พระครูสุวัณโณปมคุณ (หลวงปู่คำพอง ติสฺโส)
(๒๔๖๕ – ๒๕๔๔)
วัดป่าพัฒนาธรรม ตำบลหนองอ้อ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
     
 
นามเดิม
 
คำพอง สงเคราะห์
 
เกิด
 
วันเสาร์ ที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๕ ตรงกับวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๗ ปีจอ
 
 
บ้านเกิด
 
ณ บ้านกุดตะกร้า ตำบลสงเปลือย อำเภอเขื่อนคำแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันขึ้นกับ จ.ยโสธร)
 
 
บิดามารดา
 
นายบุญนาค และนางหลุน สงเคราะห์ อาชีพทำนาค้าขาย
 
พี่น้อง
 
รวม ๘ คน ท่านเป็นคนที่สอง
 
อุปสมบท
 
อายุ ๒๒ ปีบริบูรณ์ วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ เดือน ๖ ปีมะเมีย ณ พัทธสีมา วัดมหาไชย
 
 
อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี โดยมีท่านเจ้าคุณพิศาลคณานุวัตร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการจันทร์ จันทธัมโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์
 
เรื่องราวในชีวิต
 
พออายุท่านเข้ารุ่นหนุ่ม ท่านเป็นนักค้ากำปั้นบนเวที (บนสังเวียน) ชีวิตอันทรหดและแสนลำเค็ญนี้
 
 
เป็นสัจธรรมให้ข้อคิดตั้งแต่บัดนั้นมา จึงหันเหเข้าสู่ทางธรรม หลังจากบวชเป็นพระภิกษุหนุ่มแน่นแข็งแรงได้ไม่นาน ท่านก็ได้ออกเดินทางมายังพระธาตุพนม ในลักษณะธุดงควัตรจะเป็นด้วยความบังเอิญ หรือบุญบารมีก็หารู้ไม่ ท่านได้มาพบบุพพาจารย์ใหญ่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านนามน จ.สกลนครเพราะว่าขณะที่เดินทางไปถึง พระธาตุพนมนั้น เกิดได้ยินกิตติศัพท์ ของท่าน จึงเดินทางมานมัสการ ซึ่งในคราวนั้น ก็มีท่านพระอาจารย์วัน อุตฺตโม เดินทางไปพร้อมกัน ท่านจึงได้มอบกายถวายตัวเป็นศิษย์ตั้งแต่บัดนั้นอุบายธรรมต่างๆ ในระยะแรกๆ ท่านก็ได้รับการแนะนำจากครูบาอาจารย์ฝ่ายผู้ใหญ่ เช่นหลวงปู่กงมา จิรปุญโญ บ้างเช่นกันท่านเป็นพระนักต่อสู้ ประกอบกับท่านเป็นนักมวย มีเลือดนักสู้อันโชกโชนมาก่อน ดังนั้น การปฏิบัติธรรมภาวนาท่านกลางดงสัตว์ป่านานาชนิดนั้นไม่เคยหวั่นเกรงอันใดเลย ท่านต่อสู้ขอเพียงเพื่อลุจุดหมายปลายทาง คือ ทางพ้นทุกข์ การประพฤติปฏิบัติธรรมของท่านนั้นเกือบตายเพราะไข้ป่าก็หลายครั้งความเด็ดขาดที่ว่า “เอ้าเป็นอย่างไงก็เป็นกัน” นั่นแหละจึงพ้นมาได้เพราะกิเลสทั้งหลาย มันกลัวคนเอาจริง...
ท่านเป็นกำลังสำคัญในกองทัพธรรมองค์หนึ่ง เดินธุดงค์ไปเผยแพร่ธรรมะ ทางภาคใต้รวมกำลังกับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ในการนั้นได้มีครูบาอาจารย์ที่ชาวใต้รู้จักดีคือ พระอาจารย์เหรียญ พระอาจารย์โสม หลวงพ่อเคี่ยม พระมหาปิ่น ชลิโต เป็นต้น... และการเผยแพร่ธรรมะทางภาคนี้ เป็นไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก ทุกองค์ต้องทรงจิตไว้ด้วยพรหมวิหารธรรมอย่างเข้มแข็งจริง ๆ เพราะอุปสรรคที่เกิดขึ้นนั้นมีผู้ต่อต้านธรรมะของพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น พระภิกษุเจ้าถิ่นเอง พวกชาวบ้านที่เป็นบัวเหล่าที่ ๕ บ้าง แต่ก็ต้องแพ้ภัยตนเองจนหมดสิ้น
ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบองค์หนึ่ง มีนิสัยคล้ายคลึงกับครูบาอาจารย์หลายๆ องค์ เช่น หลวงปู่ตื้อ พระอาจารย์มหาบัว พระอาจารย์วัน คือ พูดแบบโผงผาง ถ้าแข็งก็แข็งดังเพชร ถ้าอ่อนก็อ่อนเป็นน้ำ ไม่ไว้หน้าใครเอาใจใครไม่เป็น ธรรมะใดที่เป็นสัจธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ท่านจะนำมาฆ่าเสียซึ่งกิเลสในใจคนฟัง อย่างเอาเป็นเอาตาย สมกับเป็นนักต่อสู้เลือดอาชาไนย ในสายผู้ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา
 
