ประวัติพระครูสุทธิธรรมรังษี (หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท)
(๒๔๕๙ – ๒๕๔๗)
วัดภูริทัตตปฏิปทาราม จังหวัดปทุมธานี
     
 
นามเดิม
 
โอวเจี๊ยะ โพธิกิจ
 
 
เกิด
 
วันอังคารที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ตรงกับวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะโรง
 
 
บ้านเกิด
 
บ้านคลองน้ำเค็ม ต.คลองน้ำเค็ม อ.แหลมสิงห์ จ. จันทบุรี
 
 
บิดามารดา
 
นายซุ่นแฉ โพธิกิจ (แซ่อึ้ง)มาจากประเทศจีน โยมแม่ชื่อ นางแฟ โพธิกิจ
 
 
เป็นชาวจันทบุรี
 
พี่น้อง
 
รวม ๘ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕
 
อุปสมบท
 
อายุ ๒๑ ปี วันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ณ พัทธสีมา วัดจันทนาราม
 
 
ต.จันทนิมิต อ.เมือง จ. จันทบุรี พระครูครุนารถสมาจาร (เศียร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพิพัฒน์พิหารการ (เชย) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร เป็น พระอนุสาวนาจารย์
 
เรื่องราวในชีวิต
 
เมื่ออุปสมบทแล้วได้ตั้งใจปฏิบัติธรรมกรรมฐานเพื่อความพ้นทุกข์อย่างจริงจัง
 
 
โดยมีพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ และ พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร เป็นพระอาจารย์อบรม ต่อมาในพรรษาที่ ๓ เมื่อออกพรรษาแล้วได้ เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่เพื่อปฏิบัติธรรมกับองค์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ณ วัดร้างป่าแดง(วัดป่าอาจารย์มั่น) บ้านแม่กอย ต.เวียง อ.พร้าว ท่านได้ถวายการอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ที่เชียงใหม่ และกลับไปภาคอีสาน เมื่อหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล อาพาธหนัก ท่านพระอาจารย์มั่นได้มีบัญชาให้ หลวงปู่เจี๊ยะไปดูแลอุปัฏฐากหลวงปู่เสาร์ที่วัดดอนธาตุ อ.พิบูลย์มังสาหาร จ.อุบลราชธานี ท่านได้ติดตามดูแลหลวงปู่เสาร์ จนถึงวาระสุดท้าย ที่วัดอำมาตย์ แขวงนครจำปาสัก ประเทศลาว และได้จัดการเรื่องงานศพอย่างเต็มความสามารถ ท่านได้ปฏิบัติธรรมกับครูบาอาจารย์อีกหลายรูป เช่น หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เป็นต้น
ในปี พ.ศ.๒๕๒๖ โยมแม่และพี่ชายของพระอาจารย์นพดล นนฺทโนได้ถวายที่ดินที่บ้านคลองสระ ต.คลองความ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เพื่อสร้างวัดถวายองค์หลวงตามหาบัว องค์หลวงตาพิจารณาแล้วเห็นสมควรนิมนต์ท่านมาอยู่ ท่านเองก็น้อมรับด้วยความเคารพยิ่ง ท่านจึงเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม เรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๔๗ นับเป็นพรรษที่ ๔๘-๖๗ อันเป็นพรรษาสุดท้ายของท่าน นิสัยท่านนั้นตรงไปตรงมา เป็นธรรมจริงๆ เลย นับว่าเป็นพระที่หายากอยู่องค์หนึ่ง
มรณภาพ
 
วันจันทร์ ที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เวลา ๒๒.๕๕ น. ตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน
 
๙ ปีวอก ด้วยโรคมะเร็งปอด ที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ สิริอายุ ๘๘ ปี ๒ เดือน ๑๗ วัน นับพรรษาได้ ๖๘ พรรษา
ข้อมูลพิเศษ
 
* ท่านมีแผ่นปานดำบริเวณแผ่นหลังตั้งแต่กำเนิด จึงได้นามว่า โอวเจี๊ยะ หมายจึง
 

หินดำ

* ท่านเป็นพระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง เพราะนิสัยกิริยาของท่านนั้นเป็นดั่งผ้าขี้ริ้ว แต่ใจของท่านนั้นมีดี

ธรรมโอวาท
 
“...ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นของประเสริฐเมื่อบุคคลผู้นั้น
 

