ไปในถิ่นต่างบ้านต่างแดนมา จนเป็นพระภิกษุมีตำแหน่งท่านเจ้าคุณประกันคุณภาพความดีงาม และการปฏิบัติถือตามแบบอย่างแก่ชนรุ่นหลังท่านไม่เคยเบื่อหน่าย แก่ผู้เข้ามาขอรับข้ออรรถข้อธรรม ท่านเคยปวารณาไว้ว่า “ อาตมาเป็นหนี้ของญาติโยมตั้งแต่อายุได้ ๑๔ ปี ญาติโยมทั้งหลาย ได้มีน้ำใจเมตตาอาตมาโดยตลอด” ท่านพร้อมเสมอที่จะอุปการะทุกคนที่จะขออุบายธรรมะกับท่านโดยตรง แม้จะดึกดื่นเที่ยงคืน ท่านก็ยินดีต้อนรับไม่มีความรังเกียจคิดเป็นอย่างอื่นเลย ความเมตตาปราณีนี้ เป็นที่ประจักษ์แก่ชนทุกชั้น ท่านเป็นพระอริยเจ้าของประชาชนอย่างแท้จริง จิตใจที่หลากล้นด้วยพรหมวิหารธรรม คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ท่านถือเป็นสติประจำจิตใจ และเจริญอยู่เป็นนิจ…
มรณภาพ
 
เวลา ๐๗.๑๕ น. วันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๗ รวมอายุ ๗๘ ปี ๓ เดือน ๗ วัน
 
๕๗ พรรษา
ข้อมูลพิเศษ
 
* ท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล
 
* ท่านมีศักดิ์เป็นหลานของท่านพ่อลี ธัมมธโร
ธรรมโอวาท
 
“...ถ้าหากเราไม่สามารถจะควบคุมจิตของเราอยู่ในอารมณ์ภาวนา
 

หรือในแนวทางแห่งสภาวธรรมที่เรายกขึ้นมาพิจารณา ไม่สามารถที่จะให้อยู่ในเรื่องในราวที่เราต้องการนั้นได้ เราก็ปล่อยให้จิตมันปลงไปตามยถากรรม แต่เราต้องกำหนดสติพิจารณาตามรู้ตามเห็นความคิดของตนเอง อย่าละ พร้อมๆ กันนั้นก็เอาพระไตรลักษณ์ตามจี้มันไปเรื่อย คือจี้ว่าอย่างไร จี้ว่าความคิดนี้มันก็ไม่เที่ยงมันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป มันก็มีแต่เกิดแต่ดับ...”


“...บัณฑิตผู้มีความฉลาดย่อมไม่ดูหมิ่นบาปบุญแม้เพียงเล็กน้อย บาปนิดหน่อยก็ไม่ทำ บุญนิดหน่อยก็ย่อมทำ …..ทำสะสมไว้ทีละน้อย ๆ คนเรานี้ทำดีได้กันทุกคน ถ้ารักดี แต่ถ้าเราไม่รักดี เราจะทำดีไม่ได้ คนชั่วทำความชั่วได้ง่าย แต่คนชั่วทำดีได้ยาก คนดีก็ทำดีได้ง่ายเหมือนกัน แต่คนดีทำชั่วได้ยาก นี่เรื่องของเรื่องเป็นอย่างนี้ อันนี้ขอฝากทุกท่านไว้พิจารณา....”


“...ในฐานะที่เราเป็นนักปฏิบัติสมาธิภาวนามีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง ที่ระลึก ถ้าหากว่าสมมุติว่ามีใครเข้าทำพิธีทรงเจ้าเข้าผี เราอย่าไปว่าเขา อย่าไปตำหนิเขา เพราะความเข้าใจและทัศนะคติของเขาเป็นอย่างนั้น เราดูด้วยความมีสติปัญญา ถ้าเราต้องการจะแก้ไขเหตุการณ์อย่างนั้น ให้เราภาวนาทำจิตของเราให้สงบเป็นสมาธิ ให้จิตสงบ นิ่ง สว่าง...”


“...ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม บัญญัติคำสอนสูงสุดเพียงแค่สวรรค์ ศาสนาพราหมณ์บัญญัติคำสอนสูงสุดเพียงแค่พรหมโลก แต่พระพุทธเจ้าบัญญัติคำสอนสูงสุดถึงพระนิพพาน ดังนั้น ในฐานะที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นศาสดาของเราทั้งหลาย พระองค์ได้นามว่าเป็นพุทโธ...”

   
   
หน้าหลัก | หน้าก่อน | หน้าต่อไป   
     
     
 
วัดสันติธรรม ต.ช้างเผือก อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๓๐๐
โทร. ๐๕๓-๒๒๑๗๙๒  ๐๘-๗๑๙๓-๓๑๖๙  ๐๘-๖๑๘๗-๓๙๔๒ และ ๐๘-๑๖๐๒-๗๕๐๐