มรณภาพ
 
วันอาทิตย์ ที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ สิริรวมอายุย่างเข้า ๘๐ ปี ๕๙ พรรษา
ข้อมูลพิเศษ
 
* ท่านไปภาวนาที่ถ้ำพระ ภูพานมีเทวดามาสอนหนังสือให้ท่านจนอ่านเขียนหนังสือได้
   
และสวดพระปาฏิโมกฏ์ได้ ทั้งๆที่แต่ก่อนทำไม่ได้
   
ธรรมโอวาท:
 

“...ลูกเอ๋ย...ความเมตตาปราณีพรมวิหารธรรม ย่อมต้องมีอยู่ในจิตใจของทุกๆ คนนั่นแหละนะ...แต่บางคราวเจ้ากิเลส ตัวเชื้อโรคนี้ มันฝังตัว ฝังหัว ลงบนจิตใจมนุษย์เข้าไปแล้ว จะไม่ไล่ไม่เข้าย่ำยีมันบ้างเลยนั้น ต่อไปมันจะเคยตัวนะ ฉะนั้นเวลาถางป่ารกๆ โดยเฉพาะป่ากิเลสนี้ เราต้องฟันหนักๆ หน่อย มิเช่นนั้นต้นรากเหง้ามันไม่ขาด ไม่ขุดรากขุดโคน ไม่ช้ามันก็งอกเงยขึ้นอีก ไหมล่ะ ยิ่งพวกเรานี่นะ ชอบเลี้ยงชอบขุน รดน้ำพรวนดินอยู่เป็นประจำๆ มันจะกลับงามขึ้นมาอีกประไรเล่า...”


“..ถ้ารู้ตัวเจ้ากิเลสนี้ มันจะอยู่จะอาศัยอะไรอยู่ก็ต้องฟันให้มันกระเทือนเลย มันจะได้รู้สึกตัว และอีกอย่างหนึ่ง เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า เราจะมาพูดโกหกหลอกลวงไม่ได้ ก็พ่อเราไม่เคยสอนเลย พระพุทธเจ้าท่านพูดแต่คำจริง สงสารจริง รักชอบจริง ไม่เคยโกหกสักครั้งเดียว ดังนั้น เราเป็นบุตรผู้ดำเนินตาม จะเอาคำพูดใดเล่ามาสอนก็ต้องเอาคำพูดของพ่อ คือ พระพุทธเจ้าเท่านั้นมาสอนสั่งญาติโยม ถ้าผิดไปจากคำสอนที่เที่ยงธรรมแล้ว จะเป็นคำสอนปลอม พูดเอาอกเอาใจ ก็มิใช่เป็นธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมปลอม เพราะนั่นเป็นการพูดเพาะกิเลสให้แก่ผู้ฟังธรรม ไม่ใช่พูดเพื่อขัดเกลากิเลส พระพุทธเจ้ามิได้ทรงสอนเรื่องให้พูดเอาใจญาติโยม ฉะนั้น อาตมาขอพูดอย่างตรงๆว่า “เอาใจใครไม่เป็น…”

   
   
หน้าหลัก | หน้าก่อน | หน้าต่อไป   
     
     
 
วัดสันติธรรม ต.ช้างเผือก อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๓๐๐
โทร. ๐๕๓-๒๒๑๗๙๒  ๐๘-๗๑๙๓-๓๑๖๙  ๐๘-๖๑๘๗-๓๙๔๒ และ ๐๘-๑๖๐๒-๗๕๐๐