ได้ประสบอย่างนั้นแล้ว ใครจะมาบอกว่าสมาธิไม่มี เราจะเชื่อไหม เราก็ไม่เชื่อซิ เพราะมันเกิดขึ้นกับตัวเราเอง มันประจักษ์ ขาเราให้หลุดมันก็หลุดออกไป
กำหนดให้มันเปื่อย มันก็เปื่อยออกไปให้มันเป็นกระดูกมันก็เป็นกระดูก อยู่อย่างนั้น เอากลับเข้ามาตัวเราก็เข้ามาได้ แล้วทีนี้เอาหัวออกไปบ้างหัวก็หลุดออกไปอย่างนั้นนี่ นี่ลักษณะอย่างนี้ จึงเรียกว่าเป็นสมาธิ นี่ยังอยู่ในขั้นลักษณะของสมถะอยู่ ยังไม่ใช่วิปัสสนา
เมื่อเล่นอย่างนี้ จนชำนาญคล่องแคล่ว ลักษณะสมาธิอย่างนี้ เป็นสมาธิที่มีกำลังแข็งแรง กำลังที่มีความเด็ดเดี่ยวอย่างนี้ เมื่อถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็จำเป็นจะต้องใช้การค้นคว้าพินิจพิจารณา การค้นคว้าพิจารณาก็ต้องพิจารณากายนี่ หรือจะเอาอะไรอันหนึ่งมาพิจารณา
เมื่อเราจะพิจารณากายก็ตัดส่วนออกไป เป็นชิ้น ๆ ส่วน ๆ อย่างนั้น แต่บางทีถ้าสมาธิมันยังกล้าแข็งอยู่มาก อย่างนั้น ในลักษณะที่ตัดอย่างนั้น บางทีก็ยังมีส่วนที่ปรากฏเป็นปฏิภาคอยู่ แต่เราอย่าไปเสวยในขณะที่เป็นปฏิภาคอยู่ให้เริ่มพิจารณา ไปให้จิตมันเดินอยู่อย่างนั้น แล้วมันเดินอยู่อย่างนั้นแล้วปฏิภาคตัวนั้นจะดับ
เมื่อดับอย่างนั้น เราอย่าเข้าใจว่าสมาธิเสื่อม ลักษณะไม่ใช่สมาธิเสื่อม ลักษณะนั้นมันจะลักษณะของการเดินปัญญา ถ้าเดินปัญญาแล้วลักษณะของปฏิภาคจะไม่ปรากฏขึ้น เมื่อเดินมากเท่าไร จิตยิ่งไม่ไปไหน เราจะนึกสิ่งใดก็ได้สมความปรารถนา อย่างนั้นตลอดเวลา เป็นเวลาตั้งชั่วโมงสองชั่วโมง ก็พิจารณาได้อย่างนั้น
จิตเดินเฉพาะกายอยู่อย่างนั้น เดินขึ้นเดินลงเดินไปเบื้องซ้าย เดิน - เบื้องขวา ขึ้นจากเบื้องปลายเท้ามาถึงศีรษะเดินได้ตลอดตับไตไส้พุงทั่วไปหมดอย่างนั้น นี่ลักษณะนี้สติมันควบคุมอยู่ท่านเรียกว่าปัญญาเข้าไปพิจารณาเป็นอย่างนั้น
เมื่อถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้ว มันก็แจ้งชัด ถ้าเมื่อเราพิจารณาอย่างนั้นชั่วโมงหนึ่ง วางจิตลงไปให้มันเข้าไปสงบอย่างนั้น เป็นเวลาได้ชั่วโมงหนึ่งเต็มที่ไม่มีการปรุงไปไหนเลย นั่นใจอย่างนั้นแล้ว ถีนมิทธะก็ไม่มีเข้ามาครอบงำ จิตผ่องใสสว่างสะอาดหมดจดแจ่มใสชื่นเบาหมดอย่างนั้น
นี่สมาธิอย่างนี้เรียกว่าสมาธิสมควรแก่การงานที่เราจะต้องพิจารณาอย่างนั้น นี่สมาธิต้องเป็นอย่างนั้น พักตั้งสองชั่วโมงก็ได้เมื่อเรารู้พัก การพักอย่างนั้นเข้าไปเสวยความสุข มันไม่ใช่ทำงาน...”

 
   
หน้าหลัก | หน้าก่อน | หน้าต่อไป    
     
     
     
 
วัดสันติธรรม ต.ช้างเผือก อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๓๐๐
โทร. ๐๕๓-๒๒๑๗๙๒  ๐๘-๗๑๙๓-๓๑๖๙  ๐๘-๖๑๘๗-๓๙๔๒ และ ๐๘-๑๖๐๒-๗๕๐๐